ถ้าพูดถึงการทำประมง หลายคนมักมองว่าเป็นอาชีพสำหรับผู้ชาย แต่ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลานั้นไม่ใช่ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับทั้งก๊ะบ๊ะ ก๊ะหนับ และก๊ะส๊ะ แห่งอำเภอจะนะ ผู้แหกขนบภาพจำว่าผู้หญิงต้องเลี้ยงลูกอยู่บ้าน โดยทั้งสามออกเรือทำประมง ต่อยอดอาชีพผ่านทรัพยากรด้วยวิถีประมงยั่งยืน และยังเป็นแกนนำเคลื่อนไหวปกป้องท้องทะเลบ้านเกิดอีกด้วย
ว่าแต่… จะนะแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร ทำไมเหล่าก๊ะๆ สามารถเปลี่ยน “บทบาท” ออกมาทำประมง แถมเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวปกป้องทะเลจากนิคมอุตสาหกรรม เรามาไขคำตอบกับลอกีบ๊ะ หมัดเหล็ง(ก๊ะบ๊ะ), ไซหนับ ยะหมัดยะ(ก๊ะหนับ), และรอซีส๊ะ เหล็มเหลาะ(ก๊ะส๊ะ) ไปด้วยกัน
วิถีประมงพื้นบ้าน การทำประมงยั่งยืน
เรานั่งริมหาดคุยกับก๊ะแบบสบายๆ ใต้ร่มไม้ในหาดสวนกง “ก๊ะบ๊ะ” เริ่มเกริ่นถึงที่มาของ
“กลุ่มเต่าไข่” กลุ่มประมงหญิงในชุมชนที่ทั้งสามเป็นสมาชิก ซึ่งรวมตัวกันนำอาหารทะเลที่ตนและครอบครัวออกเรือได้มา แปรรูปขายเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยวิถีของการทำประมงขึ้นอยู่กับสัตว์น้ำตามแต่ละฤดูกาล
ย้อนไปในวัยเด็ก ทั้งก๊ะบ๊ะ ก๊ะหนับ และก๊ะส๊ะ ต่างเติบโตมากับทะเลจะนะ พวกเขาเล่าว่าเห็นทะเลมาตั้งแต่จำความได้ ขณะที่ครอบครัวของทั้งสามประกอบอาชีพประมงมาตั้งแต่กำเนิด ทำให้ได้เรียนรู้การทำประมงจากการช่วยที่บ้าน เช่น การปลดสัตว์น้ำที่จับมาได้ออกจากอวน หรือเอาสัตว์ทะเลที่จับมาได้ไปขายตามตลาดและแม่ค้าคนกลาง
วันเวลาผ่านไป ทั้งสามต่างเติบโตมีครอบครัว แต่ที่ยังคงเดิม คือวิถีชีวิตที่ยังคงผูกโยงกับท้องทะเล
ดังนั้น การทำประมงของก๊ะทั้งสามจะใช้เครื่องมือที่ไม่ทำร้ายทะเล โดยใช้อวนหรือแหที่ถักมือขึ้นมาเอง อวนแต่ละชนิดจะมีรูตาข่ายกว้างไม่เท่ากัน เพื่อให้เหมาะสมกับสัตว์น้ำที่จะจับ ไม่ให้ติดสัตว์น้ำพลอยได้
“อวนกุ้งก็จะเล็กหน่อย ใหญ่ขึ้นมาก็จะเป็นอวนหมึก อวนปู รวมไปถึงอวนจับปลาโดยเฉพาะปลาหลังเขียวที่อาศัยอยู่ในทะเลจะนะเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีอวนเฉพาะปลาอินทรีย์ ปลาเก๋า ปลาโคก ปลาสาก ปลากระพง ปลาน้ำดอกไม้ และปลาอื่นๆอีกมากมายที่หาได้จากทะเลจะนะ”
การทำประมงลักษณะนี้จะทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อนหรือลูกปลาตัวเล็ก ๆ ไม่ถูกจับขึ้นมาก่อนเวลาที่จะเติบโต สัตว์น้ำเหล่านี้จึงมีโอกาสขยายพันธุ์ได้ต่อไปเรื่อย ๆ
