5 พฤศจิกายน 2564

ในปลายสัปดาห์แรกของ COP26 เจนนิเฟอร์ มอร์แกน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซสากล สรุปสถานะของการประชุมเจรจาว่า :

“แม้เป็นสัปดาห์ที่ย่ำแย่ของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ก็ไม่หนักหนาสาหัสมาก แต่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลจะแย่ไปกว่านี้มาก หาก COP26 ที่กลาสโกว์จบลง และเป็นการประชุมเจรจาสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศที่ประสบความสำเร็จ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเห็นคำประกาศใหญ่ แต่คำมั่นเหล่านั้นเป็นแบบสมัครใจ บ่อยครั้งไม่มีนัยสำคัญแต่มีช่องโหว่มากมาย เป้าหมาย(ของการเจรจา)ไม่เปลี่ยนแปลงนั่นคือ จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่เกิน 1.5 C ในขณะที่เราเข้าใกล้เป้าหมาย แต่หนทางยังอีกยาวไกล 

“ภาวะผู้นำที่การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศนี้มาจากนักกิจกรรมรุ่นเยาว์ และสมาชิกในกลุ่มประเทศที่มีความล่อแหลมต่อผลกระทบที่เป็นหายนะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ(climate vulnerable nations) ในขณะที่ผู้นำประเทศที่ใหญ่กว่าและร่ำรวยกว่านั้นยังเดินย่ำอยู่ที่เดิม สิ่งที่จะปลดล็อกการเจรจาคือความไว้วางใจ และการสร้างความไว้วางใจในช่วงสัปดาห์ที่ 2 คือ การเห็นชอบในเรื่องการเงินมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ในเรื่องการปรับตัว ความสูญเสียและความเสียหาย  ดังคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีมีอา มอตต์ลีย์ แห่งบาร์เบโดส ที่ว่า “ประเทศต่างๆ ที่มารวมกันในกลาสโกว์จำเป็นต้อง “พยายามให้มากขึ้น พยายามให้มากขึ้น”

การประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศของกลุ่มเครือข่ายFridays For Future ซึ่งเกิดขึ้นไปพร้อมกับการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP26 ที่จัดขึ้นที่กลาสโกลว์ สก็อตแลนด์ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 © Jeremy Sutton-Hibbert / Greenpeace

“กว่า 20 ประเทศและสถาบันการเงินเห็นพ้องต้องกันในกลาสโกว์เพื่อหยุดการสนับสนุนในทางสาธารณะโดยตรงสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิลภายในสิ้นปี 2565 ในขณะที่ พันธะกรณีด้านพลังงานหมุนเวียนของอินเดียภายในปี 2573 เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจที่อาจกระตุ้นให้ประเทศภาคีอื่นๆ ลงมือทำ ข้อเรียกร้องของกลุ่ม Climate Vulnerable Forum เพื่อให้ประเทศต่างๆ ส่งแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศประจำปี แทนที่จะเป็นทุกๆ ห้าปี ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่ต้องขับเคลื่อนต่อในสัปดาห์ที่สอง”

“การฟอกเขียวนั้นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าร้ายกาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันเพื่อสนับสนุนการชดเชยคาร์บอน แต่กลุ่มที่เปิดโปงความหลอกลวงได้เรียกร้องเสียงดังและชัดเจน ทั้งในและนอกศูนย์การประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียกร้องของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกที่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ 80% ของโลก  ข่าวดีคือ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญใหม่ของเลขาธิการสหประชาชาติ(The UN Secretary General’s new Group of Experts) จะจัดการกับ “การขาดความน่าเชื่อถือและความสับสนที่เพิ่มเติมขึ้น” ในเรื่องการชดเชยคาร์บอน

“การตัดสินใจครั้งใหญ่ที่ COP26 ต้องสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ และออกแบบขึ้นเพื่อสร้างความไว้วางใจ นั่นหมายถึง จะไม่มีการขยายการลงทุนเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ และเพิ่มการสนับสนุนให้กับกลุ่มประเทศที่ล่อแหลมมากที่สุดจากวิกฤตสภาพภุมิอากาศ เป้าหมายของกองทุนด้านสภาพภูมิอากาศ 1 แสนล้านเหรียญดอลล่าร์ต่อปีและมีเงินที่เพิ่มขึ้นนั้นเลยกำหนดเวลาแล้ว ในขณะที่ต้องลดอุปสรรคที่ไม่จำเป็นในเรื่อง “การปรับตัว” เราอยู่ที่นี่ในกลาสโกว์เพราะทุกชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย สัปดาห์หน้าคือบททดสอบของมนุษยชาติและเวลาของการลงมือทำ”

อาสาสมัครในกลาสโกว์ร่วมเดินขบวนในวัน Global Day of Action ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสียงไปยังการประชุม COP26 โดยเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลจากทั่วโลกหยุดทำให้โลกผิดหวังในการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ © Jeremy Sutton-Hibbert / Greenpeace

บทสรุปในรายละเอียด

ทั้งด้านในและด้านนอกเวทีการประชุม COP26 เสียงจากประเทศต่างๆ และชุมชนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศมีพลังเพิ่มขึ้นและเรียกร้องให้ผู้นำโลกลงมือทำ

  • นักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์จากนามิเบีย ยูกันดา บังกลาเทศ และเม็กซิโก บนเรือ Rainbow Warrior ของกรีนพีซ เดินทางไปยัง COP26 เพื่อบอกผู้นำจากประเทศต่างๆว่า ‘อย่าทำให้ล้มเหลว’
  • The Climate Vulnerable Forum เปิดตัวข้อตกลงสภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศแห่งกลาสโกว์(a Glasgow Climate Emergency Pact) และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เริ่มทำแผนงานด้านสภาพภูมิอากาศรายปี แทนที่จะเป็นทุกๆ ห้าปี และขยายการสนับสนุนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 
  • แถลงการณ์ที่ทรงพลังมาจากผู้นำโลกของกลุ่มประเทศเหล่านี้ นายกรัฐมนตรีมีอา มอตต์ลีย์แห่งบาร์เบโดส กล่าวว่า ‘การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่ 2 องศา เป็นหายนะภัยที่ถึงชีวิต’ ของกลุ่มประเทศที่เป็นหมู่เกาะ และความล้มเหลวในการระดมทุนเพื่อการปรับตัวต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศถือเป็นเรื่อง “ที่ร้ายแรง
  • ผู้นำจากเครือข่ายสิ่งแวดล้อมของชนเผ่าพื้นเมืองและปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศของชนเผ่าพื้นเมืองได้พูดเปิดโปงการชดเชยคาร์บอนโดยอธิบายว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่หลอกลวง ทำให้ชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองล่มสลาย และเป็นข้ออ้างให้ผู้ก่อมลพิษทำการก่อมลพิษต่อไป
  • ชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนนักวิทยาศาสตร์ เกรตา ธุนเบิร์กและเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ทำการประท้วงต่อต้านคณะทำงานที่ตั้งขึ้นใหม่และสนับสนุนโดยอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น Shell และ BP ซึ่งพยายามขยายแนวทางการชดเชยคาร์บอนอย่างหนัก
ชนพื้นเมืองรวมตัวเพื่อประท้วงคัดค้าน ‘การชดเชยคาร์บอน’ บริเวณด้านนอกที่ประชุม COP26 โดยพวกเขาเป็นสมาชิกของเครือข่ายชนพื้นเมือง Indigenous Environmental Network และเครือข่าย Indigenous Climate Action ©Bianka Csenki

ความเคลื่อนไหวข้างต้นสร้างแรงกดดันทางการเมืองต่อกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกและมีความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ยกระดับความมุ่งมั่นและพันธะกรณีที่เป็นรูปธรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสนับสนุนการปรับตัวและการเงินโดยสอดคล้องกับเป้าหมายของความตกลงปารีสที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม

จนถึงขณะนี้ มีสัญญาณที่ชัดเจนถึงการปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล และพันธะกรณีใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปี 2573 ของอินเดียซึ่งก้าวไปกว่าที่คาดไว้

  • การปรับการเงินสาธารณะระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานหมุนเวียน – กว่า 20 ประเทศและสถาบันการเงินตกลงที่จะยุติการสนับสนุนสาธารณะโดยตรงรูปแบบใหม่สำหรับภาคพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในระดับนานาชาติที่ยังไม่ลดลงภายในสิ้นปี 2565 การสนับสนุนนี้จะได้รับการจัดลำดับความสำคัญเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มที่ เป็นก้าวสำคัญสู่การสิ้นสุดยุคเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการจัดหาเงินทุนด้านเชื้อเพลิงฟอสซิลในระดับโลก และความจริงที่ว่าสหรัฐฯ สนับสนุนข้อตกลงนี้  เพื่อให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง เราต้องดูว่าออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี และอิตาลีได้เข้าร่วมหรือไม่  ประเทศต่างๆ จะต้องมีพันธะกรณีที่มีผลบังคับใช้ทางกฏหมายในระดับประเทศเพื่อยุติโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ทั้งหมดทันที ไม่ว่าจะผ่านเงินทุน จากต่างประเทศ หรือการออกใบอนุญาตในประเทศ
  • อินเดีย – นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ทำได้เกินคาดและให้คำมั่นที่จะเพิ่มเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน ลดความเข้มข้นทางคาร์บอนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิภายในปี 2613 กรีนพีซ อินเดีย อธิบายว่า “โดยทั่วไป ดำเนินอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง”  แต่นักกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีโมดี เดินหน้าต่อไปเพื่อให้ระบบพลังงานของอินเดียใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน 50 ภายในปี 2573

แต่ในขณะที่ผู้นำประเทศต่างๆ ต้องสื่อสารความพยายามของพวกเขา จนถึงตอนนี้ พันธะกรณีส่วนใหญ่ยังเป็นก้าวเล็กๆ และขาดเนื้อหาที่สำคัญเพิ่มเติม

  • สหรัฐอเมริกา – ในฐานะผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดตั้งแต่อดีต สหรัฐฯ จำเป็นต้องดำเนินการอย่างมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมากในทศวรรษหน้า  แต่การมีส่วนร่วมหลักของประธานาธิบดีโจ ไบเดนต่อ COP26 จนถึงขณะนี้เป็นความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการลดการปล่อยก๊าซมีเทน 30% ภายในปี 2573 แม้ว่าจะมีความสำคัญเมื่อพิจารณาถึงศักยภาพของก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ไม่ได้รวมเป็นแผนการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งมอบเป้าหมายสภาพภูมิอากาศปี 2573 ของสหรัฐอเมริกา  สหรัฐฯ จะต้องดำเนินการตามแผนที่จับต้องได้และมีผลผูกพันอีกมากมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยกเลิกการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทศวรรษหน้าเพื่อให้สามารถเรียกร้องความเป็นผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศในเวทีโลกได้อย่างแท้จริง
  • จีน – ก่อน COP26 มีความหวังว่าประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะประกาศการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศสูงสุดก่อนปี 2568 ควบคู่ไปกับพันธะกรณีในการลดการใช้ถ่านหินในระบบพลังงาน แต่ความล้มเหลวในการลงมือทำอย่างใดอย่างหนึ่งถือเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่
  • สหภาพยุโรป – แม้จะชอบที่จะอ้างถึงความเป็นผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบัน สหภาพยุโรปกำลังใช้แนวทางอนุรักษ์นิยมในการเจรจา แทนที่จะมีความมุ่งมั่นมากขึ้นในการอภิปรายเกี่ยวกับเนื้อหาสุดท้ายของความตกลงกลาสโกว์  ความล้มเหลวของสหภาพยุโรปในการรับรองแถลงการณ์ High Ambition Coalition (HAC) อย่างเด็ดขาดนั้นน่าผิดหวังอย่างยิ่ง  สหภาพยุโรปจำเป็นต้องเสริมความแข็งแกร่งในการสนับสนุนจุดยืนของ HAC อย่างเร่งด่วน และเพิ่มการสนับสนุนการปรับตัวสำหรับกลุ่มประเทศที่ล่อแหลมที่สุดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทั้งในแง่ของหลักการ และหากมีโอกาสที่จะปลดล็อกการเมืองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จ
  • ออสเตรเลีย – ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลังจากกรีนพีซเปิดเผยว่าสามในสี่ของโครงการช่วยเหลือหลัก ด้านสภาพภูมิอากาศของออสเตรเลียในแถบแปซิฟิกไม่ได้กล่าวถึงประเด็นสภาพภูมิอากาศ
  • รัสเซีย – ปูตินไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำโลกใน COP26 ที่กลาสโกว์ แต่รัสเซียอนุมัติยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำที่อ่อนแอ ล้มเหลวในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และเน้นไปที่การเพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจกโดยระบบนิเวศที่มีการจัดการ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเศรษฐกิจหลักต่างๆ ลงน้อยที่สุด
  • สหราชอาณาจักร – กำหนดแผนการนำเสนอกฎเกณฑ์ด้านสภาพภูมิอากาศในภาคการเงิน แต่พันธะกรณี net zero ในระดับที่รับรองได้นั้นยังไม่ได้เป็นข้อบังคับทางกฏหมาย และกฎเกณฑ์ดังกล่าวดูเหมือนจะเปิดช่องว่างอย่างมากสำหรับสถาบันการเงินเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปตามปกติ มากกว่า ‘การรื้อ” ระบบตามที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวอ้างไว้
อาสาสมัครในกลาสโกว์ร่วมเดินขบวนในวัน Global Day of Action ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสียงไปยังการประชุม COP26 โดยเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลจากทั่วโลกหยุดทำให้โลกผิดหวังในการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ © Jeremy Sutton-Hibbert / Greenpeace

ข้อตกลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันไปได้สร้างแรงผลักดันในการลงมือทำ แต่ส่วนใหญ่อยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ มีความมุ่งมั่นน้อยเกินไป มีแผนงานที่เป็นรูปธรรมอยู่ไม่กี่แผนเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดในทางปฏิบัติ

  • การเงินว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ(Climate finance) – มีบรรยากาศแห่งความหวังในเรื่อง คำมั่นสัญญาใหม่ที่เป็นไปได้เพื่อสอดคล้องกับคำมั่นเดิมที่จะระดมเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี จากกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยกว่าให้กับกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า แต่ก็ไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะพูดด้วยความมั่นใจว่าเป้าหมายตามคำมั่นสัญญาใหม่จะเกิดขึ้น  การเงินว่าด้วยสภาพภูมิอากาศนี้ยังต้องการความมุ่งมั่นอย่างมหาศาล ควบคู่ไปกับการรับประกันว่าอย่างน้อยที่สุดเงินทุนจำนวนดังกล่าว 50% จะนำไปสนับสนุนในเรื่องการปรับตัว และในขณะเดียวกัน มีความโปร่งใสตามลักษณะของพันธะกรณีปัจจุบันที่แตกต่างกันของประเทศต่างๆ
  • ป่าไม้ – รัฐบาลประเทศต่างๆ ลงนามในความตกลงแบบสมัครใจเพื่อเปิดทางให้กับอีกหนึ่งทศวรรษของการทำลายป่าไม้ หลังจากคำสัญญาที่ล้มเหลวในการปกป้องผืนป่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ความตกลงใหม่ด้านป่าไม้ยังขาดนโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อทำให้การทำลายป่าเหลือศูนย์(zero deforestation)เป็นจริง และการคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง และมีคำถามสำคัญเกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนใหม่ที่ได้รับรองว่าจะมีขึ้น Carolina Pasquali ผู้อำนวยการบริหารของกรีนพีซ บราซิล กล่าวว่า “มีเหตุผลที่ดีมากประธานาธิบดี Bolsonaro รู้สึกยินดีที่จะลงนามในความตกลงใหม่นี้  เพื่อเปิดทางให้กับอีกหนึ่งทศวรรษของการทำลายป่าไม้ และไม่มีข้อบังคับใช้ในทางกฏหมาย”  ส่วนรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซียมีความเห็นแย้งและอธิบายว่า ความตกลงดังกล่าว “ไม่เหมาะสมและไม่ยุติธรรม” แม้ว่าอินโดนีเซียจะลงนามไปเมื่อสองวันก่อนก็ตาม
  • มีเทน – ผู้นำบางประเทศลงนามในคำมั่นสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% ภายในปี 2573 เพื่อป้องกันการรั่วไหลของมีเทนจากบ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ  การริเริ่มนี้ต้องเป็นจุดเริ่มต้น ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพทำให้เกิดโลกร้อน 28 เท่าเทียบกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พันธกรณีนี้ล้มเหลวที่จะรวมเอาเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ทั้งหมด แม้ว่า นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกและผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจะสรุปถึงความจำเป็นที่จะต้องบรรลุเป้าหมายที่ 1.5 องศาเซลเซียส และล้มเหลวในการจัดการกับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของก๊าซมีเทน
