สรุปการขับเคลื่อนคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ – เทพา

หลังจากกระทรวงพลังงานลงนามยุติการศึกษา EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ – เทพา และเริ่มใช้กระบวนการการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อศึกษาว่าพื้นที่ จ.กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลามีความเหมาะสมหรือไม่ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในเดือนมิถุนายน 2565 เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินระบุว่า จากการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ที่ศึกษาโดยมหาวิทยาลัยนิด้า และกระทรวงพลังงานเป็นผู้จัดทำรายงานมีผลการศึกษาออกมาแล้วว่า “กระบี่รอดพ้นจากโครงการถ่านหิน 100 %” (อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากพลังงานหมุนเวียน โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลยังคงถูกเสนอให้เป็นทางเลือกของความมั่นคงทางพลังงานในภาคใต้) ทางเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ถือโอกาสประกาศชัยชนะต่อสาธารณะว่า ด้วยพลังประชาชนทำให้วันนี้ กระบี่และอันดามันปลอดภัยจากถ่านหินแล้ว และกำลังจะมุ่งหน้าเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน 100%

กรีนพีซ ประเทศไทย หนึ่งในภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน สรุปการขับเคลื่อนการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ – เทพา ตลอดหลายปีที่ผ่านมา


พ.ศ. 2553 – จุดเริ่มต้นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

จากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เป็นหนึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าที่จะต้องก่อสร้างขึ้นตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553 – 2573 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (แผน PDP 2010 Revision 3) โดยนอกจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 4 แห่งที่จะต้องเกิดขึ้นในภาคใต้ด้วยเหตุผลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าที่จะได้จากทั้ง 4 โครงการเท่ากับ 4,000 เมกะวัตต์ 

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ถูกกำหนดว่าจะตั้งอยู่ในพื้นที่โรงไฟฟ้ากระบี่เดิมที่อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ซึ่งปัจจุบันใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันปาล์มร่วมกับน้ำมันเตา


16 พฤศจิกายน 2556 – โรงไฟฟ้าลิกไนต์กระบี่ โรงไฟฟ้าแห่งแรกและแห่งเดียวในภาคใต้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

Diesel Power Plant in Krabi Province in Thailand. © Luke Duggleby / Greenpeace

ก่อนหน้านี้จังหวัดกระบี่มีโรงไฟฟ้ากระบี่ เดิมชื่อว่า โรงไฟฟ้าลิกไนต์กระบี่ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงแห่งแรกและแห่งเดียวของภาคใต้ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 60 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตั้งแต่ปี 2507 และทำพิธีปลดโรงไฟฟ้าออกจากระบบเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2538 รวมอายุการใช้งาน 31 ปี

ปี 2540 ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และได้รับอนุมัติก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ จากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540 สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ในปี2547

ปัจจุบันโรงไฟฟ้ากระบี่ได้ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สามารถใช้เชื้อเพลิงน้ำมันปาล์มร่วมกับน้ำมันเตาเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล ช่วยพยุงราคาน้ำมันปาล์มตกต่ำ แต่จะดำเนินการเมื่อได้รับคำสั่งการจากรัฐบาลเท่านั้น ปัจจุบัน โรงไฟฟ้ากระบี่ถูกกำหนดให้เป็นโรงไฟฟ้าชนิด “Reserved Shutdown” มีหน้าที่เสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

21 มีนาคม 2556 – การรวมตัวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จากชุมชนและกรีนพีซ ประเทศไทย

Banner in a Cliff in Railay Beach in Thailand. © Athit Perawongmetha / Greenpeace

นักกิจกรรมกรีนพีซ  ประเทศไทยกางป้ายผ้าบริเวณหน้าผาของอ่าวไร่เลย์ จ.กระบี่ โดยข้อความมีใจความว่า ‘หยุดถ่านหิน’ และ ‘ถ่านหินไม่ใช่คำตอบ’ หลังจากรัฐบาลไทยเผยแพร่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553 – 2573 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (แผน PDP 2010 Revision 3) ที่มีแผนจะสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 4,400 เมกะวัตต์

จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทั้งทางทรัพยากรทางธรรมชาติและระบบนิเวศในทะเล ทั้งนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ชุมชนท้องถิ่นรวมตัวกันเพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อาจเกิดต่อสุขภาพ เกษตรกรรม ท่องเที่ยว และระบบนิเวศในทะเล รวมถึงยังเป็นตัวการที่เร่งให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

27 มีนาคม 2556 – เปิดแผนที่ UNSEEN กระบี่

ตัวแทนประมงพื้นบ้านกระบี่และกรีนพีซร่วมกันสำรวจพื้นที่ทางทะเลของกระบี่ จัดทำแผนที่ UNSEEN กระบี่ แสดงให้เห็นถึงทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ที่ตั้งของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เส้นทางนำเข้าและขนส่งถ่านหินทางทะเล และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหากพื้นที่ดังกล่าวมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือถ่านหินเกิดขึ้น


9 มีนาคม 2557 – เสียงคัดค้านจากชุมชน

"No Coal" Banner in Krabi. © Roengrit Kongmuang / Greenpeace

ชุมชนในท้องถิ่นแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เช่น เจ้าของบาร์ในเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ แขวนป้ายผ้าที่มีข้อความว่า ‘ไม่เอาถ่านหิน’ อยู่ในบริเวณร้าน

18 พฤษภาคม 2557 – รวมพลังปกป้องกระบี่ผ่านกิจกรรมมินิมาราธอน

อาสาสมัคร ผู้สนับสนุน เยาวชนกรีนพีซและนักวิ่ง ร่วมกันกางป้ายผ้ารูปพะยูนที่มีข้อความ ‘ปกป้องกระบี่’ ในกิจกรรมมินิมาราธอน ‘Run for Krabi’ ที่จัดขึ้นโดย กรีนพีซ ประเทศไทย กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อแสดงพลังในการปกป้องจังหวัดกระบี่จากโครงการไฟฟ้าถ่านหิน ที่อาจส่งผลกระทบต่อ พะยูน ที่เป็นสัตว์ป่าสงวนที่ใกล้สูญพันธุ์ และระบบนิเวศของกระบี่ได้

Mini Marathon-Run for Krabi in Bangkok. © Sittichai Jittatad / Greenpeace
© Sittichai Jittatad / Greenpeace

21 สิงหาคม 2557 – รายงาน กระบี่บนทางแพร่ง ถ่านหินสกปรก หรือ ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด

“ทิศทางพลังงานของประเทศไทยกำลังเดินมาถึงทางแยกที่สำคัญ ประชาชนกำลังจับตามองการตัดสินใจของผู้นำประเทศว่าจะทำอนาคตพลังงานไปในทิศทางใด ระหว่างยึดติดกับเชื้อเพลิงถ่านหินที่สกปรกหรือพัฒนาไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัย การเสนอแผนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินที่กระบี่นั้นเป็นการเลือกที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง”

กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดตัวรายงาน กระบี่บนทางแพร่ง ถ่านหินสกปรก หรือ ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เพื่อผลักดันให้ไทยเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นพลังงานหมุนเวียน รวมถึงทำลายมายาคติของ ‘ถ่านหินสะอาด’ ผ่านกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

28 กันยายน 2557 – ชุมชนกระบี่รวมตัวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 (ค.3) โครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินบ้านคลองรั้ว ที่ศาลาประชาคม อ.เหนือคลอง จ.กระบี่

Community Protest Against Coal Project In Krabi. © Sittichai Jittatad / Greenpeace

ประชาชนในจังหวัดกระบี่รวมตัวกันและถือป้ายข้อความ ‘ปกป้องกระบี่ ไม่เอาถ่านหิน’ เพื่อแสดงให้เห็นว่าชุมชนไม่ต้องการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ นอกจากนี้ยังแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยหน้ากากปิดปากและกากบาทสีแดง แสดงถึงเสียงของชุมชนที่ถูกรัฐละเลยจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็น 

โดยเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า “การแสดงความคิดเห็นภายใต้สิทธิตามกฎหมายของประชาชนเพื่อคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหิน ภายใต้การดำเนินงานของกฟผ.ถูกเพิกเฉยมาโดยตลอด และชาวบ้านยืนยันอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ต้นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ 

Community Protest Against Coal Project In Krabi. © Sittichai Jittatad / Greenpeace

