เมื่อพูดถึงแหล่งของน้ำนมดิบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยไม่ว่าใครก็ต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า”มวกเหล็ก สระบุรี” 

พื้นที่โดยรอบของอำเภอมวกเหล็กโอบล้อมไปด้วยภูเขาและผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ และมีแหล่งน้ำตลอดทั้งปี ทำให้มีความเหมาะสมที่จะเลี้ยงโคนมและก่อเกิดฟาร์มโคนมแห่งแรกของประเทศไทย ก่อนจะกลายเป็นอาชีพหลักของคนในอำเภอมวกเหล็กในปัจจุบัน 

มวกเหล็กยังมีความเหมาะกับการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นผักกินใบ พืชไร่ หรือไม้ผลก็มีตลอดทั้งปี รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางด้านกายภาพและทางด้านชีวภาพในบริเวณป่าทับกวางและป่ามวกเหล็กซึ่งยังคงอุดมไปด้วยสัตว์ป่า เช่น ช้างป่า หมี กวางป่า ลิง และนกชนิดต่าง ๆ 

มวกเหล็กมีเทือกเขาหินปูนที่มีเอกลักษณะเฉพาะตัว เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตหายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น ตุ๊กแกลายผีเสื้อ เลียงผา เป็นต้น

คาดการณ์ว่า ประชากรเลียงผาซึ่งเป็นสัตว์สงวนของประเทศไทยและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในธรรมชาตินั้นมีไม่ถึง 500 ตัว เนื่องมาจากการลักลอบล่าและการสูญเสียของพื้นที่อยู่อาศัยเฉพาะถิ่น

การที่มวกเหล็กและบริเวณใกล้เคียงเป็นแหล่งหินปูนขนาดใหญ่ทำให้พื้นที่แถบนี้กลายเป็นเป้าหมายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ถ่านหินมากที่สุดเป็นอันดับต้นของประเทศ การศึกษาโดยศูนย์ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ระบุว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตปูนเม็ด โดยมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเกิดปฏิกิริยาเคมีและการเผาไหม้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.36 และ 35.64 ตามลําดับ ทั้งนี้ค่าการ ปล่อยก๊าซ CO2 จากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์คิดเป็นประมาณร้อยละ 15 ของค่าการปล่อยก๊าซ CO2 ทั้งหมดของทั้งประเทศ 

ในกระบวนการเผาไหม้ถ่านหินยังปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ ทั้งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5, PM10) และโลหะหนัก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้คนและสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ที่มีการแพร่กระจายของมลพิษทางอากาศ

ผลกระทบจากการรับสัมผัสเอามลพิษต่างๆ เหล่านี้เข้าไปคือต้นทุนแฝงที่คนในพื้นที่ที่มีการแพร่กระจายมลพิษต้องแบกรับ ทั้งค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วย การเสื่อมสภาพของดินจากการตกสะสมของกรดที่มาจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจน รวมถึงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของโคนมที่นำไปสู่การสูญเสียรายได้และโอกาสจากการรีดนมไปจำหน่าย  เมื่อออกไซด์ของไนโตรเจนจับตัวกับน้ำฝนจะเปลี่ยนสภาพเป็นฝนกรดและตกสะสมในดินก็ทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายหรือเจริญเติบโตไม่เต็มที่

จากรายงานวิจัย “มวกเหล็ก เมืองนมดีของทุกคน” มีข้อเสนอถึงการจัดการความเสี่ยงที่รอบคอบและเป็นธรรมต่อประชาชนกลุ่มอาชีพเลี้ยงโคนมและเกษตรกรรม โดยการทบทวน EIA/EHIA เพื่อวิเคราะห์การปลดปล่อยมลพิษในแบบกรณี Non-attainment Area ของกฎหมาย Clean Air Act ของสหรัฐอเมริกาโดยคำนึงถึงความสามารถในการรองรับของพื้นที่และกิจกรรมชุมชนที่พึ่งพาอากาศสะอาด ขณะเดียวกันปรับแก้ใบอนุญาตโรงงานให้ลดการปลดปล่อยมลพิษจนถึงระดับที่ชุมชนและ อุตสาหกรรมจะอยู่ร่วมกันได้โดยท่ีไม่ผลักภาระให้ชุมชน และที่สำคัญคือไม่ควรอนุมัติสร้างโรงงานที่ปลดปล่อยมลพิษเพิ่มเติมขึ้นอีก