  • แนวร่วมเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม(Just Transition Partnership) – ลงนามโดยฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างเป็นธรรมและสังคมที่สามารถฟื้นคืนจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในแอฟริกาใต้ กรีนพีซ แอฟริกา เห็นว่าเป็นการริเริ่มที่ดี ในขณะเดียวกัน ก็เตือนถึงความเสี่ยงของการเงินที่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่
  • พันธมิตรทางการเงินแห่งกลาสโกว์เพื่อ Net Zero (Glasgow Financial Alliance for Net Zero-GFANZ) – การอัปเดตของรัฐบาลสหราชอาณาจักรอ้างว่า “มากกว่า 130 ล้านล้านดอลล่าร์ หรือ 40% ของสินทรัพย์ทางการเงินของโลก – ตอนนี้จะสอดคล้องกับ… ความตกลงปารีส ต้องขอบคุณพันธะกรณีจากบริษัทที่ให้บริการทางการเงิน”  อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ มีความตระหนักถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นจนถึงปี 2573 การริเริ่มโดยสมัครใจนี้ไม่มีภาระผูกพันใดๆ ในการยุติการจัดหาแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือปรับเปลี่ยนการเงินไปสู่การกอบกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ การริเริ่มนี้ยังให้เวลากับธนาคารไปจนถึงปี 2568 เพื่อเปิดเผยแผนการเปลี่ยนผ่าน  และไม่ได้ตัดขาดเรื่องการชดเชยคาร์บอนออกไป  สมาชิกของกลุ่ม GFANZ รวมถึงธนาคารที่ให้เงินกู้ต่ออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นนำ 13 แห่งของโลกตั้งแต่ความตกลงปารีส  ในปี 2563 ธนาคาร 39 แห่งในกลุ่ม Net Zero Banking Alliance (กลุ่มย่อยภายใต้ GFANZ) ให้เงินกู้ยืมและการรับประกันภัยแก่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลรวมมูลค่า 575 พันล้านดอลลาร์
  • Breakthrough Agenda – นำโดยสหราชอาณาจักรซึ่งมีผู้นำระดับโลกมากกว่า 40 คน โดยมีเป้าหมายเพื่อประสานงานประเทศและธุรกิจต่างๆ เพื่อเปิดตัวเทคโนโลยีที่สะอาดและราคาไม่แพงภายในปี 2573 แม้ว่าความคิดริเริ่มจะดีในหลักการ แต่ก็ไม่มีนโยบาย แผนการ หรือพันธะกรณีที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินการ  และไม่มีความชัดเจนว่ากิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างเข้มข้น จะถูกตัดออกหรือไม่
  • Global Coal to Clean Power Transition Statement and Powering Past Coal Alliance – 40 ประเทศและธนาคารบางแห่งลงนามที่จะเลิกใช้ถ่านหิน  สำหรับประเทศที่ร่ำรวยกว่า วันที่สิ้นสุดคือปี 2573 (หรือโดยเร็วที่สุดหลังจากนั้น) สำหรับประเทศอื่นๆ คือปี 2583 (หรือโดยเร็วที่สุดหลังจากนั้น) ประเทศที่ลงนามใหม่ที่โดดเด่นที่สุดคือเวียดนาม อียิปต์ และยูเครน เนื่องจากบทบาทของถ่านหินในระบบเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าว นี่เป็นข้อพิสูจน์มากขึ้นว่ายุคถ่านหินกำลังถึงจุดจบ  แต่หากไม่มีสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน และอินเดีย ก็เป็นไปได้ที่จุดจบจะไม่เร็วพอ  เส้นตายของของคริสตทศวรรษ 2030 หรือโดยเร็วที่สุดหลังจากนั้นสำหรับประเทศที่ร่ำรวยกว่าก็มีช่องโหว่ ตัวอย่างเช่น เป้าหมายการปลดระวางถ่านหินของเยอรมนีคือปี 2581 ซึ่งสายเกินไป อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศร่ำรวยเห็นว่าสามารถลงนามในข้อตกลงนี้ได้เพราะอยู่ในช่วงคริสตทศวรรษ 2030  หรือกระทั่งหลังจากนั้น โดยใช้ช่องว่างด้านเวลา แต่ถึงแม้จะมีเรื่องนี้ คำประกาศนี้ก็ยังคงเป็นข่าวร้ายสำหรับอุตสาหกรรมถ่านหิน

