ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ธนาคารโลกชี้ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียนและมีแนวโน้มว่าจะใช้เวลาฟื้นตัวยาวนานราว2ปีเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ยังมีการประมาณการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ด้วยว่าจะเกิดภาวะการว่างงานยาวต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 โดยคาดว่าจะมีแรงงานตกงานเฉลี่ยปีละราว 3 ล้านคน
ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เข้าขั้นวิกฤต ทำให้นับจากนี้การใช้จ่ายงบประมาณของแผ่นดินจึงมีความหมายต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยิ่งยวด และครอบคลุมการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรมเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนในสังคมที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยภาระหนี้ของประเทศที่มีอย่างต่อเนื่องบวกกับสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีก รัฐบาลได้อนุมัติกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจราว 4 แสนล้านบาทเพื่อดำเนินมาตรการด้านการคลังในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจและทุนหมุนเวียนของคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบงบประมาณของกองทัพเรือในรายการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ ในวงเงิน 22,500 ล้านบาท
ในที่นี้ จะเปรียบเทียบให้เห็นว่า หากเราใช้งบประมาณซื้อเรือดำน้ำมาลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป สังคมไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง
เรือดำน้ำ 2.25 หมื่นล้าน = ระบบโซลาร์รูฟท็อปราว 375,000 หลังคาเรือนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ
ในวงเงินงบประมาณ 2.25 หมื่นล้าน เราสามารถนำมาลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาด 1.5 กิโลวัตต์ ให้กับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยได้ 375,000 ครัวเรือน หรือโดยเฉลี่ยใช้เงินลงทุน 60,000 บาทต่อหลังคาเรือนและมีระยะเวลาการคืนทุน 5.77 ปี การลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปดังกล่าวนี้จะทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้า 500 เมกะวัตต์ในระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ในขณะที่ แต่ละครัวเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เองประมาณ 225 หน่วยต่อเดือนหรือคิดเป็นค่าไฟฟ้า 855 บาทต่อเดือน ไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้งานสามารถขายคืนให้การไฟฟ้าฯ เพื่อเป็นรายได้เสริมของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยได้ในระยะยาว
เรือดำน้ำ 2.25 หมื่นล้าน = ระบบโซลาร์รูฟท็อปสำหรับโรงพยาบาลของรัฐ 8,170 แห่งทั่วประเทศ
โดยใช้เงินรวมกัน 7,450 ล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของงบประมาณซื้อเรือดำน้ำ เราสามารถนำมาลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้กับโรงพยาบาล 8,170 แห่ง โดยแบ่งเป็นระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาด 1,000 กิโลวัตต์ สำหรับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 120 แห่ง ระบบโซลาร์รูฟท็อป 1,000 กิโลวัตต์ สำหรับโรงพยาบาลอำเภอ 800 แห่ง และระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาด 5 กิโลวัตต์ สำหรับโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพระดับตำบล 7,250 แห่ง
ระบบโซลาร์รูฟท็อปที่ติดตั้งสำหรับโรงพยาบาล 8,170 แห่ง จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 236 เมกะวัตต์ในระบบ โดยจะช่วยให้โรงพยาบาลประหยัดงบประมาณได้ทั้งหมด 1,638 ล้านบาทต่อปี และคืนทุน ได้ภายในเวลา 4.55 ปี
เรือดำน้ำ 2.25 หมื่นล้าน = ระบบโซลาร์รูฟท็อปสำหรับโรงเรียนของรัฐ 31,021 แห่ง
ในวงเงินงบประมาณ 2.25 หมื่นล้าน เราสามารถนำมาลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปสำหรับโรงเรียนของรัฐ 31,021 แห่ง โดยแบ่งเป็นระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาด 100 กิโลวัตต์ สำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ 720 แห่ง ระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาด 100 กิโลวัตต์ สำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่ 1,982 แห่ง ระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาด 30 กิโลวัตต์ สำหรับโรงเรียนขนาดกลาง 12,933 แห่ง และระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาด 5 กิโลวัตต์ สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก 15,368 แห่ง
การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปสำหรับโรงเรียน 31,021 แห่ง ดังกล่าวนี้ จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 735.12 เมกะวัตต์ โดยจะช่วยให้โรงเรียนประหยัดงบประมาณและมีรายได้เพิ่มทั้งหมด 5,098 ล้านบาทต่อปี และสามารถคืนทุนได้ภายในเวลา 4.48 ปี
ถึงเวลาปฎิวัติพลังงานบนหลังคา
ในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา กรีนพีซ ประเทศไทย กองทุนแสงอาทิตย์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธินโยบายสุขภาวะ นำเสนอรายงาน ปฎิวัติพลังงานบนหลังคา ข้อเสนอเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนและเป็นธรรมผ่านระบบโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทย (พ.ศ.2564-2566)
เพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ในสังคมไทยโดยการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปสำหรับ 1 ล้านครัวเรือนที่มีรายได้น้อย โรงพยาบาลของรัฐ 8,170 แห่ง และโรงเรียนของรัฐอีก 31,021 แห่งทั่วประเทศ การปฏิวัติพลังงานบนหลังคานี้จะใช้เงินลงทุนรวม 90,273 ล้านบาท ภายในเวลา 3 ปี (พ.ศ.2564-2566) ด้วยมาตรการ Net Metering
การลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปดังกล่าวจะทำให้มีกำลังผลิตติดตั้งในระบบไฟฟ้า 2,471 เมกะวัตต์ ประหยัดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน โรงพยาบาล และโรงเรียน 17,139 ล้านบาทต่อปี เกิดการจ้างงานมากกว่า 50,000 ตำแหน่ง
หากประเมินว่าประเทศไทยจะใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแทนดังกล่าวข้างต้นจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ประมาณ 4.52 ล้านตันต่อปี และลดการปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx)ซึ่งเป็นคู่หูตัวร้ายของ PM2.5 ลงประมาณ 10,098 ตันต่อปี
กรีนพีซ ประเทศไทย เห็นว่า การฟื้นฟูสังคมไทยหลังวิกฤต Covid-19 ที่ยั่งยืนและเป็นธรรมต้องให้ความสำคัญกับนโยบายสาธารณะที่สร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไทยให้มีศักยภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและฉับพลัน ทบทวนยกเลิกนโยบายที่เอื้อต่อกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่นำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อม อนาคตของประเทศไทยต่อจากนี้ไปต้องอยู่บนฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างจริงจังโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ร่วมผลักดันให้รัฐบาลนำงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เพื่อลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ 1 ล้านครัวเรือน โรงพยาบาล 8,170 แห่ง และโรงเรียน 31,021 แห่งทั่วประเทศด้วยมาตรการ Net Metering ได้ที่นี่

เราทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอากาศสะอาดและต้องการให้รัฐบาลกำหนดนโยบายที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องชีวิตผู้คนจากมลพิษทางอากาศ ร่วมผลักดันกรมควบคุมมลพิษเพื่อยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่ เพื่อปกป้องสุขภาพของคนไทย
มีส่วนร่วม