เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่กรีนพีซใช้ปฏิบัติการตรงที่ไร้ความรุนแรง(non-violent direct action) โดยเป็นทั้งยุทธวิธี หลักการและหนึ่งในคุณค่าหลักของการรณรงค์ เพื่อขัดขวางการทำลายสิ่งแวดล้อมและเปิดโปงอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมทั่วโลก
ในวาระครบรอบ 20 ปี กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมไปกับกระแสการประท้วงอย่างสันติวิธีในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยซึ่งสะท้อนถึงคำกล่าวที่ว่า “อำนาจจะไม่ยอมให้กับอะไรเลยหากปราศจากการเรียกร้อง” เราขอชวนคุณส่องดูส่วนหนึ่งของ “การประท้วงฉบับกรีนพีซ” ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา
แขวนแบนเนอร์เตือนผู้นำอาเซียน

2562 – นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซปีนบิลบอร์ดแขวนป้ายผ้าพร้อมข้อความ “นักการเมืองเอาแต่พูด ผู้นำลงมือแก้ปัญหาฝุ่นและมลพิษพลาสติก” เตือนผู้นำประเทศในอาเซียนที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ที่กรุงเทพฯ ให้ลงมือจัดการวิกฤตมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดนและมลพิษพลาสติกอย่างเร่งด่วน
ภาพวาดกลางทะเลตือโละปาตานี

2561 – ภาพวาดตัวละครหนังตะลุงบนผืนผ้าขนาด 30 x 30 เมตร ออกแบบโดยกลุ่มศิลปินในภาคใต้ นำไปจัดแสดงในทะเลบริเวณใกล้เกาะขามโดยเรือประมงราว 100 ลำ จากชุมชนสะกอม เทพา และสวนกง จังหวัดสงขลา พร้อมกับเรือเรนโบว์ วอริเออร์ของกรีนพีซ ข้อความบนผืนผ้า “ควน ป่า นา เล ควรหวงแหน” และเทใจให้ทะเล (Heart for Sea) คือ การประกาศเจตนารมย์ คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,000 เมกะวัตต์รวมถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกเพื่ออุตสาหกรรมที่จะนะ
นาฬิกาฝุ่น PM2.5 ถึงนายกรัฐมนตรี

2561 – นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซส่งมอบนาฬิกาทรายบรรจุฝุ่นที่เก็บรวบรวมจากพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ โดยนาฬิกาทรายเป็นสัญลักษณ์ถึงความเร่งด่วนของวิกฤตมลพิษทางอากาศที่รัฐบาลต้องลงมือทำในทันทีเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน
วิ่งทูน่ายื่น 7 แสนรายชื่อเพื่อมหาสมุทรและแรงงานประมง

2560 – นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซในชุดทูน่าวิ่งจากสนามกีฬาแห่งชาติไปยังสำนักงานใหญ่บริษัทไทยยูเนี่ยน เพื่อยื่นรายชื่อประชาชน680,000 คนทั่วโลกที่ต้องการเห็นไทยยูเนี่ยนซึ่งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในภาคการประมงโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานประมง
แบนเนอร์มนุษย์ “เลิกถ่านหิน”

2551 – อาสาสมัครกรีนพีซเข้าร่วมปฏิบัติการของชาวบ้านจากอำเภอทับสะแกหลายร้อยคนเพื่อจัดเรียงตนเองเป็นตัวอักษร QUIT COAL บนสนามหญ้าชายฝั่งทะเลอันเป็นที่ตั้งของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก ที่ดำเนินการโดยไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แบนเนอร์มนุษย์เป็นหนึ่งในรูปแบบการประท้วงนับไม่ถ้วนของชุมชนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เพื่อยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่งภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า จากการต่อสู้อย่างเข้มแข็งต่อเนื่องยาวนานของชุมชน ปัจจุบัน โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหลายได้ถูกยกเลิกไป
ผู้คนหลายร้อยเปลื้องผ้า!!! เพื่อท้าทายให้ไนกี้และอาดิดาส “ล้างสารพิษ”

2554 – เพื่อส่งข้อความไปถึงแบรนด์เสื้อผ้าให้เลิกใช้สารพิษ อาสาสมัครกรีนพีซ 33 คน ร่วมกันเต้นพร้อมถอดเสื้อผ้าออกทีละชิ้นในตลาดนัดจตุจักร เต้นเปลื้องผ้า Detox เกิดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก และสร้างสถิติการเปลื้องผ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และท้าทายอุตสาหกรรมเสื้อผ้ากีฬาอย่าง Adidas และ Nike ให้กำจัดสารพิษออกจากห่วงโซ่อุปทานและผลิตภัณฑ์
ยึดสายส่งไฟฟ้าเพื่อปฏิวัติพลังงาน

2548 – นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซจากทั่วโลกตั้งแคมป์บนโครงสร้างเสาสายส่งไฟฟ้าสูง 60 เมตร (หมายเหตุ : ยังไม่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าในขณะนั้น) เป็นเวลาสามวันสามคืน เพื่อประท้วงโครงการโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างในพื้นที่ถมทะเลนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
การตั้งแคมป์ยึดพื้นที่เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการรณรงค์ปฏิวัติพลังงานในเอเชียโดยเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ของกรีนพีซเพื่อส่งสารไปยังผู้นำโลกที่ร่วมการประชุมเจรจาสุดยอดโลกร้อนปี 2548 ที่เมืองมอลทรีออล แคนาดาให้ลงมือทำเพื่อกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ
โปรเจคเตอร์ส่งสารถึงผู้มีอำนาจ

2548 – ภาพฉายแสงเลเซอร์โปรเจคเตอร์ลงบนผิวน้ำบริเวณกลุ่มโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะ จ.ลำปาง กรีนพีซถ่ายทอดส่งสารนี้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ชมก่อนการประชุมเจรจาสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เมืองมอลทรีออล แคนาดา

2563 – นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซฉายโปรเจคเตอร์ #NoCPTPP ตามพื้นที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อคัดค้านรัฐบาลที่จะเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก
เก็บกวาดมะละกอจีเอ็มโอในแปลงเปิด

2547 – นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซในชุดป้องกันการปนเปื้อนทำการกั้นเขตพื้นที่ปลูกมะละกอจีเอ็มโอที่สถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่น เพื่อนำผลมะละกอที่เก็บจากต้นบรรจุลงในถังเก็บป้องกันการแพร่กระจาย
ในปี พ.ศ.2547 การตรวจสอบของกรีนพีซพบว่า การทดลองมะละกอจีเอ็มโอของกรมวิชาการเกษตรขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีฉบับวันที่ 3 เมษายน 2544 ที่ห้ามทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอทุกชนิดในระดับไร่นา กรีนพีซเรียกร้องผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอนแต่ไม่เป็นผล ขณะที่ กรมวิชาการเกษตรจำหน่ายจ่ายแจกเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ามะละกอที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอให้กับประชาชนกว่า 2,000 รายใน 37 จังหวัดทั่วประเทศ
กรมวิชาการเกษตรแจ้งความและดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่กรีนพีซ ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ขอนแก่นได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องเจ้าหน้าที่กรีนพีซ และระบุว่าปฏิบัติการของกรีนพีซคือการแสดงออกที่ชอบธรรม เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมจากมลพิษทางพันธุกรรม
ปฏิบัติการส่งคืน

2543 – อาสาสมัครกรีนพีซนำถังบรรจุเถ้าลอย(fly ash)จากกระบวนการผลิตของโรงงานเผาขยะที่ภูเก็ตและสมุยมาคืนหน้าสถานทูตญี่ปุ่นเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นพยายามส่งเสริมเทคโนโลยีอันตรายในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

2550 – นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซทิ้งมะละกอน้ำหนัก 3 คันรถบรรทุก ปิดทางเข้ากระทรวงเกษตรฯ กดดันรัฐบาลที่ต้องการปัดฝุ่นการทดลองจีเอ็มโอระดับไร่นาซึ่งเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่

2549 – นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซนำถ่านหินรวม 4 ตัน มาทิ้งหน้ากระทรวงพลังงาน เพื่อประท้วงนโยบายขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นซึ่งโยงกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
ปฏิบัติการ “ส่งคืน(Return-To-Sender)” เหล่านี้เป็นกลยุทธเพื่อเปิดโปงความอยุติธรรม (การพลิกกลับไปหาผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ) ที่กรีนพีซนำใช้ในงานรณรงค์ตามบริบทและสถานการณ์ต่างๆ ปฏิบัติการเหล่านี้ตั้งคำถามโดยตรงถึงพื้นฐานความเป็นธรรมและอำนาจ “ถ้าคุณทิ้งสารพิษให้กับชุมชนได้ เราก็นำกลับมาทิ้งให้คุณได้เช่นกัน”
แน่ล่ะ “ประท้วงฉบับกรีนพีซ” หาใช่คำตอบสำเร็จรูปของการจัดประท้วง กรีนพีซเชื่อว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม/สิ่งแวดล้อมที่อุบัติขึ้นใหม่ต่างมีพัฒนาการและนวัตกรรมของตนเอง หากได้เรียนรู้ร่วมกันท้ังในแง่ความสำเร็จและความล้มเหลว จุดแข็งและจุดอ่อน/หลุมพราง เมื่อนำมาประยุกต์เป็นยุทธวิธีเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ก็จะเป็นดังข้อคิดใน https://beautifultrouble.org ที่ว่า “คนทั้งหลายทั่วโลกลุกขึ้นสู้เพื่อต่อกรกับความเหลื่อมล้ำและหายนะทางนิเวศวิทยา มิใช่เพราะความจำเป็นต้องทำ หากเป็นเพราะพลังความคิดสร้างสรรค์ และจะไม่มีความหมายเลย หากเราไม่ลงมือทำ”

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้
มีส่วนร่วม