แม้ขณะนี้ทางภาคอุตสาหกรรมของไทยจะประกาศนโยบายการไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีที่มาจากการเผาและการทำลายป่า พร้อมนำเครื่องมือระบบตรวจสอบย้อนกลับเข้ามาใช้ แต่การดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดนั้นยังเป็นเรื่องที่ท้าทายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของรูปแบบการทำมาค้าขายของไทย ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ภูเขาของภาคเหนือตอนบน ดังนั้นคำถามที่ตามมาก็คือ ระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ว่านี้จะเป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหน และหากยังขาดนโยบายและมาตรการทางกฎหมายที่บังคับใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่การผลิตทุกขั้นตอน และการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์
กรีนพีซพูดคุยกับ คุณสมเกียรติ มีธรรม ผู้อำนวยการสถาบันอ้อผญา (องค์กรสาธารณประโยชน์) และอดีตผู้ประสานงานแม่แจ่มโมเดลพลัส อีกครั้ง ถึงข้อเท็จจริงของสถานการณ์ในพื้นที่ไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือตอนบน ตลอดจนรายละเอียดของกระบวนกวนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งรวมถึงคำถามสำคัญอย่างเช่น จะรู้ได้อย่างไรว่าข้าวโพดที่มาส่งที่ล้ง(จุดที่รับซื้อข้าวโพด) หรือสหกรณ์ คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ได้มาจากการเผาและพื้นที่ป่า ด้วยเหตุนี้ผู้บริโภคและประชาชนต้องตั้งคำถามให้มากถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับ ความโปร่งใส ของอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แม้ว่าระบบตรวจสอบย้อนกลับนี้จะถูกพูดถึงมากขึ้น แต่ยังคงเป็นที่สงสัยว่าจะสามารถทำได้จริงมากน้อยเพียงใดหากยังขาดกฎหมายบังคับ ควบคุม และรายงานอย่างโปร่งใส

ขั้นตอนโดยทั่วไปตั้งแต่การเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปจนถึงการรับซื้อปลายทาง ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นจริงมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?
ขั้นตอนการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สู่บริษัทต่างๆนั้นไม่ได้เป็นเส้นตรง แต่มีความซับซ้อนในบริบทพื้นที่และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหลากหลายระดับ ซึ่งมากกว่าคำว่า “พ่อค้าคนกลาง” จะอธิบายได้ครอบคลุม โดยคุณสมเกียรติเล่าถึงขั้นตอนต่างๆ ว่าดังนี้
ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะมีล้ง (โรงโม่หรือจุดโม่รับซื้อข้าวโพด) กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ เพื่อโม่และรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร กระบวนการนี้เริ่มต้นจากผู้รวบรวมรายใหญ่ ซึ่งได้โควตาปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาจากโรงงาน จากนั้นก็แบ่งโควตาส่วนหนึ่งให้ผู้รวบรวมขนานกลางไปรวบรวมผลผลิตให้ หรือบางรายที่สายปานยาวก็โดดมายังล้งในพื้นที่ก็มี โดยล้งหรือโรงโม่เหล่านี้ ก็จะมีบทบาทสำคัญในการรับซื้อผลิตผลจากเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อที่จะส่งต่อกลับไปให้ผู้รวบรวมขนานกลางหรือขนานใหญ่อีกที
ส่วนการจัดการในพื้นที่ เกษตรกรจะใช้รถกระบะตนเองหรือไม่ก็ว่าจ้างรถบรรทุกขนจากไร่ไปส่งที่โรงโม่หรือล้ง เพื่อสีสารหรือแยกเมล็ด-เปลือกออกจากกัน หลังจากนั้นเกษตรกรก็จะขายข้าวโพดให้กับล้งหรือโรงโม่นั่นไป หรือบางรายก็ขนไปขายที่อื่นก็มี ส่วนข้าวโพดที่โรงโม่หรือล้งรับซื้อไป ก็จะถูกส่งต่อให้กับผู้รวบรวมผลผลิตทั้งขนานใหญ่หรือขนานกลาง และหรือหน้าโรงงาน ขึ้นอยู่กับสายป่านเจ้าของล้งหรือโรงโม่นั้นๆ ส่วนสหกรณ์การเกษตรก็จะมีสมาชิก คือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับสหกรณ์ต่างหากออกไป โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้กู้ยืมภายใต้โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เกษตรกรกลุ่มนี้จะขายผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กลับคืนให้สหกรณ์ โดยที่สหกรณ์จะส่งผลผลิตต่อให้กับบริษัทหรือกลุ่มทุนใหญ่อีกที เป็นกระบวนการแบบนี้ตลอด
ด้านพื้นที่ปลูก เช่น เขตพื้นที่ป่า มีการพิสูจน์หรือระบุด้วยเอกสารสิทธิ์อย่างไรบ้าง?
คุณสมเกียรติอธิบายถึงช่องว่างของข้อมูลและการตรวจสอบย้อนกลับว่า ในกระบวนการซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ “เอกสารตอนรับซื้อของล้งหรือโรงโม่ไม่มีเลย โดยทั่วไปก็แค่ใบชั่งน้ำหนัก ซึ่งระบุชื่อเจ้าของเครื่องชั่ง ชื่อคู่ค้า ชื่อเจ้าของล้ง-โรงโม่ น้ำหนัก ความชื้น ราคาซื้อขาย และราคารวมเท่านั้น” ไม่ได้มีเอกสารที่ระบุถึงแหล่งที่มาของข้าวโพดหรือการผลิตสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร แต่หากต้องการทราบข้อมูลการรับซื้อเหล่านี้ ล้ง-โรงโม่ก็จะมีฐานข้อมูลที่พอเช็คได้ สหกรณ์ก็เช่นกัน แต่ไม่มีรายละเอียดการผลิตสินค้าเกษตรคล้ายที่ระบุไว้ในมาตรฐาน GAP
ปัญหาสำคัญคือ ขาดการเก็บบันทึกข้อมูลที่มีรายละเอียดการผลิตสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นช่องว่างที่เกิดขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชน “แม้ว่าเกษตรอำเภอจะมีข้อมูลพิกัดรายแปลง เนื่องจากเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนกับเกษตรอำเภอ (ทั้งข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม้ผล และอื่นๆ เพื่อรับสิทธิในการชดเชยต่างๆ) แต่ข้อมูลนี้กลับไม่ได้นำมาใช้ในกระบวนการรับซื้อของล้งหรือโรงโม่ ถ้าข้อมูลเหล่านี้เชื่อมโยงกันได้ จะช่วยให้กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใกล้กับความจริงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติก็ยากที่จะลงไปกำกับติดตามแปลงปลูกได้”

ไม่เพียงเท่านั้น แม้เจ้าของล้งเองจะรู้ว่าเกษตรกรเป็นใคร คุณสมเกียรติได้ชี้ให้เห็นว่า “ล้งเป็นเพียงผู้โม่ข้าวโพด รับซื้อ และส่งขายต่อให้กับผู้รวบรวมผลผลิตรายต่อไปเท่านั้น” การที่ล้ง-โรงโม่เป็นเพียงตัวกลางรับซื้อจากเกษตรกรเพียงอย่างเดียวนี้ จึงไม่มีทางที่จะเห็นไร่ของเกษตรกร และไม่สามารถบอกได้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นเกี่ยวโยงกับการเผาหรือการทำลายป่าหรือไม่
ทางหนึ่งที่พอทำได้ก็คือ ใช้เทคโนโลยีอย่างดาวเทียมมาช่วยในการติดตามพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อน ในหลายกรณี คุณสมเกียรติให้ความเห็นว่า “ยังพอสามารถทำได้กับบางพื้นที่ที่มีข้อมูลรายแปลงเท่านั้น แต่สำหรับพื้นที่ไร่ข้าวโพดในที่อื่นๆรวมกันมากถึง 4 ล้านกว้าไร่ในเขตป่าสงวน เรารู้ข้อมูลได้ยากมากว่าแปลงปลูกข้าวโพดนั้นเป็นของใครหากมีไฟเกิดขึ้น”
ปัญหาคือความจริงในข้อมูล และการขาดการตรวจสอบ
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ข้าวโพดที่ถูกส่งมาที่ล้งหรือสหกรณ์ คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ได้มาจากการเผาและพื้นที่ป่าจริง? คำตอบคือเรารู้ได้ยากมาก เนื่องจากเราขาดการเก็บข้อมูลตลอดห่วงโซอุปทานการผลิตสินค้าเกษตร ตั้งแต่พื้นที่เพาะปลูก แหล่งน้ำ การใช้วัตถุอันตรายการเกษตร การเก็บเกี่ยว การขนย้าย การจัดเก็บ ฯ จึงทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาจากที่ใดบ้าง ประกอบกับ “ไม่มีการจัดทำบันทึกข้อมูลการผลิตสินค้าเกษตรอย่างครบวงจรจริงจัง รวมถึงการขึ้นทะเบียนล้ง-โรงโม่ต่างๆ เมื่อขาดการกำกับติดตามอย่างจริงจังจึงไม่สามารถตรวจสอบได้
อีกส่วนหนึ่ง ต้องยอมรับว่ามาจากเกษตรกรเองด้วยเช่นกัน เราพูดได้ยากมากว่า เกษตรกรจะบอกกับผู้รับซื้อข้าวโพดหรือล้ง-โรงโม่ตามข้อเท็จจริง ว่ามีการเผาหรือใช้สารเคมีในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกกระนั่นเหรอ..? และการที่จะให้ล้ง-โรงโม่ไปตรวจสอบทุกแปลงก็ยิ่งเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดจำนวนมาก ต้องใช้กำลังคน เวลา และต้นทุนในการออกไปติดตาม จึงทำให้กระบวนการตรวจสอบทำได้ยากมาก” คุณสมเกียรติ กล่าว “แม้จะมีระบบดาวเทียม ก็ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ทุกแปลงทั้งประเทศ เนื่องจากขาดข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง ที่ระบุผู้ครอบครองที่ดินชัดเจนเช่นที่อำเภอแม่แจ่มดำเนินการที่ผ่านมา นอกจากว่าจะพึ่งพากลไกการจัดการของอำเภอเข้าช่วย”
ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ปัญหาเชิงโครงสร้างและความรับผิดชอบที่ขาดหายไปในห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
คุณสมเกียรติ มีธรรม มองเห็นปัญหาช่องโหว่ของการตรวจสอบย้อนกลับอยู่ที่สามส่วน
1) ด้านปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นปัญหาต้นน้ำ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับและมาตรฐานต่างๆที่มีอยู่ปัจจุบันอย่างจริงจัง เช่น GMP (Good Manufacturing Practice) มาตรฐานการผลิตที่ดี หรือ GAP (Good Agricultural Practice) มาตรฐานการเกษตรที่ดี “พอส่วนนี้ไม่ได้ถูกบังคับใช้จริงจัง กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับจึงเป็นแค่เพียงเสือกระดาษ และระเบียบประกาศที่ออกมาก็จะไม่ศักดิ์สิทธิ์” สมเกียรติ กล่าว
แม้ว่ามาตรฐาน GMP ที่พูดถึงระบบควบคุมคุณภาพ และมาตรการความปลอดภัยในโรงงาน โรงแปรรูปต่างๆ หรือแม้แต่โรงคัดแยกก็ไม่เคยมี หากสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ รวมทั้ง GAP ซึ่งเกี่ยวข้องกับแนวทางการทำเกษตรที่ดีมาใช้ร่วมกันกับข้อมูลที่เกษตรอำเภอได้ ก็จะช่วยให้ระบบตรวจสอบแหล่งที่มาแม่นยำมากขึ้น ปัจจุบันนี้ข้อมูลของรัฐยังขาดการบูรณาการ การบันทึกข้อมูลมาตรฐาน GMP และ GAP แม้จะเป็นการบังคับใช้เพื่อความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และการทำการเกษตรที่ดี แต่ถ้ามีการบันทึกข้อมูลไว้ก็จะช่วยให้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของข้าวโพดได้ดีขึ้น เพราะถือเป็นระบบตรวจสอบไปในตัวด้วย
2) ด้านห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะช่วงกลางน้ำที่ต่อกันมาหลายช่วง ยังขาดการบูรณาการอย่างเป็นระบบ ทั้งข้อมูลและหน่วยงานที่มากำกับตรวจสอบดูแลย้อนไปจนถึงต้นน้ำ ไม่ได้ถูกเซ็ทระบบตรวจสอบมาต่อเนื่อง เลยไม่สามารถรู้ได้ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จริง ๆ มาจากไหนบ้าง มีแค่ใบชั่งน้ำหนักเท่านั้น
“ขณะนี้ ช่วงกลางน้ำ ผู้รวบรวมผลผลิตขนานใหญ่และกลาง เน้นเพียงปริมาณที่รับโควต้าจากหน้าโรงงาน เป็นหลัก ต้องหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ได้ตามโควต้าที่รับมาโดยไม่ได้สนใจว่ามาจากไหน เผาหรือไม่เผา เอาแค่ปริมาณให้ได้ก่อน” สมเกียรติกล่าว “ผู้รวบรวมผลผลิตตรงกลางเหล่านี้ มีภาระรับผิดชอบเพียงการได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามปริมาณโควต้าที่รับมา และเก็บรักษา ควบคุมความชื้น ไม่ให้ขึ้นเชื้อราตามโรงงานต้องการ ซึ่งก็ใช้ต้นทุนพอควรในการดูแลรักษา แต่ถ้าสินค้ามีปัญหาก็อาจจะขาดทุนได้ ดังนั้นล้งจึงไม่มีเวลามาสนใจว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะมาจากไหน”

3) การรับซื้อของล้ง-โรงโม่ ไม่ได้คัดกรองและไม่มีเอกสารรับรอง คุณสมเกียรติอธิบายว่า “ล้ง-โรงโม่ในพื้นที่มีเยอะมาก ใครอยากตั้งที่ไหนก็ตั้งได้ ในการรับโม่และรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากชาวไร่ ตำบลหนึ่งๆมีหลายล้ง-โรงโม่ มาก ตัวอย่างอำเภอแม่แจ่ม (ข้อมูลเก่าปี 64) มีล้งมากกว่า 4 ล้ง-โรงโม่ กระจายทั้งอำเภอ มีทั้งล้งที่ได้หรือไม่ได้รับโควต้ามาจากบริษัท”
ล้ง-โรงโม่ทั้งหลายเหล่านี้ ก็ไม่ได้ถูกกำกับว่าต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นไปตามมาตรฐาน GAP หรือเอกสารอื่นใดที่มากไปกว่า “ใบชั่งน้ำหนัก” เมื่อไม่มีการกำกับก็ยากจะตรวจสอบย้อนกลับได้ ทั้งนี้รวมไปถึงการขึ้นทะเบียนและมาตรฐานของล้งตาม GMP อีกด้วย
มีทางเป็นไปได้ไหมที่ระบบตรวจสอบย้อนกลับจะสามารถทำได้?
“พอเป็นไปได้ว่าถ้าจะดำเนินการเรื่องนี้ ต้องบังคับใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับอย่างจริงจัง และขยับลงมาตรงกลางน้ำที่เป็นกลไกรัฐ และกลไกเส้นทางการค้าในห่วงโซ่อุปทาน ไปถึงเกษตรกรและโล้งในพื้นที่ รวมถึงใช้เทคโนโลยีช่วยกำกับติดตามส่วนนี้ ถ้าไม่มีก็ยากที่จะพิสูจน์ทราบได้” คุณสมเกียรติ ให้ความเห็น “แต่ทั้งนี้ ตราบใดที่รัฐยังไม่ปรับโครงสร้างการผลิต ปัญหานี้ก็ยังคงมีอยู่ต่อไป เช่น ปัญหาหนี้สิน รายได้ของเกษตรกร ตรงนี้ต่างหากที่เป็นรากเหง้าปัญหาที่ทำให้เกิดการเผา และทำให้เราต้องตามแก้ปัญหาไม่จบสิ้น”
กลไกเสริมในส่วนของเกษตรกรที่คุณสมเกียรติเห็นถึงความเป็นไปได้คือ ทะเบียนเกษตรกร สำหรับใช้ในกรณีแสดงให้กับล้งเพื่อทำการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยที่ต้องเพิ่มรายละเอียดคล้ายๆกับมาตรฐาน GAP ให้กับล้งรับรอง “ข้อมูลนี้ล้งจะต้องส่งต่อไปให้บริษัทผู้รับซื้อ หรือส่งไปให้สำนักงานเกษตรอำเภอหรือเป็นส่วนกลาง ก็จะช่วยจัดการฐานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารสิทธิ์และการเผา รัฐต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาโครงสร้างตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้เกิดการตรวจสอบย้อนกลับอย่างจริงจัง”
คุณสมเกียรติมองว่า เครื่องมือที่สามารถช่วยตรวจสอบได้วิธีหนึ่งคือ มาตรฐาน GAP ซึ่งจะช่วยบ่งชี้ความปลอดภัยในการผลิต แหล่งที่มา กระบวนการผลิต “แต่ปัญหาคือ เครื่องมือนี้ใช้ได้แต่เฉพาะในเมืองไทย นำไปใช้ต่างประเทศไม่ได้ ถ้าดูข้อตกลงด้านการค้าสำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นำเข้าและส่งออก ระบุแหล่งกำเนิดแค่เพียงประเทศแหล่งผลิตเท่านั้น ซึ่งก็หยาบมาก ไม่ลึงลึกแปลงแปลงเกษตรกร และไม่สามารถตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานได้ ขนานเมืองไทยแทบจะไม่มีประโยชน์เอาเลย กรณีสินค้าเกษตรนำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าหากไม่แก้ไขข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศอาเซียที่ไม่ก้าวก่ายกันเช่นดังสหภาพยุโรป ซึ่งมีคุณมีโทษต่อกันแล้วคงยาก”
ในการจะอุดช่องโหว่ให้ระบบตรวจสอบย้อนกลับสามารถทำได้จริง ต้องแก้ปัญหาที่ส่วนไหนก่อน
การแก้ปัญหาฝุ่นพิษและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยระบบตรวจสอบย้อนกลับนี้ คุณสมเกียรติมองว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้จากโครงสร้าง ทั้งระบบ ระเบียบ กฎเกณฑ์ และนโยบาย โดยมีข้อคิดเห็นคือ
- แก้ระเบียบกฎหมายให้บังคับใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชผลเกษตรอื่นอย่างจริงจัง เช่นมาตรฐาน gap, gnp เป็นต้น
- บูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ เข้าหากันในการตรวจสอบย้อนกลับ ทั้งเกษตรอำเภอ กระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ฯ กระทรวงทรัพย์ฯ และกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง
- ใช้เทคโนโลยีกำกับติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงระบบการตรวจสอบและฐานข้อมูลที่ทันสมัย
- บังคับใช้กฎหมายให้คุณและโทษอย่างจริงจังมากขึ้นในห่วงโซอุปทาน
- รัฐต้องมีมาตรการที่ส่งเสริมพัฒนาและยกระดับเกษตรกรมากขึ้นในด้านทักษะต่าง ๆ ไม่ใช่แค่กำกับติดตามลงโทษ ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเร่งด่วน เช่น ปัญหาหนี้สินเกษตรกรปัญหาสิทธิที่ดินทำกิน ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับการลดต้นทุนด้วยการเผา จะทำให้เกษตรกรไทยไปรอดมากขึ้น
- การนำเข้าและส่งออกต้องสมดุล เช่น ราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นำเข้าจากต่างประเทศกับในไทยต้องไม่แตกต่างกันมากนัก เพื่อลดปัญหาราคาข้าวโพดในประเทศตกต่ำ และนำเข้าเฉพาะที่ขาดหายไป จะได้ช่วยเกษตรกรพอมีรายได้นำไปใช้ในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกที่ไม่ใช่การเผา
คุณสมเกียรติเสริมว่า เกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง คือปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งนำไปสู่การลดต้นทุนการเตรียมดินด้วยวิธีการเผา ซึ่งช่วยแบ่งเบาค่าจ้างแรงงานไปมาก “ปี 2566 พื้นที่ทำการเกษตรในเชียงใหม่มีทั้งหมด 1.6 ล้านไร่ มีพื้นที่ดินเป็นของตัวเอง 1.1 ล้านไร่ นอกนั้นเป็นพื้นที่เช่า ที่ดินสปก. ที่ใช้ฟรี หรือที่จำนอง ที่ไม่ใช่ที่ของตนเองสูงถึง 35% หรือราว 5 แสนกว่าไร่” นอกจากนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความรับผิดชอบของบริษัทอุตสาหกรรม “บริษัทเอง ในส่วนห่วงโซ่อุปทานก็ต้องลงมารับผิดชอบ โดยใช้เครื่องมือ กลไกของรัฐ หรือถ้าเห็นว่ารัฐทำงานช้าคุณก็สามารถดำเนินการไปในกรอบนี้ได้เลย ตรวจสอบย้อนกลับให้ได้อย่างจริงจังตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างเข้มงวด ไล่ลงมาทีละขั้นตอน และเปิดเผยข้อมูล”
กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดมาตรการต่อบริษัทอุตสาหกรรมให้ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับที่โปร่งใสและเปิดเผยต่อประชาชน อันจะเป็นกลไกสำคัญที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาฝุ่นพิษภาคเหนือที่ต้นเหตุ ซึ่งสำหรับบริษัทเองจะเป็นมาตรฐานที่ดีในการแสดงถึงภาระรับผิด และความจริงใจถึงการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อฝุ่นพิษข้ามพรมแดน การทำลายป่า และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ควรจะเป็นความลับทางการค้า แต่จะต้องเป็นข้อมูลที่ผู้บริโภคและคนทั่วไปมีสิทธิที่จะรับรู้เพื่อได้รับข้อมูลครบถ้วน ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการก้าวไปสู่รายงานความยั่งยืนที่โปร่งใสของบริษัท และนโยบายต่อกรวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่สร้างบนพื้นฐานความเป็นธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน ไม่เช่นนั้นแล้วการระบุหาผู้ผิดภายใต้ฝุ่นพิษของรัฐบาลจะหนีไม่พ้นวังวนของการเอาผิดประชาชนตัวเล็ก ไม่ว่าจะเป็นเกษตร ชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ และผู้คนทั่วไปที่ทำเกษตรและอาศัยพึ่งพิงอยู่กับป่าว่าเป็นผู้ก่อฝุ่นพิษระดับภูมิภาค ขณะที่ละเลยอุตสาหกรรมผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง

กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมทำงานกับเครือข่ายชุมชน
เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนในหลากรูปแบบประเด็น เราส่งเสริมสันติภาพ โดยไม่รับเงินสนับสนุนจากบริษัท รัฐบาล หรือ พรรคการเมืองใด เพื่อความเป็นอิสระทางการทำงาน