เชื่อหรือไม่ว่ามนุษย์อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ไม่ได้หากไม่มีแมลง

โลกของเรามีแมลงราว 9 แสน ถึง 1 ล้านสายพันธุ์ แต่จำนวนทั้งหมดมีเท่าไรนั้นไม่เคยมีใครสามารถนับได้หมด แต่หากเทียบเป็นสัดส่วนต่อคนนั้นกล่าวคือ มีแมลงทั่วโลก 1.4 พันล้านตัว ต่อมนุษย์ 1 คน ส่วนมากเราจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ว่าแต่ละตัวก็ล้วนแทบจะมีความสำคัญสำหรับเราทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยผลิตอาหาร หรือผู้ย่อยสลายเก็บกวาด ทว่าทุกวันนี้จำนวนประชากรแมลงกำลังลดฮวบอย่างน่าตกใจ ขยับใกล้การสูญพันธ์เร็วกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก และสัตว์เลื้อยคลานถึง 8 เท่า และนี่อาจหมายถึงการล่มสลายของระบบนิเวศของโลก

คนส่วนใหญ่มักมองว่าแมลงน่ารังเกียจ น่ารำคาญ เป็นพาหะนำโรค ถ้ามองจากภายนอกคงมีแค่บางตัวเท่านั้นที่สวยงาม หรือบางชนิดจะสวยงามก็ต่อเมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์มอง แต่เจ้าพวกตัวจิ๋วนี่แหละ คือพลังขับเคลื่อนโลกที่เรามองข้าม

ฐานเศรษฐกิจสำคัญของประเทศเราอย่างเกษตรกรรมก็มีพวกแมลงเป็นผู้ผสมเกสร พืชผักผลไม้ที่เราเพาะปลูกเติบโตขยายพันธุ์ได้อย่างง่ายดายเพราะแมลงประเภทต่าง ๆ แมลงเป็นอาหารหลักของสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะปลาที่ก็เป็นอีกหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจเช่นกัน  นอกจากนี้แมลงยังเป็นผู้ควบคุมศัตรูพืชตามธรรมชาติ ย่อยสลายเศษซากพืช ซากสัตว์ และของเสียในสิ่งแวดล้อม สร้างธาตุอาหารอินทรียวัตถุในดินเป็นวัฎจักรให้ผืนดินอุดมสมบูรณ์ ซึ่งหากปราศจากแมลงเหล่านี้เราจินตนาการได้ยากเหลือเกินว่าจะต้องใช้เงินมากเท่าไรจึงจะย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ หรือจะต้องใช้สารเคมีสังเคราะห์สร้างสารพิษและมลพิษตกค้างในแหล่งน้ำ อาหาร และอากาศมากสักแค่ไหน หากมนุษย์สูญพันธุ์ไปในวันพรุ่งนี้ผลกระทบต่อโลกและระบบนิเวศคงไม่มากนัก แต่หากโลกนี้ขาดแมลงสักหนึ่งวัน ระบบนิเวศทั้งระบบจะเกิดโกลาหลและกระทบถึงกันทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก

Insect-Butterfly

ข้อมูลงานวิจัยล่าสุด Worldwide decline of the entomofauna: A review of its drivers นำโดย ดร.ฟรานซิสโก ซานเชส-บาโย ตีพิมพ์ในวารสาร Biological Conservation ซึ่งศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยอีก 73 ชิ้นทั่วโลก ในช่วงเวลา 13 ปี เผยว่า กว่าร้อยละ 40 ของสายพันธุ์แมลงกำลังลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย และ 1 ใน 3 ส่วนของจำนวนนั้นกำลังใกล้สูญพันธุ์ และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป พวกแมลงเหล่านี้อาจสูญสิ้นไปภายในศตวรรษเดียว

“การที่สายพันธุ์แมลงหายไปจะมีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อระบบนิเวศของโลก และการอยู่รอดของมนุษย์” ดร.ฟรานซิสโก ซานเชส-บาโย กล่าวในตอนให้สัมภาษณ์กับ The Guardian “อัตราที่แมลงหายไปร้อยละ 2.5 ต่อปีในเพียงช่วง 25-30 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นอัตราที่เร็วมาก นั่นหมายความว่าในสิบปีจากนี้แมลงจะลดลงไปอีก 1 ใน 4 ใน 50 ปีจะเหลือจำนวนเพียงครึ่งหนึ่ง และภายใน 100 ปีจะไม่เหลือแมลงเลย”

เพราะอะไรแมลงถึงหายไป?

insect-bees

กลุ่มนักกีฏวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องแมลงเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า ปัจจุบันเราไม่ค่อยพบเจอซากแมลงติดอยู่ที่หน้ากระจกรถยนต์เมื่อต้องขับรถนอกตัวเมืองเท่าไรนัก เมื่อเทียบกันกับหลายสิบปีก่อน แต่การศึกษาเรื่องแมลงทำได้ยากกว่าสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่าอย่างนก หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

เราอาจเดากันได้ไม่ยากถึงสาเหตุที่แมลงหายไปจากโลกอย่างรวดเร็ว สาเหตุหลักก็คือ การทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่เน้นหนักการใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งการใช้สารเคมีนั้นทำให้มีสารพิษปนเปื้อนในดิน แหล่งน้ำ และสิ่งแวดล้อม โดยการขยายของการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วนั้นก็ส่งผลถึงการตัดไม้ทำลายป่า และทำให้แมลงและสัตว์ชนิดอื่น อาทิ นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ขยับเข้าใกล้การสูญพันธุ์ เนื่องจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเองก็ทำให้บางสายพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแมลงในเขตร้อนไม่สามารถปรับตัวได้ เช่นที่ เปอร์โตริโก และมีบางสายพันธุ์ที่ปรับตัวได้กับอุณหภูมิที่สูงขึ้น สารเคมี และเพิ่มจำนวนขึ้น เช่น แมลงวัน และแมลงสาบ

แมลงที่เป็นสัตว์รบกวนและพาหะนำเชื้อโรคกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น ในขณะที่แมลงที่เป็นผู้ช่วยผสมเกสร และย่อยซากพืชซากสัตว์ กำลังหมดไป กลุ่มแมลงผู้เคราะห์ร้าย คือ ผึ้ง และผีเสื้อ ซึ่งหนึ่งในการวิเคราะห์ข้อมูลจากฟาร์มในประเทศอังกฤษเผยว่า ผีเสื้อสายพันธุ์ต่าง ๆ หายไปมากถึงร้อยละ 58 ในช่วงปีพ.ศ.2543-2552

จะเกิดอะไรขึ้นหากแมลงหายไป?

insect-bees

อี.โอ.วิลสัน นักนิเวศวิทยาและนักสิ่งแวดล้อม เรียกขานแมลงว่าเป็น “สิ่งเล็ก ๆ ที่ทำให้โลกหมุนไป” และบรรดาแมลงก็มีความน่ามหัศจรรย์เช่นนั้นจริง ๆ

  • ห่วงโซ่อาหารล่มสลาย

ผลกระทบแรกที่ชัดเจนก็คือ แมลงคือสัตว์ในห่วงโซ่อาหารที่บรรดานก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และปลา กินเป็นอาหาร หากแหล่งอาหารอย่างแมลงหายไป สัตว์เหล่านี้จะขาดอาหาร และสัตว์ใหญ่ที่อาศัยกินสัตว์ในห่วงโซ่อาหารต่อมาก็ต้องล้มตายเป็นทอด ๆ ตัวอย่างจากการศึกษาของการหายไปของแมลงและสัตว์ต่าง ๆ ที่เปอร์โตริโก ก็พบว่า เมื่อแมลงหายไป ปริมาณนกและกบก็หายไปร้อยละ 50-65 ส่วนนกท้องถิ่นเปอร์โตริกัน โทดี (Puerto Rican tody) ที่กินแต่แมลง ก็หายไปอย่างน่าใจหายร้อยละ 90

  • ขาดผู้ผลิตอาหารให้กับมนุษย์

รู้หรือไม่คะว่า ผู้ผลิตอาหารให้เราไม่ใช่บริษัทยักษ์ใหญ่แต่อย่างไร แต่ผึ้งตัวน้อยเนี่ยแหละ ที่ขยันทำงาน คอยผสมเกสรให้กับพืชผักผลไม้ของเรา ร้อยละ 80 ของการผสมเกสรของพืชทั่วโลกเกิดขึ้นโดยผึ้ง พืชจำพวกธัญญาหารมักจะได้รับการผสมเกสรทางลม แต่พืชประเภทอื่น เช่น ผลไม้ ถั่ว ผักต่าง ๆ รวมถึงโกโก้ และกาแฟ ต่างเป็นผลงานชิ้นเอกของผึ้ง และพวกเขาทำงานผลิตอาหารให้กับเราโดยไม่คิดค่าตัว แต่ถิ่นที่อยู่ของผึ้งกำลังหายไป และต้องถูกซ้ำเติมด้วยสารเคมีฆ่าแมลง

นอกจากนี้แมลงยังเป็นผู้ที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินด้วยการย่อยสลายเศษซากพืช ซากสัตว์ และของเสียในสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนเป็นธาตุอาหารอินทรียวัตถุทำให้ผืนดินอุดมสมบูรณ์ กระบวนการผลิตอาหารเหล่านี้กำลังล่มสลายไปด้วยการใช้สารเคมี ซึ่งทวีฤทธิ์รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งแมลงซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบนิเวศตามธรรมชาติไม่สามารถฟื้นตัวได้ทัน

เมื่อไม่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ก็ไม่มีอาหาร ไม่มีแหล่งน้ำที่สะอาด ดินที่เหมาะกับการเพาะปลูก หรือแม้แต่อากาศดี ๆ สำหรับหายใจ

เราช่วยแมลงยังไงได้บ้าง?

insect

เมื่อเรารู้ถึงสาเหตุที่แมลงหายไป เราก็สามารถแก้ที่ต้นเหตุตามตรรกะง่าย ๆ ได้ ก็คือเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตอาหารของเรา แม้จะดูเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่ถ้าแมลงตัวเล็ก ๆ ขับเคลื่อนโลกได้ มนุษย์ก็ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

  1. ร่วมกันแบนการใช้สารเคมีอันตรายหลักในการทำเกษตร อาทิเช่น พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเสท ซึ่งสารเคมีอันตรายเหล่านี้ ท้ายที่สุดแล้วก็ส่งผลต่อคนเช่นกัน

  2. ลดการบริโภคเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีกระบวนการทำลายป่าไม้ และปลูกพืชเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ เพื่อเป็นอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง เป็นการทำลายถิ่นที่อยู่ของแมลง ใช้สารเคมีมหาศาล และก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ และทางอากาศตามมา (จากการเผาวัสดุการเกษตรในที่โล่ง)

  3. อุดหนุนและสนับสนุนอาหารที่ผลิตขึ้นด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ ที่จริงแล้วเกษตรกรรมเชิงนิเวศไม่ใช่วิธีการทำเกษตรแบบใหม่แต่อย่างไร แต่เป็นวิถีเกษตรแบบดั้งเดิมที่บรรพบุรุษของไทยเราทำกันมา โดยที่ไม่ใช้สารเคมี และอิงวิถึธรรมชาติ ไม่เน้นการผลิตเพื่อปริมาณและอุตสาหกรรม เกษตรกรรมเชิงนิเวศจะเลี่ยงการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและส่งเสริมความหลากหลายเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและดิน ซึ่งเอื้อกับการผสมเกสรของแมลง และมีกระบวนการควบคุมโรคและศัตรูพืชตามธรรมชาติ สุขภาพของคนปลูกและคนกินก็ดีตามด้วย

Insect-Butterfly

แม้จะหน้าตาไม่น่ารัก แต่มนุษย์เราและโลกของเราจะคงอยู่ไม่ได้หากปราศจากแมลง  “ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงวิธีในการผลิตอาหาร แมลงทั้งหมดจะสูญพันธุ์ไปภายในไม่กี่สิบปี” หนึ่งในนักวิจัยของงาน Worldwide decline of the entomofauna: A review of its drivers กล่าว และหากวันที่น่ากลัวนั้นมาถึง ไม่อยากจะคาดคิดเลยว่า อาหารการกินเราจะเป็นอย่างไร โลกของเราจะเป็นอย่างไร ช่วงเวลากว่าที่ระบบนิเวศจะฟื้นฟูทดแทนสายพันธุ์ที่หายไปมาได้ที่อาจกินเวลานับร้อยนับพันปี ระหว่างนั้น ลูกหลานของเราจะอยู่อย่างไร

 

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม
รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

About the author

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์
นักเขียน นักสิ่งแวดล้อม ผู้เชื่อในพลังการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของทุกคนจากการเลือกกิน เลือกซื้อ เลือกใช้ และการลงมือทำ เพื่อสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด