เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่กรีนพีซใช้ปฏิบัติการตรงที่ไร้ความรุนแรง(non-violent direct action) โดยเป็นทั้งยุทธวิธี หลักการและหนึ่งในคุณค่าหลักของการรณรงค์ เพื่อขัดขวางการทำลายสิ่งแวดล้อมและเปิดโปงอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมทั่วโลก

ในวาระครบรอบ 20 ปี กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมไปกับกระแสการประท้วงอย่างสันติวิธีในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยซึ่งสะท้อนถึงคำกล่าวที่ว่า “อำนาจจะไม่ยอมให้กับอะไรเลยหากปราศจากการเรียกร้อง” เราขอชวนคุณส่องดูส่วนหนึ่งของ “การประท้วงฉบับกรีนพีซ” ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา

แขวนแบนเนอร์เตือนผู้นำอาเซียน

Banner Action during ASEAN Summit in Bangkok. © Baramee Temboonkiat @ 2019 / Greenpeace
© Baramee Temboonkiat @ 2019 / Greenpeace

2562 – นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซปีนบิลบอร์ดแขวนป้ายผ้าพร้อมข้อความ “นักการเมืองเอาแต่พูด ผู้นำลงมือแก้ปัญหาฝุ่นและมลพิษพลาสติก” เตือนผู้นำประเทศในอาเซียนที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ที่กรุงเทพฯ ให้ลงมือจัดการวิกฤตมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดนและมลพิษพลาสติกอย่างเร่งด่วน

ภาพวาดกลางทะเลตือโละปาตานี

'Heart for Sea' in Teluk Patani. © Greenpeace / Arnaud Vittet
© Greenpeace / Arnaud Vittet

2561 – ภาพวาดตัวละครหนังตะลุงบนผืนผ้าขนาด 30 x 30 เมตร ออกแบบโดยกลุ่มศิลปินในภาคใต้ นำไปจัดแสดงในทะเลบริเวณใกล้เกาะขามโดยเรือประมงราว 100 ลำ จากชุมชนสะกอม เทพา และสวนกง จังหวัดสงขลา พร้อมกับเรือเรนโบว์ วอริเออร์ของกรีนพีซ ข้อความบนผืนผ้า “ควน ป่า นา เล ควรหวงแหน” และเทใจให้ทะเล (Heart for Sea) คือ การประกาศเจตนารมย์ คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,000 เมกะวัตต์รวมถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกเพื่ออุตสาหกรรมที่จะนะ

นาฬิกาฝุ่น PM2.5 ถึงนายกรัฐมนตรี

2561 – นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซส่งมอบนาฬิกาทรายบรรจุฝุ่นที่เก็บรวบรวมจากพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ โดยนาฬิกาทรายเป็นสัญลักษณ์ถึงความเร่งด่วนของวิกฤตมลพิษทางอากาศที่รัฐบาลต้องลงมือทำในทันทีเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน

วิ่งทูน่ายื่น 7 แสนรายชื่อเพื่อมหาสมุทรและแรงงานประมง

Action in Bangkok to Urge Thai Union for More Sustainable Tuna. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
© Wason Wanichakorn / Greenpeace

2560 – นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซในชุดทูน่าวิ่งจากสนามกีฬาแห่งชาติไปยังสำนักงานใหญ่บริษัทไทยยูเนี่ยน เพื่อยื่นรายชื่อประชาชน680,000 คนทั่วโลกที่ต้องการเห็นไทยยูเนี่ยนซึ่งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในภาคการประมงโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานประมง

แบนเนอร์มนุษย์ “เลิกถ่านหิน”

2551 – อาสาสมัครกรีนพีซเข้าร่วมปฏิบัติการของชาวบ้านจากอำเภอทับสะแกหลายร้อยคนเพื่อจัดเรียงตนเองเป็นตัวอักษร QUIT COAL บนสนามหญ้าชายฝั่งทะเลอันเป็นที่ตั้งของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก ที่ดำเนินการโดยไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แบนเนอร์มนุษย์เป็นหนึ่งในรูปแบบการประท้วงนับไม่ถ้วนของชุมชนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เพื่อยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่งภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า จากการต่อสู้อย่างเข้มแข็งต่อเนื่องยาวนานของชุมชน ปัจจุบัน โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหลายได้ถูกยกเลิกไป

ผู้คนหลายร้อยเปลื้องผ้า!!! เพื่อท้าทายให้ไนกี้และอาดิดาส “ล้างสารพิษ”

"Detox" Striptease in Bangkok. © Athit Perawongmetha / Greenpeace
© Athit Perawongmetha / Greenpeace

2554 – เพื่อส่งข้อความไปถึงแบรนด์เสื้อผ้าให้เลิกใช้สารพิษ อาสาสมัครกรีนพีซ 33 คน ร่วมกันเต้นพร้อมถอดเสื้อผ้าออกทีละชิ้นในตลาดนัดจตุจักร เต้นเปลื้องผ้า Detox เกิดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก และสร้างสถิติการเปลื้องผ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และท้าทายอุตสาหกรรมเสื้อผ้ากีฬาอย่าง Adidas และ Nike ให้กำจัดสารพิษออกจากห่วงโซ่อุปทานและผลิตภัณฑ์

ยึดสายส่งไฟฟ้าเพื่อปฏิวัติพลังงาน

Greenpeace climbers from around the world have set up a second camp on one of the BLCP coal plant’s 60-metre electrical transmission pylons as their protest against the continued construction of the climate killing coal plant and 18 future plants like it in Thailand entered its second day. The Greenpeace ship Rainbow Warrior II has just arrived in Thailand on the final leg of a three-month Asia Clean Energy Revolution Tour. The tour aims to alert people to the dangers of climate change and to expose its impacts.

2548 – นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซจากทั่วโลกตั้งแคมป์บนโครงสร้างเสาสายส่งไฟฟ้าสูง 60 เมตร (หมายเหตุ : ยังไม่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าในขณะนั้น) เป็นเวลาสามวันสามคืน เพื่อประท้วงโครงการโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างในพื้นที่ถมทะเลนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

การตั้งแคมป์ยึดพื้นที่เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการรณรงค์ปฏิวัติพลังงานในเอเชียโดยเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ของกรีนพีซเพื่อส่งสารไปยังผู้นำโลกที่ร่วมการประชุมเจรจาสุดยอดโลกร้อนปี 2548 ที่เมืองมอลทรีออล แคนาดาให้ลงมือทำเพื่อกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ

โปรเจคเตอร์ส่งสารถึงผู้มีอำนาจ

2548 – ภาพฉายแสงเลเซอร์โปรเจคเตอร์ลงบนผิวน้ำบริเวณกลุ่มโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะ จ.ลำปาง กรีนพีซถ่ายทอดส่งสารนี้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ชมก่อนการประชุมเจรจาสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เมืองมอลทรีออล แคนาดา

2563 – นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซฉายโปรเจคเตอร์ #NoCPTPP ตามพื้นที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อคัดค้านรัฐบาลที่จะเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก

เก็บกวาดมะละกอจีเอ็มโอในแปลงเปิด

2547 – นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซในชุดป้องกันการปนเปื้อนทำการกั้นเขตพื้นที่ปลูกมะละกอจีเอ็มโอที่สถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่น เพื่อนำผลมะละกอที่เก็บจากต้นบรรจุลงในถังเก็บป้องกันการแพร่กระจาย

ในปี พ.ศ.2547 การตรวจสอบของกรีนพีซพบว่า การทดลองมะละกอจีเอ็มโอของกรมวิชาการเกษตรขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีฉบับวันที่ 3 เมษายน 2544 ที่ห้ามทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอทุกชนิดในระดับไร่นา กรีนพีซเรียกร้องผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอนแต่ไม่เป็นผล ขณะที่ กรมวิชาการเกษตรจำหน่ายจ่ายแจกเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ามะละกอที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอให้กับประชาชนกว่า 2,000 รายใน 37 จังหวัดทั่วประเทศ

กรมวิชาการเกษตรแจ้งความและดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่กรีนพีซ ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ขอนแก่นได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องเจ้าหน้าที่กรีนพีซ และระบุว่าปฏิบัติการของกรีนพีซคือการแสดงออกที่ชอบธรรม เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมจากมลพิษทางพันธุกรรม

ปฏิบัติการส่งคืน

2543 – อาสาสมัครกรีนพีซนำถังบรรจุเถ้าลอย(fly ash)จากกระบวนการผลิตของโรงงานเผาขยะที่ภูเก็ตและสมุยมาคืนหน้าสถานทูตญี่ปุ่นเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นพยายามส่งเสริมเทคโนโลยีอันตรายในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

2550 – นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซทิ้งมะละกอน้ำหนัก 3 คันรถบรรทุก ปิดทางเข้ากระทรวงเกษตรฯ กดดันรัฐบาลที่ต้องการปัดฝุ่นการทดลองจีเอ็มโอระดับไร่นาซึ่งเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่

2549 – นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซนำถ่านหินรวม 4 ตัน มาทิ้งหน้ากระทรวงพลังงาน เพื่อประท้วงนโยบายขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นซึ่งโยงกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ปฏิบัติการ “ส่งคืน(Return-To-Sender)” เหล่านี้เป็นกลยุทธเพื่อเปิดโปงความอยุติธรรม (การพลิกกลับไปหาผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ) ที่กรีนพีซนำใช้ในงานรณรงค์ตามบริบทและสถานการณ์ต่างๆ ปฏิบัติการเหล่านี้ตั้งคำถามโดยตรงถึงพื้นฐานความเป็นธรรมและอำนาจ “ถ้าคุณทิ้งสารพิษให้กับชุมชนได้ เราก็นำกลับมาทิ้งให้คุณได้เช่นกัน”

แน่ล่ะ “ประท้วงฉบับกรีนพีซ” หาใช่คำตอบสำเร็จรูปของการจัดประท้วง กรีนพีซเชื่อว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม/สิ่งแวดล้อมที่อุบัติขึ้นใหม่ต่างมีพัฒนาการและนวัตกรรมของตนเอง หากได้เรียนรู้ร่วมกันท้ังในแง่ความสำเร็จและความล้มเหลว จุดแข็งและจุดอ่อน/หลุมพราง เมื่อนำมาประยุกต์เป็นยุทธวิธีเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ก็จะเป็นดังข้อคิดใน https://beautifultrouble.org ที่ว่า “คนทั้งหลายทั่วโลกลุกขึ้นสู้เพื่อต่อกรกับความเหลื่อมล้ำและหายนะทางนิเวศวิทยา มิใช่เพราะความจำเป็นต้องทำ หากเป็นเพราะพลังความคิดสร้างสรรค์ และจะไม่มีความหมายเลย หากเราไม่ลงมือทำ”

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม