160 องค์กรภาคประชาสังคมและภาควิชาการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลทั่วโลกจัดทำสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่ทะเยอทะยาน ยุติมลพิษพลาสติกตลอดวงจรชีวิต คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิ และสุขภาพของมนุษย์เป็นหลัก
ปัจจุบัน ไม่มีพื้นที่ใดในโลกที่ไม่พบพลาสติก ไม่ว่าจะบนยอดเขาเอเวอเรสต์[1] ใต้ทะเลลึก[2] หรือในร่างกายของสัตว์[3] และมนุษย์[4] พลาสติกส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมตลอดวงจรชีวิต ตั้งแต่ขั้นการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหรือการปลูกพืชเพื่อเป็นวัตถุดิบ กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การขนส่ง การอุปโภคและบริโภค การรีไซเคิล รวมไปถึงการกำจัดทิ้ง โดยก่อให้เกิดมลพิษพลาสติกในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเศษพลาสติกหรืออวนผี[5] ไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า[6] สารมลพิษตกค้างยาวนาน (POPs) ทั้งที่ใช้เป็นสารแต่งเติมในผลิตภัณฑ์และที่ปลดปล่อยจากกระบวนการคัดแยก การรื้อถอน การเผา การรีไซเคิลของเสีย[7] ทั้งในรูปของเถ้าที่เกิดจากการเผากลางแจ้ง[8] หรือฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากเตาเผาขยะและโรงไฟฟ้าขยะ[9] นอกจากนี้ พลาสติกและกิจกรรมตลอดวงจรชีวิตของมันยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของภาวะโลกรวน[10]
การยุติมลพิษพลาสติกจึงเป็นพันธกิจสำคัญของพวกเราทุกคน การแก้ปัญหามลพิษพลาสติกต้องไม่หยุดอยู่แค่การจัดการขยะ แต่ต้องรวมไปถึงการยุติมลพิษตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก รวมถึงการลดการผลิตพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง ช่วงเวลานับจากนี้ไปจนถึงสิ้นสุดปี พ.ศ. 2567 ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาคมโลกจะต้องช่วยกันทำให้พันธกิจนี้บรรลุ พันธกิจนี้เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2565 ที่สมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้มีมติที่ 5/14 (UNEA Resolution 5/14) ได้กำหนดให้จัดตั้งมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายว่าด้วยมลพิษพลาสติก รวมถึงในสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยตั้งอยู่บนฐานของแนวทางที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก ซึ่งปัจจุบันสหประชาชาติเรียกว่า “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” และกำหนดเวลาจะร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567
สนธิสัญญาพลาสติกโลกมีศักยภาพที่จะเป็นกลไกสำคัญในการกำกับให้ทุกประเทศแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกอย่างจริงจัง ช่วงการเจรจาจัดตั้งนี้จึงเป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตที่ทุกคนและทุกประเทศทั่วโลกจะได้มีส่วนร่วมในการยุติมลพิษพลาสติกไปด้วยกัน พวกเรา องค์กรภาคประชาสังคมและภาควิชาการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิและสุขภาพของมนุษย์เป็นสำคัญ เสนอให้รัฐบาลไทยร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมการเจรจาระหว่างรัฐบาลเพื่อร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่ทะเยอทะยาน มีการตั้งกรอบเวลาการดำเนินการที่ชัดเจน มีกลไกทางการเงินที่ยั่งยืน โปร่งใส และเป็นธรรม เปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีบทบาท และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายหลัก 10 ประการดังต่อไปนี้ :
1. ลดการผลิตพลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนต่อการบริโภคและสิ่งแวดล้อม ยกเลิกการผลิตและการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา จัดการได้ยาก และสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ได้
2. กำหนดให้มีการเลิกใช้สารเคมีอันตรายตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก พิจารณาการใช้สารเคมีทดแทนที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
3. กำหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลดการใช้พลาสติก การใช้ซ้ำ การเติม การซ่อมแซม ที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเข้าถึงได้โดยมนุษย์ทุกคน
4. กำหนดให้มีการพัฒนากฎหมายและขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ยกเลิกการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น ขยายระบบใช้ซ้ำ การเติม และการซ่อมแซม รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่กระบวนรีไซเคิลที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ได้จริงภายในประเทศ ครอบคลุมวงจรชีวิตของพลาสติก และค่าความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
5. กำหนดให้ผู้ผลิตพลาสติกรายงานข้อมูลสารเคมีในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารเคมีและมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก สู่สาธารณะ
6. กำหนดให้มีมาตรฐานสากลในการจัดการพลาสติกที่ใช้แล้ว ที่ให้ความสำคัญกับการลดพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง การห้ามเผาขยะพลาสติก การกำหนดมาตรฐานการจัดการขยะที่เข้มงวด รวมไปถึงการรีไซเคิลและการผลิตพลังงาน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
7. ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ผิดทาง รวมไปถึงการรีไซเคิลสกปรก[11] การขยายโรงไฟฟ้าขยะ และพลาสติกทางเลือกที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น
8. ไม่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายพลาสติกใช้แล้วข้ามพรมแดน และการส่งออกเทคโนโลยีที่ก่อมลพิษ อันเป็นการผลักภาระมลพิษไปยังประเทศกำลังพัฒนา
9. กำหนดให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก
10. กำหนดให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน รวมไปถึงชุมชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ผู้ปฏิบัติงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
อ้างอิง:
[1] Carrington, D. (2020, November 20). Microplastic pollution found near summit of Mount Everest. The Guardian. https://www.theguardian.com/environment/2020/nov/20/microplastic-pollution-found-near-summit-of-mount-everest
[2] Gibbens, S. (n.d.). Plastic Bag Found at the Bottom of World’s Deepest Ocean Trench. National Geographic. https://education.nationalgeographic.org/resource/plastic-bag-found-bottom-worlds-deepest-ocean-trench/
[3] Jâms, I.B., Windsor, F.M., Poudevigne-Durance, T., Ormerod, S.J., & Durance, I. (2020). Estimating the size distribution of plastics ingested by animals. Nature Communications, 11. https://www.nature.com/articles/s41467-020-15406-6
[4] Euronews. (2023, August 30). Microplastics ingested by humans can be found in every organ including the brain, new study finds. https://www.euronews.com/health/2023/08/30/microplastics-could-be-widespread-in-organs-and-impact-behaviour-new-study-suggests#:~:text=Microplastics%20already%20detected%20in%20human%20tissue&text=Research%20already%20suggests%20that%20these,impact%20human%20health%20is%20limited.
