จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลก (WHO) ประเทศเมียนมาร์เป็นประเทศที่มีปริมาณมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือ เมืองในอาเซียนที่มีมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงสุด 10 อันดับแรกนั้น คือเมืองในประเทศเมียนมาร์

การเผาไหม้ถ่านหินถือเป็นหนึ่งในต้นตอหลักของการเกิดมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กทั่วโลก การเผาไหม้ถ่านหินยังปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และฝุ่น ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือPM2.5 มากกว่าการผลิตพลังงานอื่นๆทุกแบบ กระนั้นเมียนมาร์ยังมีแผนดำเนินการการขยายกำลังการผลิตถ่านหินต่อไป ซึ่งสามารถเพิ่มปริมาณของมลพิษดังกล่าวเป็นสามเท่าตัว พร้อมกับทวีคูณปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) การวางแผนพลังงานของเมียนมาร์ที่วางไว้ถือเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากเมียนมาร์ยังขาดการกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน รายงานต้นทุนผลกระทบทางสุขภาพจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมียนมาร์นี้ตั้งอยู่บนฐานแบบจำลองบรรยากาศของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University Atmospheric Chemistry Modeling Group)โดยนำแบบจำลองการแพร่กระจายของสารเคมีในบรรยากาศอันทันสมัยล่าสุด (GEOS-Chem) มาแสดงองค์ประกอบทางภูมิอากาศของโลก เพื่อบอกความหนาแน่นของฝุ่นละอองในอากาศ บนพื้นผิวและปริมาณโอโซน แสดงสถานการณ์จำลองการปล่อย มลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

PM2.5 – ภัยสุขภาพทางธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดในโลก

การสูดหายใจมลพิษอนุภาคขนาดเล็ก เป็นความเสี่ยงทางด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมที่มากสุดในโลก ทั้งการเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และหืดหอบ ในปี พ.ศ. 2553 มีการคาดการณ์ว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าสามล้านคนทั่วโลก ทั้งนี้ในปี 2556 หน่วยงานวิจัยสากลด้านโรคมะเร็ง ได้จัดให้มลพิษอนุภาคเล็กเป็นสารก่อมะเร็งต่อมนุษย์ และถือเป็นเหตุการเสียชีวิตของโรคมะเร็งจากสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น

PM2.5 ถูกปล่อยโดยตรงออกจากทั้งการเผาไหม้ของโรงไฟฟ้า รถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งอื่น ๆ อย่างเช่น เขม่าและฝุ่น รวมทั้งก่อตัวในชั้นบรรยากาศจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และก๊าซมลพิษต่างๆ ที่เกิดจากกระบวนการทางเคมี แหล่งกำเนิดที่ใหญ่สุดของ PM2.5 ในเมียนมาร์ซึ่งมีที่มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น มาจากการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ซึ่งมลพิษทางอากาศนี้ยังคงถูกเพิกเฉย อีกทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินยังปล่อยสารโลหะหนักจำนวนมากอาทิปรอท สารหนู ตะกั่ว แดคเมียม โครเมียมและนิกเกิล

อันตรายทางสุขภาพจากระดับมลพิษ PM2.5 ในเมียนมาร์

ถึงแม้เมียนมาร์จะไม่มีการรายงานเรื่องมลพิษ PM2.5 ต่อองค์กรอนามัยโลก (WHO) แต่ฐานข้อมูลมลพิษทางอากาศของ WHO แสดงว่าระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน10ไมครอน หรือ PM10 ที่เมียนมาร์มีอยู่ถือเป็นสัญญาณที่น่ากังวล PM10 นั้นเป็นกลุ่มมลพิษอนุภาคเล็กที่มีทั้งพิษ PM2.5 และฝุ่นละอองที่มีขนาดหยาบกว่า จากทั้ง 14 เมืองและชุมชนที่รวมอยู่ในข้อมูลดังกล่าว ไม่มีเมืองไหนเลยของเมียนมาร์ที่มาตรฐานมลพิษทางอากาศเป็นไปตามกำหนดมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก และเมืองที่ปล่อยมลพิษจาก PM 10 สูงสุดคือ เมือง Pyin Oo Lwin ที่เกินค่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลกถึง7เท่า

และ 6 จาก14 เมืองของเมียนมาร์มีระดับพิษ PM10 มากกว่าเมืองปักกิ่งของประเทศจีนซึ่งก็โด่งดังเรื่องมลพิษทางอากาศอยู่แล้ว ระดับมลพิษที่สูงนี้จะส่งผลที่รุนแรงต่อสุขภาพของประชาชน โครงการ Global Burden of Disease ได้คาดการณ์ว่ามลพิษทางอากาศของเมียนมาร์จะก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชนราว 45 รายต่อวันในปี 2558 เนื่องจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากโรคปอด โรคเส้นเลือดในสมอง และโรคหัวใจ

แผนการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินและการปล่อยมลพิษทางอากาศในเมียนมาร์

ปัจจุบันเมียนมาร์มีโรงไฟฟ้าถ่านหินแค่สองแห่ง คือโรงไฟฟ้าคอว์ทอง (Kawthaung) และทิกยิท (Tigyit)อย่างไรก็ตาม แผนขยายที่คาดการณ์ไว้มีขนาดใหญ่ โดยจะมีการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง10 โครงการรวม 8,000 เมกะวัตต์ ที่มีการนำวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพในรายงานฉบับนี้ เมียนมาร์ยังไม่มีการเตรียมการที่จะรับมือกับการขยายขนาดใหญ่ขนาดนี้ และเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่มีแผนขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินแต่ไม่มีมาตรการรองรับด้านมาตรฐานการจัดการมลพิษทางอากาศซึ่งเป็นการเปิดช่องให้ทางกลุ่มทุนอุตสาหกรรมถ่านหินกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษเอง

การปล่อยมลพิษทางอากาศจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างขึ้นตามแผนของเมียนมาร์คาดการณ์ว่าจะสูงกว่าระดับมาตรฐานที่กำหนดในประเทศจีนหรืออินเดียราวสิบเท่าและปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เพิ่มขึ้นเจ็ดเท่า และไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) เพิ่มขึ้นสามเท่า ทั้งนี้ผลกระทบจาก PM2.5 ที่มีอยู่ จะค่อนข้างน้อยอยู่ประมาณร้อยละสิบเนื่องจากระดับมลพิษที่มีอยู่แล้วจากการใช้เชื้อเพลิงขนาดเล็ก โดยรวมแล้ว การปล่อยมลพิษPM2.5 อันมี3ส่วนประกอบหลัก ซึ่งก็คือ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และฝุ่นละอองนั้นะเพิ่มขึ้นราวสามเท่าตัว

ผลสรุป

ผลจากแบบจำลองมลพิษทางอากาศแสดงให้เห็นว่าแผนการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินของเมียนมาร์จะทำให้คนนับล้านเผชิญกับมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน PM2.5 และโอโซนที่สูงขึ้นมาก โดยเพิ่มความเสี่ยงของโรคเช่นโรคเส้นเลือดสมองแตก โรคหัวใจ และโรคปอด ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของพม่า ซึ่งคาดว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างขึ้นจะทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 7,100 รายต่อปี หรือราว 280,000รายตลอดการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหิน 40 ปี ครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจะเกิดขึ้นในเมียนมาร์ และอีกครึ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากผลกระทบวงกว้างจากโรงไฟฟ้าถ่านหินระยะยาว

สามารถอ่านรายงานฉบับภาษาอังกฤษ ที่นี่
Download English here
Download Myanmar language here

แปลและเรียบเรียงโดย นันทิชา โอเจริญชัย อาสาสมัครกรีนพีซ