ทั้งสามคนอธิบายต่อว่า ปลาส่วนใหญ่ที่จับมาได้จะถูกแบ่งเป็นสามส่วนคือเก็บไว้กิน ขายเองที่ตลาด และขายผ่านแม่ค้าคนกลาง ก่อนที่ก๊ะหนับเล่าด้วยเสียงขบขันว่า “ส่วนมากไม่ค่อยได้กินหรอก เบื่อแล้ว กินบ่อยมากมาตั้งแต่เด็ก”
แม้จะเป็นคำพูดติดตลก แต่โดยนัยกลับแสดงออกถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลจะนะได้เป็นอย่างดี
รื้อฟื้นความเสื่อมโทรม
“ถ้าถามว่ามันเปลี่ยนไหม มันเปลี่ยนอยู่แล้วถ้าเทียบกับตอนเด็ก ยิ่งช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับห้ามใช้อวนลากเกือบทำให้ปลาลามะสูญพันธุ์ไปจากทะเลจะนะ” ก๊ะส๊ะเริ่มเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของทะเลที่เธออาศัยอยู่มาชั่วชีวิต
เมื่อทะเลจะนะเริ่มเสื่อมโทรม สัตว์น้ำหายไป คนในชุมชนจึงเริ่มหันมาหาวิธีฟื้นฟู ซึ่งใช้เวลากว่าสองทศวรรษ กว่าปลาจะเริ่มกลับมา
”ปลาส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มกลับมาช่วงที่ชาวบ้านหันมาทำซั้งปลา ปะการังเทียม แต่ก็ใช้เวลากว่า 20 ปีเหมือนกันที่จะทำให้ทะเลจะนะกลับมามีพันธุ์ปลาที่หลากหลาย” ก๊ะหนับอธิบาย
“แต่ถ้าถามว่าคุ้มค่าไหม มันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากเพระเราทำให้ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์นานาชนิดอยู่แล้วกลับมามีชีวิตมากกว่าเดิม นี่ยิ่งทำให้เห็นว่าทำไมเราถึงหวงแหนทะเลบ้านเรา”
ความภาคภูมิใจของอาชีพประมงหญิง
โดยทั่วไปแล้ว ชาวประมงที่ออกทะเลมักจะเป็นผู้ชาย แต่ทั้งก๊ะบ๊ะ ก๊ะหนับ ก๊ะส๊ะ และประมงหญิงอีกจำนวนไม่น้อยในจะนะออกทำประมงเพื่อหารายได้ โดยใช้ความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาจากการเติบโตมากับทะเล ลบภาพจำเก่าๆ พร้อมกับสร้างบทบาทใหม่ของผู้หญิงในอุตสาหกรรมประมง
“ผู้หญิงเราแข็งแรงสามารถทำงานนี้ได้ บางคนท้องเจ็ดถึงแปดเดือนยังออกทะเลอยู่เลย อาชีพประมงนี้มันไม่ใช่แค่ออกเรือ หลังได้ปลามายังมีขั้นตอน เอาปลาไปขาย คัดแยกปลา เตรียมอุปกรณ์ออกเรือ ซื้อน้ำมัน เราก็ทำได้หมด” ก๊ะส๊ะอธิบาย
และสำหรับก๊ะทั้งสาม ทะเลไม่ใช่เพียงแหล่งรายได้ แต่เป็นของส่วนรวม เป็นสถานที่ที่ทุกคนในหมู่บ้านสามารถออกเรือหาปลามาขายเพื่อสร้างรายได้ หรือนำมาเป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร รวมถึงเป็นสิ่งที่ค้ำจุนชีวิต ซึ่งสิ่งนี้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านประโยคสั้นๆ
ก๊ะบ๊ะ: “ถ้าพูดง่าย ๆ สำหรับชาวบ้านแบบเราธนาคารอยู่ในเล ค่าเทอม ค่าใช้จ่ายภายในบ้านเรามีกินมีใช้ก็เพราะทะเล ถ้าไม่มีทะเลเราและครอบครัวเราก็อยู่ไม่ได้”
ก๊ะหนับ: “เราโชคดีที่เกิดอยู่ริมเล ไม่ได้มีมากแต่ลูกเราไม่เคยอด เราเลี้ยงลูกได้ส่งลูกเรียนจนจบเพราะเราทำประมง”
