เราคงได้ยินการกล่าวถึงการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 (Earth’s 6th mass extinction) มาบ้างว่าจะเป็นหายนะครั้งใหญ่ของโลก   และเป็นภัยคุกคามต่ออยู่รอดของมนุษย์ เรามักกล่าวแต่เพียงว่ามนุษย์คือตัวการ แต่ไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ขับเคลื่อนให้เกิดหายนะนี้เท่าไรนัก

การบริโภคเกินความจำเป็น และเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรม คือสาเหตุสำคัญของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6

โลกของเรากำลังสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไปในอัตราที่รวดเร็วอย่างน่ากลัว และอาหารการกินของมนุษย์คือปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่นี้ขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำแข็งละลาย หรือการสูญเสียพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์นั้นเป็นภาพรวมของการล้มหายตายจากของสิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์ แต่ความต้องการในการบริโภคเนื้อสัตว์ในราคาที่ถูกและปริมาณมากนั้น คือเบื้องหลังของปัญหาสิ่งแวดล้อมนานับประการ และสูบทรัพยากรโลกไปอย่างรวดเร็ว

“เมื่อคุณนึกถึงเพนกวิน เสือจากัวร์ และช้าง คงยากที่จะเชื่อมโยงกับเนื้อสัตว์ที่ขายในราคาถูกตามซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ทั้งสองสิ่งมีความเชื่อมโยงกัน และเป็นปัญหาที่น่ากังวล” ฟิลลิป ลิมเบอรี ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Deadzone: Where the Wild Things Were กล่าว

ป่าและผืนน้ำไร้ชีวิตจากการรุกรานของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และน้ำมันปาล์ม

พื้นที่ป่ามหาศาลในทั่วโลกถูกทำลายจนเหี้ยนเตียนเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวสำหรับอุตสาหกรรม อย่าง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด และถั่วเหลือง ซึ่งเราอาจจะคุ้นตากันบ้างกับภาพภูเขาสีเขียวชอุ่มที่กลายเป็นเขาหัวโล้นจากการถูกแทนที่ด้วยพืชเชิงเดี่ยว หรือป่าแอมะซอนอันอุดมสมบูรณ์ที่กลายเป็นแปลงถั่วเหลืองสุดลูกหูลูกตา และทิ้งความแห้งแล้งไว้ พืชเหล่านี้มักกลายเป็นอาหารสัตว์ราคาถูกในปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม โดยที่การใช้สารเคมีต่าง ๆ สำหรับการเพาะปลูก อาทิเช่น ปุ๋ย และสารกำจัดศัตรูพืชนั้น ยังส่งผลให้เกิดเขตมรณะ (Dead Zone) หรือแหล่งน้ำที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ผืนน้ำไร้ชีวิตนี้เกิดขึ้นจากสารประกอบอย่างไนโตรเจนและฟอสฟอรัสที่เป็นธาตุอาหารในการบำรุงพืชได้กระตุ้นกระบวนการยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication)โดยดึงเอาออกซิเจนออกจากน้ำจนเหลือศูนย์ สาเหตุของเขตมรณะนั้น ยังรวมถึงจากของเสียมูลสัตว์จากการทำปศุสัตว์ และการเร่งใช้ธาตุอาหารอย่างไม่จำกัด ตัวอย่างอันเห็นได้ชัดคือ ที่อ่าวเม็กซิโก ซึ่งมีเขตมรณะที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีขนาดเทียบเท่ากับประเทศเวลส์

El Niño Impacts Documentation In Northern Thailand. © Greenpeace

การเปลี่ยนพื้นที่ป่า คือ สาเหตุหนึ่งของปัญหาภัยแล้ง ทวีความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นหนึ่งในการก่อมลพิษทางอากาศจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

 

Sumatran Tiger in Tambling Wildlife Nature Conservation. © Paul Hilton / Greenpeace

อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันคือสาเหตุหลักของการเร่งให้สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่าง ช้างสุมาตรา เสือจากัวร์ และอุรังอุตัง ปัจจุบันนี้เหลือช้างสุมาตราราว 2000 ตัวเท่านั้น

ในระยะแรกสาหร่ายบางชนิดในน้ำจะเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว เกิดปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง คือสาหร่ายจำนวนมากเจริญเติบโต และเร่งดึงใช้ออกซิเจนจากในน้ำ แล้วหลังจากนั้นก็ตายหลังจากที่น้ำขาดออกซิเจน และปรากฎการณ์นี้เองที่นำพาไปสู่การตายและการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสัตว์น้ำ ข้อมูลระบุว่ามีเขตมรณะอยู่ 405 บริเวณตามชายฝั่งทะเลทั่วโลก

การขยายพื้นที่เพื่อปลูกพืชอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกรณีของปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย หรืออุตสาหกรรมถั่วเหลืองที่แอมะซอน มักไม่ได้จบลงที่แค่การรุกรานบ้านของสัตว์ป่า แต่มีการฆ่าสัตว์ในพื้นที่

