ในปี 2564 นี้ กรีนพีซ ประเทศไทย มุ่งมั่นทํางานอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านส่ิงแวดล้อมท่ีสร้างความเข้มแข็ง และภูมิคุ้มกันของสังคมไทยให้มีศักยภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและฉับพลัน เศรษฐกิที่ชะลอตัวจากโรคระบาด ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงชั่วคราว แต่มีผลน้อยมากต่อแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกในระยะยาว ที่สำคัญวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่นำมาซึ่งความทุกข์ยากของผู้คนนั้น กำลังซ้อนทับลงไปบนทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจาก Covid-19 ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้กำหนดนโยบาย ต้องผนวกนโยบายสาธารณสุข และสภาพภูมิอากาศเข้าด้วยกันในการจัดการความเหลื่อมล้ำในสังคม

การประชุมภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งจะมีขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอนาจักร ปลายปี 2564 นี้ กรีนพีซเห็นว่า คือโอกาสที่เหลืออยู่ของประเทศไทยในฐานะประชาคมโลกเพื่อยืนยันถึงการรับมือกับ Covid-19 อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว โดยเชื่อมโยงมาตรการฟื้นฟูผลกระทบจากโรคระบาดกับแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

ปี 2564 ยังถือเป็นห้วงเวลาสำคัญเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของกรีนพีซในปี 2514 เหล่านักกิจกรรมจากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ลงเรือประมงลำเก่าเพื่อเป็น “ประจักษ์พยาน” ในจุดทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้มหาสมุทรที่อัมชิตกา หมู่เกาะนอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า สหรัฐอเมริกา กรีนพีซได้ก่อกำเนิดขึ้นและกลายเป็นองค์กรรณรงค์สิ่งแวดล้อมระดับโลกจนถึงปัจจุบัน

สังคมไทยยังคงเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับทุกคนอย่าง Covid-19 คู่ขนานไปกับวิกฤตอื่น ๆ รวมถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ มลพิษพลาสติก ความมั่นคงทางอาหาร ความสุดขั้วของสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่สัมพันธ์กับโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (zoonotic disease) ในการต่อกรกับวิกฤตที่หลากมิติเพื่อฟื้นฟูสังคมไทยอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม

ในนามของกรีนพีซ ประเทศไทย ผมเชื่อว่า เราสามารถหาทางออกจากวิกฤตหลายมิตินี้ร่วมกัน การทำงานเพื่อยืนหยัดถึงทางเลือกนั้นอยู่บนพื้นฐานของ “คุณค่าหลัก” คือ ความเข้าอกเข้าใจ (empathy) ความกล้าหาญ และความร่วมมือ ซึ่งพวกเรายึดถือเสมอมา