ในสถานการณ์ Covid-19 เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการพลิกโลกขนานใหญ่ ย้อนกลับไปก่อนหน้าสัก 1-2 ปี คนไทยตื่นตัวเรื่องมลพิษพลาสติกกันอย่างมาก จนนำไปสู่การเกิด Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) จับมือโมเดิร์นเทรด เลิกแจกถุงพลาสติกให้ลูกค้าถาวร ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา ในขณะที่ตลาดสด ร้านขายของชำ รัฐขอความร่วมมือขยับปรับตัวตาม ตั้งเป้าเลิกใช้ทั่วไทย 1 มกราคม 2564 พร้อมดันกฎหมายบังคับใช้ควบคู่การประชาสัมพันธ์ นับเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทยในการต่อกรกับมลพิษพลาสติกในประเทศไทย

เนื้อหาโดยสรุป

  • ก่อนสถานการณ์ไวรัสโควิดระบาด ประเทศไทยตื่นตัวเรื่องปัญหาขยะพลาสติกอย่างมาก และกำลังขยายออกไปสู่ผู้คนในวงกว้าง หลังจากมี Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ออกมา และมีแนวโน้มว่ากำลังมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต
  • การที่ประชาชนต้องกักตัวในบ้าน/ที่พักของตน ส่งผลให้เกิดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวนมากขึ้น ยอดคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในแอปพลิเคชันหนึ่งในบางหมวดหมู่เพิ่มขึ้นถึง 12 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ในเมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจะกลายเป็น ‘วิกฤตแห่งความสะดวกสบาย’ ดังนั้น รัฐบาลต้องทบทวน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ที่มุ่งไปสู่การลดปริมาณขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้งให้เหลือศูนย์
  • จนกระทั่งเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 มาตรการในการลดการแพร่ระบาดไวรัสในช่วงแรกที่ทำให้ประชาชนต้องอาศัยอยู่เฉพาะในบ้านมากขึ้น รวมทั้งข้อบังคับที่ร้านต่าง ๆ ให้บริการได้เฉพาะบริการซื้อกลับบ้านเท่านั้น เพื่อลดการแพร่กระจายของไวรัส ในช่วงกลางเดือนเมษายน จากผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 700 คน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร พบว่าร้อยละ 62 มองว่าพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นสิ่งจำเป็น ร้อยละ 54 สั่งอาหารจากบริการฟู๊ดเดลิเวอรี่และซื้ออาหารกลับบ้านมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่ร้อยละ 47 สั่งสินค้าออนไลน์มากขึ้น
  • หลัก 7R ยังคงเป็นหลักการที่ทำหน้าที่ได้ดีเพื่อย้ำเตือนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนอย่างพวกเราให้ตระหนักรู้เท่าทันการจับจ่ายซื้อสินค้าของตนเอง และมองหาสิ่งอื่นก่อนการตัดสินใจกดสั่งซื้อสินค้าทุกครั้ง และถ้าผู้บริโภคสามารถลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งไปตามลำดับความสำคัญคือ Reduce, Reuse, Refill, Return, Repair/Repurpose, Replace และ Recycle

ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปด้วยดี จนกระทั่งเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 มาตรการในการลดการแพร่ระบาดไวรัสในช่วงแรกที่ทำให้ประชาชนต้องอาศัยอยู่เฉพาะในบ้านมากขึ้น รวมทั้งข้อบังคับที่ร้านต่าง ๆ ให้บริการได้เฉพาะบริการซื้อกลับบ้านเท่านั้น เพื่อลดการแพร่กระจายของไวรัส ด้านประชาชนเองก็พยายามปกป้องตัวเองโดยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะใช้ซ้ำแล้วหันมาใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งแทน สอดคล้องกับผลการสำรวจออนไลน์ของสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (Institute of Public Policy and Development – IPPD) ในช่วงกลางเดือนเมษายน จากผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 700 คน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร พบว่าร้อยละ 62 มองว่าพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นสิ่งจำเป็น ร้อยละ 54 สั่งอาหารจากบริการฟู๊ดเดลิเวอรี่และซื้ออาหารกลับบ้านมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่ร้อยละ 47 สั่งสินค้าออนไลน์มากขึ้น  