[5] Kaandorp, M. L., Lobelle, D., Kehl, C., Dijkstra, H. A., & van Sebille, E. (2023). Global mass of buoyant marine plastics dominated by large long-lived debris. Nature Geoscience, 16(8), 689-694. https://www.nature.com/articles/s41561-023-01216-0 ;Nelms, S. E., Duncan, E. M., Broderick, A. C., Galloway, T. S., Godfrey, M. H., Hamann, M., Lindeque, P.K. & Godley, B. J. (2016). Plastic and marine turtles: a review and call for research. ICES Journal of Marine Science, 73(2), 165-181. https://academic.oup.com/icesjms/article/73/2/165/2614204 ;Stelfox, M., Hudgins, J., & Sweet, M. (2016). A review of ghost gear entanglement amongst marine mammals, reptiles and elasmobranchs. Marine pollution bulletin, 111(1-2), 6-17. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0025326X16304386
[6] Ng, E. L., Lwanga, E. H., Eldridge, S. M., Johnston, P., Hu, H. W., Geissen, V., & Chen, D. (2018). An overview of microplastic and nanoplastic pollution in agroecosystems. Science of the total environment, 627, 1377-1388. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0048969718303838
[7] Dvorska, A., Petrlik, J., Boontongmai, T., Bubphachat, N., Walaska, H., Strakova, J., Thowsakul, C., Teebthaisong, A., Jelinek, N., Grechko, V., Saetang, P., Jeungsmarn, P., Phanphet, P., Pulawun, S., Nasomsoi, B., Purechatang, P. Natwong,S., Seemuang, N., Pewpan, P., Carpenter, D.O. (2023). Toxic hot spot in Kalasin: Persistent Organic Pollutants (POPs) in the Surroundings of Electronic Waste Recycling Sites in Kalasin Province, Thailand. EARTH & Arnika Association. https://arnika.org/en/publications/toxic-hot-spot-in-kalasin
[8] Islam, M. R., Welker, J., Salam, A., & Stone, E. A. (2022). Plastic burning impacts on atmospheric fine particulate matter at urban and rural sites in the USA and Bangladesh. ACS Environmental Au, 2(5), 409-417. https://pubs.acs.org/doi/full/10.1021/acsenvironau.1c00054
[9] Valavanidis, A., Iliopoulos, N., Gotsis, G., & Fiotakis, K. (2008). Persistent free radicals, heavy metals and PAHs generated in particulate soot emissions and residue ash from controlled combustion of common types of plastic. Journal of hazardous materials, 156(1-3), 277-284. ; https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0304389407017694 ; Cole-Hunter, T., Johnston, F. H., Marks, G. B., Morawska, L., Morgan, G. G., Overs, M., Porta-Cubas, A., & Cowie, C. T. (2020). The health impacts of waste-to-energy emissions: a systematic review of the literature. Environmental Research Letters, 15(12), 123006. https://iopscience.iop.org/article/10.1088/1748-9326/abae9f/meta
[10] OECD. (2023). Climate change and plastics pollution: Synergies between two crucial environmental challenges POLICY HIGHLIGHTS. https://www.oecd.org/environment/plastics/Policy-Highlights-Climate-change-and-plastics-pollution-Synergies-between-two-crucial-environmental-challenges.pdf ; GRID-Arendel. (2024). Climate Impacts of Plastics: Global Action to Stem Climate Change and Eng Plastic Pollution. https://gridarendal-website-live.s3.amazonaws.com/production/documents/:s_document/1076/original/ClimateImpactsOfPlastics.pdf?1709631241
[11] การรีไซเคิลสกปรกหมายถึงการรีไซเคิลของเสียและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม ไม่คำนึงถึงหลักการบริหารจัดการทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดี (Environmentally and Socially Sound Management) ก่อให้เกิดมลพิษและละเมิดสิทธิมนุษยชน และหมายรวมถึงการที่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่งออกของเสียมารีไซเคิลในประเทศที่กำลังพัฒนา อันเป็นการลดต้นทุนในการบริหารจัดการของเสียในประเทศของตนด้วยการผลักภาระมลพิษมายังกลุ่มประเทศที่มีเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการของเสียที่ยังด้อยกว่า