
การกุมรัฐและการยึดกุมกลไกกำกับดูแล
ธนาคารโลกเป็นผู้เริ่มใช้คำว่า กุมรัฐ (state capture) ในช่วงปี 2000 การกุมรัฐเป็นการคอร์รัปชันทางการเมืองอย่างเป็นระบบโดยการที่กลุ่มผลประโยชน์เข้าไปมีอิทธิพลหรืออาจถึงขั้นกำหนดการตัดสินใจของรัฐเพื่อผลประโยชน์ต่อตนเอง ในการเมืองไทยบางทีเราเรียกกันว่า “คอร์รัปชันเชิงนโยบาย” ที่เอกชนเข้าไปกำหนดจังหวะหรือโอกาสสร้างความร่ำรวยมหาศาลนั่นเอง เช่น การออกกฎระเบียบให้ตนทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ตัดคู่แข่ง ผูกขาดทางการค้า หรือให้รัฐทำโปรเจกต์ที่กลุ่มผลประโยชน์นั้นพร้อมขาย เป็นต้น
หลายคนมองว่าการกุมรัฐเป็นการคอร์รัปชันในระดับที่อันตรายที่สุด ส่วนการการยึดกุมกลไกกำกับดูแล (regulatory capture) หมายถึงกระบวนการที่กฎระเบียบ ทั้งตัวกฎหมายเองหรือการบังคับใช้จริง ถูกชี้นำซ้ำๆ ให้เบนออกจากประโยชน์สาธารณะไปเข้าทางผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมใต้การกำกับดูแล ด้วยเจตนาและการกระทำของอุตสาหกรรมนั้นเอง การกุมรัฐหรือการยึดกุมกลไกกำกับดูแลมีลักษณะเดียวกัน แค่อาจต่างกันที่ระดับของขนาดและวงการเฉพาะที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลนั้น
ภาวะกุมรัฐซ่อนอยู่ในบิลค่าไฟฟ้าไทยอย่างไร
จุดสำคัญที่อาจชี้ว่าเกิดการยึดกุมกลไกกำกับดูแลแล้ว คือ เกิดการย้ายนโยบายออกจากประโยชน์สาธารณะ ไปยังกลุ่มผลประโยชน์ โดยการกระทำและเจตนาของกลุ่มผลประโยชน์นั้น
หากเราพิจารณาบิลค่าไฟ เราจะพบว่าโครงสร้างต้นทุนค่าไฟฟ้าคิดคำนวณมาจาก 4 ส่วนหลัก คือ ค่าระบบไฟ(ค่าไฟฟ้าฐาน) + ค่าหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ + ภาษีมูลค่าเพิ่ม + ค่า Ft ที่มาจากค่าเชื้อเพลิง ค่าความพร้อมจ่าย และค่าใช้จ่ายอื่นที่อยู่นอกเหนือความควบคุม
สิ่งที่น่าสนใจอยู่ในค่า Ft คือทั้งค่าความพร้อมจ่ายและค่าเชื้อเพลิงที่เป็นต้นทุนอันดับหนึ่ง สำหรับด้านค่าเชื้อเพลิงนโยบายประเทศไทยกำหนดให้นำเข้าLNG มาใช้ผลิตไฟฟ้า ทั้งที่มันแพงมาก แต่ก๊าซในอ่าวไทยที่เราผลิตเองได้กลับขายราคาถูกกว่าให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี แล้วพอนำเข้า LNG มาแพงก็มาเก็บเงินเพิ่มกับประชาชนผ่านค่า Ft
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนมากมายชนิดที่ทุกคนที่เดินตากแดดในประเทศนี้รับรู้ได้ แต่พอจะผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เอง กลับมีอุปสรรคขัดขวางมากมาย เช่น ต้องมีทั้งวิศวกรไฟฟ้า วิศวกรโยธา ระบบป้องกันไฟฟ้าย้อนกลับ ติดตั้งมิเตอร์ 2 ตัว ฯลฯ มีกระบวนการขอใบอนุญาตยาวนาน เรียกร้องผู้รับรองแบบค่อนข้างเยอะ ในแคลิฟอร์เนียนั้นกำหนดว่าการไฟฟ้าต้องอนุญาตให้มีการติดโซลาร์รูฟท็อปผ่านแอ็พพลิเคชั่นภายใน 3 วันเท่านั้น

ในด้านค่าความพร้อมจ่ายที่นับเป็นต้นทุนสูงสุดอันดับสอง เราจะพบว่าประเทศไทยมีการสร้างโรงไฟฟ้าและสำรองไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น จากปกติต้องสำรองไฟเพียงไม่เกินร้อยละ 15 ของการใช้ไฟฟ้าสูงสุด แต่ตอนนี้ทะลุขีดเกินร้อยละ 50 ไปแล้ว และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศที่ควรจะปรับปรุงใหม่ ก็ไม่ออกมาอีกเลยตั้งแต่ปี 2561 ในระหว่างนี้ก็มีการเร่งสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลใหม่เข้าระบบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แถมรัฐยังทำสัญญารับประกันกำไรให้ผู้สร้างโรงไฟฟ้าแบบที่ไม่ใช้ก็ต้องจ่ายเงิน (take or pay) ตามอายุสัญญาราว25-30ปี ที่ผ่านมาแม้มีหลายโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องเพราะผลิตไปก็ล้นเกินความจำเป็นในระบบแต่ก็ยังได้เงินจากสัญญาค่าความพร้อมจ่าย
แม้ไทยจะมีสถานการณ์ไฟฟ้าสำรองล้นเกินแต่รัฐก็ยังเดินหน้าอนุมัติการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนลุ่มน้ำโขงในลาวต่อไป สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณว่าเรากำลังตกอยู่ในภาวะกุมรัฐใช่หรือไม่ ?
แล้วประโยชน์สาธารณะคืออะไร?
ผลการตัดสินใจข้างต้นทั้งหมดจะไปรวมอยู่ที่ไหนไม่ได้นอกจากในค่า Ft ของเรานั่นเอง ซึ่งมีผลทำให้ ประชาชนเจอค่าไฟแพงขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อจะผลิตไฟฟ้าเองจากพลังงานหมุนเวียนก็เจออุปสรรคมากมาย รัฐบังคับให้ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่มีทางเลือก ต้องจ่ายค่าไฟแพงๆ จากพลังงานฟอสซิลที่สร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อไป
แม้แต่ภาคอุตสาหกรรมยังมองว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปคงไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ในยุคหน้า จนสภาอุตสาหกรรมคิดแผนเสนอพลังงานชาติเอง แต่ยังไม่เห็นการขยับอะไรที่ชัดเจนจากภาครัฐ แผนพลังงานชาติยังคงไม่ออกมา ในขณะที่เจ้าของบริษัทพลังงานฟอสซิลที่เกี่ยวข้องได้ขึ้นแท่นเป็นเศรษฐีที่รวยที่สุดในไทยไปอีกคนหนึ่งแล้ว
“ประเทศที่ค่าไฟไม่แฟร์และบรรษัทพลังงานรวยทั้งที่ค่าไฟเป็นสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานที่ไม่มีความแตกต่างในหมู่สินค้าด้วยกัน ไม่ใช่สินค้าที่มีการเพิ่มมูลค่าที่แตกต่างเพื่อแข่งขันแบบประเทศไทยเป็นเรื่องผิดปกติ มีกี่ประเทศที่เป็นแบบเรา?” หลายคนตั้งคำถามนี้ไว้ในเวทีสาธารณะ ทางออกอยู่ตรงไหน? ค่าไฟไทยในยุคของแพง ค่าแรงถูก วันที่ 20 ม.ค. 2566
ทางออกคืออะไร? จะแก้อาการค่าไฟแพงและไม่เป็นธรรมได้ยังไง? เราทำอะไรได้บ้าง?
ฤดูร้อนปีนี้ค่า Ft หรือค่าไฟฟ้าผันแปรในประเทศไทยได้พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี จึงเกิดเป็นข้อสงสัยที่ว่า รัฐและกลไกกำกับดูแลยังเป็นอิสระและทำเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนอยู่รึเปล่า? หรือได้ถูกใครยึดกุมไปแล้ว?
