รายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ตลอดหลายปีที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า วิกฤตสิ่งแวดล้อมและมลพิษคือปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การเจ็บป่วยและความบกพร่องทางร่างกายของเด็ก เมื่อความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Risk) จะหลีกเลี่ยงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของเด็กได้ราว 1 ใน 4 ทั้งนี้ 5 อันดับสูงสุดของความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมหลักมาจาก วิกฤตสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางอากาศ สารเคมี น้ำและสุขอนามัย กัมมันตรังสี

การแบกรับภาระของโรคจากความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมจะนำมาสู่ปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพของผู้คนบนโลกนี้เช่นกัน โดยเฉพาะเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ชุมชนยากจนและยังคงขาดความตระหนักและความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากหายนะทางสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพของเด็ก

© Lu Guang / Greenpeace

เด็กเสี่ยงต่อมลพิษสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ใหญ่

  • การเจริญเติบโตของเด็กเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องการอากาศในการหายใจที่เพิ่มขึ้น การบริโภคอาหารและดื่มน้ำมากกว่าผู้ใหญ่เมื่อเทียบสัดส่วนน้ำหนัก (in proportion to their weight) 
  • ระบบร่างกายของเด็กจะยังคงพัฒนาต่อเนื่อง ทั้งระบบประสาทส่วนกลาง ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์และระบบย่อยอาหาร
  • ผลกระทบจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อมจะสร้างความเสียหายในช่วงต้นของการพัฒนาระบบร่างกายเหล่านี้และนำไปสู่การสูญเสียการพัฒนาในช่วงระยะเวลาดังกล่าวที่ยากจะหวนคืน
  • พฤติกรรมของเด็กต่างจากผู้ใหญ่ การใช้ชีวิตของเด็กอาจสัมผัสความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เช่น เด็กเล็กจะคลานบนพื้นที่อาจจะสัมผัสฝุ่นและสารเคมีที่สะสมบนพื้นและผิวดิน
  • เด็กป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ บางครั้งอาจจะขาดความตระหนักและไม่สามารถที่จะเลือกป้องกันสุขภาพตัวเองจากความเสี่ยงเหล่านั้น

ความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมมีสัดส่วนอย่างน้อยร้อยละ 25 ของภาระโรคของเด็กที่มีช่วงอายุต่ำกว่า 5 ปี ปัญหาสุขภาพของเด็กมักจะมาจากการเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมในที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน ที่เล่นและสถานที่เรียนรู้

ในปี 2555 เด็กที่มีช่วงอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตราว 1.7 ล้านราย อันมาจากสาเหตุความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ ซึ่งราว 570,000 รายเสียชีวิตจากการติดเชื้อโรคทางระบบทางเดินหายใจ 361,000 รายจากโรคท้องร่วง 270,0000 ราย จากภาวะแทรกซ้อนช่วงแรกเกิด และ 200,000 รายจากไข้มาลาเรีย และอีกราว 200,000 รายจากอุบัติเหตุอื่น ๆ 

© Let Ifansasti / Greenpeace

มลพิษทางอากาศ ความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมและภาระของโรคตลอดชีพ

ข้อมูลการศึกษาจากหลายแหล่งด้านเด็กและมลพิษทางอากาศพบว่า มลพิษทางอากาศส่งกระทบต่อเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จากการศึกษาในรัฐแคลิฟอร์เนียบ่งชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของระดับมลพิษจากฝุ่นละอองจะทำให้ภาวะการคลอดก่อนอายุครรภ์เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน และในปี 2559 จากการศึกษาในรัฐบอสตันพบว่าหญิงตั้งครรภ์แม้จะรับสัมผัสมลพิษจากฝุ่นละอองระดับต่ำก็มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะการคลอดก่อนอายุครรภ์ ในออสเตรเลียภาวะการคลอดก่อนอายุครรภ์เกิดขึ้นบ่อยเมื่อเกิดมลพิษจากฝุ่นละอองแม้ว่าจะมีการควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นก็ตาม

บางประเทศได้ทำการศึกษาและเก็บข้อมูลย้อนหลังอย่างเช่น การศึกษาสุขภาพของเด็กทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย The Southern California Children’s Health Study เพื่อติดตามผลกระทบระยะยาวจากมลพิษทางอากาศของเด็กและเยาวชน การติดตามกลุ่มเป้าหมายราว 1,759 คน ซึ่งอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 10-18 ปี ในช่วงปี 2536-2544 พบว่า เด็กเยาวชนที่เติบโตในเขตพื้นที่มลพิษทางอากาศสูงจะเผชิญกับการเจริญเติบโตของปอดที่ลดลง ภาวะดังกล่าวนี้มีสถิติสอดคล้องกันอย่างมีนัยสำคัญ และมีโอกาสน้อยมากที่จะปอดจะกลับมาฟื้นฟูได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเทียบกับสภาวะปกติ 

ในปี 2561 การศึกษาเด็กและสุขภาวะทางสิ่งแวดล้อมของไทยพบว่า เด็กมีการรับสัมผัสความเสี่ยงทางด้านสารเคมี 3 ด้านใหญ่ คือ ยาฆ่าแมลง โลหะหนักและมลพิษทางอากาศ ซึ่งต้นตอมาจากกิจกรรมทางด้านเกษตรกรรม เขตพื้นที่อุตสาหกรรม (ทั้งที่จดทะเบียนจัดตั้งและไม่ได้จดทะเบียน) การทำเหมืองแร่ และการคมนาคมขนส่งในเมือง ดังนั้นการเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศของเด็กจึงเป็นภาระโรคที่จะเป็นภาระต้นทุนทางสุขภาพของเด็กไปตลอดชีวิต

© Baramee  Temboonkiat / Greenpeace

ขยะอิเล็กทรอนิกส์และความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมของเด็กพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกจาก 5 อันดับสูงสุดของความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมที่กล่าวข้างต้นแล้ว ความเสี่ยงลำดับถัดมาที่ทะยานสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและมีการเปิดเผยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกนั่นคือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 

จากข้อมูล Global E-waste Statistics Partnership (GESP) ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงปี 2558-2562 ขยะอิเล็กทรอนิกส์เติบโตขึ้นราวร้อยละ 21 ในปี 2563 ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกราว 53.6 ล้านตันซึ่งเทียบเท่าขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ราว 350 เรือสำราญขนาดใหญ่ การขยายตัวของความต้องการคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ยังคงมีอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับความล้าสมัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากขึ้น

ผู้หญิงราว 12.9 ล้านคนกำลังทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมขยะนอกระบบและมีความเป็นไปได้ในการรับสัมผัสสารพิษและส่งต่อความเสี่ยงสู่ทารกในครรภ์ ในขณะเดียวกันในจำนวนเด็กและเยาวชนมากกว่า 18 ล้านคนในอุตสาหกรรมนี้ มีเด็กอายุช่วงก่อนวัย 5 ปีมีความเกี่ยวพันกับภาคอุตสาหกรรรมนอกระบบและการจัดการขยะ เด็กที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมขยะอิเล็กทรอนิกส์จากการชักชวนของพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านั้น เนื่องจากมือเล็ก ๆ ของเด็กมีความคล่องแคล่วมากกว่าผู้ใหญ่ ในขณะเดียวกันที่อยู่อาศัยของเด็ก โรงเรียนหรือพื้นที่เด็กเล่นที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางการรีไซเคิลของอุตสาหกรรมขยะอิเล็กทรอนิกส์จะมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารเคมีเป็นพิษระดับสูง ส่วนมากคือตะกั่ว (lead) ปรอท (mercury) ที่จะทำลายความสามารถทางสติปัญญาของเด็ก

การรับสัมผัสของเด็กต่อสารเคมีเป็นพิษในขยะอิเล็กทรอนิกส์จะส่งผลต่อความเปราะบางของเด็กเป็นอย่างมากเนื่องจากเด็กมีร่างกายขนาดเล็ก และอยู่ในช่วงกำลังเจริญเติบโต เด็กจึงซึมซับสารเคมีเป็นพิษตามขนาดของร่างกายในขณะที่ร่างกายของเด็กมีความศักยภาพต่ำในการเผาผลาญและกำจัดพิษของสารเคมีออกจากร่างกายของตัวเอง 

ทั้งนี้มีการยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น นั่นคือ แม่ที่กำลังตั้งครรภ์รับสัมผัสสารเคมีเป็นพิษจากขยะอิเล็กทรอนิกส์จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพัฒนาการของทารกในครรภ์และตลอดชีวิตของเด็ก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อการคลอดบุตรและการคลอดก่อนกำหนด ภาวะน้ำหนักและส่วนสูงเด็กต่ำกว่าเกณฑ์ตอนคลอด และพัฒนาการของเด็กในระยะยาว ความสัมพันธ์ในเชิงผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังมีมากกว่านั้นคือ มันจะก่อให้เกิดการผลกระทบต่อการทำงานของปอด ระบบทางเดินหายใจ ดีเอ็นเอ ความบกพร่องของระบบไทรอยด์ และความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อโรคเรื้อรังที่จะเกิดขึ้นตามมาในช่วงอายุขัยของเด็กอย่างเช่น โรคมะเร็งและโรคหัวใจและหลอดเลือด 

ความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมทั้งจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางอากาศ สารเคมี น้ำและสุขอนามัย กัมมันตรังสีและขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นปัญหาใหญ่ของคนตัวเล็กอย่างเด็กมายาวนานและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในขณะที่เจตจำนงในเชิงนโยบายที่จะคุ้มครองสิทธิของเด็กเพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีอยู่ในภาวะถดถอยอย่างรุนแรง และภาวะเหล่านี้กำลังก่อให้เกิดภาระต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เด็กทุกคนจะต้องไปจ่ายตลอดชีวิตในอนาคต