วันที่ 28 สิงหาคม 2564 – ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบต่อโลกและประเทศไทยอย่างรุนแรง ดังคำเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าจนถึงครั้งล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ IPCC ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่บ่งบอกว่า โลกร้อนกำลังเข้าขั้นวิกฤติและแทบไม่เหลือเวลาให้แก้ไขอีกต่อไป

สิ่งที่ IPCC บ่งชี้ก็คือ หายนะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมาจากฝีมือมนุษย์ จากการพัฒนาของระบบทุนนิยมโลกที่พึ่งพาพลังงานฟอสซิลตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมในปี ค.ศ.1850 โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมหาศาลกว่าที่มีมาสู่ชั้นบรรยากาศจนทำให้โลกร้อนขึ้น นับแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส ก่อให้เกิดภูมิอากาศผันผวนรุนแรงทั้งน้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลสูงขึ้นและเป็นกรด ภาวะแห้งแล้งยาวนาน ฝนทิ้งช่วงและรุนแรง อุทกภัยน้ำท่วม ไฟป่ารุนแรง ฝุ่นหมอกควัน PM 2.5 การสูญพันธุ์สิ่งมีชีวิต ความมั่นคงอาหารถดถอย ผลผลิตการเกษตรตกต่ำ การแพร่ระบาดของเชื้อโรค เช่น COVID 19 ทั้งหมดเกิดผลกระทบ สร้างความยากจน ประชาชนที่เสี่ยงต้องอพยพย้ายถิ่น เกิดความระส่ำระสายทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองทั้งหมดอย่างที่โลกไม่เคยเจอมาก่อน

หากโลกไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นไปถึง 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2030 ซึ่งก็คืออีก 9 ปี สภาพภูมิอากาศโลกจะปั่นป่วนและรุนแรง

IPCC และสหประชาชาติได้เคยเตือนเช่นนี้มาหลายครั้งแล้วว่าโลกยังพยายามไม่พอในการแก้วิกฤติโลกร้อน แม้จะมีความตกลงปารีสในปี 2558 ที่ทุกประเทศทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาเสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน แต่ไม่มีประเทศไหนที่ทำได้อย่างแท้จริง แม้กระทั่งช่วงวิกฤติโควิดที่ทำให้ลดการใช้พลังงาน ลดปล่อยก๊าซลงได้เพียงร้อยละ 6-7 แต่ก็กลับมาเพิ่มมากขึ้นอีกในปัจจุบัน

หากแต่วิกฤติอันรุนแรงเช่นนี้ IPCC ก็ยังเห็นความหวังว่ามนุษยชาติยังจะสามารถรอดพ้นหายนะได้ เป้าหมายคือ ลดก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050 ปัญหาโลกร้อนก็จะหยุดลงได้ นั่นหมายความว่าโลกยังมีหวัง ด้วยพลังของประชาสังคมทั่วโลกที่ตื่นตัวและผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทุกระบบโดยด่วน

สำหรับประเทศไทย ที่ถูกจัดว่าเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับ 9 ของโลก จะเกิดอุทกภัย ภัยแล้ง และวาตภัยที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น สร้างความเสียหายต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ เด็ก ผู้หญิง ผู้สูงวัย ผู้พิการ คนจน เกษตรกรรายย่อย ฯลฯ ที่เผชิญแรงกดดัน ต้องเผชิญปัญหาเปราะบางด้านนิเวศ ภัยพิบัติ ความไม่มั่นคงอาหาร สุขภาวะเสื่อมโทรม เผชิญแรงกดดันทางเศรษฐกิจสังคม ซึ่งกระทบไปถึงสังคมไทยในภาพรวมด้วย แต่ความพยายามของรัฐไทยยังน้อย และสังคมยังตื่นตัวไม่มากนักเมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยง

แม้รัฐบาลไทยจะดำเนินการหลายอย่าง เช่น จัดทำเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่างพรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจัดทำกรอบแผนพลังงานแห่งชาติที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด และล่าสุดกำลังจัดทำแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติที่มีเป้าหมายเน้นพลังงานสะอาด และปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065-2070