ในเวทีสาธารณะ ทางออกอยู่ตรงไหน? ค่าไฟไทยในยุคของแพง ค่าแรงถูก รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอทางออกว่า รัฐควรจะหยุดอนุมัติโครงการก่อสร้าง/ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลใหม่ทุกกรณี, ชะลอการก่อสร้าง/การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ลงนามไปแล้ว, เจรจาเอกชนลดค่าความพร้อมจ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าที่ไม่เดินเครื่องเลยมาเป็นเวลานาน, รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำกว่า LNG อย่างเต็มที่, และเปิดเสรีและสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแบบหักลบกลบหน่วย net-metering ในระดับครัวเรือนและ SME

ในเวทีสาธารณะเดียวกัน สฤณีเล่าต่อว่าภาครัฐมักอ้างว่าสัญญาไฟฟ้าเซ็นไปแล้วแก้ไม่ได้ แต่จริงๆ สัญญาคือการตกลงของสองฝ่ายที่เจรจาได้เสมอ และเคยเกิดกรณีเจรจาสัญญาใหม่ระหว่างรัฐ-เอกชนใหม่หลายกรณี เช่น กรณีการแก้สัญญาและการเยียวยาผู้ให้ขายสินค้าปลอดภาษีในสนามบินช่วงโควิดหรืออื่นๆ ข้ออ้างดังกล่าวจึงเป็น “คำตอบมักง่าย”
ในฐานะประชาชนคนธรรมดา สิ่งที่เราอาจทำได้สำหรับเรื่องนี้คือ
- ติดโซลาร์เซลล์ที่บ้าน เทคโนโลยีปัจจุบันมีความพร้อมขึ้นมาก มีราคาที่คุ้มทุนในระยะเวลาประมาณ 5 ปี และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าต่อเนื่องด้วยการดูแลน้อยมากไปได้ถึง 20-25 ปีตามอายุการใช้งานโซลาร์เซลล์ พร้อมลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ลดการพึ่งพาและสนับสนุนระบบไฟฟ้าผูกขาดที่เป็นอยู่ด้วย ด้วยรูปแบบเงื่อนไขการใช้ไฟฟ้าแต่ละบ้าน อาจจะมีบางบ้านที่คุ้มทุนช้ากว่านี้เพราะไม่ได้ใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวันและตามกฎระเบียบปัจจุบันไฟฟ้าส่วนนี้จะต้องถูกทิ้งไป (curtail) แต่ก็เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้และเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่เราสามารถเริ่มด้วยตัวเองได้จริงๆ

- เรียกร้อง ร่วมลงชื่อ จับตาดู ให้รัฐหยุดมัดมือชก และเปิดเสรีพลังงาน หยุดสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลและทำสัญญารับประกันผลกำไรของนายทุนด้วยค่าไฟฟ้าของประชาชน และหยุดสกัดกั้นโซลาร์เซลล์ด้วยการนำระบบหักลบกลบหน่วย (net-metering) ที่เปิดให้อาคารที่ผลิตไฟฟ้าสามารถฝากไฟฟ้าที่โซลาร์ผลิตได้ในเวลากลางวันไว้ในระบบ เพื่อนำมาใช้ในเวลาอื่นได้ ซึ่งจะปลดล็อคทำให้บ้านที่เดิมติดโซลาร์ไม่คุ้มค่าสามารถติดโซลาร์ผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองได้ และกลายเป็นทางเลือกของทุกคนแทนที่จะใช้ต้องพลังงานรวมศูนย์อย่างไม่มีทางเลือกในปัจจุบัน
- ‘การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ (7): มหกรรม ‘กินรวบ’ โรงไฟฟ้า
- สำรวจ ‘สมการคอร์รัปชัน’ ในสังคมไทยปัจจุบัน
- เตือนเชิญมหาเศรษฐีร่วมแก้วิกฤติ อย่าให้เกิด “เอกชนกุมรัฐ”-ระดมทุนกองรวมไม่เกิดประโยชน์
- การยึดกุมกลไกกำกับดูแล (Regulatory Capture)
- การยึดกุมกลไกกำกับดูแล: รูปแบบ ข้อถกเถียง และวิธีพิสูจน์
- Preventing Regulatory Capture Special Interest Influence and How to Limit It Edited by DANIEL CARPENTER Harvard University DAVID A. MOSS Harvard University
- ระบบจะซื้อจะจ้าง…ใครจะทำไม
- State capture
- GULF ขายไฟฟ้าพุ่ง กำไรปี 65 โต 48.9% ที่ 11,418 ล้านบาท
- ภาวะกุมรัฐกับธุรกิจที่แตะต้องไม่ได้