หนึ่งในไฮไลท์จากมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา คือ การเห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ  (National Energy Plan) ซึ่งได้กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงาน โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์) สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายใน ค.ศ. 2065-2070 (พ.ศ.2608-2613) หรืออีก 49 ปีข้างหน้า

จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว สิ่งที่รัฐบาลมีอยู่ในมือ ณ เวลานี้มีเพียงแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจก ปี พ.ศ.2564-2573 (Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030) ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 20-25% 

ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ร่างทรงของ คสช. ที่สัญญาลมๆ แล้งๆ ว่าจะนำพาสังคมไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนนั้นมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลงเพียง 20% (ตามแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจก) และใช้พลังงานหมุนเวียน 40%

นโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์แผนงานข้างต้นนี้มีลักษณะเบี้ยหัวแตก ย้อนแย้งและอิหลักอิเหลื่ออย่างยิ่ง! และเพื่อความกระจ่าง เราจะทำความเข้าใจกับประเด็นดังต่อไปนี้

สั้นๆ กับ Net Zero Emission

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จะเกิดขึ้นได้เมื่อก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์มีภาวะสมดุลกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก

เงื่อนไขแรกและสำคัญที่สุด คือ จะต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากยานยนต์สันดาปภายในโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้เข้าใกล้ศูนย์มากที่สุด ต่อมาคือการดึงก๊าซเรือนกระจกที่สะสมในชั้นบรรยากาศด้วยกระบวนการต่างๆ

ชุมชนชาวมวกเหล็กคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในเขตอ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี © Tadchakorn  Kitchaiphon / Greenpeace
ชุมชนชาวมวกเหล็กได้แสดงข้อกังวลที่อาจได้รับจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ในเขตอ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยั่งยืน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำนมดิบที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของประเทศไทย © Tadchakorn Kitchaiphon / Greenpeace

เป้าหมายและเงื่อนเวลา

ภายใต้ความตกลงปารีส การควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกมี 2 เป้าหมายคือ 1.5 และ 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

ในกรณี 1.5 องศาเซลเซียส จะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์โดยสุทธิในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2587-2595 และต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมเป็นศูนย์โดยสุทธิในช่วงปี พ.ศ.2606 และ พ.ศ.2611 รายงานพิเศษ “Global Warming of 1.5˚C” ของ IPCC  ระบุว่า หากโลกบรรลุ Net Zero Emissions ภายในปี พ.ศ.2583 มีโอกาสสูงมากที่จะควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ยิ่งการปล่อยก๊าซสูงสุดได้เร็ว การลดการปล่อยทำได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องพึ่งพามากกับการดึงคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษ

ในกรณี 2 องศาเซลเซียส จะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์โดยสุทธิในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2613-2628 ในขณะที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมให้เป็นศูนย์โดยสุทธิภายในสิ้นศตวรรษนี้(พ.ศ.2643) แต่โอกาสจะเหลือน้อยกว่าครึ่งที่จะควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส

DAY 2 COP27 Fridays For Future.
กลุ่มเยาวชนจากเยอรมนี ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้รัฐบาลเยอรมันียุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในการประชุม COP27 ขณะที่ผู้นำประเทศกำลังประชุมเจรจาใน COP27 เยอรมนีมีแผนดำเนินการขยายเหมืองถ่านหิน Garzweiler ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ซึ่งจะทำให้เยอรมนีไม่สามารถทำตามคำมั่นสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้

แนวทาง Net Zero Emission

การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (systemic change) ทั้งด้านนโยบาย เทคโนโลยีและพฤติกรรม อย่างเช่น เพื่อบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศา ภายใต้ความตกลงปารีส ต้องปฏิวัติระบบพลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี พ.ศ.2593

นอกจากการลงทุนในระบบพลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้าแล้วแนวทางหลักที่สำคัญคือ การปลดแอกถ่านหิน (phase out coal plants) การปรับปรุงอาคาร (retrofit buildings) การลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมหนัก (ซีเมนต์ เหล็ก พลาสติก) และอุตสาหกรรมการบินและการเดินเรือขนส่งสินค้า การปฏิวัติระบบอาหาร การลดบริโภคเนื้อสัตว์อุตสาหกรรม การลดอาหารเหลือทิ้ง การฟื้นฟูผืนดินที่เสื่อมโทรม และการรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพขณะเดียวกันรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร

อย่างไรก็ตาม แนวทาง Net Zero Emission ก็ถูกตั้งคำถาม กล่าวคือ “Net Zero” ก็ยังเอื้อให้อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลเดินหน้าสำรวจ ขุดเจาะ สกัดและเผาไหม้ถ่านหิน ก๊าซและน้ำมันต่อไป และจ่ายเงินจ้างใครสักคนทำการดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโดยการปลูกป่าชดเชย กลไกซื้อขายคาร์บอน (Emission Trading) หรือใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage) ที่ต้นทุนสูงลิบลิ่วและไม่ได้รับการพิสูจน์

ดังนั้น “Net Zero Emission” ต้องวางอยู่บนพื้นฐานของชุดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่โปร่งใสเพื่อทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นศูนย์อย่างแท้จริง ส่วนในระดับประเทศ จะต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม แยกออกจากการใช้ประโยชน์จากวัฏจักรคาร์บอนตามธรรมชาติซึ่งรวมถึงการปกป้องผืนป่า อธิปไตยของชนเผ่าพื้นเมือง และการฟื้นฟูป่าไม้และระบบนิเวศ โดยเป็นการดำเนินงานภายในประเทศเท่านั้น ไม่ขึ้นอยู่กับกลไกการซื้อขายและชดเชยคาร์บอน (carbon offsetting) ระหว่างประเทศ

คำถามต่อนโยบาย Net Zero Emission ของไทย

ในขณะนี้ Net Zero Emission ของไทย เน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงชนิดเดียวนั่นคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อพิจารณาจาก การจัดทำแผนพลังงานชาติที่ครอบคลุมทั้งด้านไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเชื้อเพลิง พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (สาขาพลังงานและการขนส่ง) และน่าจะครอบคลุมสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาการจัดการของเสีย ซึ่งสอดคล้องไปกับแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจก ปี พ.ศ.2564-2573

เมื่อแผนพลังงานชาติแล้วเสร็จ จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างกิจการพลังงานตามแนวทาง 4D1E คือ Decarbonization (การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน), Digitalization (การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน), Decentralization (การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน), Deregulation (การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่) และ Electrification (การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า)

คำถามใหญ่คือ เป้าหมายในแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจก ปี พ.ศ.2564-2573 นั้นสอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ใน พ.ศ.2608 หรือปี พ.ศ.2613 หรือไม่?

การศึกษาโดย Climate Analytics ระบุว่า ภายในปี พ.ศ.2573 สัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าที่มาจากระบบพลังงานหมุนเวียนแบบคาร์บอนต่ำ (decarbonised electricity) ของประเทศไทยสามารถทำได้ถึงร้อยละ 60 รวมถึงบทบาทของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ใช้ไฟฟ้าปลายทาง ดังนั้น การลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยภายใต้แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจก (NDC) ควรมีเป้าหมายสูงส่งมากกว่านี้

แม้ว่าการดำเนินการระยะเร่งด่วนของแผนพลังงานชาติ เสนอให้มีการปรับลดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในช่วง 10 ปีข้างหน้าภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP2018 Rev.1 ค.ศ. 2021-2030) ตามความเหมาะสม คำถามคือ จะมีการปรับลดสัดส่วนเท่าไร จะมีการยกเลิกถ่านหินออกไปทั้งหมด (Phase out coal) หรือไม่?

การวิเคราะห์โดย Climate Analytics ยังพบว่าหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ทั้งหมดตามแผนที่มีอยู่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยจะสูงสุดระหว่างปี พ.ศ.2564 และ พ.ศ. 2575 และค่อย ๆ ลดลงภายในปี พ.ศ.2612 ซึ่งเกินเกณฑ์ที่ตั้งไว้ในระดับภูมิภาคอาเซียน (ตามเป้าหมายความตกลงปารีส) ที่จะต้องลด ละ เลิกถ่านหินภายในปี พ.ศ.2583

เนื่องจากแผนการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเพิ่มขึ้น ผลคือเป้าหมายการลดการปล่อยที่ตั้งไว้ในแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจก (NDC) จะล่าช้าออกไปมากกว่า 10 ปี ซึ่งจะส่งผลการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ใน พ.ศ.2608 หรือปี พ.ศ. 2613 อย่างมีนัยสำคัญ

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม

ส่วนที่สำคัญของการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission คือ ศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกสาขาเกษตร และสาขาการใช้ประโยชน์ของที่ดินและป่าไม้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการทบทวนและจัดทำแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกฉบับใหม่ไปยังสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)

Global Climate Strike in Bangkok. © Tadchakorn  Kitchaiphon / Greenpeace
กิจกรรม Climate Strike Thailand หรือเยาวชนร่วมพลังปกป้องสภาพภูมิอากาศ เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กับรัฐบาลเพื่อประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งให้พันธะสัญญาว่าจะบรรลุเป้าหมายการกำจัดถ่านหิน และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนขึ้นร้อยละ 50 ภายในปี 2568 © Tadchakorn Kitchaiphon / Greenpeace

คำถามคือ ภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีการผนวกข้อเสนอภาคประชาชนที่มีมาอย่างยาวนานแต่ไม่ได้รับการตอบรับในประเด็นตัวอย่างต่อไปนี้อย่างไร?

  • การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งเป็นระบบการผลิตขนาดใหญ่ ใช้สารเคมีและพลังงานสูง
  • การยอมรับและให้ความสำคัญกับองค์ความรู้และภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การรับรองสิทธิชุมชนและสิทธิเกษตรกร รวมถึงสิทธิการเข้าถึงทรัพยากร และเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมจากเกษตรกรรายย่อยอย่างกว้างขวางในการปรับตัวหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร
  • การสนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนหรือเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยกักเก็บคาร์บอนในดินได้อย่างดี
  • การป้องกันไม่ให้บรรษัทข้ามชาติผูกขาดสิทธิบัตรพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และสิ่งมีชีวิตที่เป็นบ่อนทำลายศักยภาพการปรับตัวและการกอบกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศของเกษตรกรรายย่อย
  • การยอมรับสิทธิของชุมชนในการอาศัยและใช้ประโยชน์จากป่า และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องสิทธิที่ดินและป่าไม้ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ชัดเจนก่อนจะมีการรับมาตรการใด ๆ เกี่ยวกับภาคป่าไม้มาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • การนำมาตรการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า และความเสื่อมโทรมของป่าไม้หรือที่รู้จักกันว่า กลไก REDD/REDD+/REDD++ [1] มาใช้ในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาสิทธิที่ดินและป่าไม้กับชุมชน รวมถึง การนำป่าที่มีชุมชนจัดการและดูแลอยู่ก่อนแล้วเข้าไปอยู่ในกลไกตลาด
  • กลไก REDD/REDD+/REDD++ กับการละเมิดสิทธิและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น (ซึ่งรวมถึง กลุ่มชาติพันธุ์และคนที่อาศัยอยู่ในป่า) ในการใช้และจัดการทรัพยากร รวมถึงสิทธิชนเผ่าตามที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมือง

เวลาจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์โดยสุทธิของประเทศไทยจะเป็นเรื่องหน้าไหว้หลังหลอกหรือไม่?

ส่วนการจัดทำแผนพลังงานชาติ แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกฉบับใหม่ และแผน Net Zero Emission ภายในปี พ.ศ.2608-2613 จะมีกระบวนการปรึกษาหารือ รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกส่วนในสังคม สร้างความสมานฉันท์และการยอมรับอย่างกว้างขวาง และรับรองว่ามีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมหรือไม่อย่างไรนั้น

‘คำตอบยังอยู่ในสายลม’


กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมทำงานกับเครือข่ายชุมชน

เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนในหลากรูปแบบประเด็น เราส่งเสริมสันติภาพ โดยไม่รับเงินสนับสนุนจากบริษัท รัฐบาล หรือ พรรคการเมืองใด เพื่อความเป็นอิสระทางการทำงาน


หมายเหตุ :

[1] REDD ย่อมาจากคำว่า Reducing Emissions from Deforestation and Degradation คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่าและป่าเสื่อมโทรม เป็นหนึ่งในประเด็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศถึงข้อดีข้อเสีย และแนวทางการปฏิบัติโดยเฉพาะผลกระทบจากมาตรการนี้ที่จะเกิดขึ้นกับชนเผ่าพื้นเมือง และชุมชนที่อยู่อาศัยกับป่า ส่วน “REDD+” เป็นผลที่เกิดขึ้นระหว่างการเจรจาโดยเพิ่มประเด็นป่าไม้ในฐานะที่เป็น ‘แหล่งกักเก็บคาร์บอน’ (Enhancement of Carbon Stocks) และ “REDD++” เป็นประเด็นว่าด้วย “การบริการของระบบนิเวศ” (Ecosystem Services)