เราเผชิญกับมลพิษแทบทุกวัน แต่กลับแทบไม่รู้อะไรเลยว่าโรงงานเก็บและปล่อยสารเคมีอันตรายและมลพิษออกมาเท่าไหร่ มีสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ อากาศ หรือดินแค่ไหน ถึงเวลาที่เราจะ ‘รู้’ สักทีด้วยการมี ‘กฎหมาย PRTR’
กฎหมาย PRTR คืออะไร ?
กฎหมายการรายงานและเปิดเผยการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) คือกฎหมายที่บังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมประเทศไทยในจังหวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรงงานอุตสาหกรรมระยอง โรงงานอุตสาหกรรมชลบุรี และที่อื่นๆ ‘เปิดข้อมูล’ หรือ Open data มลพิษที่ปล่อยสู่ดิน น้ำ หรืออากาศ ใจความง่ายๆ คือเพื่อให้ประชาชนรู้ว่ามีมลพิษอะไรบ้างที่ถูกปล่อยออกมาที่อาจส่งผลต่อสุขภาพเรานั่นเอง
แนวคิด PRTR มาจากไหน?
หัวใจสำคัญของ PRTR คือ ‘สิทธิของชุมชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Community Right-to-Know)’ ซึ่งมีที่มาจากหายนะภัยสารเคมีของโรงงานยูเนียนคาร์ไบด์ที่เมืองโภปาล ประเทศอินเดีย และอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลในสหรัฐอเมริกา จนทำให้คนงานและชุมชนที่อยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมต่างเรียกร้องให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีอันตรายที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ ในขณะนี้กว่า 50 ประเทศทั่วโลกมีการประกาศใช้กฎหมาย PRTR เพื่อรักษาสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลและความปลอดภัยของประชาชน ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
กฎหมาย PRTR จะแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 ได้อย่างไร?
เมื่อกฎหมาย PRTR บังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลมลพิษ ประชาชนจะรู้ที่มาของแหล่งมลพิษที่มีส่วนก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ทำให้ภาครัฐกำกับควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม และออกนโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ตรงจุดมากขึ้น
กฎหมาย PRTR กับการป้องกันมะเร็ง : ทำไมเราจึงควรรู้ว่าโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษอะไรออกมาบ้าง
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนในประเทศไทย สถิติการเสียชีวิต ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า ในช่วงปี 2537 – 2560 โรคมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิดของคนไทยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 โดยในปี 2537 โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 48.9 คน ต่อประชากร 100,000 คนและเพิ่มขึ้นเป็น 120.5 คน หรือเกือบ 3 เท่าตัว ในปี 2560
อย่างไรก็ตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ กลับไม่ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าโรงานเหล่านั้นปล่อยมลพิษอะไรออกมาบ้าง แต่หากมีกฎหมาย PRTRจะทำให้ประชาชนทราบถึงชนิดและปริมาณสารเคมีที่ปล่อยออกมาและยังทำให้รัฐกำกับและควบคุมการปล่อยมลพิษ สารก่อมะเร็งต่าง ๆ ของโรงงานอุตสาหกรรมได้แม่นยำขึ้น กฎหมาย PRTR จึงเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
PRTR เกี่ยวอะไรกับโรงงานระเบิด?
เมื่อเกิดเหตุโรงงานระเบิด อุบัติภัยจากสารเคมีรั่วไหลต่าง ๆ เช่น กรณีหมิงตี้เคมิคอล หน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นกรมควบคุมมลพิษ หรือกรมโรงงานอุตสาหกรรมมักจะแก้ปัญหาตามหลัง แต่ไม่ ‘ป้องกัน’ จึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
การต้องจัดทำข้อมูลการปลดปล่อยสารพิษภายใต้กฎหมาย PRTR จะช่วยให้โรงงานตรวจพบเหตุผิดปกติ หรือสามารถประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแก้ไขและป้องกันก่อนจะเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหล หรืออุบัติภัยอื่น ๆ ได้
ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องรับรองกฎหมาย PRTR เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
ประโยชน์ของ PRTR ต่อประชาชน
- เป็นเครื่องมือช่วยให้เข้าถึงข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการป้องกันตนเองและชุมชน
- เป็นเครื่องมือป้องกันตนเองจากมลพิษเมื่อเกิดอุบัติภัยสารเคมี
- เป็นเครื่องมือส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อจัดการปัญหามลพิษ
- เป็นเครื่องมือส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อตัดสินใจต่อการดำเนินโครงการซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
ประโยชน์ของ PRTR ต่อรัฐบาล
- ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม
- รัฐติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายมลพิษและวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ลดการใช้สารเคมีเป็นพิษในกระบวนการผลิตและการลดการปลดปล่อยมลพิษจากโรงงาน
- รับรองสิทธิของชุมชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหามลพิษร่วมกับหน่วยงานรัฐ ทำให้ประชาชนร่วมมือกับรัฐในการแก้ปัญหามลพิษได้ดียิ่งขึ้น
- เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับพนักงานดับเพลิง โรงพยาบาล ตำรวจ หน่วยกู้ภัย หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเมื่อเกิดอุบัติภัยสารเคมี
ประโยชน์ของ PRTR ต่อโรงงานอุตสาหกรรม
- ป้องกันความสูญเสียจากอุบัติภัยสารเคมี เพิ่มความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมีของผู้ประกอบการและคนงาน
- เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านความเปิดเผย โปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ นำไปสู่การลงทุนที่ยั่งยืน เพิ่มโอกาสแข่งขันทางการค้ากับประเทศที่เรียกร้องการเปิดเผยข้อมูลมลพิษ และอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างกลมกลืน
- ป้องกันความสูญเสียและกระตุ้นให้บุคลากรของโรงงานใช้สารเคมีอย่างระมัดระวังและมีประสิทธิภาพ
- การตรวจสอบการครอบครองและปลดปล่อยมลพิษในระบบเดิมมักสร้างภาระให้ผู้ประกอบการ เช่นขั้นตอนจัดทำเอกสาร แต่หากมีกฎหมาย PRTR ผู้ประกอบการจะต้องตรวจสอบระบบและกระบวนการผลิตของตนให้รัดกุมเพื่อความปลอดภัยในการทำงานอยู่เสมอ ทำให้ขั้นตอนรับการตรวจสอบที่เคยเป็นภาระหายไป ลดการเลือกปฏิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากการตรวจสอบของรัฐ เนื่องจากทุกโรงงานต้องเปิดเผยข้อมูลภายใต้กฎหมายและระบบเดียวกัน
ร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อมพร้อมสุขภาพของเราและคนที่เรารัก สนับสนุนกฎหมาย #OpenDataมลพิษ >> https://thaiprtr.com
Hazibition : นิทรรศการใต้ฝุ่น เปิดต้นตอปัญหาฝุ่นควัน