นาฬิกาฝุ่นเป็นสิ่งเตือนใจนายกรัฐมนตรีถึงความเร่งด่วนของปัญหา

จากการเรียกร้องของกรีนพีซและภาคประชาชนมาเป็นเวลากว่า 2 ปี แต่ยังไร้การดำเนินการจากกรมควบคุมมลพิษในการแก้ไขปัญหาวิกฤตมลพิษทางอากาศ PM2.5 แม้ว่าจะเป็นการปรับปรุงที่ง่ายดายอย่าง ดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 และการรายงานคุณภาพอากาศที่ทันสมัย ในวันนี้นักกิจกรรมกรีนพีซจึงเป็นตัวแทนภาคประชาชน ออกมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

เรื่องนโยบายจัดการคุณภาพอากาศ PM2.5 ของประเทศไทย พร้อมกับส่งมอบนาฬิกาทรายที่บรรจุฝุ่นที่เก็บรวบรวมจากพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษจากในกรุงเทพฯ และจากหลายจังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ
นาฬิกาทรายเป็นสัญลักษณ์ถึงความเร่งด่วนของวิกฤตมลพิษทางอากาศที่รัฐบาลต้องลงมือทำในทันทีก่อนที่จะสายเกินไป โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากภาคการคมนาคม การผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการผลิต และการเผาในที่โล่ง สุขภาพของประชาชนกำลังถูกทำลายไปทุกวันระหว่างที่กำลังรอการดำเนินการแก้ไขปัญหาของภาครัฐอย่างไร้ความหวัง

ในวันนี้ นายพันศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เป็นตัวแทนรับเรื่อง และรับนาฬิกาฝุ่น ณ ด้านหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล และได้แจ้งว่า อีก 15 วันหลังจากนี้ จะรู้ผลว่าจะได้รับคำตอบอย่างไรจากนายกรัฐมนตรี
ในข้อเรียกร้องต่อกรมควบคุมมลพิษและ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องนโยบายจัดการคุณภาพอากาศ PM2.5 ของประเทศไทย กรีนพีซย้ำว่า การที่จะไปให้ถึงวิสัยทัศน์ “อากาศสะอาดเพื่อเราทุกคน(Safe Air for All)” ที่รัฐบาลตั้งไว้ในร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี รัฐบาลจะต้องดำเนินการดังนี้

  • กําหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 และปรอทที่แหล่งกําเนิดที่อยู่กับที่(Stationery Sources) รวมถึงการตรวจวัดและรายงานการปล่อย PM2.5 และปรอทจากปล่องโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
  • ตั้งเป้าหมายการลดการสัมผัสฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปของกลุ่มประชากรลงอย่างน้อยที่สุดร้อยละ 30 ภายในระยะเวลาของการดำเนินงานในร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี
  • เพิ่มเป้าหมายการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศให้เป็นตัวชี้วัดในแผนยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน
  • ติดตามตรวจสอบและรายงานความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) และสารมลพิษทางอากาศอื่นๆ ที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพอนามัยของประชาชน เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(PAHs) โดยสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
  • คำนึงการดำเนินมาตรการในข้อ 8(Article 8) ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทที่มุ่งเน้นถึงการควบคุมและลดการปล่อย(emission)ปรอทออกสู่บรรยากาศจากแหล่งกำเนิดที่มีจุดกำเนิดแน่นอน(point sources) ตามรายการที่ระบุไว้ในภาคผนวก D (Annex D) ของอนุสัญญาฯ อันได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น
Traffic causing Air Pollution in Bangkok. © Chanklang Kanthong / Greenpeace

การคมนาคมเป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดหมอกควัน กทม

ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลายเมืองทั่วประเทศไทยกำลังตกอยู่ภายใต้วิกฤตมลพิษทางอากาศ PM2.5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กรุงเทพฯ โดยในช่วงวันที่ 1 มกราคมถึง 21 กุมภาพันธ์ 2561 กรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายที่สุด ในจำนวนรวม 52 วัน บางพื้นที่มีความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกถึง 40 วัน
กรีนพีซได้วิเคราะห์ข้อมูลและจัดอันดับเมืองที่เผชิญกับมลพิษ PM2.5 ในประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2558 และพบว่า คุณภาพอากาศในพื้นที่เมืองยังอยู่ในระดับแย่และมีแนวโน้มแย่ลงอย่างต่อเนื่อง มีค่ามาตรฐานความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยรายปีเกินเกณฑ์มาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของประเทศไทยและทุกเมืองมีความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยรายปีเกินระดับที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งนอกจากนี้ยังน่าตกใจว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไปยังไม่เป็นไปตามข้อแนะนํา ขององค์การอนามัยโลก ถือว่ายังเป็นการละเลยสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงอากาศสะอาด

“ประชาชนไม่สมควรที่จะสูดอากาศที่มีฝุ่นพิษอีกต่อไป มลพิษทางอากาศเป็นอันตรายต่อชีวิตของคน ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมถึงต่อเมืองที่มีบทบาทสำคัญอย่างกรุงเทพมหานคร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติโดยตำแหน่ง จะต้องสั่งการให้กรมควบคุมมลพิษ ยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 และระบบการรายงานคุณภาพอากาศที่ทันสมัยโดยทันที และเสนอแผนปฏิบัติการที่หนักแน่นและจริงจังเพื่อจัดการกับวิกฤตมลพิษ PM 2.5 ไม่ใช่การยื้อเวลาออกไป เพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน” ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

หลังจากนี้ 15 วัน เราจะติดตามกันต่อไปว่า ทางภาครัฐจะตอบรับแก้ไขวิกฤตปัญหามลพิษทางอากาศ หรือจะมองข้ามสุขภาพของประชาชน ปล่อยให้ถูก PM2.5 คุกคามต่อไปตามกาลเวลา

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม