© Greenpeace / Sungwoo Lee

การประชุมเจรจาเพื่อให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลกเดินทางมาถึงครั้งที่ 5 (Intergovernmental Negotiating Committee : INC-5) โดยมีจุดประสงค์เพื่อหยุดยั้งมลพิษพลาสติก ที่เมืองปูซาน เกาหลีใต้ จบลงเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2567 ซึ่งความจริงแล้วการประชุมเจรจาครั้งนี้ควรจะเป็นการเจรจากันครั้งสุดท้าย อย่างไรก็ตามการประชุมไม่ได้จบลงดังที่คาดไว้และจะต้องมีการต่อเวลา ซึ่งพวกเราต่างรู้ดีว่าเราต้องการสนธิสัญญาพลาสติกที่เข้มงวดและมุ่งมั่นมากพอเพื่อสุขภาพของเรา ระบบนิเวศ รวมทั้งสภาพภูมิอากาศโดยเร็วที่สุด ตอนนี้เราสรุปประเด็นสำคัญจากการประชุมเจรจาครั้งนี้มาให้ทุกคนได้ติดตาม รวมทั้งเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงยังไม่ได้สนธิสัญญาพลาสติกโลกที่ต้องการเสียที

© Greenpeace / Sungwoo Lee

1. เรานำเสียงเรียกร้องของทุกคนไปสู่กลุ่มผู้นำโลก

กรีนพีซ สากล เหล่านักกิจกรรมผู้นำการขับเคลื่อน นักกวี นิกิต้า กิลล์ กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) และกลุ่ม Break Free From Plastic นำรายชื่อจากการรณรงค์ราว 3 ล้านรายชื่อ ให้กับ เซเนเตอร์ เจฟฟ์ มาร์กเลย์ และ จูเลียต คาเบรา ผู้อำนวยการทั่วไปขององค์กรการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมรวันด้า (Rwanda Environment Management Authority)

การรวบรวมและส่งรายชื่อนี้เป็นสัญลักษณ์ระดับโลกที่บ่งบอกว่าผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกกำลังเรียกร้องให้ลดการผลิตพลาสติกลงตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เพื่อให้การประชุมเจรจาครั้งนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น กรีนพีซ เอเชียตะวันออก ทำงานร่วมกับ แดน อารค์เชอร์ นักกิจกรรมและจิตรกร เพื่อส่งข้อความที่เน้นย้ำถึงรัฐบาลที่บินมาร่วมประชุมเจรจาที่เมืองปูซานว่า #WeAreWatching! ผ่านธงผืนใหญ่ที่ประกอบภาพดวงตาขนาดใหญ่จากการรวบรวมภาพใบหน้าของผู้คนหลายพันคนทั่วโลกที่จับตามองการประชุมครั้งนี้

2.อุตสาหกรรมฟอสซิลกำลังพยายามชะลอทุกอย่างอย่างหนัก

ตั้งแต่การประชุมเจรจานัดแรก กลุ่มประเทศที่ผลิตน้ำมันและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่างใช้อิทธิพลของตัวเองเพื่อให้การเจรจาครั้งนี้ไม่ได้ผล โดยในการประชุมเจรจาครั้งนี้ก็เกิดสถานการณ์แบบนี้เช่นเดียวกันนั่นคือ มีนักเจรจาของกลุ่มอุตสาหกรรมฟอสซิลและปิโตรเคมีลงทะเบียนร่วมการประชุม INC-5 กว่า 220 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการจัดประชุมเจรจาสนธิสัญญาพลาสติก และจากการวิเคราะห์โดยศูนย์กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมสากล (Center for International Environment Law : CIEL) จำนวนนักเจรจาจากอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นตัวเลขที่มากกว่าการประชุมเจรจาครั้งก่อนที่มีจำนวนนักเจรจาลงทะเบียนเข้ามา 196 ราย และเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ แล้ว นักเจรจาจากกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวมีจำนวนคนมากกว่ากลุ่มนักวิทยาศาสตร์เพื่อสนธิสัญญาพลาสติกที่มีประสิทธิภาพ (The Scientists’ Coalition for an Effective Plastics Treaty network) ถึง 3 ต่อ 1 คน และยังมีมากกว่ากลุ่มชนพื้นเมืองเกือบ 9 ต่อ 1 คน

© Jung-geun Augustine Park / Greenpeace

3. กว่า 100 ประเทศยืนหยัดให้สนธิสัญญาฉบับนี้ต้องเข้มงวดและมุ่งมั่นมากพอ

แต่หากมองอีกมุม เรายังมีแรงผลักดันจากผู้สนับสนุนกรีนพีซและเครือข่ายพันธมิตร ยังมีรัฐมากกว่า 100 รัฐที่เป็นตัวแทนหลายสิบล้านคนที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่มุ่งมั่นและมีความหมายมากพอ รวมทั้งสนับสนุนให้ตั้งเป้าการลดปริมาณพลาสติกจากภาคการผลิตพลาสติก ซึ่งประเทศเหล่านี้ต่างจริงจังและร่วมยืนหยัดต่อเป้าหมายที่มุ่งมั่นนี้ เช่น ขณะที่ปานามากำลังเป็นที่จับตาในการเจรจา ฮวน คาลอส มอนเทอร์เรย์ ลุกขึ้นยืนพร้อมหมวกอันเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว และกล่าวประโยคอันทรงพลังภายในห้องประชุมว่า

“การเจรจานี้คือการต่อสู้เพื่อให้เรามีชีวิตรอด พลาสติกกลายเป็นอาวุธที่ทำลายล้างเป็นวงกว้าง”

ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญต่อกระบวนการเจรจาสนธิสัญญา และยังส่งผลให้เราทราบถึงกระแสและแรงผลักดันให้แต่ละประเทศต้องมีหน้าที่ร่วมกับเราในการดำเนินกระบวนการต่อเพื่อให้ได้สนธิสัญญาพลาสติกโลกที่มุ่งมั่นที่จะลดการผลิตพลาสติกลงในปริมาณมหาศาล

4. ภาคประชาชนถูกกีดกัน

การประชุมสำคัญหลายครั้งที่ตัดสินว่าเราจะมีสนธิสัญญาที่มีประสิทธิภาพพอที่จะแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่มักจัดขึ้นในที่ลับ โดยที่ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ไม่สามารถเข้าร่วมได้ ทั้งกลุ่มภาคประชาสังคม กลุ่มชนพื้นเมือง กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และภาคประชาสังคมอีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมการเจรจา

การเจรจาสนธิสัญญาระดับโลกเช่นนี้ไม่ควรถูกจำกัดไว้เพียงแค่กลุ่มผู้นำประเทศที่มักจะมือถือสากปากถือศีล สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการขโมยสิทธิ์จากตัวแทนจากกลุ่มประเทศที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าและเป็นประเทศที่สนับสนุนกลุ่มประชาชน เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมและไม่สมเหตุสมผล แต่เราจะต่อสู้อย่างหนักเพื่อไม่ให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

5. เราต้องหยุดการลงนามสนธิสัญญาที่อ่อนแอ

© Greenpeace / Yejin Kim

ที่สุดแล้ว แม้ว่าตอนนี้เรายังไม่เห็นผลลัพธ์ของสนธิสัญญาพลาสติก และมีความเสี่ยงที่การประชุม INC5 ของเราจะจบลงพร้อมกับสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่อ่อนแอและถูกเขียนขึ้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มอุตสาหกรรมฟอสซิล และผู้สนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าว แต่ด้วยแรงกดดันอย่างหนักทำให้สมาชิกจากหลายรัฐปฏิเสธข้อตกลงที่ยังไม่มีการบังคับใช้ และยืนหยัดอยู่ข้างคนทั่วโลกเพื่อให้ได้มาซึ่งสนธิสัญญาที่มีความมุ่งมั่น ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำแต่ละประเทศจะต้องทำตามคำมั่นสัญญาและต้องผลักดันให้สนธิสัญญาพลาสติกโลกมีความเข้มงวดและมุ่งมั่นพอเพื่อผู้คนและโลกใบนี้

ภายในปี 2593 การผลิตพลาสติกจะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า ซึ่งจะยิ่งทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศเลวร้ายขึ้น เราต่างรู้ดีอยู่แล้วว่าเราไม่สามารถใช้วิธีการรีไซเคิลเป็นทางออกสำหรับวิกฤตนี้ แต่เราจะต้องผลิตพลาสติกให้น้อยลง! นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจะต้องลดการผลิตพลาสติกลงให้ได้อย่างน้อย 75% ภายในปี 2583 ดังนั้นสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่เข้มงวดจะต้องบังคับให้กลุ่มผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบและปกป้องสภาพภูมิอากาศ สุขภาพของพวกเราและผู้คนทั่วโลก

ร่วมลงชื่อผลักดันให้สนธิสัญญาพลาสติกโลกเป็นสนธิสัญญาที่กู้วิกฤตมลพิษพลาสติกได้จริงร่วมกับเรา !