อยากให้ชมวิดีโอนี้ที่อุรังอุตังลุกขึ้นสู้กับรถไถขนาดใหญ่เพื่อปกป้องบ้านของตน

นั่นเป็นเพียงภาพรวมของสายพันธุ์พืชและสัตว์ที่กำลังถูกคุกคาม แต่ยังมีสัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่างแมลงที่กำลังหายไปอย่างเงียบ ๆ และสาเหตุสำคัญคงเดาได้ไม่ยากว่ามาจาก การทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่เน้นหนักการใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งการใช้สารเคมีนั้นทำให้มีสารพิษปนเปื้อนในดิน แหล่งน้ำ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในการวิเคราะห์ข้อมูลจากฟาร์มในประเทศอังกฤษเผยว่า ผีเสื้อสายพันธุ์ต่าง ๆ หายไปมากถึงร้อยละ 58 ในช่วงปีพ.ศ.2543-2552 และการสูญพันธุ์ของแมลงนั้นหมายถึงห่วงโซ่ที่สำคัญและผู้ผลิตอาหารของโลกหายไป ซึ่งอาจหมายถึงการล่มสลายของระบบนิเวศของโลก

“เบื้องหลังของเกษตรเชิงอุตสาหกรรมนั้นคือการผลักภาระค่าใช้จ่ายให้กับสิ่งแวดล้อม และทำลายความสมบูรณ์ของธรรมชาติ นี่แสดงให้เห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ควรได้รับความไว้ใจในการเป็นผู้ผลิตอาหารให้กับโลก ” ศาตราจารย์ ราช พาเทล มหาวิทยาลัยเท็กซัส สหรัฐอเมริกา กล่าว ไว้ในการบรรยายงานประชุม Extinction and Livestock Conference ที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อตุลาคม 2560

สหประชาชาติได้เตือนว่า หากเรายังคงใช้ทรัพยากรเพื่ออุตสาหกรรมเกษตรอย่างไร้ประสิทธิภาพและความยั่งยืนเช่นนี้ต่อไป ดินของโลกจะยังคงเลี้ยงมนุษย์ได้อีกเพียง 60 ปีเท่านั้น โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยว่า ดินสามในสี่ส่วนของโลกได้สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ไปแล้ว และเราก็อาจจะหวังพึ่งพาแหล่งอาหารจากทะเลไม่ได้อีกนานนัก หากเรายังคงทำการประมงเกินขนาด และใช้เครื่องมือที่กว้านจับทุกสิ่งรวมถึงสัตว์น้ำวัยอ่อนในท้องทะเล โดยที่เราอาจจะไม่มีอาหารทะเลกินอีกต่อไปภายในอีก 30 ปี หากยังคงทำอุตสาหกรรมประมงเช่นอย่างทุกวันนี้

การลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างฟุ่มเฟือยอาจเป็นทางออกเดียวที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้เพื่อลดการขยายตัวของอุตสาหกรรม

เราถูกอุตสาหกรรมอาหารป้อนความเชื่ออย่างผิด ๆ เสมอมาว่า เราไม่มีอาหารเพียงพอกับการเลี้ยงคนทั้งโลก และการผลิตอาหารในปริมาณมหาศาลด้วยการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่แคบ ๆ ใช้สารเคมีอันตรายกับพืชผักเพื่อการปลูก ต้องสละพื้นที่ป่าและแหล่งน้ำเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร ทั้งที่จริงแล้ว เกษตรกรรมเชิงนิเวศนั้นสามารถเลี้ยงโลกได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหากภาครัฐสนับสนุนทางด้านนโยบาย ให้ความรู้ที่ถูกต้อง และให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่แก่เกษตรกรที่ทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรรมเชิงนิเวศเป็นเกษตรกรรมกระแสหลัก ลดปัญหาความเลื่อมล้ำ รักษาความสมบูรณ์ของผืนป่า สายพันธุ์สัตว์ และสามารถผลิตอาหารได้อย่างยั่งยืนหล่อเลี้ยงประชากรโลกได้อย่างเท่าเทียม ดีสำหรับโลกและดีสำหรับทุกคน

การรับรู้ถึงที่มาของอาหารจึงสำคัญ เพราะอาหารที่ดีต่อสุขภาพของโลกนั้น ย่อมดีต่อสุขภาพของเราด้วย

Primary Forest in Papua. © Ulet  Ifansasti / Greenpeace
ร่วมปกป้องป่าฝนเขตร้อน

ป่าฝนเขตร้อนที่เป็นบ้านของอุรังอุตังกำลังถูกทำลายจากการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน หากเราไม่ทำอะไรเลย ถิ่นที่อยู่อาศัยของเหล่าสัตว์ป่าจะถูกทำลาย

มีส่วนร่วม