หมายเหตุ : คำว่า “หรือโดยเร็วที่สุดหลังจากนั้น” ไม่ได้รวมอยู่ในข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร และถูกเปิดเผยในภายหลังจากที่รั่วไหล  เจนนิเฟอร์ มอร์แกน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ สากล ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนที่เข้าร่วมทุกการประชุม COP ในช่วงกว่า 25 ปีที่ผ่านมา ให้ความเห็นเกี่ยวกับวิธีการที่ฝ่ายประธานสหราชอาณาจักรจัดการกับการประกาศใน COP26 ว่า : 

“รัฐบาลที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยยุ่งกับการจัดการด้านสื่อ แต่กลยุทธ์การสื่อสารของสหราชอาณาจักรในกลาสโกว์นั้นแตกต่างออกไป  ดูเหมือนว่าจะถูกออกแบบมาเพื่อลดความโปร่งใส โดยมีกำหนดเวลาให้ประกาศขึ้นหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ในสหราชอาณาจักร แทนที่จะให้กับสื่อทั่วโลกได้ทำหน้าที่  ดูเหมือนว่ามีความพยายามโดยเจตนาที่จะขัดขวางการติดตามตรวจสอบอย่างท่วงทันเวลาถึงประเด็นสำคัญๆ ที่มีพัฒนาในเวทีการประชุม

“เราต้องการเห็นความสำเร็จของการเจรจา แต่ความท้าทายคือ ความกังวลที่ต่อเนื่องว่าทุกๆ คนในเวทีการเจรจากำลังเล่นเกม ตัวอย่างที่ดีคือ คำประกาศปลดระวางถ่านหิน ซึ่งเป็นมีข่าวดีที่ต้องกระจายออกไป แต่แทนที่ จะประกาศตรงๆ กลับสร้างความแคลงใจให้เกิดขึ้น”

เบน เฟลียเกอร์ เยาวชนอายุ 11 ปี จากเครือข่าย Fridays For Future ในการประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศของกลุ่มเครือข่ายFridays For Future ซึ่งเกิดขึ้นไปพร้อมกับการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP26 ที่จัดขึ้นที่กลาสโกลว์ สก็อตแลนด์ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 © Jeremy Sutton-Hibbert / Greenpeace

จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป หลังจากที่ผู้นำประเทศต่างๆ เดินทางกลับ?

การเจรจาจะเริ่มขึ้นในเรื่องเนื้อหาของความตกลงที่เป็นทางการที่จะออกมาจากกลาสโกว์  ยังมีรายละเอียดที่ต้องจับตาอีกมาก เนื่องจากแรงกดดันทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มประเทศและชุมชนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ที่จะตามมา คือเนื้อหาของความตกลงกลาสโกว์อย่างเป็นทางการที่จะต้องยึดมั่นกับเป้าหมาย 1.5 ℃  สิ่งที่ไม่นำไปสู่เป้าหมายนี้ถือเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงและการละทิ้งความรับผิดชอบของผู้นำโลก  กรีนพีซทำหน้าที่ติดตามความคืบหน้าในประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้:

