จาการ์ตา, อินโดนีเซีย, 9 กรกฎาคม 2563 – เครื่องมือติดตามต้นทุนมลพิษทางอากาศตามเวลาจริงชี้ว่า มลพิษทางอากาศมีส่วนก่อให้เกิดการเสียชีวิตกว่า 24,000 รายในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียในช่วงครึ่งปีแรกของปี2563 แม้จะมีนโยบายปิดเมืองอันเป็นมาตรการเข้มข้นจากเหตุระบาดโควิด-19 เครื่องมือดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ IQAir AirVisual ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยเปิดเผยผลกระทบจากมลพิษทางอากาศใน 28 เมืองทั่วโลกและอีก 6 จังหวัดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 [1]

ดูผลการติดตามต้นทุนมลพิษทางอากาศที่เมืองของคุณได้ที่นี่

“ในขณะที่รัฐบาลเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ การลงทุนในธุรกิจสีเขียวและยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญและเร่งด่วน เราจะต้องลงทุนในพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานลมและแสงอาทิตย์ซึ่งจะพัฒนาได้ในระยะยาวมากกว่าจะชุบชีวิตอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ช่วงนี้คือช่วงเวลาที่เราจะสามารถลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้เร็วที่สุดเพื่อสุขภาพและสังคมของเรา” อวินาช ชันชาล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซอินเดียกล่าว

จากการศึกษาใน 28 เมืองทั่วโลก  กรุงนิวเดลีมีอัตราการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศสูงที่สุดใน 12 เดือนที่ผ่านมา เครื่องมือดังกล่าวยังเปิดเผยอีกว่า มลพิษทางอากาศยังได้ทำลายเศรษฐกิจในเมืองต่างๆ เป็นเงินไปแล้วกว่า 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 5.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) ของเมือง

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานชี้ชัดว่า การอยู่ในสถานที่ที่มีมลพิษทางอากาศในระยะเวลานานเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 [2] การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระยะเวลานานเกี่ยวข้องกับโรคต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดและโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้เป็นทุนเดิมมีโอกาสที่จะมีอาการที่รุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิด-19 [3]

บางเมืองอย่างกรุงมะนิลา ปักกิ่งและหลายเมืองในทวีปยุโรปนั้นมีอากาศที่ดีขึ้นชั่วคราวจากการถูกจำกัดการทำกิจกรรม อย่างไรก็ตามผลจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้อากาศที่เหมือนจะดีขึ้นกลับเข้าสู่สภาวะเดิมเมื่อปลดล็อกดาวน์ ในเมืองอื่นๆ อย่างกรุงจาการ์ตา คุณภาพอากาศเมื่อเทียบกันปีต่อปีแล้ว ในช่วงโควิดที่ผ่านมาไม่ได้ดีขึ้นมากนักทำให้ยิ่งเห็นถึงความจำเป็นอันเร่งด่วนที่จะต้องเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การคมนาคมที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อให้คุณภาพอากาศดีขึ้นในระยะยาว

ในขณะที่รัฐบาลกำลังหาช่องทางที่จะให้เงินช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจและเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและระบบคมนาคมที่สะอาด

“เมื่อเราพูดถึงมลพิษทางอากาศ เราไม่สามารถกลับไปเป็นแบบ “ความปกติเดิม” ได้ ผลกระทบด้านสุขภาพจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลควรจะเป็นสิ่งที่เตือนสติเหล่าผู้นำทั่วโลก รัฐบาลควรจะทำให้เรามั่นใจว่าเศรษฐกิจภายหลังโรคระบาดโควิด-19 จะเป็นระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมต่อทุกคน มีระบบคมนาคมที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ไม่ใช่จากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหินและน้ำมันดังเช่นที่ผ่านมา” มินวู ซัน ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศระดับสากล กรีนพีซเอเชียตะวันออกกล่าว 

ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ยังคงเป็นจังหวัดที่ได้รับความเสียหายจากมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในประเทศไทย โดยมลพิษทางอากาศมีส่วนทำให้มีการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรแล้วกว่า 6,700 รายและทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดสูญเสียไปแล้ว 2,600,000,000 เหรียญสหรัฐฯ (อัพเดทวันที่ 8 ก.ค. 2563) แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะประกาศใช้นโยบายล็อกดาวน์ด้วยเหตุโรคระบาด 

“New normal” ที่เราต่างกล่าวถึงเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา เพราะแท้จริงแล้วการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงดำเนินต่อไปทั้งในภาคพลังงาน อุตสาหกรรมและคมนาคม ซ้ำร้ายอาจพึ่งพาเยอะกว่าเดิมเพราะการประกาศใช้นโยบายดังกล่าว 

รัฐบาลไทยที่ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการกู้ยืมเงินจากแหล่งต่างๆ จะดีกว่าหรือไม่หากลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อให้คุณภาพอากาศในระยะยาวดีขึ้นและประชาชนไม่ต้องจ่ายต้นทุนมลพิษทางอากาศด้วยสุขภาพของพวกเขาเอง

หมายเหตุ

[1] ป้ายแสดงผลตัวเลขตามเวลาจริงนี้ใช้อัลกอริทึ่มและข้อมูลคุณภาพอากาศระดับพื้นดินแบบรายชั่วโมงจากฐานข้อมูลเครื่องวัดคุณภาพอากาศ IQAir AirVisual ร่วมกับแบบจำลองความเสี่ยงทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงข้อมูลประชากรและสุขภาพ เพื่อคำนวณและคาดการณ์ต้นทุนผลกระทบของมลพิษทางอากาศ ทั้งจากฝุ่นพิษ PM2.5 และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563

ป้ายแสดงผลตัวเลขตามเวลาจริงที่สร้างจากระเบียบวิธีในรายงาน “การคำนวณต้นทุนทางเศรษฐกิจของมลพิษทางอากาศจากเชื้อเพลิงฟอสซิล” ของศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด (CREA) ซึ่งได้ทบทวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สำหรับผลลัพธ์ล่าสุดที่เกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศและต้นทุนทางเศรษฐกิจของปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศจากรายงานการวิจัยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสต่อมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ (Exposure-response relationships) เท่านั้น

ระเบียบวิธีดูได้ที่นี่

[2]  Wu 2020.

[3] Garg et al 2020, Yang et al 2020.

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม