เราอาจเคยเห็นการเก็บขยะตามชายหาด หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อยู่เนืองๆด้วยปัญหาขยะพลาสติกที่ถาโถมเข้าชายหาดอยู่บ่อย ๆในปี 2 ปี มานี้ แต่เราเคยทราบหรือไม่ว่า ทำไมเราถึงต้องมาเก็บขยะ เบื้องหลังกิจกรรมแบบนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ด้วยความอยากรู้และสงสัย เราก็เริ่มเดินทางหาคำตอบ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ริเริ่มโครงการเก็บขยะโครงการหนึ่งที่มีคนรู้จักจำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวอย่างโครงการเก็บขยะที่น่าสนใจชื่อว่า “เก็บรักษ์” โครงการนี้ริเริ่มโดยนักร้องและนักแสดงชื่อดัง “โตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์” ซึ่งเดือนกันยายนที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมการเก็บขยะครั้งที่ 8 ของโครงการแล้ว เรามาสำรวจเบื้องหลังแนวคิด “เก็บรักษ์” ของเขากับการออกไปเก็บขยะที่มากกว่าการทำให้ชายหาดสะอาด และเรื่องราวระหว่างทางที่มีคุณค่าผ่านกิจกรรมนี้กัน

จุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณโตโน่หันมาสนใจเรื่องขยะ

Tono Pakin Portrait

จุดเปลี่ยนสำคัญเลยคือเรามีโอกาสได้ไปเล่นคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศ เราไปหลายๆประเทศที่เขาบอกว่าเป็นประเทศที่สวย เราก็เลยมองย้อนกลับมาดูประเทศเราเอง เราดีใจที่ได้เกิดและเติบโตที่นี่ แต่อะไรที่ทำให้เสน่ห์ของประเทศเราลดลง หลังจากนั้นก็รู้สึกถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมาแล้วก็เลยคิดว่าถ้าเราปลูกจิตสำนึกในเรื่องนี้และช่วยกันพัฒนาสิ่งแวดล้อมในบ้านเราให้ดีได้ ประเทศของเราก็จะเป็นอีก 1 ประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกได้เหมือนกัน

แต่พอได้เริ่มทำจริงๆ ณ เวลานั้นถึงได้รู้ว่า ไทยติดอันดับประเทศที่ 6 ที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก และสุดท้ายขยะเหล่านี้ก็มีผลกระทบกลับมาสู่ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ประเทศอื่นๆมองว่าเราเป็นประเทศที่ไม่มีความรับผิดชอบ หรือสุดท้ายแล้วขยะที่เราทิ้งก็กลับเข้ามาอยู่ในท้องของเราโดยเปลี่ยนรูปเป็นไมโครพลาสติก เรื่องราวเหล่านี้ทำให้เรารู้ในสิ่งที่เราไม่เคยรู้มากขึ้น แต่สิ่งที่เรารู้แน่ๆ คือ เราอยากทำให้ประเทศของเราสะอาดและสวยงามขึ้น เราจึงเริ่มศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม เลยได้เห็นว่ามันมีปัญหาอะไรบ้างและมีอะไรที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องลงมือทำเพื่อแก้ไข แต่อย่างไรก็ดีสำหรับผม ผมโฟกัสกับขยะทั้งหมดไม่ใช่เพียงแค่ขยะพลาสติก สุดท้ายแล้วผมย้อนกลับมามองที่จิตสำนึกของเราทุกคน เพราะเราเป็นคนที่เลือกซื้อ เลือกใช้ และเลือกที่จะทิ้งขยะชิ้นนั้น ๆ เอง

เราหลายคนคงเคยได้ยินประโยคเกี่ยวกับประเด็นที่อยากทำให้ประเทศดีขึ้น ผมเชื่อว่าหลายคนคงได้ยินกันมาตั้งแต่ยังเด็ก หรือเรามักจะพูดกันว่า เรารักลูกหลานของเรา แต่พอผมได้ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้แล้วถึงได้รู้ว่าเราไม่มีวันนั้นให้ลูกหลานของเราหรอก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก สภาพภูมิอากาศ สิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ เรากำลังทิ้งโลกแบบไหนให้กับลูกหลานของเรา? 

สิ่งที่เกิดขึ้นมันย้อนแย้งกับคำพูดที่เราเคยได้ยินมา เราเลยรู้สึกว่าเมื่อยุคนี้มันเป็นยุคของพวกเราทุกคน  ยุคของเรานี้เรายังพอมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้ มันจึงเป็นเวลาที่เราจะหยุดพูดอย่างเดียว แต่ต้องลงมือทำได้แล้ว ผมเองเชื่อว่าเราทุกคนอยากให้ประเทศของเราดีขึ้นแน่นอน เพราะฉะนั้นตอนนี้เป็นเวลาที่เราต้องร่วมกันลงมือแก้ไขปัญหานี้ได้แล้ว

จากจุดนี้ผมเลยคิดว่า เรามาลงมือทำดีกว่า แม้ว่าปัญหานี้มันจะแก้ไขได้ยากแล้ว แต่ลงมือทำตอนนี้ก็ยังไม่สายเกินไป ทั้งหมดนี้คือจุดเปลี่ยนและเป็นแรงผลักดันให้ผมเริ่มจริงจังกับปัญหาขยะมากขึ้น และตั้งใจอยากให้ประเทศเราหลุดจาก 10 อันดับประเทศที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด

ความฝันและแรงผลักดันในการแก้ปัญหาขยะ

ผมมีความฝันที่อยากให้ไทยเราเป็น 10 อันดับประเทศที่น่าอยู่ที่สุด มันอาจจะเป็นเรื่องตลก สำหรับผมผมก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องตลกอยู่พอตัว แต่ก็อยากทำให้มันเป็นเรื่องจริง ซึ่งถ้าเรามัวแต่มองว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ มันก็จะไม่มีอะไรดีขึ้นเลย

ที่สำคัญคือถ้าเรารู้สึกท้อ รู้สึกว่ามันยาก เราแก้ไม่ได้หรอก  คือถ้าท้อแล้วบ้านเราสะอาดขึ้นเนี่ยผมจะท้อให้มาก ๆ เลย ฮ่า ๆ แต่เผอิญว่ามันไม่เป็นแบบนั้น ผมเคยทั้งท้อ ทั้งเซ็ง ทั้งเศร้า ทั้งด่า มันก็ไม่ได้ช่วยให้สะอาดขึ้นนอกจากลงมือทำ แล้วพอเราทำก็มีคนมาช่วยเราทำมากขึ้น ก็เลยไม่รู้จะเศร้า จะท้อ หรือจะยอมแพ้ไปทำไม อย่างน้อยเมื่อเราได้ลงมือทำแล้ว แล้วเราแพ้ให้กับปัญหานี้ เราก็ยังพอตอบลูกหลานของเราได้ว่า “พวกเราทำเต็มที่แล้ว แต่เราสู้ไม่ไหว”

เริ่มรู้จักแวดวง “ขยะ” และการเก็บขยะครั้งแรก

พอเริ่มศึกษามากขึ้นก็รู้จัก ไมโครพลาสติก และได้มีโอกาสรู้จักอาจารย์หลายๆท่านที่ได้ให้ความรู้เราเรื่องขยะ ทั้งนี้ก่อนที่เราจะเริ่มโครงการเก็บรักษ์ ผมได้มีโอกาสนั่งเรือไปที่เกาะปิดเกาะหนึ่ง ซึ่งเป็นเกาะที่ไม่มีคนอยู่ ไม่ใช่แหล่งท่องเที่่ยว ปรากฎว่าเกาะนั้นเต็มไปด้วยขยะทั้ง ๆ ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ ครั้งนั้นทำให้รู้ว่าที่เราเห็นว่าชายหาดสะอาดนั่นเพราะว่ามีคนเก็บ แต่พอเป็นเกาะที่ไม่มีคนอยู่แบบนี้ ขยะก็ถูกลมทะเลพัดขึ้นไปกองสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนั้นถึงได้รู้ว่าปัญหานี้หนักมากจริง ๆ 

