COP26 คืออะไร?

COP เป็นคำย่อของ Conference of Parties คือการประชุมรัฐภาคีสมาชิกความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศ (multilateral agreement) ต่าง ๆ ภายใต้สหประชาชาติ COP ที่รู้จักกันดี คือการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยเป็นเวทีเจรจาระดับโลกว่าด้วยวิกฤตโลกร้อนที่ดำเนินสืบเนื่องมาเกือบ 3 ทศวรรษ โดย COP26 มีขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ (เลื่อนจากปี 2563เนื่องจากสถานการณ์โควิด) ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2564

การประชุมเจรจาที่กลาสโกว์ (COP26) ถือเป็นเส้นตายที่รัฐบาลจำเป็นต้องบอกให้โลกรู้ว่า จะมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงมากน้อยเพียงใด ความท้าทายคือ มีความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายที่เคยตกลงกันที่ปารีสเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ การคงให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ดังนั้น จะต้องมีการตัดสินใจครั้งสำคัญที่กลาสโกว์เพื่อให้เรากลับมาอยู่ในเส้นทางที่ปลอดภัย

ใครบ้างที่ต้องก้าวขึ้นมา?

นี่เป็นปัญหาระดับโลกและต้องการทางออกระดับโลก ซึ่งผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย ส่วนญี่ปุ่น เยอรมนี และสหราชอาณาจักรอยู่ในสิบอันดับแรก เราจึงต้องการให้กลุ่มประเทศที่ร่ำรวยที่สุดแสดงภาวะผู้นำและเคลื่อนไหวก้าวหน้าไปกว่าแผนการที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ประเทศในกลุ่ม G20 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 80% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก แต่อีกหลายประเทศรวมถึงอินเดีย จีน ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และบราซิล ยังไม่ได้ดำเนินแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศก่อนการประชุมเจรจาสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP26 แต่อย่างใด

หัวใจสำคัญของการประชุมเจรจาครั้งนี้คือการส่งมอบความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศแก่ผู้คนทั้งหลาย และเป็นการตัดสินว่าใครคือเจ้าของอนาคต ระหว่างผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก่อมลพิษที่แสวงกำไรจากอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ หรือผู้คนที่ต้องรับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนที่เปราะบาง และเยาวชนคนหนุ่มสาวทั่วโลก

มาตรา 6 คืออะไร?

เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรายงานการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Paris rulebook) มาตรา 6 ในความตกลงปารีสปี 2558 มีความยาวเพียงเก้าย่อหน้า แต่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง กรีนพีซตีความว่า มาตรา 6 ส่งเสริมความร่วมมือต่างๆ ระหว่างประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่รัฐภาคีและภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มองว่า มาตรา 6 เกี่ยวข้องกับการเปิดตลาดโลกเพื่อการชดเชยคาร์บอน(carbon offset)

แท้ที่จริง การชดเชยคาร์บอนเป็นเรื่องหลอกลวงที่อันตราย เพราะไม่ได้ลดการปล่อยคาร์บอนจริงและทำให้การดำเนินการจริงล่าช้าออกไป

การชดเชยคาร์บอนไม่ได้หยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่เป็นเหมือนการลดการปล่อยในบัญชีแยกประเภทที่ผู้ก่อมลพิษทำขึ้นมา ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมทำรายงานการประเมินของ IPCC ระบุว่า โลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทันทีในปริมาณมหาศาลและสม่ำเสมอ แต่การชดเชยคาร์บอนนั้นอยู่ตรงกันข้าม โดยเป็นใบอนุญาตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป สร้างแรงจูงใจในการแปลงทรัพยากรธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้า และเอื้ออำนวยให้บรรษัทและรัฐบาลที่ทรงอิทธิพลเข้ายึดครองผืนแผ่นดินของชุมชนที่เปราะบาง เหยียบย่ำสิทธิมนุษยชน และทำลายระบบนิเวศ 

ภาพรวมที่กรีนพีซเรียกร้องจาก COP26 ที่กลาสโกว์ 

Fridays for Future - Global Student Strike in Prague. © Petr Zewlakk Vrabec / Greenpeace
© Petr Zewlakk Vrabec / Greenpeace

กรีนพีซมีความหวังกับ COP26 หรือไม่?

ใช่ เรามีความหวัง เมื่อ 6 ปีที่แล้วการประชุม COP ที่ปารีสนำไปสู่ความตกลงระดับโลกที่แท้จริงโดยมีเป้าหมายเพื่อนำเราออกจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และขณะนี้ เหลือเพียงว่าเราต้องตกลงที่จะดำเนินการอย่างไร นับจากนั้นเป็นต้นมา ความตระหนักรู้ของผู้คนเพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่งพร้อมไปกับคลื่นกิจกรรมการเคลื่อนไหวทั่วโลก ทั้งเด็กและเยาวชนจากโรงเรียน ผู้คนนับล้านที่ประท้วงเรียกร้องบนท้องถนน วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นวาระทางการเมืองในการเลือกตั้ง และภาคประชาชนใช้กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลเพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศและมีชัยชนะ พลังของประชาชนได้สร้างการเปลี่ยนแปลง

ยุคเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังสิ้นสุดลง ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและกระจายศูนย์จากแสงอาทิตย์และลมสามารถผลิตไฟฟ้าในราคาที่สมเหตุสมผลได้ทั่วโลก ราคาแบตเตอรี่ที่ลดลง รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีปั๊มความร้อน และความก้าวหน้าต่างๆ ที่มีศักยภาพมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง การคมนาคมขนส่งที่ไปพ้นจากน้ำมันกำลังกลายเป็นความจริง กลุ่มประเทศและบริษัทรถยนต์ทั้งหลาย กำลังยุติการขายเครื่องยนต์สันดาปภายใน ภาคการเงินเองก็ตื่นขึ้นมาในที่สุด ผู้ซื้อพันธบัตรและเจ้าของสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดในโลกบางรายกำลังปรับกลยุทธ์ของตนให้สอดคล้องกับความตกลงปารีส ขณะที่ นักลงทุนชั้นนำระดับโลกบางคนถอนการลงทุนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศ และมุ่งลงทุนในระบบพลังงานหมุนเวียน

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าการประชุมเจรจาสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศที่กลาสโกว์จะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ขบวนการเคลื่อนไหวระดับโลกจะยืนหยัดในขณะที่ผู้นำทางการเมืองของเราล้มเหลว ขบวนการเคลื่อนไหวจะขยายเพิ่มขึ้น ทวนกระแสและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มิอาจต้านทานได้