ก๊ะส๊ะ: “ริมเลที่เราอยู่นี้ ถ้าเปรียบเทียบกับคนที่อยู่บนควน เวลาฝนตกเขาทำอาชีพกรีดยางก็กรีดไม่ได้ รายได้ของวันนั้นก็จะหายไป แต่เราไม่ใช่ฝนตก เราก็ยังออกเลได้ มีกินมีใช้ไม่ขาดมือทำให้เรามีรายได้ทุกวัน”
แนวหน้าปกป้องทะเล
ชาวจะนะกำลังต่อสู้กับนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบไม่เพียงแค่ทะเล แต่รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ อากาศ สุขภาพคนในชุมชน และวิถีชีวิต และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวจะนะออกมาต่อสู้
ก่อนหน้านี้ชาวจะนะต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้า โรงส่งท่อก๊าซ และอุตสาหกรรมอื่นๆที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในทุกการต่อสู้ มักมีผู้หญิง “เป็นแนวหน้า”
ในครั้งนี้ก็ไม่ต่างกัน ก๊ะสามคนชี้ว่า การคัดค้านนิคมฯจะนะ เป็นอีกหนึ่งการต่อสู้ที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่เพื่อลูกหลาน
“พวกเขาที่จะอยู่ต่อไปอีกเป็นยี่สิบสามสิบปี ตัวเราเดี๋ยวก็ตายแล้ว แต่เราต้องทำ เพราะถ้าเราไม่สู้เราในวันนี้ และลูกหลานเราในวันหน้าก็ไม่มีที่จะอยู่”
สำหรับคนนอกอาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว หากมองเผิน ๆ นิคมอุตสาหกรรมจะนะที่จะเกิดขึ้นนี้ดูเหมือนจะสร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่ในมุมของชุมชน การเข้ามาของอุตสาหกรรมนิคมจะนะสร้างความกังวลต่อชุมชนว่าอาจทำให้เกิดความสูญเสียทางอาชีพเช่นกัน สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นฐานอาชีพที่สร้างรายได้มหาศาลก็อาจได้รับผลกระทบ
ความไม่แน่นอนของผลกระทบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทำให้ก๊ะทั้งสามและชุมชนออกมาคัดค้าน และสิ่งที่พวกเธอขอไม่ได้มากเกินกว่าสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับ นั่นคือการได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี อากาศสะอาด และโอกาสได้มีส่วนร่วมในการออกแบบการพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง
“วันไหนที่ไม่มีเล ให้เราไปอยู่ควน เหมือนตายทั้งเป็นเลย มืดแปดด้าน เพราะเราไม่มีเล โตมากับทะเลเราก็อยากตายไปกับทะเล ตายในที่นี้อาจไม่ใช่การสูญเสียเลือดเพราะการต่อสู้ แต่เป็นการต่อสู้เพื่อสิ่งที่ลูกหลานเราได้มีอาชีพให้ทำโดยที่ไม่ต้องออกไปลำบากหางานและรับมลพิษจากที่อื่น เราทำทั้งหมดเพื่อลูกหลานเรา และอยากให้คนบนหอคอยหรือนายทุนฟังเสียงของพวกเราอย่างจริงใจ” – ก๊ะบ๊ะ กล่าวปิดท้าย