สู่เมืองต้นแบบ พลังงานหมุนเวียนเกินร้อย

การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ(Sustainable Development Goals) โดยตรงอย่างน้อย 6 จาก 17 ข้อ รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อแสดงผลการศึกษาการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดกระบี่ เพื่อวางแผนการผลิตไฟฟ้าในช่วง 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2561-2580)

โดยศึกษาจากศักยภาพพลังงานชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ได้แก่ ชีวมวล แก็สชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำขนาดเล็ก เพื่อนำ.มาประมวลความเป็นไปได้ในการพัฒนาสู่จังหวัดต้นแบบที่พึ่งพาตนเองทางพลังงานด้วยพลังงานสะอาด 100% ลักษณะการวิเคราะห์ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ 1. การวิเคราะห์ความต้องการใช้ไฟฟ้าราย ชั่วโมงของหนึ่งสัปดาห์ ในทุกเดือน และ 2. การวิเคราะห์ความสามารถในการจ่ายไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในจังหวัดกระบี่เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา

สมมุติฐานที่ใช้ในการศึกษาประกอบ ด้วย 1. ระบบโครงข่ายพลังงานสามารถสั่งเดินเครื่องและหยุดเดินเครื่องเพื่อบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าได้ตามความต้องการของศูนย์ควบคุม 2. ความต้องการใช้ไฟฟ้าส่วนเกินสามารถส่งออกให้แก่จังหวัดข้างเคียงได้ตลอดเวลา 3. นโยบายของรัฐต้องส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและไม่เป็นอุปสรรคทั้งทางตรงและทางอ้อม 4. ระบบสายส่งและโครงข่ายสามารถรองรับความต้องการได้ โดยไม่เป็นข้อจำกัด

การศึกษาศักยภาพแหล่งพลังงานหมุนเวียนของจังหวัดกระบี่และความเป็นไปได้ในเชิงปริมาณพลังงานหมุนเวียนที่จะตอบสนองความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดของจังหวัดกระบี่ พบว่าจังหวัดกระบี่มีศักยภาพกำลังผลิตติดตั้งได้สูงสุดรวม 1,676 เมกะวัตต์ และสามารถเป็นจังหวัดต้นแบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างสมบูรณ์ 100% ทุกๆ ชั่วโมงในปี พ.ศ. 2569 หากสามารถเพิ่มปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพที่เหมาะสมและมีการสนับสนุนในเชิงนโยบายและกฏหมาย โดยพบว่าในปี พ.ศ. 2564 จะเป็นปีแรกที่ในบางช่วงเวลา (อย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อวัน) ที่จังหวัดกระบี่สามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียน100%

การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงาน จะมีต้นทุนรวมในแต่ละปี สูงกว่าถ่านหินและแก็สธรรมชาติในช่วงแรก แต่ในภาพรวม 20 ปีจะมีต้นทุนรวมต่ำกว่าถ่านหินอย่างชัดเจน รวมทั้งยังช่วยลดภาระการนำเข้าของประเทศ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่า จ้างงานมากกว่า และปล่อยแก็สเรือนกระจกน้อยกว่าปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนคือการมีนโยบายเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสม ได้แก่ รับซื้อ

พลังงานหมุนเวียนเข้าระบบก่อนพลังงานฟอสซิลการมีกลไกการผลิตและราคาพลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุน และ การปรับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องนอกจากนี้การพัฒนาสายส่งและระบบโครงข่ายอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพก็มีส่วนจำเป็นอย่างมาก

อ่านหรือดาวน์โหลดรายงานที่นี่

For English version click here