อย่างไรก็ตามในวันที่มีเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 มีการใช้กำลังผสมทหารตำรวจอปพร. เพื่อกำกับเวทีค.3 ให้เป็นไปตามที่กฟผ.ต้องการซึ่งประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิการแสดงความเห็นได้ตามกฎหมาย อีกทั้งมีการเกณฑ์ประชาชนมาเพื่อสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงต่อกัน ลักษณะดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อตอบโจทย์การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแต่เป็นการใช้อำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งสัดส่วนครอบครองโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของกฟผ. โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง 

Community Protest Against Coal Project In Krabi. © Sittichai Jittatad / Greenpeace

พวกเราจึงมานั่งปิดปากแสดงอารยะขัดขืนต่อกลไกอันไม่ชอบธรรมเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเราต้องการพื้นที่อันปลอดภัยต่อชีวิตสิ่งแวดล้อมและมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดกระบี่ ทั้งนี้เสียงของประชาชนที่ใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อปกป้องจังหวัดกระบี่ไม่มีใครฟังแต่กลับเดินหน้าเร่งจัดเวทีค.3 ให้เสร็จ สิ่งเหล่านี้คือความไม่ชอบธรรมที่ปิดปากประชาชนและละเมิดสิทธิของประชาชน”

11 พฤศจิกายน 2557 – ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านร่วมเรียกร้องปกป้องกระบี่

Local Fishermen Calls for Protection of Krabi in Thailand. © Greenpeace
© Greenpeace

ชาวประมงพื้นบ้านหลายร้อยคนรวมตัวกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และร่วมกางป้ายผ้าที่มีข้อความ ‘ปกป้องกระบี่’ ในบริเวณป่าชายเลนที่ปากแม่น้ำของกระบี่ คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหิน


3 มีนาคม 2558 – การรณรงค์ปกป้องกระบี่ใจกลางกรุงเทพมหานคร

Protect Krabi Campaign in Thailand. © Roengrit Kongmuang / Greenpeace

ตัวแทนจากเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินเข้าพบผู้ชำนาญการ (คชก.)ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เรียกร้องให้ทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินบ้านคลองรั้ว ก่อนการประชุมเพื่อประเมินรายงานดังกล่าวในวันที่ 6 มีนาคม 2558 ในกรุงเทพมหานคร

Protect Krabi Campaign in Thailand. © Roengrit Kongmuang / Greenpeace

การรณรงค์ปกป้องกระบี่จากถ่านหินในกรุงเทพฯครั้งนี้ ตัวแทนจากเครือข่ายเดินรณรงค์เป็นระยะทาง 13 กิโลเมตร ซึ่งนอกจากการเรียกร้องให้ทบทวนรายงาน EIA แล้ว ยังเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และกระบวนการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในไทยอีกด้วย

6 มีนาคม 2558 – เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน นอนประท้วงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหิน

Die-In Protest in Bangkok. © Roengrit Kongmuang / Greenpeace

เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินจำนวน 40 คนชุมนุมประท้วงหน้าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อคัดค้านโครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินบ้านคลองรั้วและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 870 เมกะวัตต์ในจังหวัดกระบี่

ก่อนที่จะถึงการประชุมพิจารณา EIA เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน เดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิรูปการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประเทศ (EIA) และกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพสิ่งแวดล้อม (EHIA) ของประเทศ

Die-In Protest in Bangkok. © Roengrit Kongmuang / Greenpeace

นางปิยะนันท์ โสภณคณาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สผ)  ได้รับข้อเรียกร้องจากผู้สนับสนุนที่เรียกร้องให้ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน จำนวน 44,000 รายชื่อ

เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินเน้นย้ำให้เห็นถึงความล้มเหลวด้านความโปร่งใสของกระบวนการ EIA ของท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว โดยกล่าวว่ากระบวนการ EIA ไม่ได้นำเสนอข้อมูลที่ครอบคลุม และไม่รวบรวมข้อกังวลทั้งหมดจากทุกภาคส่วน เครือข่ายระบุเพิ่มเติมอีกว่ารายงานยังขาดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และกังวลว่าขอบเขตของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ระบุในรายงาน EIA นั้นถูกมองข้ามไป

6 มิถุนายน 2558 – การประท้วงคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินในจังหวัดกระบี่

Protest against Coal in Krabi Province. ©   Borja  Sanchez-Trillo / Greenpeace

ประชาชนราวหนึ่งพันคนรวมตัวกันประท้วงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ยังคงเดินหน้าผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่ การชุมนุมจัดโดยเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน (Save Andaman from Coal Network) โดยเชิญชวนให้ภาคการท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นมาร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดถ่านหินที่จะทำร้ายอันดามัน

30 มิถุนายน 2558สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานเปิดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579

หรือแผน PDP 2015 มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงของพลังงานด้วยการกระจายเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า ประเด็นสำคัญคือการลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติและหันไปพึ่งพาแหล่งพลังงานจากถ่านหิน ซึ่งแผน PDP2015 นี้ระบุว่าจำเป็นจะต้องเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้ามากขึ้นในภาคใต้ของไทยเนื่องจากเป็นภูมิภาคมีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภูมิภาคดังกล่าวเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าให้ได้ในปี 2562-2567

10 กรกฎาคม 2558 – การต่อสู้ด้วยสันติวิธี อดอาหาร เพื่อปกป้องอันดามัน

Coal Power Plant Protest in Thailand. © Tadchakorn  Kitchaiphon / Greenpeace

แกนนำเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินเริ่มกิจกรรมอดอาหาร บริเวณด้านหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่ จ.กระบี่  

โดย ประสิทธิชัย หนูนวล และ อัครเดช ฉากจินดา ตัวแทนของเครือข่าย ใช้วิธีการนี้เพื่อสื่อสารให้สังคมรับรู้ว่า อันดามันมีคุณค่าแก่คนทั้งโลก พวกเขาทั้ง 2 คนยอมเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องอันดามันจากหายนะถ่านหิน 

ทั้งนี้มีเครือข่าย กว่า 200 องค์กรทั่วประเทศ ทำหนังสือเปิดผนึกต่อสาธารณะสนับสนุนการอดอาหารเพื่อร่วมกันปกป้องอันดามันจากถ่านหิน

19 พฤศจิกายน 2558 – นักกิจกรรมและนักวิชาการแถลงเปิดตัวรายงาน

นักวิชาการและนักกิจกรรมเปิดผลการวิจัยในรายงาน “ต้นทุนชีวิต : โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพคนไทย” เป็นการศึกษาเกี่ยวกับอัตราการเจ็บป่วยและการตายที่เกี่ยวเนื่องกับโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย ข้อมูลดังกล่าวเป็นผลการคำนวณแบบจำลองบรรยากาศ (Atmospheric Modeling) ที่ดำเนินการโดยทีมวิจัย Atmospheric Chemistry Modeling ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่าแบบจำลองการเคลื่อนที่ของเคมีในบรรยากาศ (Atmospheric chemistry-transport model- GEOS-Chem)

ผลวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า จนถึงปี2554 โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรประมาณ 1,550 คนต่อปี และอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอาจเพิ่มขึ้นถึง 5,300 คนต่อปี หากรัฐบาลไทยยังคงเดินหน้าขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในประเทศ


30 มกราคม 2559 – เครือข่ายคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินรวมตัวกันประท้วงหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Anti-coal Network Protest at Ministry of Natural Resources and Environment in Bangkok. © Borja  Sanchez-Trillo / Greenpeace

นักกิจกรรมมากกว่า 10 เครือข่ายไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน (Save Andaman from Coal Network) กลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้รวมตัวกันหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อคัดค้านการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ โดยกดดันให้รัฐมนตรีประกาศต่ออายุพื้นที่คุ้มครองทางสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้เกิดการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ ซึ่งประกาศดังกล่าวหมดอายุไปตั้งแต่ 3 ปีก่อน

5 กุมภาพันธ์ 2559 – นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ เพื่อศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีกครั้งตามที่เครือข่ายเรียกร้อง

Anti-coal Network Protest at Ministry of Natural Resources and Environment in Bangkok. © Borja  Sanchez-Trillo / Greenpeace

นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ประกอบไปด้วยตัวแทนนักวิชาการทั้งจากภาครัฐและภาคประชาชน รวมทั้งตัวแทนจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดกระบี่ตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินเมื่อเหตุการณ์การอดอาหารประท้วงเมื่อกรกฎาคม ปี2558 คือ

1.อนุกรรมการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)  

