ขวัญกนก กษิรวัฒน์ หรือพี่ขวัญ คือหนึ่งในคนที่ตัดสินใจใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์มาใช้ในธุรกิจร้านค้าของตนเอง ที่จังหวัดกระบี่ การตัดสินใจใช้โซลาร์เซลล์มาเกือบสิบปีของพี่ขวัญ เป็นหนึ่งในเสียงจากประชาชนที่เป็นผู้ประกอบการว่า โซลาร์เซลล์คือทางเลือกหนึ่งของพลังงานสะอาดและเป็นธรรมที่จะช่วยให้ประชาชนไทยสามารถที่จะประหยัดค่าไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี พี่ขวัญได้ชี้ให้เห็นภาพตั้งแต่ขั้นตอนการทำงานของโซลาร์เซลล์ ตัวเลขค่าไฟที่ลดลงเกินครึ่ง และประชาชนทุกคนควรเข้าถึงความรู้และการใช้โซลาร์เซลล์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ เรื่องเล่าของพี่ขวัญยังไม่ได้มีแค่พลังงานสะอาดเท่านั้น เพราะพี่ขวัญคือหนึ่งในคนที่ร่วมต่อสู้ ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จังหวัดกระบี่ เรื่องเล่าของพี่ขวัญสะท้อนให้เห็นถึงพลังของประชาชนที่สามารถเอาชนะโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ ซึ่งนั่นสอดคล้องกับพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรมอย่างโซลาร์เซลล์ พลังงานสะอาดที่รัฐควรให้ความสนใจ และสนับสนุนมากกว่าถ่านหิน ที่จะทำลายความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ คุณภาพชีวิตของผู้คนที่ต้องอาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนั้น

ในวันที่แบกรับค่าไฟไม่ไหวโซลาร์เซลล์จึงกลายเป็นคำตอบสุดท้าย (และท้ายสุด)

พี่ขวัญเล่าย้อนไปในช่วงปี 2558 ที่เริ่มนำโซลาร์เซลล์มาติดตั้งในธุรกิจซุปเปอร์มาเก็ตของตนเองที่ชื่อว่า ลันตา มาร์ท โดยเริ่มเปิดทำการตั้งแต่ปี 2541 ที่อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พี่ขวัญตัดสินใจใช้โซลาร์เซลล์เนื่องจากการแบกรับค่าไฟที่สูงขึ้น การศึกษาหาความรู้และเห็นตัวอย่างจากต่างประเทศ

“บางครั้งตัวเองเดินทางไปเมืองนอกแดดไม่มีขนาดบ้านเรา แดดน้อยกว่าประเทศเราเยอะ เขายังทำได้ เราคิดว่า มันน่าจะเอามาใช้กับเมืองไทยได้ ก็เลยตัดสินใจหาบริษัทที่มีความสามารถในเรื่องนี้ ปี 2558 เรื่องโซลาเซลล์มันไม่ได้ฟีเวอร์เหมือนตอนนี้ ตอนนั้นคนทำโซลาร์เซลล์น้อยมาก ไปดูหลายที่จนเจอบริษัทหนึ่ง ตอนนั้นร้านลันตา มาร์ทจะเปลี่ยนแอร์อยู่แล้ว เลยมีความคิดว่าเราติดโซลาร์ใช้ตรงกับแอร์ DC ไปเลย เราก็เลยลองติดโซลาร์เซลล์ซึ่งมันไม่ได้มีอินเวอร์เตอร์แยก มันคืออยู่ในแอร์ การติดโซลาร์เซลล์ติดตามอินเวอร์เตอร์ของแอร์ประมาณ 48 กิโลวัตร”

ตอนนั้นพื้นที่ร้านค้าประมาณ 750 ตารางเมตร ค่าไฟ 120,000  บาทต่อเดือนโดยประมาณ ตอนนั้นเป็นแอร์ตู้ และเรายกเลิกแอร์ AC (Alternating Current)  เราใช้แบบ DC (Direct Current) ตรงจากโซลาร์เซลล์ พี่ติดเสร็จค่าไฟลดลงจนเหลือ 70,000 บาท และใช้มาตลอด 5 ปี เราขยายร้าน เพิ่มมาปริมาณ 300 ตารางเมตร หลังจากเพิ่มเราใช้ไฟมากขึ้น มีห้องเย็น ตู้เพิ่ม ค่าไฟผันแปร หรือ ค่า FT (Fuel Adjustment Charge) ไม่สูงเหมือนตอนนี้ ไม่ขึ้นปี๊ด คือค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แต่ ณ ตอนนี้คือเราจ่ายค่าไฟ 105,000 บาท”

