21 ตุลาคม 2565
เหลืออีกเพียงสองสัปดาห์ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 หรือ COP 27 และการประชุมที่เกี่ยวข้องจะเริ่มขึ้นที่เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (6-18 พฤศจิกายน 2565) ในส่วนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบต่อกรอบท่าทีเจรจาของไทยรวมถึงการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 (2nd Updated Nationally Dertermined Contribution) [1] ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศฉบับปรับปรุง (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LT-LEDS Revised Version) [2] แนวทางและกลไกความร่วมมือตามข้อ 6 ของความตกลงปารีส [3] และการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ [4]
กรีนพีซ ประเทศไทยทำงานรณรงค์เพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) และการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) มาอย่างต่อเนื่อง มีความเห็นต่อกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุม COP27 ดังนี้ ;
- ไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดอันดับที่ 9 ของโลกที่จะได้รับผลกระทบระยะยาวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ [5] แต่นโยบายสภาพภูมิอากาศ(Climate Policy)ของไทยไม่ได้สัดส่วน โดยมุ่งให้ความสำคัญกับมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) เป็นหลัก และเน้นการปรับตัวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (adaptation) น้อยเกินไปโดยเปรียบเทียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวที่ริเริ่มโดยท้องถิ่น(locally-led adaptation) เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มคนที่เสี่ยง เปราะบางและอ่อนไหวต่อผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุดจะมีสิทธิ์ตัดสินใจใช้ทรัพยากรทางการเงิน และเข้าถึงเงินทุนและการสนับสนุนที่จำเป็นเพื่อสร้างศักยภาพภูมิคุ้มกันจากวิกฤต (resilience)
- กรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุม COP27 ไม่พูดถึงประเด็นความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการเจรจาใน COP27 ที่ผลักดันโดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จากรายงาน Global Climate Risk Index 2021 ระบุชัดเจนว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว 146 ครั้ง สร้างความสูญเสียต่อชีวิต 0.21 ต่อประชากร 1 แสนคน และเกิดความเสียหาย 7,719.15 ล้านเหรียญสหรัฐ [6] หรือประมาณ 0.82% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) คำถามและสิ่งที่ต้องจับตาคือ คณะเจรจาของไทยที่ COP27 จะมีท่าทีที่ชัดเจนหรือไม่อย่างไรต่อข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหาย(Loss and Damage Fund) รวมถึงการดำเนินการภายใต้ข้อ 8 ของความตกลงปารีส [7] และความตกลงกลาสโกว์ [8]
- หากขาดสมดุลและไม่ได้สัดส่วน กรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุม COP27 จะเป็นกลไกสำคัญของการฟอกเขียว(Greenwashing) ทั้งเอกสารการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 (2nd Updated Nationally Dertermined Contribution) และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศฉบับปรับปรุง (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy : LT-LEDS Revised Version) หรือ Net Zero ที่จะนำเสนอต่อ UNFCCC รวมถึงการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฎิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย(Thailand Climate Action Conference: TCAC)ที่เป็นอีเว้นท์ของอุตสาหกรรมฟอสซิล ต่างพยายามผลักดันเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) พลังงานชีวภาพที่มีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Bioenergy with Carbon Capture and Storage: BECCS) โครงการ CCS แห่งแรกที่วางแผนในประเทศไทยนำโดย ปตท.สผ.(PTTEP) ที่แหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย ซึ่งคาดว่าจะดักจับและกักเก็บคาร์บอนราว 700,000 ตันต่อปี ภายใต้แผน net zero ของประเทศไทย ประมาณว่าจะใช้ทั้ง CCS และ BECCS ดักจับและกักเก็บคาร์บอนได้ 61.3 ล้านตันภายในปี 2608 เมื่อคำนวณต้นทุนที่ 100-200 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า การดักจับและกักเก็บคาร์บอนดังกล่าวนี้จะใช้เงินลงทุนมหาศาลถึง 216,934-433,869 ล้านบาท [9] อนึ่ง ต้องไม่ลืมว่าหลังจาก 5 ทศวรรษของการพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนด้วยเงินอุดหนุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ การโฆษณาเกินจริง การลดหย่อนภาษี การค้ำประกันและการหลอกลวง อุตสาหกรรมฟอสซิลดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพียง 0.1% ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งโลก ในขณะเดียวกัน คาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับก็ถูกนำไปใช้เพื่อผลิตน้ำมันมากขึ้น
- กรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุม COP27 โน้มเอียงอย่างชัดเจนในการสนับสนุนอุตสาหกรรมฟอสซิลและบรรษัทขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองทำการค้าขายคาร์บอนภายใต้แนวทางและกลไกความร่วมมือตามข้อ 6 ของความตกลงปารีส (Ariticle 6) ที่ถูกตีความโดยประเทศรัฐภาคีและภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ รวมถึงรัฐบาลไทยและอุตสาหกรรมฟอสซิลของไทยว่า Article 6 เกี่ยวข้องกับการเปิดตลาดโลกเพื่อชดเชยคาร์บอน(carbon offset) แท้ที่จริงแล้ว การชดเชยคาร์บอนคือใบอนุญาตให้อุตสาหกรรมฟอสซิลผู้ก่อมลพิษเดินหน้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป ขณะเดียวกัน เป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจในการแปลงทรัพยากรธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้าและเอื้ออำนวยให้บรรษัทและรัฐบาลที่ทรงอิทธิพลเข้ายึดครองผืนแผ่นดินของชุมชนที่เปราะบาง ละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำลายระบบนิเวศ ดังในกรณีข้ออ้างของการปลูกป่าขายคาร์บอนที่เป็นส่วนเร่งเร้าปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าภายหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2557 มีชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าถูกรัฐประกาศทับ ถูกยึดพื้นที่ทำกินและถูกดำเนินคดี ในช่วงเวลาเพียง 6 ปีหลังมีคำสั่ง คสช. มีคดีความเพิ่มขึ้นถึง 46,600 คดี
ในระหว่างการประชุม COP27 ที่สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (6-18 พฤศจิกายน 2565) และการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเอเปคที่กรุงเทพฯ (17-18 พฤศจิกายน) กรีนพีซ ประเทศไทย จะติดตามความเคลื่อนไหวของการประชุมเจรจา ทั้งในเรื่องท่าทีของคณะเจรจาไทยต่อประเด็นความสูญเสีญและความเสียหาย(Loss and damage) การฟอกเขียวและกลลวงคาร์บอนของรัฐบาลไทย และเปิดโปงอิทธิพลของอุตสาหกรรมฟอสซิลที่มีต่อนโยบายสภาพภูมิอากาศของไทย และเรียกร้องให้อุตสาหกรรมฟอสซิลทั้งหลายมีภาระรับผิด(accountability) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แหล่งกำเนิดทั้งห่วงโซ่อุปทานของตนอย่างแท้จริง (real zero) และยุติการผลักภาระ “หนี้นิเวศ” ให้กับผู้คน ชุมชน สังคมและโลกใบนี้
หมายเหตุ :
[1] การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (2nd Updated NDC) มีการแก้ไขเป้าหมายในระยะสั้นให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศฉบับปรับปรุง เช่น เป้าหมายก๊าซเรือนกระจกลดลงร้อยละ 30-40 จากกรณีปกติ ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) และเพิ่มเติมรายงานข้อมูลการปล่อย/การดูดซับก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้
[2] ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศฉบับปรับปรุงรวมถึงเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี 2568 เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608
[3] กลไกความร่วมมือตามข้อ 6 ของความตกลงปารีส หรือ Article 6 เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์การดำเนินงานรวมถึงรายงานการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(Paris rulebook) ภายใต้ความตกลงปารีสปี 2558 มีความยาวเพียงเก้าย่อหน้า แต่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง
[4] แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวและเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใน 6 สาขา ได้แก่ การจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว การสาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งมีกรอบระยะเวลาระหว่างปี 2561 – 2580
[5] Global Climate Risk Index https://www.germanwatch.org/en/19777
[6] คำนวณเปรียบเทียบกับอำนาจซื้อโดยดูจากค่าครองชีพ (Purchasing Power Parity, PPP)
[7] ข้อ 8 ของความตกลงปารีสว่าด้วยเรื่องความสูญเสียและความเสียหาย https://unfccc.int/files/adaptation/groups_committees/loss_and_damage_executive_committee/application/pdf/ref_8_decision_xcp.21.pdf
[8] ความตกลงที่เกี่ยวข้องกับความสูญเสียและความเสียหาย (loss and damage) ที่กลาสโกว์ดูที่ https://unfccc.int/sites/default/files/resource/cma2021_10_add1_adv.pdf https://unfccc.int/topics/resilience/resources/decisions-and-conclusions-about-loss-and-damage
[9] คำนวณจาก The Sixth Assessment Report, Climate Change 2022: Mitigation of Climate Change, the Working Group III ของ IPCC https://www.ipcc.ch/report/sixth-assessment-report-working-group-3/