การเปิดโปงมายาคติภายใต้มาตรา 6 ที่จะมีการเปิดตลาดคาร์บอนระดับโลก – การชดเชยคาร์บอน เป็นเรื่องหลอกลวงและใช้ไม่ได้

รายละเอียดในความตกลงปารีสต้องอุดช่องโหว่ที่เปิดให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกใช้แนวทางการลดการปล่อยที่สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 ℃  การเจรจาเรื่องมาตรา 6 จะต้องไม่มีตลาดชดเชยคาร์บอน  ตัวอย่างเช่น คาร์บอนเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้จากการปลูกต้นไม้หรือซื้อป่าไม้ที่มีอยู่เพื่อ “ชดเชย” โครงการพลังงานสกปรกในอีกซีกหนึ่งของโลก  แต่การชดเชยคาร์บอนไม่ได้หยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศและทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น คาร์บอนเครดิตเพียงไปปรากฎอยู่ในบัญชีแยกประเภทของบริษัทหรือรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น  แทนที่จะเป็นเช่นนั้น มาตรา 6 จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดซึ่งส่งเสริมการดำเนินการตามความตกลงปารีสผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ  รัฐบาลต้องให้คำมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวอย่างเท่าเทียมกันผ่านมาตรการดำเนินการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การแบ่งปันความรู้ และการเสริมสร้างศักยภาพ

ปลดแอกและยุติการอุดหนุนและให้เงินกู้เชื้อเพลิงฟอสซิล และดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นธรรม

เนื้อหาความตกลงอย่างเป็นทางการใน COP26 ที่กลาสโกว์จะต้องสะท้อนถึงความจำเป็นในการลงมือทำจริงเพื่อยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล  ซึ่งหมายความว่า จะไม่มีโครงการใหม่ ไม่มีการเงินใหม่ และไม่มีการสนับสนุนจากสาธารณะสำหรับโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่ ซึ่งควรจะยุติลงเกือบทั้งหมดภายในปี 2593 การปลดระวางถ่านหินควรเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้โดยเป็นความสำคัญลำดับต้นๆ  เราจะผลักดันให้มีเนื้อหาของการตัดสินใจ(decision text) จาก COP26 ที่พูดถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลว่าเป็นสาเหตุหลักของภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ และมีพันธะกรณีในการจัดหาเงินทุนที่เพียงพอเพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืน

ส่งมอบเงินทุน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีและมากกว่า ตามที่ให้คำมั่นสัญญา

เราต้องการให้ประเทศที่พัฒนาแล้วเดินหน้าที่ COP26 ด้วยเงินใหม่ และแผนการซึ่งแข็งแกร่ง โปร่งใส และอยู่บนพื้นฐานของความต้องการ ที่แสดงให้เห็นว่าการระดมเงินทุน 1 แสนล้านดอลลาร์ จะบรรลุเป้าหมายทุกๆปีในอีกห้าปีข้างหน้าได้อย่างไร  เรากำลังเรียกร้องให้เป้าหมายหลังปี 2568 อยู่บนพื้นฐานของความต้องการและตามหลักวิทยาศาสตร์ โดยมีหมุดหมายที่ชัดเจนว่ากองทุนจะเพิ่มมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี และเพื่อขยายโครงการด้านการเงินในระยะยาว  พันธะกรณีทางการเงินดังกล่าวนี้จะต้องมีขึ้นเพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในเรื่อง “ความสูญเสียและความเสียหาย(loss and damage)” ที่เกิดจากภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ


กรีนพีซมีคณะผู้แทนที่ COP26  หากต้องการสัมภาษณ์หรือบรรยายสรุปจากผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบาย โปรดติดต่อ Greenpeace International Press Desk: [email protected], +31 (0) 20 718 2470 (24 ชั่วโมง)

Global Climate Strike in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
รัฐบาลไทยต้องหยุดฟอกเขียว! เพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

ไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆของโลกที่มีความเสี่ยงสูงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รัฐสภาซึ่งเป็นที่ประชุมระดับชาติของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต้องเป็นผู้นำประกาศ “ภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ (climate emergency declaration)”

มีส่วนร่วม