กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย, 27 พฤษภาคม 2563 – รายงาน “มายาคติของการรีไซเคิล -The Recycling Myth 2.0 ซึ่งจัดทำโดยกรีนพีซ มาเลเซียเปิดเผยข้อค้นพบสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยการสุ่มตรวจตัวอย่างน้ำและดินในรัฐเซอลาโงร์ (Selangor) รัฐเกอดะฮ์ (Kedah) ในมาเลเซีย [1] การศึกษาพบว่า ระบบรีไซเคิลที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือการค้าขยะพลาสติกนั้นส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นสถานการณ์สองปีหลังจากที่มีข่าวหลุมฝังกลบขยะผิดกฎหมายและพื้นที่ต่างๆ ที่มีการเผาขยะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของมาเลเซีย

เฮง เกียะ ชุน (Heng Kiah Chun) ผู้ประสานงานรณรงค์กรีนพีซ มาเลเซีย กล่าวว่า “ขยะพลาสติกที่มาจากประเทศ 19 ประเทศทั่วโลก ถูกทิ้งอย่างผิดกฎหมายได้ส่งผลเสียให้กับมาเลเซียและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้วนั้น ชุมชนในเซอลาโงร์และเกอดะฮ์ยังต้องเผชิญกับศัตรูที่มองไม่เห็นอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ สารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ตามสิ่งแวดล้อมของพวกเรา”

จากการเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่ที่มีการเผาขยะพลาสติกเพื่อนำมาศึกษาพบว่า มีพลาสติกขนาดเล็กปนเปื้อนอยู่ในดิน รวมถึง สารหน่วงการติดไฟที่มีองค์ประกอบของประกอบโบรมีน(Brominated Flame Retardants) ด้วย นอกจากนี้ ยังมีโลหะหนักที่มีความเข้มข้นสูง เช่น แคดเมียมและตะกั่ว ซึ่งมีโอกาสสะสมในร่างกายของผู้อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวผ่านการสัมผัสเป็นระยะเวลานาน โดยตะกั่วสามารถสร้างความเสียหายต่อระบบประสาทและสมองได้ ในขณะที่แคดเมียมจะส่งผลต่อ ไต ปอด และกระดูก [2]

ผลการวิจัยจากห้องปฏิบัติการของกรีนพีซจากการเก็บตัวอย่างน้ำจากริมแม่น้ำและลำคลองในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ดังกล่าวพบสารเคมีในแหล่งน้ำด้วย [3]

แม้ว่าในช่วงปี 2562 – 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียได้สั่งปิดโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติกที่ผิดกฎหมายถึง 218 แห่งเพราะไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ  [4] และในเวลาเดียวกัน ทางรัฐบาลได้จับมือกับประเทศอื่น ๆ เพื่อส่งขยะพลาสติกจำนวน 150 ตู้คอนเทนเนอร์กลับไปยังประเทศต้นทาง โดยขยะพลาสติกที่ผิดกฎหมายมีจำนวน 3,737 เมตริกตัน [5] หรือหนักประมาณหนึ่งในสามของน้ำหนักหอไอเฟล 

Manfred Santen ผู้ประสานงานรณรงค์กรีนพีซ เยอรมนี กล่าวว่า “ประเทศผู้ส่งออกขยะพลาสติกอย่างเยอรมนีต้องรับผิดชอบต่อการส่งออกขยะที่เกิดขึ้น และจำเป็นต้องมีกฏระเบียบที่เข้มงวดเพื่อลดการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ไม่จำเป็นของบริษัทผู้ผลิตอย่างเนสท์เล่ ถ้ารัฐมีมาตรการควบคุมการผลิตบรรจุภัณฑ์ได้ ก็จะไม่มีการส่งออกขยะไปยังประเทศอื่นเกิดขึ้น” 

“นอกจากการเพิ่มอัตราการรีไซเคิลให้มากที่สุดและยุติการส่งออกขยะที่ไม่โปร่งใสลงทั้งหมด การส่งออกขยะแบบผิดกฎหมายไปยังมาเลเซียในนามของรีไซเคิลนั้น ประเทศผู้ส่งออกขยะต้องมีส่วนรับผิดชอบในการดำเนินการต่าง ๆ และแบกรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับการจัดการขยะที่มาเลเซียด้วย”

“เมื่อพลาสติกถูกส่งออกจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งนั้น ได้นำพาสารเคมีอันตรายไปยังประเทศปลายทางด้วย” ดร.เควิน บริกเดน (Dr. Kevin Brigden) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากห้องปฏิบัติการวิจัยกรีนพีซอธิบายเพิ่มเติมว่า “การจัดเก็บและบำบัดที่ไม่เหมาะสมสามารถปล่อยสารเคมีที่เป็นอันตรายไปสู่สิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกับการเผาขยะที่ก่อให้เกิดสารเคมีอันตรายชนิดใหม่ได้เหมือนกัน”

การวิจัยนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรีนพีซมาเลเซีย เยอรมนี ฮ่องกง อิตาลี และรวมถึงห้องปฏิบัติการวิจัยกรีนพีซในสหราชอาณาจักร

