หลังจากกรีนพีซ เยอรมนีเผยแพร่รายงานที่อธิบายถึงเหตุผลที่ว่าทำไมระบบการควบคุมการผลิตที่อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นออกแบบขึ้นมาไม่สามารถทำได้จริง ล่าสุด กรีนพีซ เยอรมนีได้เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุดซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่อุตสาหกรรมโปรโมทอย่างหนักหน่วงนั้นยังเป็นเพียงแค่วาทกรรม

และไม่มีที่ใดที่จะพิสูจน์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโมเดลธุรกิจของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นได้ชัดเจนมากไปกว่ากลุ่มประเทศที่รับซื้อเสื้อผ้ามือสองราคาถูกในปริมาณมหาศาล ที่ซึ่งเสื้อผ้าคุณภาพต่ำเหล่านี้กลายเป็นขยะกองโตซึ่งจะต้องเผากำจัดทิ้ง ปริมาณของมันมหาศาลจนกำจัดแทบไม่หมดและถูกทิ้งลงไปในแหล่งน้ำรวมถึงทะเลซึ่งก็จะส่งผลกระทบทางลบต่อผู้คนและโลกใบนี้

ทีมงานจากกรีนพีซ เยอรมนี เดินทางไปยังประเทศเคนยา และ ทานซาเนีย เพื่อพิสูจน์ปัญหาการส่งออกขยะสิ่งทอมายังกลุ่มประเทศเหล่านี้และเพื่อสำรวจวิธีการที่ชุมชนท้องถิ่นใช้ในการตอบโต้ปัญหาที่เกิดขึ้น ในรายงานชิ้นนี้ เราเปิดเผยกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการนำเข้าเสื้อผ้ามือสอง หรือที่ชุมชนท้องถิ่นเรียกว่า ไมทัมบา ในทวีปแอฟริกาตะวันออก รวมถึงสำรวจว่าเสื้อผ้าที่นำเข้ามาเพื่อขายต่อเหล่านี้มีคุณภาพต่ำจนไม่สามารถขายต่อได้และลงเอยด้วยการถูกขนไปยังบ่อขยะ

บทสรุป

อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นกำลังเพิ่มการผลิตผลิตภัณฑ์ซึ่งเดิมทีก็ถูกผลิตให้ล้นเกินอยู่แล้วให้ล้นเกินมากขึ้นไปอีก อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มปริมาณเสื้อผ้ามือสองที่ส่งออกจากกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือไปยังกลุ่มประเทศซีกโลกใต้อีกด้วย ในขณะเดียวกัน ยังมีเสื้อผ้ามือสองเป็นแพ็คที่คนท้องถิ่นในทวีปแอฟริกาเรียกว่า “ไมทัมบา” ถูกส่งมาให้ผู้คนในแถบนี้ และยังเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเคนยาและทานซาเนีย แต่จำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของเสื้อผ้าที่นำเข้ามาไม่สามารถนำไปขายหรือใส่ต่อได้แล้ว สุดท้ายก็กลายเป็นขยะในบ่อขยะ ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ และก่อมลพิษเนื่องจากต้องใช้การเผาทำลายขยะเหล่านี้ในที่สุด

การส่งออกเสื้อผ้าเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างหนัก เพราะนี่คือหนทางที่กลุ่มประเทศซีกโลกเหนือใช้เพื่อกำจัดขยะสิ่งทอโดยการส่งเสื้อผ้าคุณภาพต่ำปริมาณมหาศาลไปยังกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ บังคับให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ต้องจัดการกับปัญหาของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีโครงสร้างในการจัดการขยะประเภทดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพมากพอ

และเพื่อที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นทั่วโลกจะต้องเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจเดิมของตัวเองให้ได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อลดความเร็วในการผลิตผลิตภัณฑ์ปริมาณมหาศาล รวมถึงต้องปรับเปลี่ยนให้การผลิตต้องช้าลง เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริงและจะต้องทำการผลิตบนพื้นฐานของความเป็นธรรมอีกด้วย ตามที่รายงานฉบับนี้เปิดเผยแสดงให้แห็นว่าเพียงแค่การทำให้ห่วงโซ่การผลิตของตัวเองสะอาด ยังไม่พอสำหรับแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น

กรีนพีซเรียกร้องให้แบรนด์อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นระดับโลกต่าง ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในความพยายามที่จะหยุดผลกระทบที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตน นอกจากนี้ สหภาพยุโรปเองก็จำเป็นต้องมีแผนการยุติการส่งออกขยะสิ่งทอและประชาสัมพันธ์การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพใช้งานได้ยาวนานขึ้น ใช้ซ้ำได้หลายครั้ง และวางกฎระเบียบการผลิตเสื้อผ้าที่มีคุณภาพดีมากพอ อีกทั้งสามารถซ่อมแซมได้ ซึ่งควรจะยกระดับกฎระเบียบดังกล่าวให้กลายเป็นสนธิสัญญาระดับโลก

หากการออกแบบเสื้อผ้าดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริงก็จะสามารถแก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจเสื้อผ้ามือสองในแอฟริกาได้ รวมถึงยังทำให้เสื้อผ้าใช้ซ้ำได้นานโดยที่ไม่ต้องทำลายระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตดั้งเดิม ดังนั้นกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือควรเรียนรู้จากดีไซน์เนอร์ ผู้ค้าเสื้อผ้ามือสอง ไมทัมบา พนักงานเก็บขยะและรีไซเคิลในแอฟริกาตะวันออกซึ่งเป็นกลุ่มคนที่แสดงให้เราเห็นแล้วว่าเราควรต้องดูแลเสื้อผ้า ให้คุณค่ากับสิ่งทอที่อยู่ในระบบนี้อยู่แล้ว เพราะหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้วงการสิ่งทอยั่งยืนคือการที่เราไม่จำเป็นต้องผลิตขึ้นใหม่เสมอไป

อ่านรายงาน: ของขวัญอาบยาพิษ : เปิดโปงการทิ้งขยะสิ่งทอสู่กลุ่มประเทศซีกโลกใต้ผ่านธุรกิจเสื้อผ้ามือสอง ฉบับเต็มได้ที่นี่