กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย, 25 มีนาคม 2567 – เมื่อเดือนมีนาคม 2565 การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 (UNEA 5)  ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ได้มีมติเห็นชอบร่วมกันกับสมาชิก 175 ประเทศ ให้มีการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 การร่างสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (legally binding) มุ่งเน้นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและตลอดวงจรชีวิต ตั้งแต่การควบคุมปริมาณการผลิตพลาสติก มาตรการกำกับการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว สารเคมีและสารเติมแต่งที่น่าห่วงกังวล การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ไปจนถึงการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (just transition) และกลไกการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยจุดมุ่งหมายหลักคือการยุติปัญหามลพิษพลาสติกที่ไร้พรมแดน

อย่างไรก็ตาม  ขั้นตอนจนกว่าการจัดทำสนธิสัญญาจะแล้วเสร็จนั้น คณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INC) จะต้องเจรจาผ่านการประชุม 5 รอบ โดยผลการประชุมครั้งที่ 2 (INC-2) ได้มีการปล่อยร่างเอกสารฉบับแรกออกมา (Zero Draft) และในการประชุมครั้งที่ 3 (INC-3) ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ได้มีการเผยแพร่ร่างสนธิสัญญาฉบับแรก ที่เป็นฉบับปรับปรุง (Revised Zero Draft) ซึ่งเป็นร่างที่น่าจับตามองเนื่องจากเป็นร่างที่จะถูกนำมาเจรจาในการประชุมครั้งที่ 4 (INC-4) ที่เมืองออตตาว่า ประเทศแคนาดา ในระหว่างวันที่ 23-29 เมษายน 2567  ซึ่งจะเป็นการเจรจาก่อนการเจรจารอบสุดท้าย (INC-5) ที่มีความสำคัญและเป็นที่คาดหวังว่าเอกสารร่างสนธิสัญญาจะต้องแล้วเสร็จและจะกลายเป็นร่างฉบับแรก (First Draft)

องค์กรภาคประชาสังคม 3 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) เล็งเห็นถึงความสำคัญของมาตรการทางกฎหมายฉบับนี้ จึงร่วมจัดงาน “สนธิสัญญาพลาสติกโลก สู่การยุติมลพิษพลาสติก สำคัญอย่างไรต่อสังคมไทย” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเพื่อประกาศจุดยืนให้มาตราการทางกฎหมายฉบับนี้ทะเยอทะยาน คำนึงถึงสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายสูงสุด และเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติมลพิษพลาสติกเพื่อโลกที่ยั่งยืน สะอาด และเป็นธรรม โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาล 175 ประเทศทั่วโลก รวมถึงรัฐบาลไทย สร้างสนธิสัญญาพลาสติกที่บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยต้องมีเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน มีกรอบเวลาชัดเจน มีกลไกการเงิน ดังนี้

  1. ลดการผลิตพลาสติกอย่างจริงจัง ยกเลิกการผลิตและการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา จัดการได้ยาก สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ได้ 
  2. กำหนดให้มีการเลิกใช้สารเคมีอันตรายตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก พิจารณาการใช้สารเคมีทดแทนที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
  3. กำหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลดการใช้พลาสติก การใช้ซ้ำ การเติม การซ่อมแซม ที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเข้าถึงได้โดยมนุษย์ทุกคน
  4. กำหนดให้มีการพัฒนากฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติกและค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม
  5. กำหนดให้ผู้ผลิตพลาสติกรายงานข้อมูลสารเคมีในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารเคมีและมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก สู่สาธารณะ
  6. ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ผิดทาง รวมไปถึงการรีไซเคิลสกปรก[1] การขยายโรงไฟฟ้าขยะ และพลาสติกทางเลือกที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น
  7. ไม่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายพลาสติกใช้แล้วข้ามพรมแดน และการส่งออกเทคโนโลยีที่ก่อมลพิษ อันเป็นการผลักภาระมลพิษไปยังประเทศกำลังพัฒนา
  8. กำหนดให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก
  9. กำหนดให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน รวมไปถึง ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ผู้ปฏิบัติงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

[1] การรีไซเคิลสกปรกหมายถึงการรีไซเคิลของเสียและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม ไม่คำนึงถึงหลักการบริหารจัดการทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดี (Environmentally and Socially Sound Management) ก่อให้เกิดมลพิษและละเมิดสิทธิมนุษยชน และหมายรวมถึงการที่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่งออกของเสียมารีไซเคิลในประเทศที่กำลังพัฒนา อันเป็นการลดต้นทุนในการบริหารจัดการของเสียในประเทศของตนด้วยการผลักภาระมลพิษมายังกลุ่มประเทศที่มีเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการของเสียที่ยังด้อยกว่า

“การยุติมลพิษพลาสติกเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รอไม่ได้ เพราะพลาสติกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกรวน และสุขภาพของมนุษย์ทุกคนมากขึ้นทุกวันตามปริมาณ โดยเฉพาะกลุ่มคนอัตลักษณ์ชายขอบ ปัจจุบันแม้ปัญหาจะได้รับการพูดถึง แต่การแก้ปัญหาอย่างจริงจังจากต้นเหตุยังขาดเจตจำนงทางการเมือง สนธิสัญญาฉบับนี้จึงสำคัญมากที่จะทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องหันมาแก้ไขมลพิษพลาสติกจากต้นตอ ลดการผลิตและยกเลิกการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็นและมากเกินควร อย่างมีประสิทธิภาพ ทะเยอทะยาน แต่ยุติธรรม  และมีกรอบเวลาแล้วเสร็จที่ชัดเจน” ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ นักรณรงค์อาวุโส/ผู้จัดการโครงการพลาสติกภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ Environmental Justice Foundation

“เราต้องการสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่เข้มแข็ง และมุ่งไปที่การลดการผลิตพลาสติกอย่างน้อย 75% ภายในปี 2583 เพื่อให้เรายังคงอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส 

ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการต่อกรกับปัญหามลพิษพลาสติกในเวทีเจรจาที่กำลังจะมีขึ้น โดยการให้คำมั่นต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมและกลุ่มเปราะบางโดยยึดโยงกับหลักการสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังสามารถเริ่มกำหนดนโยบายที่จะช่วยลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในประเทศได้ โดยกำหนดให้มีการพัฒนาและบังคับใช้กฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle: PPP) ที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตพลาสติกตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การกระจายสินค้า การรับคืน การสร้างระบบใช้ซ้ำ รวมไปถึงรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม” พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทยกล่าว

“มลพิษพลาสติกเป็นปัญหาที่กว้างใหญ่และซับซ้อนมากกว่าปัญหาขยะพลาสติก โดยที่มลพิษพลาสติกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก่อพิษภัยต่อสุขภาพได้ลึกซึ้งและร้ายแรงกว่ามากนัก ทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนและสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ นอกจากนั้นยังเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของผลิตภัณฑ์และขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มักมีพลาสติกซึ่งมีการใช้สารเติมแต่งชนิดต่างๆ ปะปนอยู่ด้วย สารเติมแต่งเหล่านั้นเมื่อผ่านกระบวนการผลิต หรือบำบัดหรือย่อยสลาย จะปลดปล่อยสารมลพิษที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสภาพแวดล้อมของโลกใบนี้ รวมถึงสรรพชีวิตบนโลกด้วย” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าว

เอกสารข้อมูล: สนธิสัญญาพลาสติกคืออะไร


ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

  • วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย โทร 091-770-3523 อีเมล [email protected]
  • ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ ผู้จัดการโครงการพลาสติก Environmental Justice Foundation โทร 064-991-5522 อีเมล [email protected]
  • ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงานของเสียและมลพิษอุตสาหกรรม มูลนิธิบูรณะนิเวศ โทร 086-392-5307 อีเมล [email protected]

ข้อมูลองค์กรผู้จัด

กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) เป็นองค์กรอิสระ ทำงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในระดับสากล โดยใช้การเผชิญหน้าอย่างสร้างสรรค์และสันติวิธีเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ผลักดันนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและขับเคลื่อนขบวนการทางสังคมเพื่อนำเสนอทางออกของปัญหาเพื่ออนาคตที่น่าอยู่ ปลอดภัย เป็นธรรมและส่งเสริมสันติภาพ

มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) ทำงานในระดับนานาชาติ เพื่อผลักดันนโยบายและขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนผ่านการตรวจสอบและการสนับสนุนนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มชาติพันธ์ ชุมชน และนักข่าวอิสระ โดยเป้าหมายของการรณรงค์ คือเพื่อการธำรงไว้ซึ่งอนาคตที่สมบูรณ์ เสมอภาค และยั่งยืน

มูลนิธิบูรณะนิเวศ (Ecological Alert and Recovery – Thailand: EARTH) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนไม่แสวงหาผลกำไร ที่มุ่งเน้นงานศึกษาและติดตามปัญหาจากมลพิษอุตสาหกรรมและความปลอดภัยจากสารเคมี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสิทธิชุมชน สิทธิการเข้าถึงข้อมูล สิทธิการมีส่วนร่วม สิทธิในการได้รับความเป็นธรรม ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล รวมถึงความรับผิดชอบของภาคเอกชนภายใต้หลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย”