กรุงเทพฯ, 11 กุมภาพันธ์ 2568 – กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) และ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) จัดงานเสวนา “ไปกันต่อ INC-5.2: ยังไงดีสนธิสัญญาพลาสติกโลก” เพื่อนำเสนอข้อสรุป จุดยืนของประเทศไทย และข้อคิดเห็นจากการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งที่ 5 (INC-5) ณ เมืองปูซาน เกาหลีใต้ พร้อมด้วยบทบาทของประเทศไทยในอนาคตในเวทีเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งที่ 5.2 (INC-5.2) ซึ่งจะเกิดขึ้นกลางปีนี้ โดยได้รับเกียรติจากหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาสนธิสัญญาฯ ประเทศไทย เข้าร่วมวิเคราะห์ผลจากการประชุม ร่วมด้วยตัวแทนจาก 3 องค์กรในฐานะผู้สังเกตการณ์การเจรจา
นับตั้งแต่ปี 2565 ในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติสมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 (UNEA5.2) ที่ประเทศทั่วโลกกว่า 160 ประเทศ ได้รับรองข้อมติ “ยุติมลพิษจากพลาสติก: ด้วยมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ” เพื่อพัฒนามาตราการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อยุติมลพิษพลาสติก (สนธิสัญญาพลาสติกโลก) โดยมติดังกล่าวกำหนดกรอบเวลาการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลฯ (INC) ทั้งหมด 5 ครั้ง เพื่อจัดทำมาตรการให้แล้วเสร็จในปี 2567 โดยกำหนดจัดการประชุมครั้งสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
อย่างไรก็ตาม ผลการเจรจาไม่บรรลุผล แม้ว่ามีประเทศกว่า 100 ประเทศร่วมลงชื่อสนับสนุนสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่มุ่งมั่นและสนับสนุน “การตั้งเป้าลดการผลิตพลาสติก” ซึ่งประเทศเหล่านี้ต่างจริงจังและร่วมยืนหยัดต่อเป้าหมายนี้ แต่ยังมีหลายประเทศปฏิเสธที่จะยอมรับประเด็นข้างต้น จึงได้มีการต่อเวลาการเจรจา จนเกิดการเจรจาขึ้นอีกครั้ง และจะเป็นครั้งสุดท้าย หรือที่เรียกว่า INC 5.2 ซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2568 นี้
ภาคประชาสังคมยังคงเน้นย้ำข้อเรียกร้องเดิมที่ต้องการให้รัฐบาลไทยแสดงจุดยืนที่เข้มแข็งในการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก โดยมีข้อเรียกร้อง 10 ประการดังนี้
- ลดการผลิตพลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนต่อการบริโภคและสิ่งแวดล้อม ยกเลิกการผลิตและการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา จัดการได้ยาก และสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ได้
- กำหนดให้มีการเลิกใช้สารเคมีอันตรายตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก พิจารณาการใช้สารเคมีทดแทนที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
- กำหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลดการใช้พลาสติก การใช้ซ้ำ การเติม การซ่อมแซม ที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเข้าถึงได้โดยมนุษย์ทุกคน
- กำหนดให้มีการพัฒนากฎหมายและขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ยกเลิกการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น ขยายระบบใช้ซ้ำ การเติม และการซ่อมแซม รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่กระบวนรีไซเคิลที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ได้จริงภายในประเทศ ครอบคลุมวงจรชีวิตของพลาสติก และค่าความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
- กำหนดให้ผู้ผลิตพลาสติกรายงานข้อมูลสารเคมีในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารเคมีและมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก สู่สาธารณะ
- กำหนดให้มีมาตรฐานสากลในการจัดการพลาสติกที่ใช้แล้ว ที่ให้ความสำคัญกับการลดพลาสติกแต่ต้นทาง การห้ามเผาขยะพลาสติก การกำหนดมาตรฐานการจัดการขยะที่เข้มงวด รวมไปถึงการรีไซเคิลและการผลิตพลังงาน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
- ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ผิดทาง รวมไปถึงการรีไซเคิลสกปรก[1] การขยายโรงไฟฟ้าขยะ และพลาสติกทางเลือกที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น
- ไม่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายพลาสติกใช้แล้วข้ามพรมแดน และการส่งออกเทคโนโลยีที่ก่อมลพิษ อันเป็นการผลักภาระมลพิษไปยังประเทศกำลังพัฒนา
- กำหนดให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก
- กำหนดให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน รวมไปถึงชุมชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ผู้ปฏิบัติงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทยกล่าวว่า
“จากการได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ใน INC5 เป็นที่น่าสังเกตได้ว่ามีตัวแทนบริษัทน้ำมันและปิโตรเคมีเข้าร่วมถึง 220 คน ซึ่งสูงสุดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เป็นข้อกังวลว่าการเจรจาจะทำให้การลดใช้และผลิตพลาสติกจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าและนำไปสู่การจัดทำมาตรการที่หันเหไปจากวัตถุประสงค์ตั้งต้น ที่ต้องการให้มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อยุติมลพิษพลาสติก ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลฯ (INC) รอบหน้าจึงมีความสำคัญและน่าจับตามองอย่างมาก”
ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ ผู้จัดการโครงการพลาสติก Environmental Justice Foundation กล่าวว่า
“แม้จะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่การขยายการเจรจาออกไปเป็นเรื่องที่ดีกว่าการรีบทำให้เสร็จแล้วโลกได้สนธิสัญญาที่แก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้มา ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้จัดและประเทศสมาชิกต้องหารือว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ และต้องป้องกันให้ไม่เกิดขึ้นอีกในการเจรจาครั้งที่ 5.2 ยังมีอีกหลายข้อบทที่ต้องการเวลามากกว่า 7 วันในการเจรจา ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล เราต้องตีโจทย์ตรงนี้ให้แตก ไม่เช่นนั้นการเจรจาครั้งที่ 5.2 อาจจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เราจะเสียเวลาไปอีก และโลกเราจะมีโอกาสอีกสักกี่ครั้งที่จะได้เข้าใกล้การแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกได้อย่างแท้จริงขนาดนี้”
ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงานของเสียและมลพิษอุตสาหกรรม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า
“ในตอนแรก การประชุม INC5 คาดหวังไว้ว่าอย่างน้อยจะต้องมีการคุยกันเรื่องประเด็นสารเคมีในพลาสติกอย่างจริงจัง และนำไปสู่ร่างสนธิสัญญาพลาสติกที่มีการควบคุมสารเคมีในพลาสติกอย่างเข้มข้น แต่สุดท้าย การประชุม INC5 ครั้งนี้ไม่สามารถหาข้อสรุป รวมทั้งมีความพยายามในการลดความจริงจังต่อมาตราที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในพลาสติก และไม่สามารถเกิดร่างสนธิสัญญาพลาสติกได้ ต้องประชุมใน INC5.2 ในอนาคตอีกครั้ง”
ดาวน์โหลดภาพถ่ายจากการเจรจา INC5 และเอกสารเพิ่มเติมได้ที่นี่ ข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
1. วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร กรีนพีซ ประเทศไทย โทร 091-770-3523 อีเมล [email protected]
2. ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ ผู้จัดการโครงการพลาสติก Environmental Justice Foundation โทร 064-991-5522 อีเมล [email protected]
3. ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงานของเสียและมลพิษอุตสาหกรรม มูลนิธิบูรณะนิเวศ โทร 086-392-5307 อีเมล [email protected]
ข้อมูลองค์กรผู้จัด
กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) เป็นองค์กรอิสระ ทำงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในระดับสากล โดยใช้การเผชิญหน้าอย่างสร้างสรรค์และสันติวิธีเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ผลักดันนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและขับเคลื่อนขบวนการทางสังคมเพื่อนำเสนอทางออกของปัญหาเพื่ออนาคตที่น่าอยู่ ปลอดภัย เป็นธรรมและส่งเสริมสันติภาพ
มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) ทำงานในระดับนานาชาติ เพื่อผลักดันนโยบายและขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนผ่านการตรวจสอบและการสนับสนุนนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มชาติพันธ์ ชุมชน และนักข่าวอิสระ โดยเป้าหมายของการรณรงค์ คือเพื่อการธำรงไว้ซึ่งอนาคตที่สมบูรณ์ เสมอภาค และยั่งยืน
มูลนิธิบูรณะนิเวศ (Ecological Alert and Recovery – Thailand: EARTH) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนไม่แสวงหาผลกำไร ที่มุ่งเน้นงานศึกษาและติดตามปัญหาจากมลพิษอุตสาหกรรมและความปลอดภัยจากสารเคมี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสิทธิชุมชน สิทธิการเข้าถึงข้อมูล สิทธิการมีส่วนร่วม สิทธิในการได้รับความเป็นธรรม ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล รวมถึงความรับผิดชอบของภาคเอกชนภา
[1] การรีไซเคิลสกปรก หมายถึง การรีไซเคิลของเสียและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม ไม่คำนึงถึงหลักการบริหารจัดการทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดี (Environmentally and Socially Sound Management) ก่อให้เกิดมลพิษและละเมิดสิทธิมนุษยชน และหมายรวมถึงการที่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่งออกของเสียมารีไซเคิลในประเทศที่กำลังพัฒนา อันเป็นการลดต้นทุนในการบริหารจัดการของเสียในประเทศของตนด้วยการผลักภาระมลพิษมายังกลุ่มประเทศที่มีเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการของเสียที่ยังด้อยกว่า