Thai Climate Justice for All (TCJA) อันเป็นเครือข่ายที่รวมประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ซึ่งทำงานเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรกรรมยั่งยืน มลภาวะอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน ฯลฯ กับชุมชนท้องถิ่นและประชาชนฐานราก ได้มารวมตัวกันศึกษาขับเคลื่อนต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายที่จะระดมพลังครั้งใหญ่ขับเคลื่อนสังคมในต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีความหวัง

TCJA กังวลว่า เป้าหมายและแผนของรัฐเหล่านั้น ยังห่างไกลกับสถานการณ์วิกฤติและหนทางออกที่ IPCC คาดหวัง และล่าช้าเกินไป จึงมีข้อเสนอดังนี้

  1. กำหนดเป้าหมายแบบลดปริมาณก๊าซเทียบกับปีฐาน รัฐไทยกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 20-25 จากภาวะปรกติภายในปี 2030 เป็นการตั้งเป้าหมายแบบคาดการณ์ว่าหากไทยไม่ทำอะไรเลย เราจะปล่อยก๊าซเท่าไหร่ในปี 2030 และกำหนดเป้าหมายลดลงร้อยละ 20 จากการคาดการณ์ วิธีดังกล่าวไม่สอดคล้องแล้วสำหรับสถานการณ์วิกฤติ รัฐบาลไทยควรกำหนดเป้าหมายใหม่เป็นแบบลดการปล่อยก๊าซจากปีฐาน โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 เป็นต้นไป ไม่ปล่อยสูงกว่าปี ค.ศ. 2019 ก่อนสถานการณ์โควิดแล้ว และกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยสุทธิลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 และการปล่อยสุทธิในภาคการผลิตไฟฟ้าเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2040 แล้วจึงลดปล่อยให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050
  2. มีแผนยุติการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลโดยด่วนและแทนที่ด้วยพลังงานหมุนเวียน รัฐบาลและทุกภาคส่วนในสังคม จึงควรเร่งติดตั้งหรือสนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นแสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล ลม และพลังน้ำขนาดเล็ก ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ทั้งบ้านเรือนของตนเอง โรงพยาบาล โรงเรียน อาคาร โรงงาน ชุมชน ฯลฯ ซึ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศ มีการสร้างงานจำนวนมาก เป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า และลดโลกร้อนไปพร้อมกัน
  3. ปฏิรูปภาคเกษตรกรรมจากเกษตรเชิงเดี่ยวสู่เกษตรนิเวศหรือเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นที่ประจักษ์ว่าระบบเกษตรเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่สร้างก๊าซมีเทนจำนวนมาก และเกษตรกรปรับตัวได้ยากในภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบเกษตรที่เป็นทางออกคือ เกษตรเชิงนิเวศ เกษตรกรรมยั่งยืน รัฐจึงควรส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนให้เป็นระบบเกษตรหลักของประเทศ โดยเน้นระบบนิเวศเกษตรที่หลากหลายที่จัดการโดยชุมชนเกษตรกรรายย่อย และมีระบบการส่งเสริมแบบมีเงื่อนไข เพื่อให้ภาคเกษตรทุกส่วนปรับสู่เกษตรนิเวศโดยเร็ว
  4. ปฏิรูปการจัดการป่าโดยกระจายอำนาจสู่ชุมชนและท้องถิ่น รัฐกำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ แต่ยากที่จะบรรลุได้โดยเร็ว เพราะรัฐใช้ระบบการจัดการทรัพยากรแบบรวมศูนย์ จำกัดการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้การเพิ่มพื้นที่ป่าและฟื้นฟูทรัพยากรไม่คืบหน้าเท่าใดนัก รัฐควรกระจายอำนาจและส่งเสริมให้ชุมชน ประชาชนมีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ สังคม และมีนโยบาย กฎหมายที่รับรองการฟื้นฟู เพิ่มพื้นที่ป่าให้อย่างรวดเร็ว และยุติโครงการพัฒนาที่ทำลายป่าโดยทันที
  5. อนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศทะเลและชายฝั่ง และทบทวนโครงการพัฒนาชายฝั่งให้อยู่บนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรมเป็นอันดับต้น เพราะระบบนิเวศทะเล ได้แก่ ปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน สัตว์ทะเล สำคัญต่อมนุษย์ ทั้งในด้านการลดมลพิษ ป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นกันชนระหว่างแผ่นดินกับทะเลที่จะเพิ่มระดับสูงขึ้น และสร้างความมั่นคงอาหารของชุมชนและประเทศ นอกจากนี้รัฐต้องทบทวนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชายฝั่งให้ตั้งอยู่บนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม คุ้มครอง สนับสนุนสิทธิชุมชน และประชาชนในการอนุรักษ์ระบบนิเวศทะเล
  6. จัดให้มีกฎหมายและกลไกและมาตรการภาคอุตสาหกรรม โดยให้มีกฎหมาย มาตรการการพัฒนาบัญชีรายชื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมทุกประเภทและทุกขนาดทั่วประเทศ เพื่อสร้างฐานข้อมูลสำหรับลดการปล่อยก๊าซฯ ได้มีประสิทธิภาพ มีมาตรการให้ใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทที่ใช้พลังงานเข้มข้นและปล่อยก๊าซฯ ปริมาณสูง มีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ในการลดการปล่อยก๊าซฯ ส่งเสริมและคัดเลือกการลงทุนสู่การเป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ห้ามนำเข้าเศษวัสดุใช้แล้วและของเสียประเภทต่างๆ โดยเฉพาะเศษพลาสติกทุกประเภท ขี้แร่ เศษโลหะ และอื่นๆ สำหรับกิจการรีไซเคิลและการกำจัดหรือบำบัดในประเทศไทย (อุตสาหกรรมรีไซเคิลปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษชนิดอื่นๆ สูงมาก) มีนโยบาย มาตรการลดปริมาณและจัดการของเสียภาคอุตสาหกรรมให้ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน มีมาตรการส่งเสริมและกำกับให้คัดแยกและลดปริมาณของเสียจากชุมชนตั้งแต่ต้นทาง
  7. ให้ความสำคัญต่อการลดผลกระทบและส่งเสริมศักยภาพการปรับตัวของชุมชน แผนงานของรัฐมุ่งแต่การลดปล่อยก๊าซ แต่ให้น้ำหนักน้อยในการแก้ไขผลกระทบ และส่งเสริมให้ชุมชนมีความสามารถตั้งรับปรับตัวจากสภาพปัญหา โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่น เกษตรกรรายย่อยที่พึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติ ทิศทางนโยบายรัฐจึงควรเร่งคุ้มครอง ส่งเสริมให้ชุมชนมีความสามารถปรับวิถีชีวิต การจัดการทรัพยากร เศรษฐกิจ สังคม ให้ลดผลกระทบและเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนโดยเร็วที่สุด
  8. ต้องกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ตอบสนองต่อปัญหาในเพศที่แตกต่างอย่างเท่าเทียม และกำหนดมาตรการคุ้มครอง ส่งเสริม พัฒนากลไกขับเคลื่อนจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม การเข้าถึงประโยชน์ จัดทำมาตราการให้ทุกกลุ่มเข้าถึงโอกาสโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สร้างพื้นที่ให้เพศที่แตกต่างมีส่วนร่วมคิด ตัดสินใจในการกำหนดเป้าหมาย นโยบายให้ชัดเจน
  9. ส่วนราชการ รัฐสภาและมหาวิทยาลัยต่างๆ ควรดำเนินการเพื่อเป็นตัวอย่าง โดยมีแผนปฏิบัติของตนเองอย่างชัดเจนและร่วมประกาศต่อสาธารณะ เพราะการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นความรับผิดชอบต่อโลก เป็นหน้าเป็นตาและศักดิ์ศรีของคนไทยทุกคน
  10. รัฐบาลควรกำหนดนโยบายที่เอื้อให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นธรรม จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานพบว่า ในปี 2563 โดยเฉลี่ยคนไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คนละ 3.87 ตัน การติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์บนหลังคาบ้านของตนเองจะสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 1.60 ตัน หรือลดได้ร้อยละ 20 สำหรับครอบครัวขนาด 2 คน ดังนั้นประชาชนควรมีบทบาทร่วมรับผิดชอบอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