การต่อสู้อย่างจริงจังเรื่องขยะพลาสติกของมาเลเซียยิ่งเลวร้ายลงเมื่อจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติกในเดือนมกราคม 2561 [6] ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาเลเซียมาจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี ออสเตรเลีย และอิตาลี

กรีนพีซมาเลเซียมีข้อแนะนำ ดังต่อไปนี้:
  • การสำรวจอุตสาหกรรมขยะพลาสติกมุ่งเน้นไปที่การกระทำที่ผิดกฎหมาย การทุจริต และการฉ้อโกงของประเทศผู้ส่งออกขยะพลาสติกและผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ไม่มีใบอนุญาต
  • การจัดลำดับความสำคัญของแผนลดมลพิษพลาสติก เพื่อลดการผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ไม่จำเป็นของบริษัทข้ามชาติ เพื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนของการลดบรรจุภัณฑ์ลง โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาทางเลือกบนพื้นฐานของระบบการเติมและการนำกลับมาใช้ใหม่ การเพิ่มอัตราการรีไซเคิล
  • บังคับใช้มาตรการการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility; EPR) ในการผลิตพลาสติก โดยมีการควบคุมบริษัทที่ผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ไม่จำเป็น ให้ติดตามผลิตภัณฑ์ตั้งแต่จากโรงงานผลิตไปจนถึงหลุมฝังกลบ และมีการตรวจสอบขยะพลาสติกก่อนส่งออก เพื่อสร้างความโปร่งใสของการกำจัดพลาสติกและระบบรีไซเคิลทั่วโลก
  • ส่งเสริมข้อตกลงระดับโลกเพื่อร่วมกันต่อกรกับขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลในกลุ่มประเทศที่ส่งออกขยะพลาสติกไปจนถึงการปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพัน เพื่อแก้ไขวิกฤตขยะพลาสติกซึ่งครอบคลุมทุกด้านของวงจรพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ในขณะเดียวกันก็พยายามปกป้องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มหาสมุทร และความหลากหลายทางชีวภาพไปด้วย
หมายเหตุ

อ่านรายงาน Recycling Myth 2.0 report เพิ่มเติมได้ที่นี่

[1] พื้นที่ในรัฐเซอลาโงร์ (Selangor) ตั้งอยู่ที่ปูเลาอินดาห์ (Pulau Indah) และคาปาร์ (Kapar) ตั้งอยู่ในเมืองกลัง (Klang) ส่วนกำปงศรีชีดดิง (Kampung Sri Cheeding)อยู่ในเมืองกัวลาลัต(Kuala Langat) และพื้นที่ในรัฐเกอดะฮ์(Kedah) ซึ่งเป็นพื้นที่หลุมฝังกลบที่ไม่มีการควบคุมใด ๆ นั้นตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสุไหง บูดัง (Sungai Muda) ผลการวิจัยพบว่า หลุมฝังกลบหลายแห่งมีการทำความสะอาดอย่างลวก ๆ  เพราะเศษพลาสติกที่เหลือจากการเผาและเศษขยะพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อยยังคงมีอยู่บนผิวดินชั้นบน ซึ่งมีโลหะหนักและเมทัลรอยด์ ในขณะที่สารปนเปื้อนทางเคมีก็พบในดินและแหล่งน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง

[2] CHEM Trust (2017): No Brainer – ผลกระทบของสารเคมีที่มีต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก เช่น เป็นสาเหตุของความกังวลและการตอบสนองของร่างกาย

[3] การปนเปื้อนของสารเคมีที่พบมีทั้ง สารหน่วงการติดไฟที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบ (phosphorus-based flame retardant – TPPO) เช่นเดียวกับโลหะและเมตัลลอยด์ เช่น แอนติโมนี(antimony) นิกเกิลและทองแดง

[4] ตามที่รัฐบาลมาเลเซียระบุว่า บริษัทรีไซเคิลบางรายที่ไร้ศีลธรรมได้มีการนำเข้าขยะอย่างผิดกฎหมายหรือปกปิด ไม่เปิดเผยข้อมูลภายใต้พิกัดศุลกากรที่แตกต่างกัน- HS 3915 เป็นรหัสสำหรับขยะพลาสติก หลังจากการปราบปรามของรัฐเซอลาโงร์และกระทรวงสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติกนำเข้า จึงเปลี่ยนไปสู่รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย คือ เกอดะฮ์และปีนังแทน

[5] https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/malaysia-returns-150-container-loads-of-plastic-trash-to-countries-of-origin

[6] ระหว่างปี 2559 ถึงปี 2561 ภูมิภาคอาเซียนมีการนำเข้าขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 171% จาก 836,529 ตันเป็น 2,265,962 ตัน เท่ากับตู้คอนเทนเนอร์สูง 20 ฟุตประมาณ 423,544 ตู้

CONTACT

Yvonne Nathan, Digital and Media Campaigner, Greenpeace Malaysia, [email protected], +60176 628 306
Greenpeace International Press Desk, +31 (0)20 718 2470 (available 24 hours), [email protected]