กิจกรรม เก็บ สังเกต บันทึก รู้จักที่มาของขยะผ่านแบรนด์. © Baramee  Temboonkiat / Greenpeace
ขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งเก็บได้จากดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ในกิจกรรม เก็บ สังเกต บันทึก รู้จักที่มาของขยะผ่านแบรนด์ ของกรีนพีซประเทศไทย ในปี 2562 © Baramee Temboonkiat / Greenpeace

เราจึงได้เห็นปริมาณขยะจากการบริโภคของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก มีข้อมูลระบุว่า ขยะจากบริการส่งอาหาร ประกอบด้วยถุงพลาสติก กล่องพลาสติก และพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ช้อน ส้อม ไม้จิ้ม เพิ่มขึ้น 15% จาก 1,500 ตันต่อวันเป็น 6,300 ตันต่อวัน รายงานข่าวยังระบุด้วยว่าปริมาณขยะพลาสติกซึ่งเดิมอยู่ในราว 2 ล้านตันต่อปี ได้เพิ่มขึ้นอีก 30% และเมื่อขยะส่วนใหญ่ปนเปื้อนเศษอาหารและไม่มีการแยกขยะที่เหมาะสม ในที่สุดวัสดุเหลือใช้ทั้งหลายก็จะถูกนำไปสู่หลุมฝังกลบ  

แล้วเราในฐานะผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง?

หลักการ 7R กับความท้าทายในการบรรเทามลพิษพลาสติกที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างสูงในอนาคต

หลัก 7R ประกอบด้วย Reduce ลดใช้, Reuse ใช้ซ้ำ, Refill การเติม, Return การคืน, Repair/Repurpose การซ่อมแซม/การเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งาน, Replace การแทนที่ และ Recycle รีไซเคิล ยังคงเป็นหลักการที่ทำหน้าที่ได้ดีเพื่อย้ำเตือนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนอย่างพวกเราให้ตระหนักรู้เท่าทันการจับจ่ายซื้อสินค้าของตนเอง และมองหาสิ่งอื่นก่อนการตัดสินใจกดสั่งซื้อสินค้าทุกครั้ง และถ้าผู้บริโภคสามารถลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งไปตามลำดับความสำคัญคือ Reduce, Reuse, Refill, Return, Repair/Repurpose, Replace และ Recycle เราจะพบว่ามีขยะเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่ถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบใกล้บ้านเรา ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดมลพิษพลาสติกให้อยู่ภายใต้หลักการ 7R ยังเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ก็คือการลดขยะให้มากที่สุด และใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดจนมีขยะไปสู่หลุมฝังกลบน้อยที่สุด ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเศรษฐกิจแบบเส้นตรงในปัจจุบันที่นำทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่มักจะใช้เพียงครั้งเดียวทิ้งเลย ตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ

1.Reduce การลดใช้

ถือเป็นขั้นตอนที่ช่วยลดมลพิษพลาสติกได้มากที่สุด คือ การลด การหันมาลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งให้มากที่สุดเท่าที่เราทำได้ อาจทำโดยการลองคำนวณก่อนซื้อสินค้าว่า ในสินค้านี้มีพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งกี่ชิ้นและเราสามารถลดใช้พลาสติกตรงส่วนไหนได้บ้าง ตัวอย่างผู้ประกอบการที่ยังคงมุ่งมั่นลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในช่วงสถานการณ์ไวรัสระบาด โดยหันมาใช้ภาชนะใช้ซ้ำสำหรับบริการจัดส่งอาหารอย่าง “เคี้ยวเขียว” ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของคนธรรมดาที่พยายามลดใช้พลาสติกให้มากที่สุดและยังคงดำเนินธุรกิจในสถานการ์แบบนี้ได้ เมื่อลูกค้าสั่งอาหารแล้ว ทางร้านจะจัดส่งด้วยกล่องถนอมอาหาร มีฝาล็อค ใช้ซ้ำได้ ไม่เกิดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ ให้แก่ผู้ที่ต้องกักตัวอยู่บ้านและต้องการสั่งอาหารมารับประทานโดยไม่สร้างขยะเพิ่ม นอกจากนี้เรายังสามรถลดใช้ไมโครบีดส์ ซึ่งเป็นไมโครพลาสติกชนิดหนึ่งที่มาในรูปแบบเม็ดสครับได้ โดยการนำสิ่งที่มีในครัว เช่น ขมิ้น มะขาม น้ำมันมะพร้าวมาขัดผิดแทน ซึ่งเป็นสครับจากธรรมชาติไม่ก่อให้เกิดไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม 

2.Reuse การใช้ซ้ำ

การใช้ซ้ำถือเป็นการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างคุ้มค่าโดยนำสิ่งที่มีมาใช้ซ้ำอยู่เสมอจนมันหมดอายุการใช้งาน เช่น ขวดแก้วที่เคยเป็นขวดเครื่องดื่มนำไปเป็นกระถางต้นไม้ เป็นต้น หรือจะใช้วิธีการ upcycling ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ของใช้ที่เรามี เช่น นำเสื้อยืดตัวเก่ามาปักเป็นลายให้สวยงาม, นำกระดาษหน้าเดียวมาเย็บเป็นสมุดจดงาน เป็นต้น

เรามีกลุ่มเพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนไอเดียใช้ซ้ำ ทำเอง สามารถเข้าร่วมได้ที่ FB group สถานี DIY – MAKE SMTHNG Buy Nothing 

Buy Nothing Group Action Day in Hamburg. © Bente Stachowske / Greenpeace
Water Pad หรือสำลีเช็ดเครื่องสำอางค์ใช้ซ้ำ ในงาน Make Smthng กรีนพีซรณรงค์ให้เราประดิษฐ์สิ่งของที่ใช้ซ้ำได้
เพื่อลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง © Bente Stachowske / Greenpeace

3.Refill นำภาชนะไปเติม  

การรีฟิลจัดเป็นอีกสิ่งที่ช่วยให้เราลดพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี ในแต่ละวันเราจับจ่ายซื้อสินค้ากันโดยอาจลืมไปว่า นอกเหนือจากสินค้าที่เราได้รับแล้ว เรายังได้ขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกด้วย ซึ่งจากการสำรวจแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกของกรีนพีซเมื่อปีที่แล้วพบบรรจุภัณฑ์อาหารตกค้างในสิ่งแวดล้อมกว่าร้อยละ 90 ดังนั้น การนำภาชนะใช้ซ้ำที่เรามีอยู่ไป “เติม” จึงดีกว่าการ “ซื้อใหม่” ที่จะได้ขยะพลาสติกกลับมาด้วย  

ขณะนี้มีผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายเริ่มขายของอุปโภคบริโภคที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์แล้ว ลองอ่านแนวคิดของร้าน Better Moon x Refill Station  

4.Return การส่งคืน

การคืน คือ การนำบรรจุภัณฑ์กลับสู่ผู้ผลิต โดยที่ผู้ผลิตนั้น ๆ เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วแทนขวดพลาสติก เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถคืนขวดให้แก่ผู้ผลิตเพื่อให้เขานำไปผ่านกระบวนการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ และนำกลับมาใช้ใหม่ ตอนแยกขยะ เราจึงควรแยกขวดแก้วไว้ต่างหากเพื่อที่ขวดจะไม่ไปปะปนกับขยะประเภทอื่นจนยากแก่การรีไซเคิล สิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราทำได้ซื้อเครื่องดื่ม/สินค้าจากผู้ผลิตที่รับคืนขวดแก้ว/ภาชนะเพื่อนำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อแล้วหมุนเวียนมาใช้ต่อได้ กรีนพีซได้พูดคุยกับเจ้าของร้านปลูกปั่น แบรนด์น้ำปั่นผักผลไม้ห้าสีเพื่อสุขภาพจากสวนเกษตรอินทรีย์ที่ใช้ขวดแก้วเป็นบรรจุภัณฑ์และนำไปส่งให้ลูกค้าทุกเช้าและรับกลับในภายหลัง โดยร้านปลูกปั่นสามารถลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งไปได้กว่า 70,000 – 80,000 ใบต่อไป 

5.Repair การซ่อมแซม

การซ่อมแทนซื้อใหม่ ในปัจจุบันที่สินค้าราคาถูกลงและมีโปรโมชั่นลดราคาสินค้าอยู่ตลอดทั้งปี ทำให้ผู้บริโภคมองว่าการซื้อใหม่นั้นง่ายกว่าการซ่อม ทั้ง ๆ ที่การซ่อมอาจจะช่วยให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาได้มาก เราแนะนำให้ทุกคนมีทักษะเย็บปักถักร้อยไว้ การปักผ้าในปัจจุบันมีหลายแบบมาก ไม่แน่ว่าการปักเพื่อซ่อมเสื้อที่ขาดอาจดูสวยงามกว่าซื้อใหม่อีก หรือการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า บางครั้งอาจแค่ซื้ออะไหล่มาเปลี่ยน ไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งหมดก็ได้ ลองเข้าไปศึกษาดูที่เว็บไซต์ ifixit.com ที่แนะนำวิธีการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างละเอียดพร้อมภาพประกอบด้วย การซ่อมถือเป็นการยืดอายุการใช้งานของที่เรามีแทนการปล่อยทิ้งกลายเป็นขยะทั้ง ๆ ที่มันยังมีอายุการใช้งานที่ดีอยู่    