Tono Pakin Portrait

หลังจากนั้นก็เลยเริ่มมาวางแผนกันว่าเราต้องจัดโครงการเก็บขยะขึ้นมาแล้วล่ะ อย่างน้อยเดือนละครั้งเพื่อมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน เพราะว่าผมเองก็ไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ใช่นักอนุรักษ์มาก่อน เป็นแค่คนไทยคนหนึ่ง ก็เลยอยากจะชวนคนไทยมาช่วยกันเก็บ บ้านเรามีประชากรตั้ง 70 ล้านคน แต่ละวัน เราแต่ละคนเก็บขยะคนละ 2 ชิ้นก็เก็บขยะไปได้แล้ว 140 ล้านชิ้น แล้วช่วยกันลดใช้อีกคนละ 2 ชิ้น เราก็จะลดขยะไปได้อีก 140 ล้านชิ้นต่อวันเลยนะ ตอนนั้นคิดว่าถ้าเราทำแบบนี้ได้ พวกเราก็ยังมีความหวัง

ครั้งแรกที่ลงไปเก็บขยะก็คือ เราเริ่มจัดโครงการเก็บขยะที่ชื่อว่า เก็บรักษ์ โดยเก็บรักษ์ครั้งที่ 1 นี้เราไปเก็บขยะที่เกาะแสมสาร (ชลบุรี) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว จะมีจุดที่เป็นหน้าผาแล้วตรงนั้นเป็นที่นิยม มีร้านค้า มีนักท่องเที่ยวไปนั่งชมวิว แต่เชื่อไหมว่าข้างล่างหน้าผาที่เขาไปนั่งชิลกันเป็นขยะหมดเลย มีทั้งขยะที่มีคนโยนทิ้งด้วยและขยะจากทะเลที่ถูดพัดขึ้นมาติดอยู่ที่นี่  จากครั้งนั้น เก็บรักษ์ครั้งที่ 1,2,3 ผ่านไปจนถึงครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 8 ที่เกิดขึ้นที่บางกะเจ้า 

ประสบการณ์การเก็บขยะพีค ๆ

ตอนไปเก็บขยะครั้งแรก ๆ ก็มีขยะหลายอย่างที่ผมเห็นแล้วรู้สึกว่ามันแปลกมาก ๆ เลย เช่น ลูกฟูก โซฟา เตียงนอน หรือพวกขวดที่ใส่ปัสสาวะของนักท่องเที่ยวที่บางทีเขาปัสสาวะใส่ขวดพลาสติกเวลานั่งรถบัสอะไรแบบนั้นครับ แล้วเขาก็รวม ๆ กันใส่ถุงดำแล้วทิ้ง แล้วพวกเราไม่รู้เลยลงไปเก็บ พอเราใช้คราดเกี่ยวถุงเพื่อจะดึงขึ้นมา มันทำให้ขวดข้างในแตกแล้วก็ส่งกลิ่นเหม็นเลยครับ ขยะพวกนี้แหละที่แต่ก่อนรู้สึกว่ามันแปลก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยรู้สึกว่าแปลกแล้วครับเพราะว่าเก็บบ่อยก็เจออยู่บ่อย ๆ

พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นประเภทขยะที่น่าห่วง

ขยะประเภทที่น่าเป็นห่วงมาก ๆ เลยก็จะเป็น พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) คือเวลาเราไปเก็บขยะ เรามักเจอพลาสติกชนิดนี้เยอะมาก เยอะกว่าขยะอื่นๆหลายเท่าไม่ว่าจะเป็น หลอดพลาสติก ก้นบุหรี่ ขวด ฝาขวด หรือหนังยาง เราเจอขยะประเภทนี้เยอะมาก แล้วพอเราขอข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ จากอาจารย์หลาย ๆ ท่าน ก็ได้ทราบว่าพลาสติกประเภทนี้เองที่เข้าไปอยู่ในท้องของสัตว์ที่เรากิน

ประสบการณ์เก็บขยะที่หาดแม่รำพึง ที่ถึงกับต้องร้อง โอ้โห

เราเคยไปเก็บขยะที่หาดแม่รำพึง เก็บอยู่ประมาณ 3 ชั่วโมงปรากฎว่าเก็บขยะได้ 3 ตันกว่า ๆ แต่เช้าวันต่อมามีขยะกลับมาเหมือนเดิม ตอนนั้นเรารู้สึก โอ้โห หนักจัง เรารู้สึกได้ถึงน้ำหนักของขยะที่เยอะเลยล่ะ เพราะขยะเหล่านี้ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวแล้วทิ้งขยะนะ แต่ขยะมันสะสมมาตั้งแต่ต้นน้ำแล้วพอขยะเหล่านี้ไหลออกสู่ทะเล บางส่วนก็ถูกพัดมาเกยที่หาดแบบที่แม่รำพึงนี่แหละ มันคือขยะของพวกเราเอง แต่ผมก็บอกตัวเองว่าเราห้ามท้อกับสิ่งที่เกิดขึ้น

จริงๆแล้วตลอดเวลา 7-8 เดือนที่เราเริ่มทำโครงการนี้ เราออกมาเก็บขยะแบบนี้ก็มีคนบอกผมเสมอว่า การเก็บขยะของพวกเรามันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้หรอก แต่ผมก็ต้องมองโลกเชิงบวกเข้าไว้ด้วยการมองว่าอะไรที่จะทำให้ปัญหาเหล่านี้มันดีขึ้นบ้าง เราก็พยายามทำในจุดนั้นแล้วขยายสิ่งที่ทำอยู่นี้ให้มันใหญ่ขึ้น กว้างออกไปยิ่งขึ้น ถ้าเราหมดหวังตั้งแต่แรกเราก็คงไม่มีแรงทำอะไรเพื่อทำให้ปัญหามันดีขึ้นเลย

ไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ดังนั้นการที่จะเปลี่ยนให้ไทยหลุดออกจาก 10 อันดับประเทศที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลกนั้น ยากมากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นปัญหาขยะนี้ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของทุกๆคนเลยครับ และเราทุกคนก็ต้องตั้งใจลงมือทำให้ปัญหานี้ดีขึ้น เราจึงจะแก้ไขปัญหานี้ได้ในเวลาที่สั้นลง โลกของเราตอนนี้เหลือเวลาอยู่แค่ 11 ปี และถ้าเรายังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่แบบนี้ เรายังคงใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนักหน่วงแบบนี้ ใช้พลาสติกแบบไม่คิดแบบนี้ เราจะมีเวลาแค่ 11 ปีเท่านั้น (ตัวเลขจาก IPCC ที่ระบุว่าเรามีเวลาในการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ซึ่งอยู่ที่ว่าเราจะแก้ปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อนได้ไหม

11 ปีนี้จะเป็นตัววัดคำพูดที่คนยุคเราชอบพูดว่า เรารักลูกหลานของเรา

แต่เห็นเก็บขยะร้อนๆกลางแดดแบบนี้ก็มีเหตุการณ์ที่สร้างรอยยิ้ม สร้างความสุขเหมือนกันนะ เพราะเราได้เห็นความรักและสามัคคีของคนไทยที่มาช่วยเหลือกัน

ไปเก็บรักษ์ กับเด็ก ๆ ในโรงเรียน

พอเราเก็บขยะได้สัก 3 – 4 ครั้งแล้ว ตั้งแต่เก็บรักษ์ครั้งที่ 4-6 เราก็เลือกไปจัดโครงการเก็บขยะในโรงเรียน เพราะว่าเราอยากไปฟังความเห็นของน้อง ๆ นักเรียน ว่าน้อง ๆ คิดอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาขยะและน้อง ๆ มีวิธีอะไรไหมที่จะทำให้จังหวัด หรือโรงเรียน หรือหมู่บ้านของน้อง ๆ ดีขึ้น คือเราอยากฟังความเห็นของชาวบ้านว่าพวกเขามีความคิดเห็นอย่างไรเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้เก่ง การฟังความคิดเห็นของหลาย ๆ คนมาช่วยกันหาวิธีที่จะทำให้จังหวัด โรงเรียน หมู่บ้านที่อาศัยอยู่นั้นดีขึ้น

การไปเก็บขยะที่โรงเรียนนี้ช่วยผมได้มาก อย่างเช่นผมเพิ่งรู้จากน้อง ๆ เกี่ยวกับปัญหาที่สัตว์บกกินพลาสติกเข้าไป น้อง ๆ เขารู้ก่อนที่จะมีข่าวในโซเชียลมีเดียเรื่องกวางกินพลาสติกแล้วตาย หรือคลิปอีกากินพลาสติก แล้วตอนไปเก็บรักษ์ครั้งที่ 5 ที่จังหวัดลพบุรี มีเด็กคนหนึ่งเขาบอกว่า ควายที่บ้านตาย แล้วพอผ่าท้องควายตัวนั้นปราฎว่าเจอถุงพลาสติก ตอนนั้นผมก็ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งนะ แต่พอมีข่าวออกมาก็เลยได้รู้ว่า พวกสัตว์มันไม่รู้หรอกว่ามันกินสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ และยิ่งมีข่าวพะยูนมาเรียมตายเพราะพลาสติก วาฬโฮปตาย เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ผมคิดมากกว่านั้นคือ ก่อนที่มาเรียมตายแล้วมีกระแสเรื่องปัญหาพลาสติก มีสัตว์ที่ตายด้วยสาเหตุเดียวกับมาเรียมไปอีกกี่ตัวแล้ว หรือแม้กระทั่งหลังจากมาเรียมตายไปแล้วก็ยังมีสัตว์อื่น ๆ ตายอีกเกือบทุกวัน แล้วเราจะเหลืออะไรให้กับลูกหลานของเรา โลกของเราในอนาคตบ้าง

แต่อย่างน้อย ๆ เราก็ได้เห็นว่าในระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา พวกเราตื่นตัวกับปัญหานี้และปัญหาไมโครพลาสติกเพิ่มขึ้นเยอะมาก สื่อมวลชนช่วยกันลงข่าวเรื่องไมโครพลาสติก เรื่องขยะ และคนเริ่มรู้ถึงผลกระทบจากการใช้มากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผมคิดว่าเรายังมีความหวังที่จะทำให้ปัญหามันดีขึ้นได้

ตัวผมเองเป็นนักร้อง เป็นนักแสดง ผมก็พยายามเอาสิ่งที่พอจะมีอยู่บ้างออกมาใช้ประโยชน์ในตอนที่ยังมีคนฟังผมพูดอยู่ ยังมีสื่อสนใจมาสัมภาษณ์อยู่ มีคนอยากมาช่วยผมเก็บขยะด้วยกันอยู่ ผมก็อยากทำให้เต็มที่ก่อนที่จะหมดเวลาของผม

เก็บรักษ์ก้าวต่อไปที่ “ต้นน้ำ”

ตอนนี้ตัวโครงการมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการที่มีคนมาร่วมเก็บรักษ์กันมากขึ้นคนก็จะรู้จักโครงการมากขึ้นไปอีก และสิ่งที่เรามองต่อไปในอนาคตก็ตั้งใจไว้ว่า น่าจะไปลุยที่แม่น้ำลำคลองมากขึ้น ที่ผ่านมาเราทำให้คนเห็นแล้วว่าขยะตามชายหาดมีปริมาณมากขนาดไหน สภาพชายหาดที่ไม่มีคนเก็บขยะเป็นอย่างไร ซึ่งก็ยังมีคนส่วนใหญ่ที่คิดว่าขยะส่วนใหญ่เป็นเพราะคนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นกลุ่มเดียว แต่เขายังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วคือการทิ้งขยะตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนขยะมาสิ้นสุดที่ปลายน้ำ

คุ้งบางกะเจ้าที่มีเก็บรักษ์ครั้งที่ 8 นี้ เรารู้ดีว่าที่นี่คือปอดของคนกรุงเทพ เหตุผลที่เรามาเก็บรักษ์ที่นี่ก็เพราะว่า เวลาที่มีลมทะเลพัดเข้ามา ลมทะเลนี้ผ่านที่จุดนี้ก่อนที่จะมาถึงพื้นที่ที่พวกเราอยู่ ลมนี้จะผ่านป่าในคุ้งนั้นแล้วจะกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปล่อยออกซิเจนเข้ามาให้กับคนในเมือง แต่ก็มีอีกจุดหนึ่งตามมาเช่นกัน นั่นคือ ปัญหาขยะ ด้วยความที่บางกะเจ้าเป็นโค้งแม่น้ำสุดท้ายของเจ้าพระยา ก่อนลงสู่อ่าวไทย ลมก็ได้พัดเอาขยะจากแม่น้ำมาด้วยซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านที่นั่นเก็บขยะเท่าไหร่ ๆ ก็ไม่หมด วันต่อมาขยะก็ถูกพัดมาอีก และกลายเป็นจุดที่ขยะเยอะมาก ๆ เป้าหมายของเราก็คือเราจะไปเก็บขยะที่นั่นให้สะอาดที่สุด และจะให้ความรู้กับคนด้วยว่าพื้นที่ตรงนี้สำคัญอย่างไร และปัญหาขยะที่นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของคนบางกะเจ้า แต่เป็นเรื่องของคนที่อยู่ต้นน้ำ กลางน้ำ รวมกันลงมาสู่ปลายน้ำ 

อยากบอกอะไรกับทีมลดใช้พลาสติกทุกคนบ้าง

สำหรับผมนะ ผมว่าเราอย่าท้อแล้วก็อย่าไปเศร้า เรามาแก้ปัญหานี้ด้วยความรักกันดีกว่า คนที่เขายังไม่ทราบแล้วก็ยังใช้อยู่ เราอย่าไปโกรธหรือเกลียดเขา แต่อะไรที่เราแนะนำ เราพอช่วยเหลือเขาได้ เราก็บอก เราอยู่ด้วยกันด้วยความเข้าใจ ส่วนเรื่องที่จะใช้หรือไม่ใช้ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับตัวเรา สมมติว่าไปกินข้าวแล้วบอกไม่ทันว่าไม่เอาหลอด เราเองก็ต้องวางใจ อาหารมื้อหน้าเราก็ตั้งใจใหม่ แต่สิ่งที่ผมดีใจอย่างหนึ่งก็คือถ้าเรามองสถานการณ์เมื่อก่อน กับ 9 เดือนที่ผ่านมา ผมว่าพวกเราโอเคขึ้น 

ดังนั้น อย่าเพิ่งท้อกันนะครับ ผมเห็นร้านค้าหลายร้านเริ่มเปลี่ยนแล้ว มีผู้จัดการหลาย ๆ ห้างโทรหาทีมเรา บอกกับเราว่า เขาเห็นสิ่งที่ทีมเราทำแล้ว เขาก็อยากเปลี่ยนเช่นกัน จะเปลี่ยนมาใช้ลังกระดาษแทน ผมว่ามันก็น่าพอใจในระดับหนึ่งนะ เราอยู่ด้วยกัน เข้าอกเข้าใจกัน ช่วยเหลือร่วมมือกัน เราก็จะแก้ไขปัญหานี้ได้ และปัญหานี้จะดีขึ้นในแบบที่เราอยากให้เป็นด้วย


ร่วมสนับสนุนการทำงานของกรีนพีซ

เราส่งต่อเรื่องราวดี ๆ ที่จะช่วยให้การปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนเป็นเรื่องน่ารู้ เข้าถึงง่ายและสามารถนำไปปรับใช้ต่อไปได้