ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ลูกเรือของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของกรีนพีซ ปฏิบัติภารกิจที่น่าอัศจรรย์
กรีนพีซ ออสเตรเลียแปซิฟิก ปฏิบัติภารกิจขัดขวางการเบ็ดราวของอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ ในเขตทะเลหลวง ใกล้กับออสเตรเลียและเอาเตอารัว (นิวซีแลนด์) ตลอดระยะเวลาหลายชั่วโมง ลูกเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ยึดเบ็ดราว หรืออุปกรณ์ตกปลาด้วยเบ็ดสายยาวซึ่งเป็นอุปกรณ์ประมงทำลายล้างได้ยาวกว่า 20 กิโลเมตรจากน้ำ และปล่อยฉลามทั้งหมด 9 ตัว หนึ่งในนั้นมีฉลามมาโก ซึ่งกำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ปฏิบัติการตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในการสำรวจการใช้อุปกรณ์ประมงทำลายล้างอย่าง เบ็ดราว ในอุตสาหกรรมเป็นเวลาหลายสัปดาห์ แต่สิ่งที่เราพบนั้นเป็นการทำลายล้างที่เลวร้ายกว่าเดิม

เราพบอะไรหลังยึดเบ็ดราวได้
เบ็ดราวคือวิธีการประมงที่ไม่ยั่งยืนเพราะสามารถฆ่าสัตว์ทะเลที่ไม่ใช่สัตว์เป้าหมายเพียงเพราะพวกมันว่ายผ่านมาในเส้นทางการวางเบ็ด ในขณะที่เรากำลังดึงสายเบ็ดราวขึ้นจากน้ำเราพบสัตว์น้ำหลายชนิดที่กำลังต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด
ทีมผู้เชี่ยวชาญของกรีนพีซ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านฉลาม ปล่อยฉลามหลายชนิด ได้แก่ :
- ฉลามมาโก ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ 1 ตัว
- ฉลามสีน้ำเงิน 8 ตัว
- ปลากระโทงดาบ 4 ตัว
- ปลากระเบน 1 ตัว
ลูกเรือของเราทำงานอย่างรวดเร็วเพื่อปล่อยสัตว์น้ำเหล่านี้ให้เป็นอิสระและปลอดภัย เพื่อให้พวกมันได้มีชีวิตอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตามเราก็รู้สึกหดหู่เมื่อคิดว่าสัตว์ทะเลอีกหลายชีวิตต้องติดเบ็ดราวที่วางไว้ในมหาสมุทรทั่วโลกและเราไม่สามารถไปช่วยชีวิตมันได้
เบ็ดราวที่เรายึดได้มาจากเรือประมงอุตสาหกรรมสัญชาติยุโรปที่เรากำลังติดตามอยู่ เรือประมงแต่ละลำที่เราติดตามนั้น เมื่อปี 2023 จับฉลามได้มากกว่า 600,000 กิโลกรัม หรือคิดเป็นประมาณ 5,527 ตัวภายในปีเดียว เรือเหล่านี้อ้างว่าต้องการจับปลาทูน่าและปลากระโทงดาบ แต่เราเห็นแล้วว่ามีฉลาม อีกทั้งยังเป็นฉลามใกล้สูญพันธุ์ ที่ถูกจับซึ่งมีทั้งตัวที่ตายแล้วและกำลังจะตาย
อันที่จริงแล้ว แค่ครึ่งชั่วโมงหลังออกสังเกตการณ์ เราก็พบฉลามมาโกสามตัวที่กำลังถูกนำขึ้นจากน้ำและถูกฆ่าบนเรือ

ภารกิจของกรีนพีซครั้งนี้ สำคัญอย่างไร
อุปกรณ์ประมงทำลายล้างอย่างเบ็ดราวเป็นหนึ่งในวิธีการจับปลาที่ทำลายระบบนิเวศมากที่สุดในโลก เรือประมงจะปล่อยสายเบ็ดราวลงไปในมหาสมุทรยาวกว่า 100 กิโลเมตร สายเบ็ดนี้จะห้อยเบ็ดแหลมหลายพันอันซึ่งจะจับและคร่าชีวิตสัตว์ทะเลไม่เลือกหน้า เช่น ฉลาม เต่าทะเล นกทะเลและปลากระเบน นี่เป็นตัวอย่างของการใช้อุปกรณ์ในอุตสาหกรรมประมงทำลายล้างในมหาสมุทร
งานวิเคราะห์ฉบับใหม่จากทีมกรีนพีซเปิดเผยว่าเพียงแค่ในปี 2023 เพียงตัวเดียวเท่านั้น อุตสาหกรรมประมงยุโรปใช้เบ็ดราวจับปลาในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่เกือบ 70% เป็นฉลามสีน้ำเงิน ซึ่งเคยเป็นฉลามที่อาศัยอยู่ทั่วโลกแต่ปัจจุบันพวกมันมีจำนวนลดลงอย่างน่าตกใจ
ภารกิจของเราในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาไม่เพียงแค่ช่วยฉลามเท่านั้น แต่นี่คือข้อความที่ส่งถึงอุตสาหกรรมประมงที่กำลังกอบโกยชีวิตสัตว์ทะเลเหล่านี้ว่า ‘ทั้งโลกจับตาดูพวกคุณอยู่’
ก้าวต่อไปในการปกป้องมหาสมุทร
การประชุมเพื่อปกป้องทะเลและมหาสมุทร อย่าง UN Ocean Conference (UNOC) ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสเป็นประชุมที่เจรจาถึงอนาคตของมหาสมุทร การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญและพวกเราต่างเฝ้ารอผลการประชุม
กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศที่เข้าร่วมให้สัตยาบันต่อ ‘สนธิสัญญาทะเลหลวงที่มีเป้าหมายที่จะปกป้องพื้นที่มหาสมุทรให้ได้ 30% ภายในปี 2030’ ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำทั่วโลกจะต้องยกระดับและสร้างเขตคุ้มครองทางทะเลในทะเลหลวง เพื่อไม่ให้การประมงทำลายล้างเช่นนี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างลับ ๆ
สนธิสัญญาทะเลหลวงจะเป็นใบเบิกทางให้เกิดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลขนาดใหญ่ และป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมประมงทำลายล้างเข้ามาทำลายพื้นที่ดังกล่าวได้ เพื่อให้ทะเลได้ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์คืนมา

กรีนพีซทำงานปกป้องทะเลและมหาสมุทรอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 50 ปี และเรายังคงทำงานในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง
เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่เรือรณรงค์ของกรีนพีซ ทั้งเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ และเรือโอเชียเนีย เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เผชิญหน้าและหยุดการทำลายล้างของอุตสาหกรรม รวมทั้งปกป้องโลกของเราไปพร้อมกัน แม้ว่าเราจะถูกบุกยึด ถูกวางระเบิดและถูกกักเรือ แต่เราจะไม่หยุดปกป้องมหาสมุทรสีน้ำเงิน
เราอยากชวนทุกคนมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลทั่วโลกให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาทะเลหลวง เพื่ออนาคตของมหาสมุทรโลก

ร่วมปกป้องมหาสมุทรโลก
เราอยากชวนทุกคนมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลทั่วโลกให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญา เพื่ออนาคตของมหาสมุทรโลก
บทความนี้แปลจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านต้นฉบับ