MAKE SMTHNG Week Event in Bangkok. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
กิจกรรม Make Smthng มีกิจกรรม Workshop สอนการทำกระเป๋าผ้าจากผ้าใบเก่า © Wason Wanichakorn / Greenpeace

6.Replace การแทนที่

การแทนที่ คือ การนำทางเลือกอื่นมาใช้แทนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น แปรงสีฟันด้ามไม้ไผ่แทนแปรงสีฟันด้ามพลาสติก ไหมขัดฟันจากไหมธรรมชาติแทนไหมขัดฟันแบบพลาสติก สบู่ก้อนแบบไม่ห่อหุ้มบรรจุภัณฑ์แทนสบู่ในขวดบรรจุภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วงไวรัสโควิดระบาด เรายังได้เห็นผู้ประกอบการร้านอาหาร/ร้านขนมหวานหลายรายนำวัสดุจากธรรมชาติมาใช้แทนบรรจุภัณฑ์พลาสติก เช่น ใบบัวห่ออาหาร เข่งปลาทูมาใช้แทนภาชนะ เป็นต้น การ “แทนที่” อาจจะยังก่อให้เกิดขยะอยู่บ้าง แต่มันก็ดีกว่าการใช้พลาสติกแล้วทิ้ง หันมาเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติที่มั่นใจว่าย่อยสลายได้ตามธรรมชาติแทนการใช้วัสดุพลาสติก 

7.Recycle

การรีไซเคิลหรือการหมุนเวียนมาใช้ใหม่ อาจเป็นข้อที่คนไทยเคยได้ยินกันมาบ้าง และทราบกันดีว่า ประเทศไทยมีสถิติการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์น้อยมาก ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษเผยว่า ในปี 2561 มีขยะพลาสติกเพียง 500,000 ตันเท่านั้นที่เข้าสู่ระบบรีไซเคิล จากขยะทั้งหมด 27.8 ล้านตัน และมีขยะนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกต้องถึง 7.15 ล้านต้น ซึ่งทำโดยการเทกองและเผากลางแจ้ง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้มากว่าขยะเหล่านั้นกำลังตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม 

Plastic-Free Shopping Practices in Mangwon Market, Seoul. © Jung Park / Greenpeace
มีตลาดทางเลือกที่ให้ผู้คนนำภาชนะของตัวเองมาจับจ่ายใช้สอย ซื้ออาหารสด เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก © Jung Park / Greenpeace

ถ้าเราลองท้าทายตนเองโดยการเริ่มจากการลดใช้ ใช้ซ้ำ นำภาชนะที่มีอยู่ไปเติมที่ร้านค้าแบบเติม แล้วยังเลือกซื้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วซึ่งสามารถส่งคืนผู้ผลิตให้กลับไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อแล้วนำมาใช้ใหม่ได้ สิ่งของที่ซื้อมาแล้วเราก็ซ่อมแซมจนหมดอายุการใช้งาน และเลือกหาทางเลือกอื่นที่เป็นวัสดุธรรมชาติแทนการใช้พลาสติก และสุดท้ายคือการรีไซเคิลที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน เราไม่อาจทราบว่า ขยะที่เราทิ้งไปจะถูกนำไปรีไซเคิลหรือไม่ เพราะการรีไซเคิลมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การเก็บรวบรวมขยะชนิดนั้นๆ เครื่องจักร และกฏหมายร่วมด้วย ดังนั้น ถ้าเราลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภายใต้ 6R ข้างต้นแล้ว เราก็สามารถมั่นใจได้ว่า เรามีส่วนช่วยลดมลพิษพลาสติกได้อย่างมาก และอาจมีขยะเพียงจำนวนเล็กน้อยมาก ๆ ที่ต้องไปอยู่ในหลุมฝังกลบและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับการหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนตามคำนิยามของสหประชาชาติ