วินซ์ ชินนเชส ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านมหาสมุทรของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แม้ว่าข้อตกลงที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้จะอยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง[1] และอุตสาหกรรมปลาทูน่าบางส่วนกำลังเดินหน้าแก้ปัญหาการทำประมงเกินขนาด การประมงผิดกฏหมายและการบังคับใช้แรงงานบนเรือ เป็นภาระหน้าที่ของคณะกรรมาธิการประมงแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลางในการรับประกันว่าการปฏิรูปประมงจะส่งผลในทางปฏิบัติโดยมีมาตรการการอนุรักษ์ปลาทูน่าที่จริงจังมากขึ้น ซึ่งทำได้โดยเห็นชอบร่วมกันต่อมาตรการที่มีความสำคัญอันดับต้นในเรื่องของการเก็บข้อมูล การจัดการด้านศักยภาพในการประมงปลาทูน่ารวมถึง FADs การอนุรักษ์ปริมาณปลาทูน่า มาตรการติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวังรวมถึงการขนถ่ายปลาทูน่ากลางทะเลและกฏเกณฑ์การควบคุมการใช้ประโยชน์ปลาทูน่า(harvest control rules)
รายงานที่นำเสนอออกมาเมื่อเร็วๆนี้ของกรีนพีซซึ่งเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมปลาทูน่านั้นอยู่ในขอบข่ายการดูแลของคณะกรรมาธิการประมงแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลาง [2] ในขณะที่มาตรการต่างๆของคณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้เน้นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษชนเป็นการเฉพาะ การห้ามการขนถ่ายปลาสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเลและการมีมาตรการติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวังจะช่วยจัดการปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกของอุตสาหกรรมประมงและการกดขี่ขูดรีดแรงงานบนเรือประมง
มีหลักฐานเพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของการขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเลที่ผิดกฏหมาย แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจากการละเมิดกฏเกณฑ์ดังกล่าว การละเมิดใดๆ ที่มีขึ้นจากการขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเลจะต้องนำไปสู่การไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงของผู้ละเมิดนั้นกรีนพีซยังเรียกร้องให้มีการมาตรการที่เข้มงวดอย่างยิ่งในการเก็บรวบรวมข้อมูลและกฏเกณฑ์การควบคุมการใช้ประโยชน์ปลาทูน่า(harvest control rules) รวมถึงชุดข้อมูลที่ใช้อ้างอิง
วินซ์ ชินเชส กล่าวต่อว่า “ผู้แทนประเทศที่เข้าร่วมการประชุมในปีนี้ควรเห็นชอบร่วมกันเพื่อยืนยันว่าการทำงานในเรื่องการตั้งเป้าหมายการอนุรักษ์ประชากรปลาทูน่า ชุดข้อมูลอ้างอิงที่ใช้ในการจำกัดปริมาณปลาทูน่าที่จับได้และยุทธศาสตร์การใช้ประโยชน์จากการประมงปลาทูน่าและฉลามทุกสายพันธุ์ในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันตกจะดำเนินสืบเนื่องต่อไปและมีการสนับสนุนทรัพยากรและเงินทุนเป็นอย่างดีที่สอดคล้องกับกำหนดเวลาที่ตั้งไว้
ผู้แทนประเทศต่างๆ ควรจะต้องมีข้อสรุปเรื่องกฏเกณฑ์การควบคุมการใช้ประโยชน์(harvest control rules)ในกองเรือประมงอวนล้อมจับปลาทูน่าสายพันธุ์ท้องแถบ(skipjack) และการดำเนินการอย่างเร่งด่วนของชุดข้อมูลอ้างอิงบนหลักการป้องกันไว้ก่อนในเบื้องต้น(interim precautionary reference points) ของปลาทูน่าสายพันธุ์อัลบาคอร์แปซิฟิกใต้(South Pacific albacore) พันธุ์ตาโต(bigeye)และพันธุ์ครีบเหลือง(yellowfin)”
ในขณะที่การประเมินปริมาณประชากรปลาทูน่าในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าปลาทูน่าสายพันธุ์หลักยังไม่ได้เผชิญกับปัญหาการประมงเกินขนาดหรือได้รับผลกระทบจากการประมงเกินขนาด แต่กรีนพีซเตือนว่ามีเหตุผลมากมายที่จะต้องระมัดระวัง กรีนพีซเห็นว่าจะต้องพิจารณาถึงความไม่แน่นอนของการประเมินประชากรปลาทูน่าและการประเมินดังกล่าวจะต้องชัดเจนว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณประชากรปลาทูน่านั้นเนื่องมาจากเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการการจัดการหรือเป็นเพราะปัจจัยอื่นๆ บัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ(IUCN Red List of Threatened Species) [3] ได้ประเมินว่าปลาทูน่าสายพันธุ์ครีบน้ำเงินแปซิฟิก(pacific bluefin) และสายพันธุ์ตาโต(bigeye) อยู่ในระดับความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อความเป็นอันตรายจากการสูญพันธุ์จากที่อาศัยตามธรรมชาติ(vulnerable) ส่วนสายพันธุ์ครีบเหลือง(yellowfin) และอัลบาคอร์(albacore) นั้นอยู่ในระดับความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้
ในบรรดากองเรือประมงปลาทูน่าที่จดทะเบียนกับคณะกรรมาธิการประมงแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันตกจำนวน 4,509 ลำ มีร้อยละ 76.64 เป็นเรือประมงเบ็ดราว ร้อยละ 12.62 เป็นเรือประมงอวนล้อม และมีเพียงร้อยละ 2.22 เป็นเรือประมงเบ็ดตวัด ประเทศที่ครอบครองสัดส่วนร้อยละ 85 ของกองเรือประมงในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันตกมี 6 ประเทศคือ จีนไทเป ญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ [4]
[1] ข้อตกลงระหว่างกรีนพีซและบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป
[2] โซ่ตรวนกลางทะเล: การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลก[3] บัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ[4] www.wcpfc.int

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573
มีส่วนร่วม