มาดริด, 4 ธันวาคม 2562 –  ผลกระทบของวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศต่อมหาสมุทรนั้น มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพและการดำรงอยู่ของมนุษยชาติอย่างลึกซึ้ง ซึ่งต้องการการตอบสนองทางการเมืองทั่วโลกอย่างเร่งด่วนในอีก 12 เดือนข้างหน้า  รายงานล่าสุดของกรีนพีซสากล ปรากฏการณ์น้ำทะเลอุณหภูมิสูง:  วิกฤตสภาพภูมิอากาศและความเร่งด่วนเพื่อปกป้องมหาสมุทร  ระบุชัดเจนว่า การที่อุณหภูมิน้ำทะเลผิดปกตินั้นเกิดจากการเร่งนำเชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้อย่างรวดเร็วและมากเกินไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างระบบนิเวศ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น เพิ่มระดับสูงขึ้น น้ำทะเลเป็นกรด และออกซิเจนในน้ำทะเลลดลง

ปาร์ค แทฮยอน ที่ปรึกษาด้านภูมิอากาศโลก ประจำกรีนพีซ เอเชียตะวันออก กล่าวว่า “อุณหภูมิน้ำทะเลและระดับน้ำที่กำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีของน้ำที่เปลี่ยนไป สะท้อนถึงความเชื่อมโยงของวิกฤตสภาพภูมิอากาศและวิกฤตมหาสมุทรต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ  เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรไม่ใช่สิ่งอยู่ไกลตัวจากเราแม้แต่น้อย มหาสมุทรคือความมั่นคงทางอาหาร และแหล่งรายได้ที่สำคัญของผู้คนหลายสิบหลายล้านคนทั่วโลก ออกซิเจนที่เราทุกคนหายใจอยู่ก็มาจากมหาสมุทร”

รายงานฉบับดังกล่าว ยังเรียกร้องให้เกิดแผนความร่วมมือในระดับรัฐบาล เพื่อหาหนทางที่อาจเป็น “โอกาสเดียวที่เหลืออยู่” เพื่อจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติ การล่มสลายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และวิธีการปกป้องมหาสมุทรในระดับโลก รายงานยังย้ำเตือนให้รัฐบาลทุกประเทศเห็นถึงความเร่งด่วนของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ ที่ประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศ (Climate Summits) ที่จัดขึ้นที่ประเทศสเปน และสหราชอาณาจักร และให้การรับรองสนธิสัญญาทะเลหลวง (Global Ocean Treaty) ณ ที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติก่อนสิ้นสุดปี 2563 รวมไปถึงให้คำมั่นว่าจะปกป้อง 30% ของพื้นที่ในมหาสมุทร ภายในปี 2573 เพื่อประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล (Oceans Santuaries) ในการประชุมสุดยอดความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ประเทศจีนในเดือนตุลาคม ปีหน้า

หากเราสามารถปกป้องพื้นที่ในมหาสมุทรได้ แม้จะเพียงแค่ 30% ก็สามารถช่วยเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัว (resilience) ของมหาสมุทรและทนต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการปกป้องแหล่งกักเก็บคาร์บอนในมหาสมุทร ข้อมูลจากรายงานยังย้ำอีกว่า  ระบบนิเวศใต้ท้องทะเลคือแนวหน้าที่สำคัญที่จะช่วยรับมือกับผลกระทบด้านสภาพอากาศ และแนะนำพื้นที่ซึ่งควรได้รับการปกป้องอย่างเร่งด่วน ได้แก่ บริเวณมหาสมุทรอาร์กติกและมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณชมวาฬ เขตแนวประการัง ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล ทะเลซาร์กัสโซ เขตเมโซเพลาจิก (mesopelagic Zone) และเขตทะเลลึก ซึ่งจากข้อมูลระบุชัดว่า ไม่ควรอนุญาตให้มีการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในทะเลอย่างเด็ดขาด

ปาร์ค แทฮยอน กล่าวว่า “วิทยาศาสตร์คือข้อเท็จจริง ที่มีหลักฐานพิสูจน์ชัดเจน ทั้งนี้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ควรเร่งลดการใช้พลังงานฟอสซิล ขณะเดียวกันก็ควรทุ่มเทการสร้างเครือข่ายเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลอย่างจริงจัง ยิ่งเราสามารถลดกิจกรรมจากมนุษย์ที่รบกวนมหาสมุทรได้มากเท่าไร มหาสมุทรก็มีโอกาสฟื้นตัวได้ไวขึ้น และช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทันท่วงทีมากขึ้น” นอกจากนี้ ที่ปรึกษาของกรีนพีซยังย้ำว่า “ปี 2563 เป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศจะมีโอกาสแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก ด้วยการลงนามในสนธิสัญญามหาสมุทร ที่การประชุมสหประชาชาติ และที่การประชุมสุดยอดความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเทศจีน ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องร่วมกันปกป้องมหาสมุทรของเรา” 

ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 (COP 25) ซึ่งจัดถึง ณ เมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน นอกจากนี้กรีนพีซอิตาลี ยังได้เปิดตัวสถานีนำร่องชายฝั่งเพื่อตรวจสอบอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อันเป็นพื้นที่สำคัญของสนธิสัญญามหาสมุทรโลก คือจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เช่น รัฐบาลในประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อทำงานร่วมกันในการปกป้องสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ จากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

Notes

อ่านรายงาน ปรากฏการณ์น้ำทะเลอุณหภูมิสูง:  วิกฤตสภาพภูมิอากาศและความเร่งด่วนเพื่อปกป้องมหาสมุทร ฉบับเต็ม ที่ www.greenpeace.org/international/publication/27261/in-hot-water/ 
ภาพถ่ายประกอบรายงาน สามารถดูได้ที่ media.greenpeace.org/collection/27MZIFJ8EUQHJ

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม