“ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลใน ASEAN ต้องพิจารณามลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดนเป็นเรื่องเร่งด่วน”

ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ภาคใต้ของประเทศไทยนั้นได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดนจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผลพวงของการขยายตัวอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และอุตสาหกรรมปลูกไม้เยื่อกระดาษโดยบริษัทในมาเลเซียและสิงค์โปร์ ด้วยปัญหาที่มีขนาดใหญ่โตนี้อาเซียนจำเป็นต้องจัดตั้งคณะทำงานที่รับรองถึงความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลแผนที่และขอบเขตของพื้นที่สัมปทานในการระบุว่าบริษัทหรือกลุ่มบริษัทใดที่มีภาระรับผิดต่อการเกิดไฟ ออกกฎหมายร่วมกันเพื่อบังคับใช้กฏหมายอย่างเหมาะสม และดำเนินการทางกฎหมายทั้งกับบริษัทในเครือหรือกลุ่มบริษัทที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามแดน

กรีนพีซและภาคประชาสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเวทีสาธารณะ “A Haze-free ASEAN by 2020 – are we there yet?” เปิดเผยข้อมูลมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยและเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเรียกร้องผู้นำประเทศที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ให้ดำเนินการตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution – AATHP) ซึ่งมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 หลังจากรัฐบาลอินโดนีเซียให้สัตยาบัน และเดินหน้ากระบวนการทางกฎหมายระดับประเทศต่อธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกิดไฟโดยเฉพาะในพื้นที่ป่าพรุ

มลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดนในอินโดนีเซีย

กระทรวงสิ่งแวดล้อมและรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมระบุว่าในปี พ.ศ.2562 นี้ มีผืนป่าถูกเผาไปเป็นบริเวณกว้างกว่า 857,756 เฮกตาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างเท่ากับ 12 เท่าของพื้นที่ประเทศสิงคโปร์ ไฟป่าในปีนี้ถือเป็นไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียยิ่งกว่าครั้งเมื่อปี 2558  ซึ่งส่งผลกระทบกับผู้คนกว่า 919,516 คน รวมถึงเด็กๆ เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ

Haze in PT WKS Logging Concession in Jambi. © Muhammad Adimaja / Greenpeace

นักกิจกรรมกรีนพีซจับค่า GPS ขณะสำรวจบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันใน จัมบี สุมาตรา อินโดนีเซีย ภาพนี้ถูกถ่ายเมื่อวันที่ 21 กันายน 2562

หากคิดไม่ออกว่าสถานการณ์ที่นั่นเลวร้ายอย่างไร สามารถดูได้จากดัชนีคุณภาพอากาศที่วัดได้ในช่วงที่เกิดวิกฤตหมอกควันในอินโดนีเซีย ซึ่งค่า AQI สูงกว่า 300 ซึ่งเป็นค่าที่ “ส่งผลต่อสุขภาพอย่างมาก” นั่นทำให้ท้องฟ้าในจังหวัดจัมบี บนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียกลายเป็นสีแดงในตอนกลางวัน

ราตรี กุสุโมฮาร์โตโน ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซ อินโดนีเซีย กล่าวว่า“วิกฤตมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนเป็นประเด็นระดับภูมิภาคที่ควรอยู่ในวาระสำคัญและเร่งด่วนของการประชุมสุดยอดอาเซียนตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่หมอกควันกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก แต่ผู้คนหลายล้านคนยังคงได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจากการเผาไหม้ของไฟป่า ปาล์มน้ำมัน และพื้นที่เพาะปลูกสำหรับอุตสาหกรรมกระดาษ ภาคธุรกิจยังคงได้กำไร ส่วนพวกเรากลับได้รับมลพิษ”

สถานการณ์มลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดนในประเทศไทย

รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รอธิบายถึงวงจรหมอกควันในประเทศไทยโดยเริ่มจากในเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน จะมีหมอกควันในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาภาคใต้จะเป็นจุดต่อไปที่ต้องเผชิญหมอกควันในช่วงเดือนมิถุนายน – ตุลาคม และภาคกลางจะเผชิญหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพตั้งแต่เดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์

วิกฤตมลพิษทางอากาศในภาคใต้ มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการเคลื่อนตัวของหมอกควันไฟจากการเผาทำลายป่าเพื่อขยายอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย โดยช่วงที่หมอกควันหนาแน่นมากจะอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม สิงหาคมและกันยายน โดยในช่วงปี 2558-2560 สถานการณ์หมอกควันไม่รุนแรงมากนักเนื่องจากทิศทางลม แต่ในปี 2560-2562 เราต้องเผชิญกับผลกระทบจากมลพิษฝุ่นจิ๋ว PM2.5 อย่างหนักอีกครั้งเนื่องจาก ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) โดยมีฤดูร้อนที่ยาวนานรวมถึงภัยแล้งหนักทุกภูมิภาค ประกอบกับทิศทางลมที่พัดเข้าตอนใต้ของประเทศไทย

ในขณะที่มลพิษทางอากาศในภาคเหนือตอนบนเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ายาวนานกว่า 15 ปี เมื่อต้นปี เราได้เห็นว่าเชียงใหม่ติดอันดับหนึ่งของเมืองที่มีมลพิษ PM 2.5 สูงสุดในโลกในช่วงเวลาหนึ่ง ติดต่อกันทั้งสัปดาห์ ตามเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของ USEPA บนแอปพลิเคชัน AirVisual วิกฤตมลพิษทางอากาศที่ภาคเหนือซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังนี้ได้ท้าทายแผนการจัดการที่มีอยู่ของภาครัฐ และขณะนี้ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษก็กำลังเพิ่มขึ้น  แต่ละปีก็ดูแล้วมีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้น แล้วคนภาคเหนือจะต้องเสี่ยงชีวิตกับ PM2.5 ทุกต้นปีอย่างนี้ไปอีกนานเพียงใด

มลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดน คือความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม

คิว เจีย เยา นักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมจากมาเลเซีย ตั้งข้อสังเกตและชี้ประเด็นในเรื่องของความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice) เอาไว้ได้น่าสนใจว่า ความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมหมายถึงการกระจายผลประโยชน์และภาระด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นธรรม ซึ่งหากผู้นำอาเซียนไม่สามารถจัดการกับมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดนได้ นั่นหมายความว่า จะเกิดความไม่เป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ต่อประชาชนในประเทศ ดังนั้นรัฐบาลต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วน 

คิว เจีย เยา เสนอประเด็นในเชิงกฎหมายว่า ผู้นำอาเซียนจำเป็นต้องปฏิบัติตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution – AATHP) อย่างจริงจัง ทั้งยังต้องร่างกฎหมายในระดับประเทศเพื่อควบคุมความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ ทั้งนี้ยังมีข้อเสนอแนะให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น คือ ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูล มีอิสระในการเข้าร่วมและเข้าถึงกระบวนการในการฟ้องร้องทางกฎหมาย

Haze from Forest Fires in Central Kalimantan. © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

ปัญหามลพิษทางอากาศจากการเผาป่าในกาลิมันตันกลาง อินโดนีเซีย ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2662นอกจากมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดนจากอินโดนีเซียแล้ว ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงยังเผชิญกับมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ซึ่งแหล่งกำเนิดหลักคือการเผาในที่โล่ง(Open Burning) ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของพืชเชิงเดี่ยว เช่น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 

การวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือ Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS) ที่ติดตั้งบนดาวเทียม Terra and Aqua ของนาซาในปี 2562 โดยกรีนพีซประเทศไทย [5] พบว่าการเพาะปลูกข้าวโพดครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,646,620 ไร่ ในภาคเหนือของประเทศไทย และ 7,524,550 ไร่ในรัฐฉานของเมียนมา ข้อค้นพบสำคัญคือ

  • ในเดือนเมษายน ปี 2562 นี้ พบพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้(burn scar) 98,930 ไร่ และจุดความร้อน(hotspot) 3,992 จุดในภาคเหนือตอนบนของไทย ส่วนในรัฐฉานของเมียนมาพบพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้(burn scar) 137,100 ไร่ และจุดความร้อน(hotspot) 8,209 จุด
  • ระหว่างเดือนธันวาคม 2561 ถึง พฤษภาคม 2562 มีจุดความร้อน 6,879 จุด ภายในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในภาคเหนือตอนบนของไทย
  • ระหว่างเดือนธันวาคม 2561 ถึง พฤษภาคม 2562 มีจุดความร้อน 14,828 จุด ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในรัฐฉานของเมียนมา

จากการศึกษานี้ พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดที่รัฐฉานของเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลา 6 เดือน พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดที่น้อยที่สุดในเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งมีพื้นที่ 4,006.60 ตารางกิโลเมตร ส่วนเดือนพฤษภาคม 2562 การเพาะปลูกข้าวโพดกินพื้นที่กว่า 12,069.33 ในขณะที่ในภาคเหนือของประเทศไทย พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดครอบคลุมมากที่สุด 5,836.81 ตารางกิโลเมตรในเดือนเมษายน 2562 โดยที่พื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่สามารถระบุได้เลยว่าใครเป็นเจ้าของพื้นที่ที่เกิดไฟป่าและก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจากหมอกควัน

Banner Action during ASEAN Summit in Bangkok. © Baramee Temboonkiat @ 2019 / Greenpeace

นักกิจกรรมกรีนพีซ แขวนป้ายผ้าบนบิลบอร์ดด้วยข้อความ “นักการเมืองเอาแต่พูด แต่ผู้นำลงมือแก้ปัญหาฝุ่นและมลพิษพลาสติก” ในวันแรกของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ

ที่ผ่านมา ผู้คนที่อาศัยอยู่ในทั้งทางภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศไทยต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดนในทุก ๆ ปี แม้ว่าจะมี “ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน” (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) ที่รัฐต่าง ๆ ในอาเซียนลงนามไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ยังแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ มลพิษทางอากาศไม่มีพรมแดน ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำอาเซียนจะต้องร่วมกันแก้ปัญหานี้ในแบบ “ผู้นำรัฐบาลหรือผู้นำทางการเมือง” ที่ลงมือทำจริงจัง มิใช่เพียง“นักการเมือง” ที่อาจมีแต่คำสัญญา