ก่อนติดและหลังติดโซลาร์เซลล์

© Greenpeace / Jonas Scheu

“ติดแล้วเหมาะมาก เราผลิตแล้วเราใช้เลย มันเหมาะมาก พี่คิดว่าจะติดเพิ่มอีก 1 เฟส เราคำนวณว่าการติดโซลาร์เซลล์ที่มันประหยัดจะทำยังไง เพื่อลดค่าใช้จ่ายการติดโซลาร์เซลล์ครั้งต่อไป ขืนไม่ติดค่าไฟทะยานแน่นอน อย่างเดือน มกราคม กุมภาพันธ์ ใช้ไฟเยอะที่สุด มันจะเยอะกว่านี้ ต้องมีเฟสสองตามมา ก่อนติดค่าไฟเยอะมาก หลังติดค่าไฟลดฮวบ มันคืนทุนเยอะมาก คนที่ใชไฟตอนกลางวัน โซลาร์เซลล์มันตอบโจทย์มาก”

หลักการทำงานของโซลาร์เซลล์

“แดดมามันก็ทำงานเลย จริง ๆ โซลาร์เซลล์ช่างพื้นถิ่นก็ทำได้ เมื่อก่อน พี่ก็ไม่เข้าใจนะ พอพี่มาดูจริง ๆ ช่างไฟที่ผ่านการอบรมทำได้หมดเลย มันเป็นเรื่องง่ายมาก แต่รัฐควรมาส่งเสริมและช่วยเหลือเรื่องนี้ว่าต้องมาให้ความรู้ช่างพื้นถิ่น ว่าการทำโซลาร์เซลล์เป็นแบบไหนให้กับช่างพื้นถิ่น และอย่างพี่ที่เป็นผู้ใช้ไฟก็ต้องมีความรู้ เช่นในการจัดการ  ช่วงไหนค่าไฟถูก หลังสี่ทุ่มมันเป็นค่าไฟถูก เขาเปิดทุกอย่างได้จนถึงเก้าโมงเช้าถึงสี่ทุ่ม ค่าไฟ 4 บาทกว่า รัฐควรมาให้ความรู้กับชาวบ้านว่าเป็นแบบไหน ซึ่งจริง ๆ แล้วเขาควรให้ทุนด้วยซ้ำในการจัดอบรม หรือให้ความรู้ชาวบ้านในการทำเรื่องนี้ พี่ว่ามันไม่ได้ยาก ใครก็ทำได้

จริง ๆ แล้วระบบมันไมได้ยากเลย ของพี่ผลิตแล้วใช้เลย ก่อนหน้านี้แบตเตอรี่มันจะแพง ซึ่งซื้อแบตเตอรี่มาติดมันไม่คุ้ม ของพี่ผลิตแล้วใช้เลย พอหลังหกโมงมันจะแผ่ว แต่ ณ ปัจจุบันนี้ แบตเตอรี่มันจะแพงอยู่ แนะนำให้ติดแล้วใช้เลย เพราะมันคุ้มกว่ามาก ๆ แต่ถ้าในอนาคตแบตเตอรี่มันถูกลง เราสามารถเอาแบตเตอรี่มาลดช่วงพีคที่เราใช้ไฟเยอะ เพราะการไฟฟ้าเวลาคิดค่าไฟเรา คิดตามความพีคที่มันสูงขึ้น แต่เวลาใช้โซลาร์เซลล์เราเอาแบตเตอรี่มาใช้ช่วงที่พีค และมันจะลดพีคลง และมันทำให้ค่าไฟเราลงด้วย”

“ของพี่ตอนนั้นที่ติดมันแค่ 310 วัตต์ต่อ 1 แผ่น ซึ่งตอนนั้นแพงมาก เฉพาะค่าแผ่น 1 แผ่นคือราคา 10,700 บาท ถ้าเทียบกับตอนนี้มันลดลงไปสองเท่า ตอนนั้นมัน 48 กิโลวัตต์ พี่จ่ายไป 1,900,000 บาท ตอนนั้นมาถึงตอนนี้คือดีมาก เพราะการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มันเวิร์คที่สุด คือใช้ไฟกลางวันผลิตเสร็จแล้วเราใช้ไฟเลย แต่สถานการณ์ที่ผ่านมา อินเวอร์เตอร์มันแพงมาก เราไม่สามาถติดเพื่อคุ้มทุนได้เร็ว เราเลยเลือกผลิตและใช้เลย กลางคืนเราใช้ไฟฟ้าของหลวงอยู่ ประมาณหกโมงเย็นโซลาร์เซลล์จะเริ่มผลิตได้น้อยลง และไฟหลวงจะเข้ามาแทนที่ มันเวิร์คมากสำหรับคนใช้ไฟกลางวัน”

หลังติดตั้งใช้เวลากี่ปีในการคืนทุน

“สำหรับพี่ตอนนั้นต้นทุนมันสูงมากเลยนะ พี่ว่าน่าจะประมาณ 7 ปี เพราะจากค่าไฟ 120,000 บาท มันดิ่งลงมาเลยเหลือ 70,000 บาทแล้วมัน cover ระยะเวลามากกว่า ค่า FT จะขึ้น ประมาณสี่ปี ค่าไฟพี่ไม่เคยเกิน 70,000 บาท เลย จนเราขยายร้าน ค่าไฟมันก็ไต่ระดับขึ้น ตอนนี้ถ้าเราไม่ติดโซลาร์เซลล์ พี่ว่าค่าไฟพี่ทยอยแตะขึ้นถึงสองแสนชัวร์ เพราะว่า เราเพิ่มพื้นที่ขึ้น เพิ่มตู้เย็น การใช้ไฟที่มันมากขึ้น พี่ว่าไม่เกิน 7 ปี ที่คืนทุน แต่ต้องเป็นผลิตแล้วใช้เลยนะ ใช้ไฟกลางวัน แต่ถ้ากลางคืนอาจจะไม่ตอบโจทย์ คือต้องมีแบบเก็บ งั้นจะกลายเป็นผลิตทิ้ง”

พลังของแสงแดด พลังงานสะอาดที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม

“บ้านเรามีศักยภาพมากในการใช้โซลาร์เซลล์ด้วยแดดที่มันเยอะ โซลาร์เซลล์ไม่ได้ต้องการความร้อน ต้องการแสงที่จะนำมาผลิต การที่เรานำโซลาร์เซลล์มาใช้ในประเทศเรานั้นมันเหมาะมาก เพราะด้วยศักยภาพแสงที่มี คือด้วยอากาศมันเหมาะและตอบโจทย์ประเทศไทย เหมาะมากในการผลักดันเรื่องโซลาร์เซลล์ให้ทุกคนมีโอกาสรับรู้ว่า โซลาเซลล์มันทำงานแบบไหน มันจัดการอย่างไร ที่จริงถ้ามีคนท้องถิ่นมีความรู้เยอะ การติดตั้งไม่ได้ยาก เขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งมันเหมาะมากกับบ้านเรา”

โซลาร์เซลล์ต้องใช้แสงแดด และภาคใต้ที่ฝนตกเยอะ มันจะเวิร์คจริงไหม?

“ตอนฝนตกมันก็ไม่ได้ผลิต แต่ฝนมันไม่ได้ตกทั้งวัน ฝนตกครึ่งชั่วโมง ที่เหลือหยุด มันผลิตได้ต่อเลย ยกเว้นหน้ามรสุมจัด ๆ จริง ๆ แต่มันไม่ได้มีเวลานาน ช่วงที่ไม่มีฝน ท้องฟ้าเปิด โซลาร์เซลล์ก็ทำงานปกติ หกโมงเย็นโซลาร์เซลล์ผลิตนะ แต่ไม่ได้เต็มกำลัง ใช้ได้อยู่ จริง ๆ นะ เขาชอบพูดว่า ฝนแปดแดดสี่ สำหรับเรามันไม่ใช่ ฝนตกเยอะก็จริง แต่มันแค่ช่วงเวลา ฝนหยุดโซลาร์เซลล์มันผลิตได้เลย โดยที่ไม่ต้องแสงเยอะ มืดก็ผลิตได้ แต่แค่ไม่เต็มกำลัง อันนี้จากประสบการณ์ที่เห็นที่หน้าจอนะ จริง ๆ แล้ว โซลาร์เซลล์มันผลิตไหม มันจะมีจอให้เราเห็นว่าตอนนี้เราใช้ไฟฟ้ากี่เปอร์เซ็นต์ ใช้โซลาร์เซลล์กี่เปอร์เซ็นต์แล้ว”

“พี่อยู่ติดกับทะเล ฝนตกบ่อยไหม บ่อย แต่ไม่ตกตลอดเวลา และไม่มีผลเลยในการใช้โซลาร์เซลล์ ฝนตกบางครั้งดีด้วยซ้ำ บรรยากาศที่เย็นโซลาร์เซลล์ยังผลิตได้ ไม่ได้ส่งผลว่าใช้งานไม่ได้ ซึ่งมันไม่ใช่ ยังใช้งานได้อยู่ มันอาจจะดรอปนิดหน่อย ช่วงฝนตก การอยู่ติดทะเล หรือโซนภาคใต้ ไม่มีผลต่อการใช้โซลาเซลล์เลย”

ความมั่นคงที่ควรเกิดจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรมไม่ใช่พลังงานที่สร้างผลกระทบต่อผู้คน

“ความมั่นคงถ้าเราไปพึ่งโรงไฟฟ้าใหญ่อย่างเดียว บ้านเราบางครั้งก็นำเข้า ก๊าซฟอสซิล มันอาจจะเป็นการซื้อไฟล่วงหน้า พี่คิดว่ามันมีผลต่อค่าไฟ ณ ปัจจุบันที่ค่า FT ขึ้น มันคือค่าความสูญเสียที่ซื้อทิ้งเปล่าและชาวบ้านต้องมารับในส่วนนี้ ซึ่งจริง ๆ ไม่ควร ณ ตอนนี้ค่า FT แพงมาก ชาวบ้านก็ต้องรับนะ ถ้าทุกคนหรือชาวบ้านมีความรู้เรื่องโซลาร์เซลล์ ทุกคนช่วยหลือตัวเองได้ ค่าไฟจากรัฐอาจจะเป็นศูนย์ก็ได้ เพียงเราให้ความรู้การติดตั้งโซลาร์เซลล์กับชาวบ้านซึ่งไม่ยากเลย ช่างไฟติดตั้งได้ทุกคน เหมือนอย่างหลานพี่ เฟสสองที่พี่ทำโซลาร์เซลล์พี่ไม่ได้จ้างนะ พี่แค่จัดหาอุปกรณ์ เขาเป็นคนมาติดตั้ง และเราไปหาผู้เชี่ยวชาญมาดูระบบให้ พี่เคยเอาโซลาร์เซลล์ไปติดที่สวน ปกติถ้าไม่ติดโซลาร์เซลล์ เราต้องใช้เครื่องปั่นไฟ ซึ่งมันต้องจ่ายค่าน้ำมัน เรื่องที่สองคือเสียงดังเราต้องสิ้นเปลืองเยอะมาก แต่พอเรามีโซลาร์เซลล์ น้ำมันไหลเองเลย อันนี้พี่เห็นมากับตา พอแดดออกน้ำไหลเลย ถ้าชาวบ้านชาวสวนรู้ เขาสามารถจัดการด้วยตัวเองได้ และเขาไม่ต้องเสียค่าไฟเองเลย เพียงแต่ครั้งแรกเขาอาจต้องลงทุน ปัจจุบันนี้พี่ว่า ราคา 20,000-25,000 ทำในสวนได้แล้ว ดึงน้ำได้แล้ว ตอบโจทย์ชาวบ้าน และสามารถนำไปใช้ในครัวเรือนได้ พี่คิดว่าในอนาคตถ้าเขามีความรู้เรื่องนี้เขาทำได้เลย”

รัฐควรส่งเสริมอะไรบ้างให้กับชาวบ้านในการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรม 

“ถามว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่แดดเยอะ ถ้ารัฐส่งเสริมด้วยการให้ข้อมูลชาวบ้าน หรือมีการเปิดสอน เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจเรื่องนี้แบบแจ่มแจ้งและรู้ว่ามันใช้ได้จริง ตัวนี้จะช่วยชาวบ้าน และช่วยประเทศได้ด้วย เพราะไม่ต้องสำรองพลังงาน จริง ๆ บางโรงแรมเขาตื่นตัวด้วย บางโรงแรมบนเกาะลันตาเขาทำเรื่องนี้และได้ผลด้วย เขาติดกัน 100 กิโลวัตน์ ซึ่งอันนี้มันเป็นทางออกหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการและช่วยเหลือชาวบ้าน เมื่อไหร่ที่ค่าไฟแพงไม่มีผลกระทบต่อเขา เพราะเขาช่วยเหลือตัวเองได้”

จากจุดเริ่มต้นของการใช้โซล่าเซลล์จนเห็นผลอย่างชัดเจนว่าค่าไฟลดลงไปมากเกินครึ่ง และเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรม ซึ่งต่างจากการใช้พลังงานที่ต้องแลกมากับความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ เช่น ถ่านหิน เป็นต้น พี่ขวัญ ยังชวนเล่าไปถึงเส้นทางการต่อสู้ของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ จนวันที่ได้รับชัยชนะ และปิดท้ายถึงการฝากถึงรัฐบาลในประเด็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรม 

การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ จนรองเท้าหลุด

Local Fishermen Calls for Protection of Krabi in Thailand. © Greenpeace
© Greenpeace

“เหตุการณ์ผ่านไปซักประมาณครึ่งปี พี่ก็มารับรู้ว่ากระบี่เขาจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตอนนั้นพอไปฟังเราจะอยู่เฉยไม่ได้แล้ว เราต้องต่อสู้ในเรื่องนี้ เรื่องนี้ไม่ควรเกิดในบ้านเราหรือแหล่งท่องเที่ยว หรือที่ไหนก็ไม่ควรเกิด เราก็เลยเริ่มเลย พอเริ่มเข้าไปเป็นหัวโจก เริ่มมาตั้งแต่นั้น จนการต่อสู้มันยาวนานมาก เกินห้าปี สู้กันตั้งแต่การเดินขบวนที่กระบี่ เดินเพื่อปลูกจิตสำนึก ทั้งในเกาะ ทั้งที่กระบี่ ซึ่งตอนนั้นมีความรู้สึกว่าถ้าเราไม่สู้เรื่องนี้ กระบี่ไม่น่ารอดมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะว่าทุกคนเข้มแข็งมากในการคิดว่าเราจะทำอย่างไร ให้โรงไฟฟ้าถ่านหินมันเกิดไม่ได้ เรารู้สึกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินถ้ามันเกิดมันมีหลายอย่างมากที่จะตามมา หนึ่งกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวไม่ควรมี สองถ่านหินเป็นมลพิษมันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ มันเดินต่อไม่ได้กับถ่านหิน และการต่อสู้เรื่องถ่านหิน ณ ตอนนั้นมันยิ่งกว่าละคร ตั้งแต่เราไปปิดทำเนียบ เราไปเดินชุมนุมประท้วงที่กรุงเทพ การสู้ถ่านหินมันเป็นมาด้วยความยากลำบาก ทุกคนต้องไปนอนวัด เราก็ต้องไปนอนวัดร่วมกับชาวบ้าน ชาวบ้านอยู่ตรงไหนเราต้องอยู่ตรงนั้น เขานอนหน้าทำเนียบ ยุงกัดไม่มีที่ว่างเราก็ไปอยู่กับเขา ตอนนั้นเรามีความรู้สึกว่าทุกคนต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทุกคนต้องร่วมมือกันต้องเสียสละเงินทอง เวลา เสียสละทุกอย่าง เพื่อให้การต่อสู้ครั้งนั้นรัฐเล็งเห็นว่ามันจะต้องทบทวนว่า ถ่านหินมันตอบโจทย์จริงหรอ ไม่มีพลังงานอื่นหรอที่จะเอามาทำเป็นพลังงานไฟฟ้า พวกเราเลยมีความรู้สึกว่ามันน่าจะมีทางออกอื่น พลังงานอื่น นั่นเลยเป็นที่มาที่เรามาติดโซลาร์เซลล์”

เส้นทางการต่อสู้ความร่วมมือร่วมใจจากหลายองค์กรและภาคส่วน

“ตอนที่ต่อสู้ถ่านหินมีหลายองค์กร เยอะมาก มหาวิทยาลัย อาจารย์ต่าง ๆ ก็ยังมาร่วมต่อสู่ นอกจากชาวบ้าน ผู้ประกอบการ น้อง ๆ NGOs บางกลุ่ม แม้แต่กรีนพีซ หรือผู้ประกอบการกระบี่ก็มาช่วย คนที่คิดเหมือนกัน ว่ามันไม่ควรมีถ่านหินแล้วนะ มาร่วมช่วยกันทั้งหมดเลย ไม่เฉพาะแต่กระบี่ ตอนนั้นมีเทพาด้วย”

ตอนที่ต่อสู้เรื่องถ่านหิน มีบุคคลจากหลายที่มาร่วมด้วยช่วยกัน เรารู้สึกขอบคุณเขามากที่เขามาช่วยเรา ช่วยทุกอย่างนะ ตั้งแต่หาสถานที่ รู้สึกขอบคุณทุกอย่างมาก รู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยวตอนนั้น เรายังมีคนที่มีความคิดเดียวกับเรา ไม่ต้องการให้เรื่องถ่านหินนี้เกิด มีหลายหน่วยงานมากที่ช่วยสนับสนุน มันเลยทำให้เราภูมิใจมาก ณ สถานการณ์นั้นเราไม่ได้เดินเรื่องนี้เพียงลำพัง แต่มีคนอื่นช่วยเราเยอะมาก

ยิ่งกว่าละคร และในละครฉากนี้ ความประทับใจคือฉากไหน?

“พี่คิดว่าสถานการณ์นั้นเหมือนละครเปี๊ยบเลย คือมีน้อง 4 คนโดนจับ และพวกพี่อยู่ข้างนอก และน้องเขาโทรมาว่าเหตุการณ์ข้างในเป็นแบบไหน ซึ่งเขาส่งสัญญาณว่า โจทย์ที่หนึ่งโดนจับไปแล้ว รุ่นที่สองต้องโดนแน่นอน รุ่นที่สองมันมีพี่อยู่ในนั้นด้วย น้องหลาย ๆ คนพี่น่าจะอายุมากสุดในทีม เราวางแผนว่าเราไม่น่าจะอยู่รวมกับชาวบ้านได้ ตำรวจหรืออะไรที่ล้อมเขาเห็นแล้วว่าคนไหนเป็นใคร ถ้าจัดการโจทย์พวกนี้ไปได้ ทั้งหมดอาจต้องสลายหรือไม่มีคนดูแล ซึ่งก็จะง่ายกับการสลายการชุมนุม พวกเราทั้งหมดเลยนั่งแท็กซี่ไปโรงแรมไปที่อื่น แต่สถานการณ์ตอนนั้นโรงแรมจะมีถนนที่ทะลุกัน อีกฝั่งทหารอยู่อีกฝั่งตำรวจอยู่อีกฝั่ง เหมือนละครเลย และมีรถน้องมารอรับริมถนน เราชะเง้อดูจนทหารมันขับผ่าน คือเราก็วิ่งเลย คือตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยวิ่งขนาดนั้นมาก่อน วิ่งไม่คิดชีวิต ตอนอยู่ในรถแล้วรู้สึกตื่นเต้นมาก และไปบ้านน้องอีกคน เพื่อให้ม๊อบสลายมันต้องจับแกนนำ ตอนนั้นคิดแบบนั้นและทุกคนก็เงียบกริบเลยในบ้าน เราเลยรู้เลยว่าสถานการณ์คับขันในชีวิตมันเป็นแบบนี้นี้นี่เอง วิ่งไม่คิดชีวิตมันเป็นแบบไหน ซึ่งพี่รู้สึกว่า ณ วันนั้น พี่ขอบคุณรองเท้าพี่ และพี่เก็บรองเท้าคู่นั้นเลยนะ มันเหมือนเป็นรองเท้าประวัติศาสตร์ที่มันช่วยพี่ เพราะพี่คนตัวใหญ่สุด และพี่ก็วิ่งไม่คิดชีวิต”

“สถานการณ์นั้นเราไม่รู้ว่าเหนื่อยเป็นอย่างไร เราวิ่งอย่างเดียว มันเป็นสถานการณ์ที่แบบพี่รู้สึกว่ามันอยู่ในใจเราเลยนะ ถามว่าเรารู้สึกแบบไหนเราไปทำเรื่องนี้ เราไม่รู้สึกเสียใจเลย เรารู้สึกภูมิใจ ถามว่าถ้า ณ วันนั้นต่อสู้กัน หรือเราไม่ได้ร่วมกันทำเรื่องนี้ พี่เชื่อว่าในที่สุดมันก็จะปักเสาและมันก็ลงมือทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่มีทางเลย พี่ถึงบอกว่าการที่เราร่วมกันช่วยกันเรื่องถ่านหิน ถ้า ณ วันนั้นเราไม่ร่วมมือกัน ไม่ร่วมกันปกป้องเราไม่มีทางรอดเลย แต่เรารอดมาทุกวันนี้ เพราะเราร่วมมือกันจริง ๆ

Community Protest Against Coal Project In Krabi. © Sittichai Jittatad / Greenpeace
ชุมชนจากกระบี่ถือธงที่มีข้อความ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของเสียงที่ถุกรัฐเพิกเฉยจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว © Sittichai Jittatad / Greenpeace

ความสำเร็จของการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่าน และทำให้กระบี่เป็น Green Tourism หรือเมืองท่องเที่ยวสีเขียว ที่ไม่มีมลพิษ ไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน

“จากสิ่งที่เราต่อสู้มา และเราเห็นความสำเร็จ พี่บอกตัวเองอยู่เสมอว่า เป็นเพราะเราเต็มที่กับมัน เราต้องปกป้องแผ่นดินนี้ ยังไงเราต้องปกป้องให้ได้ ถามว่าเราไม่เต็มที่กับมัน ไม่ร่วมกัน ไม่จับมือกัน ณ ตอนนั้น ความสำเร็จไม่มีทางเกิด แต่ความสำเร็จเกิดเพราะความปกป้อง และมันเป็นผลสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย เกิดจากความร่วมมือร่วมแรง เกิดจากความรักที่จะหวงแหนปกป้อง การที่เราตั้งใจมันเลยทำให้เราเกิดผลสำเร็จจนถึงทุกวันนี้ ภูมิใจมากกับเรื่องนี้ เราอาจจะเป็นเบอร์ต้น ๆ ของการทำเรื่องนี้ ตอนนั้นเรารู้สึกว่า เราสนับสนุนอะไรได้ เราสนับสนุนทุกเรื่องนะ คือถามว่า ณ จังหวะนั้นเราลุยมันแล้วเราต้องลุยมันจนถึงที่สุด อุปสรรคไหนที่มี ความตั้งใจพังได้ทุกอย่าง ถ้าใจเรามันสู้ทุกอย่าง อุปสรรคไม่ได้เป็นปัญหาเพราะเราตั้งใจ เราสู้ เราเต็มที่กับมัน เราได้ผลสำเร็จที่เราพอใจจนถึงทุกวันนี้ และเราได้มิตรภาพมากมายนะ จากการเดินทางการต่อสู่ถ่านหินกว่า 7 ปี มีเพื่อนเยอะมากที่คิดเหมือน ๆ กัน มีพี่น้อง จนถึงหลังจากถ่านหินจบแล้ว แต่ความสัมพันธ์เราไมได้จบเลยนะ เวลามีงานยังไปมาหาสู่กันอยู่เลย มีความรู้สึกว่าการต่อสู้มันไม่ได้แค่ชนะเรื่องคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเดียวเราได้มิตรภาพมากมายเลย มันอยู่จนถึงทุกวันนี้ บางทีบางเรื่องที่เข้ามาในชีวิตเรา ณ วันนั้นมันเป็นเรื่องที่ไม่โอเค แต่ในทางกลับกันมันก็เป็นเรื่องที่ดี เราได้มิตรภาพเพิ่ม ได้กัลยาณมิตรเพิ่ม ซึ่งมันไม่หายไปจากเราเลย มันอยู่จนถึงทุกวันนี้”

ส่งกำลังใจบอกกับคนที่กำลังต่อสู้กับโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่อื่น ๆ

“จริง ๆ แล้วการต่อสู้มันอยู่ที่เรา มุ่งมั่นตั้งใจและร่วมด้วยช่วยกันที่อื่นอาจจะมีการต่อสู้โรงไฟฟ้าหรืออะไรที่มันเกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือมลพิษ ถ้าเราตั้งใจหรือเราเต็มที่กับมันและมันเป็นเรื่องถูกต้อง พี่เชื่อว่าการต่อสู้มันจะชนะ หรือมันจะไม่มีทางไม่เกิดผล ทุกอย่างถ้าเราเต็มที่ เราตั้งใจกับมัน ทุกอย่างมันย่อมเจอผลสำเร็จแน่นอน เอาใจช่วย สำหรับคนที่กำลังต่อสู้หรือเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้เราต้องลุกขึ้นมาสู้ขอเป็นกำลังใจให้ สู้เถอะ การต่อสู้ที่ร่วมมือร่วมแรงกัน ตั้งใจจริง ในที่สุดมันจะเกิดผลสำเร็จเหมือนกับสิ่งที่พวกเราต่อสู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อไฟดับ…ความยุติธรรมก็ดับตาม: บทสะท้อนจากพี่ขวัญต่อการจากไปของคุณยายผู้ต้องพึ่งออกซิเจน

“ถ้าคนเสียชีวิตจากการโดนตัดไฟ พี่ถือว่ามันก็ไม่ยุติธรรมนะ จริง ๆ แล้วการที่ชาวบ้านจ่ายค่าไฟไม่ตรง หรือไม่มีเงินไปจ่ายค่าไฟ พี่มองว่ารัฐควรจะเข้ามาดูแลบางส่วน อาจจะต้องมีขั้นตอนหรือวิธีการบางอย่างที่เอามาจัดการกับเรื่องนี้ ถ้าเป็นคนจนจริง ๆ รัฐควรช่วยแบบไหน จริง ๆ แล้วเรื่องค่าไฟมันเป็นปัจจัยพื้นฐาน แต่ ณ ปัจจุบันนี้บางทีรัฐไปเอื้อนายทุนมากเกินไป” 

เรื่องค่าไฟในปัจจุบัน โดยเฉพาะ ค่า FT (Fuel Adjustment Charge) หรือ “ค่าไฟฟ้าผันแปร” กลายเป็นประเด็นที่สร้างความรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับประชาชน โดยเฉพาะกับกลุ่มที่มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเปราะบางในสังคม คำถามสำคัญคือ “ชาวบ้านควรต้องจ่ายค่า FT หรือไม่?” หรือจริง ๆ แล้ว รัฐควรต้องทบทวนโครงสร้างต้นทุนพลังงานใหม่ โดยเฉพาะในส่วนที่กระทบกับผู้มีรายได้น้อยโดยตรง บางกลุ่มอาจไม่ควรต้องจ่ายค่า FT เลย หรือควรมีการยกเว้นขั้นต่ำตามหลักความเป็นธรรม หลายคนไม่รู้ว่า ค่าไฟที่เราใช้ทุกเดือนนั้น ไม่ได้สะท้อนแค่ปริมาณการใช้ แต่ยังรวมถึง ต้นทุนล่วงหน้าที่รัฐทำสัญญาซื้อไฟฟ้าไว้ล่วงหน้าทั้งที่บางส่วนของพลังงานนั้น อาจไม่ได้ถูกใช้จริงด้วยซ้ำ เรียกง่าย ๆ ว่ารัฐซื้อไว้แล้วไม่ได้ใช้ แต่ประชาชนต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้นอยู่ดี

รัฐควรเอื้อประโยชน์ให้แต่บริษัทพลังงานใหญ่หรือ? แล้วประชาชนผู้ใช้ไฟจริง ๆ ต้องร่วมแบกภาระที่ไม่เป็นธรรมนี้ไปอีกนานแค่ไหน? หากรัฐจะยืนอยู่ข้างประชาชนอย่างแท้จริง การทบทวนโครงสร้างค่าไฟ ควรเป็นเรื่องเร่งด่วน และต้องเริ่มจากหลักความเป็นธรรม ไม่ใช่แค่หลักคณิตศาสตร์หรือสัญญาเชิงธุรกิจเท่านั้น

ท้ายที่สุดของบทสัมภาษณ์พี่ขวัญได้ฝากความคาดหวังให้ประเทศเดินหน้าไปสู่พลังงานที่สะอาดและเป็นธรรม 100 % โดยรัฐต้องมุ่งสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความรู้และการผลิตไฟฟ้าที่มาจากธรรมชาติ เช่น โซลาร์เซลล์ เพราะพลังงานสะอาดคือคำตอบสุดท้าย ในวิกฤตการณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันนั่นเอง

“รัฐควรให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรมมากกว่านี้ ไม่ควรไปมุ่งกับพลังงานฟอสซิล จริง ๆ ทุกหลังคาบ้านมันมีพื้นที่ในการติดโซลาร์เซลล์ทุกบ้านเลย เพราะฉะนั้นรัฐควรหันมาเอาใจใส่กับเรื่องนี้มากขึ้น” 

พี่ขวัญอธิบายต่อว่า “ถ้าเป็นระดับกลุ่มเปราะบางรัฐอาจจะช่วยเลย 100 % หรืออีกกลุ่มที่พอจะช่วยเหลือตัวเองได้ รัฐอาจจะช่วยเหลือบางส่วน หรือหาแหล่งเงินทุนให้ เพื่อเขาจะได้ทำเรื่องนี้ได้ ถ้าระดับนักธุรกิจ หรือคนที่สามารถติดตั้งได้เลย อันนี้รัฐก็น่าจะมีนโยบายบางอย่างที่จะสนับสนุนเขา เพื่อว่าโซลาร์เซลล์มันจะเกิดขึ้นได้ทุก ๆ ครัวเรือน รัฐน่าจะทำอะไรกับเรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่ไปลงทุนแต่กับนายทุน การลงทุนโซลาร์เซลล์หรือพลังงานสะอาดไม่ได้ตอบโจทย์ในที่สุด ชาวบ้านซื้อไฟแพงอยู่ดี แต่ถ้ารัฐเข้ามาสนับสนุนเพื่อชาวบ้านให้ช่วยเหลือตัวเองได้ ผลิตใช้ไฟใช้เองได้ ในที่สุดเขาก็ไม่ต้องจ่ายค่าไฟแพง”