กรุงเทพฯ, 10 สิงหาคม 2566 – เครือข่ายสนับสนุนการขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม [1] จัดงานแถลงข่าว “ค่าไฟต้องแฟร์: ข้อเสนอภาคประชาสังคมและเอกชนถึงรัฐบาลใหม่” ร่วมยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลใหม่ ให้เร่งเปลี่ยนค่าไฟแพงเป็น #ค่าไฟต้องแฟร์ นอกจากนี้ยังร่วมแลกเปลี่ยนปัญหานโยบายและราคาพลังงานที่ไม่เป็นธรรมกับตัวแทน 4 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคไทยสร้างไทย เพื่อให้เกิดนโยบายพลังงานที่นำไปสู่ค่าไฟที่เป็นธรรมและสร้างความยั่งยืน
กลไกค่าไฟฟ้าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา มีความไม่เป็นธรรมหลายประการต่อประชาชน เช่น การลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าที่ไม่โปร่งใส การวางแผนกําลังการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เหมาะสม และการกําหนดราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งนอกจากจะเพิ่มค่าครองชีพของประชาชนโดยตรงแล้ว ยังสร้างปัญหาต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง ค่าไฟฟ้าของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิม 3.61 บาทต่อหน่วยเมื่อปี 2564 มาเป็น 4.70 บาทต่อหน่วยในปัจจุบัน และยังมีความเป็นไปได้ที่อาจปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้
เครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม อันประกอบไปด้วยหลายองค์กรทั้งภาคประชาสังคมและภาคเอกชน จึงเห็นพ้องกันว่า ต้องร่วมกันส่งเสียงให้รัฐบาลใหม่และสาธารณะ ทราบถึงสาเหตุและแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อนําไปสู่ราคาค่าไฟฟ้าที่แฟร์ โปร่งใส และไม่ผลักภาระให้ประชาชน โดยมี 5 ข้อเรียกร้องที่ต้องการเสนอต่อรัฐบาลใหม่ ดังนี้
5 ข้อเรียกร้องเพื่อ #ค่าไฟต้องแฟร์ ถึงรัฐบาลใหม่
- หยุดลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการขนาดใหญ่แห่งใหม่ทุกโครงการ ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังนํ้าขนาดใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้านและโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนกว่าไฟฟ้าสำรองจะลดลงสู่มาตรฐาน
- เร่งเดินหน้านโยบาย Net-metering หรือ ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า กับพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ บนหลักการที่เสรี เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และครอบคลุมทั้งประเทศ
- เปิดรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง โปร่งใส ตรวจสอบได้ต่อร่างแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้า (PDP) และร่างแผนพลังงานอื่นๆ ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาล
- พัฒนาระบบซื้อ-ขายส่งไฟฟ้าที่สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐอย่างเหมาะสม ควบคู่กับการเจรจาลดภาระที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่มีอยู่
- นําต้นทุนก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซที่มีราคาถูกกว่า ได้แก่ ก๊าซอ่าวไทย และก๊าซจากพม่า ไปคิดเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากเป็นบริการสาธารณะ
เมื่อนโยบายพลังงงานปัจจุบันของประเทศไทย ยังเอื้อผลประโยชน์ต่อกลุ่มทุนพลังงานฟอสซิล ทั้งจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และนำเข้าแอลเอ็นจี (LNG) จากต่างประเทศ เราสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างประชาธิปไตยทางพลังงาน สร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศที่เป็นธรรม ด้วยการร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเสนอ #ค่าไฟต้องแฟร์ได้ที่ https://www.energy-justice-thailand.com
#ค่าไฟต้องแฟร์
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ชลธร วงศ์รัศมี ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย โทร 0841545972
หมายเหตุ
[1] เครือข่ายการขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ได้แก่ Fair Finance Thailand แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย, International Rivers, Save Andaman Network, กรีนพีซ ประเทศไทย, โครงการมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในประเทศไทย (JET ), บริษัท เก็บตะวัน จำกัด, ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, สภาองค์กรของผู้บริโภค
[2] ร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเสนอ #ค่าไฟต้องแฟร์ได้ที่ https://www.energy-justice-thailand.com