สิ่งที่สังคมสามารถร่วมกันขับเคลื่อนได้คือ

  1. ปรับวิถีบริโภค ให้ลดการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน ลดการบริโภคอาหารจากเกษตรเคมีเชิงเดี่ยว ลดการใช้ขยะพลาสติก แก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้ง และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน บริโภคอาหารอินทรีย์จากชุมชน ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คัดแยกและลดปริมาณของเสียจากชุมชนตั้งแต่ต้นทาง
  2. สร้างพื้นที่สีเขียวในครอบครัว ชุมชน และเมือง ด้วยการวางแผนการจัดการพื้นที่ให้มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ พื้นที่สีเขียวที่ทำงานดูดซับคาร์บอนพร้อมกับเป็นแหล่งความมั่นคงอาหาร
  3. เรียนรู้และส่งเสริมการจัดการป่า แม่น้ำ และทะเลของชุมชน โดยสนับสนุนชุมชนให้มีความสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และเพิ่มบทบาทดูแลฟื้นฟูระบบนิเวศป่าบก แม่น้ำ ทะเล ที่กำลังให้บริการทางนิเวศในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกของสังคม ให้พวกเขามีความเข้มแข็งทั้งการปรับตัว และการสร้างต้นแบบการดูดซับคาร์บอน
  4. เปิดโอกาสและส่งเสริมบทบาทของผู้หญิง และกลุ่มคนเปราะบางต่างๆ ในการปรับตัวและมีบทบาทจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยวัฒนธรรมที่มีความสมดุลเพศสภาวะจะทำให้ครอบครัว ชุมชน สังคมมีพลังในการสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงได้มาก
  5. ร่วมรณรงค์ให้สังคมตื่นตัวอย่างมีหวัง โดยรวมกลุ่มกันเรียนรู้และสื่อสาร ให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะเปราะบางที่สุด โดยเฉพาะกับชุมชนฐานราก และเผยแพร่ต้นแบบวิถีชีวิตคาร์บอนต่ำให้แพร่หลาย
  6. ร่วมกันตรวจสอบ คัดค้านนโยบาย โครงการภาครัฐและเอกชน ที่ทำลายระบบนิเวศ ฐานทรัพยากร และเป็นเหตุให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือทำลายระบบนิเวศที่มีบทบาทดูดซับก๊าซเรือนกระจก

ปฏิบัติสร้างพลังประชาชนในเรียนรู้ ปรับตัว เปลี่ยนวิถีชีวิต และโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง สร้างความยั่งยืน เป็นธรรมต่อสภาพภูมิอากาศ เปลี่ยนจากระบบทุนนิยมฟอสซิลไปสู่สังคมวิถีนิเวศปลอดคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วมและเป็นธรรมได้เริ่มต้นแล้วจากประชาชนคนกลุ่มเล็กน้อย จากผู้หญิง จากคนชายขอบในผืนป่า ท้องทะเล มาสู่คนเมืองได้เริ่มต้นขึ้นและก่อตัวเป็นเครือข่ายทางสังคมที่กว้างขวาง พวกเรายังมีหวังที่เป็นไปได้มากที่จะที่บรรลุเป้าหมายของโลกได้ในไม่ช้า

ลุกขึ้นมา เรียนรู้ จับมือ และปฏิบัติการขับเคลื่อนไปด้วยกัน!


ภาคีเครือข่าย Thai Climate Justice for All

  1. สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
  2. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
  3. มูลนิธิบูรณะนิเวศ
  4. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  5. ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า – ประเทศไทย (RECOFTC Thailand)
  6. สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
  7. กรีนพีซ ประเทศไทย
  8. ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน
  9. อ.ประสาท มีแต้ม กองทุนแสงอาทิตย์