2.อนุกรรมการศึกษาพลังงานทางเลือก

3.อนุกรรมการประสานงานรับฟังความคิดเห็น และ4.อนุกรรมการประสานงาน โดยมีอำนาจหน้าที่ ในการปฏิบัติหน้าที่ 3 เรื่องคือ เรื่องรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม – ศึกษาเรื่องพลังงานหมุนเวียน 

ทั้งนี้รายงานสรุปผลการศึกษาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนของกระบี่ชี้ชัดว่า กระบี่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกว่า 1,700 เมกะวัตต์ 


17 กุมภาพันธ์ 2560 – เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหิน

ประชาชนจากเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังเดินทางมาปักหลักเพื่อคัดค้านแผนการสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในกระบี่

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน หยุดโครงการถ่านหินกระบี่ เพื่อหยุดมติ ครม.ในการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 

ต่อมา ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ สผ. มีหนังสือ ถึง กฟผ. ยกเลิกกระบวนการทำ EIAและ EHIA ก่อนหน้า เพื่อเริ่มกระบวนการใหม่ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน และเรื่องการประสานงานรับฟังความคิดเห็น


15 – 16 กุมภาพันธ์ 2561 – การประท้วงคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินหน้าองค์การสหประชาชาติ

Coal Power Plant Protest in Thailand. © Tadchakorn  Kitchaiphon / Greenpeace

นักกิจกรรมจากเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน (กระบี่-เทพา) รวมตัวกันบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

23 กุมภาพันธ์ 2561 – ชัยชนะของเครือข่ายประชาชนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินหลัง กระทรวงพลังงานสั่งทบทวน EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เทพา ใหม่

Victory on Anti Coal Powerplant Protest in Bangkok. © Tadchakorn  Kitchaiphon / Greenpeace

นักกิจกรรมเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน (กระบี่-เทพา)ร่วมกันถ่ายรูปหน้าองค์การสหประชาชาติเพื่อฉลองชัยชนะหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสั่งให้มีการจัดทำการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ใหม่

13 มิถุนายน 2561 – เปิดตัว รายงาน Krabi Goes Green สู่เมืองต้นแบบพลังงานหมุนเวียนเกินร้อยบนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์

ทีมศึกษาและจัดทำรายงานนำเสนอรายงาน Krabi Goes Green สู่เมืองต้นแบบพลังงานหมุนเวียนเกินร้อย บนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งทอดสมออยู่ที่จังหวัดกระบี่

รายงาน Krabi Goes Green สู่เมืองต้นแบบพลังงานหมุนเวียนเกินร้อย จัดทำโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยระบุว่ากระบี่สามารถเป็นผู้นำเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยและบรรลุเป้าหมายระบบพลังงาน หมุนเวียน 100% ได้ภายในปี 2569 วิสัยทัศน์นี้ทำให้เกิดขึ้นจริงได้โดยระบบพลังงานแบบผสมผสานจากชีวมวล ก๊าซชีวภาพ แสงอาทิตย์ ลม และพลังงานน้ำขนาดเล็กที่จัดการโดยระบบสายส่งอัจฉริยะ(smart grid)นอกจากนี้ ยังได้เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายทั้งในพื้นที่และระดับประเทศทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง


28 มิถุนายน 2565 – วันที่กระบี่ไม่มีถ่านหิน

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินแถลงประกาศชัยชนะ ปกป้องกระบี่จากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสำเร็จ

จากการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ที่ศึกษาโดยมหาวิทยาลัยนิด้า และกระทรวงพลังงานเป็นผู้จัดทำรายงานมีผลการศึกษาออกมาแล้วว่า “กระบี่รอดพ้นจากโครงการถ่านหิน 100 %”  (อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากพลังงานหมุนเวียน โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลยังคงถูกเสนอให้เป็นทางเลือกของความมั่นคงทางพลังงานในภาคใต้)

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จึงถือโอกาสประกาศชัยชนะต่อสาธารณะว่า ด้วยพลังประชาชนทำให้วันนี้ กระบี่และอันดามันปลอดภัยจากถ่านหินแล้ว และกำลังจะมุ่งหน้าเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน 100% ผ่านกิจกรรมที่ชื่อว่า “วันที่กระบี่ไม่มีถ่านหิน” โดยมีตัวแทนจากเครือข่าย นักวิชาการ นักรณรงค์ ร่วมพูดคุยถึงศักยภาพของกระบี่และอันดามันต่อการเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียน