ที่ผ่านมาเราคุ้นชินกับวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้ง แต่ความจริงแล้ว วัฒนธรรม ‘การใช้ซ้ำ’ เกิดขึ้นทั่วโลกมาก่อนหน้านี้และไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ ‘พลาสติก’ ต่างหากที่เป็นเรื่องใหม่ เพราะมันเพิ่งถูกคิดค้นขึ้นมาเมื่อ 20 ปีที่แล้วนี้เอง และในช่วงเวลาสั้น ๆ นี้ มนุษย์เราถูกหว่านล้อมให้ใช้พลาสติกมากขึ้น ๆ เพราะมันส่งผลต่อผลกำไรที่เป็นเม็ดเงินมหาศาลที่กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่มองเห็น และโชคร้ายที่ปัจจุบัน การใช้พลาสติกและการใช้แล้วทิ้งก็กลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว

แบรนด์ใหญ่ ๆ อย่าง เนสท์เล่, ยูนิลีเวอร์, โคคา-โคล่า และเป๊ปซี่โค ยกเลิกวิธีการใช้ซ้ำในห่วงโซ่การผลิตของตัวเองหลังจากดำเนินธุรกิจในแนวทางนี้มาอย่างเนิ่นนาน โดยพวกเขามองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ตลาดผู้บริโภคในในขณะนั้นมีกระแสของการบริโภคนิยมเกิดขึ้น รวมถึงบริษัทผู้ผลิตปิโตรเคมีและกลุ่มบริษัทผู้ก่อมลพิษหลักยังเริ่มนำเสนอแนวทาง ‘การใช้แล้วทิ้ง’ อย่างหนักหน่วงในช่วงปี 1950-1959 อีกด้วย ด้วยกลยุทธ์การทำให้การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกลายเป็นเรื่องปกติและครอบงำแนวทางการบริโภคดังกล่าวเข้ามาแทนวิธีการใช้ซ้ำและการเติม

ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2019 กรีนพีซ สำนักงานฮ่องกงได้สำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตในฮ่องกง 56 แห่ง จาก 12 แบรนด์ และพบห้างสรรพสินค้าห่อผลิตภัณฑ์ด้วยพลาสติกโดยไม่จำเป็นมากกว่า 50% © Patrick Cho / Greenpeace

บริษัทเหล่านี้ต้องรับผิดชอบต่อมลพิษที่ก่อและต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจจากการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง เป็นการใช้ซ้ำและการเติม แน่นอนว่าพลังของผู้บริโภคก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะเรามีอำนาจในการเลือกซื้อและมีอำนาจในการกำหนดพฤติกรรมการบริโภคของเรา แต่ความพยายามจากผู้บริโภคกลุ่มเดียวยังไม่พอ แต่องค์กรเหล่านี้ต้องร่วมเปลี่ยนแปลงระบบทั้งหมดไปกับเราด้วย

ส่งเสียงถึง CP ลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

โดยรับผิดชอบขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ของตนเอง และไม่ทิ้งให้เป็นภาระจัดการแก่สิ่งแวดล้อม ชุมชน เทศบาล และหน่วยงานกำจัดขยะในท้องถิ่นที่กำลังแบกรับภาระการจัดการขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอยู่

ร่วมลงชื่อ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ทั่วโลกยังน่าเป็นกังวล แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่กำลังพัฒนาแนวทางการใช้ซ้ำและการเติมในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา พวกเขาเหล่านี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่รัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ จะเข้ามาศึกษานวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (มากกว่า) จากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาดังกล่าว

ในอินเดีย ประชาชนมีระบบบริการการส่งอาหารโดยใช้กล่องอาหารกลางวันหรือปิ่นโต เรียกว่า ดับบาวัลลา ( Dabbawalla) ระบบนี้เป็นที่นิยมในหมู่ชาวอินเดียมานาน รวมถึงระบบการเสิร์ฟอาหารในวัดซิกข์หลายแห่ง โดยใช้ถ้วยและจานโลหะที่เรียกว่า ทาลี (thali) ให้กับคนกว่าหลายพันคนในหนึ่งวัน

หรือในทวีปแอฟริกาที่บางแห่งมีกฎหมายห้ามผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และยังส่งเสริมการใช้ซ้ำและการเติมที่เป็นนวัตกรรมใหม่ 

ทางฝั่งลาตินอเมริกาก็มี ประเทศชิลีที่เพิ่งผ่านข้อบังคับที่แบรนด์จะต้องโปรโมทการนำขวดมาใช้ซ้ำและเติมได้ ควบคู่ไปกับต้องเปิดให้มีการขายขวดที่ส่งคืนได้ โมเดลนี้ประสบความสำเร็จในบราซิลมาแล้วจากการที่ Coca-Cola เปิดรับการขายขวดคืน การส่งขวดคืนเพื่อเติมตั้งแต่ปี 2018 

นอกจากนี้ ยังมีหลายประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ก็ทดลองนำโมเดลธุรกิจการใช้ซ้ำมาปรับใช้เพื่อเป็นทางออกในอนาคต อย่างในฟิลิปปินส์ มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการลดขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) เพิ่มมากขึ้น โดยมีร้านค้าที่เรียกว่า Wala-Usik ซึ่งก็คือร้านในรูปแบบโชห่วยของไทย แต่ร้าน แนว Wala-Usik เหล่านี้จะขายผลิตภัณฑ์ที่เราสามารถเอาบรรจุภัณฑ์ไปเติมได้นั่นเอง  คนฟิลิปปินส์มีวัฒนธรรมการซื้อของแบบหนึ่งที่เรียกว่าทิงกิ ( tingi culture ) หรือพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าในปริมาณเล็กน้อยและมักใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นประจำ คำว่า “Wala-Usik” จึงกลายเป็นวลีที่กล่าวถึงการเคลื่อนไหว Zero-waste ที่เน้นการนำกลับมาใช้ซ้ำในยุคปัจจุบัน มีความหมายว่า “ไม่มีอะไรเสียเปล่า” ในภาษาเซบู

ร้านขายผลิตภัณฑ์แบบ Zero-Waste ในโจฮันเนสเบิร์ก ร้านประเภทนี้เป็นร้านขายของชำที่เป็นมิตรกับโลกโดยนำเสนอประสบการณ์การชอปปิงที่ปราศจากพลาสติกให้กับลูกค้า © Philip Schedler / Greenpeace

โมเดลที่ยั่งยืนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากำลังเป็นผู้นำในการปฏิวัติระบบการนำกลับมาใช้ซ้ำและการเติม ซึ่งเป็นระบบที่ทันสมัย พารากราฟถัดไปนี้ กรีนพีซได้พบผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวประเด็นนี้ ซึ่งมีทั้งผู้นำ ผู้เรียนรู้ และผู้ร่วมมือ

1. เคนยา : กลุ่ม Join The Pipe

Join The Pipe คือกลุ่มขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน โดยการผลักดันให้ภาครัฐและอุตสาหกรรมน้ำดื่มในเคนยาต้องสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้อย่างเท่าเทียมและสนับสนุนให้ประชาชนสามารถนำขวดใช้ซ้ำมาเติมน้ำสะอาดได้

ไม่นานมานี้รัฐบาลเคนยาเข้าร่วมกับกลุ่มประเทศเครือข่ายที่มีมาตรการแบนการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งบางชนิด อย่างเช่นประเทศรวันดา อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะแสดงให้เห็นว่ามุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาพลาสติกในเชิงนโยบาย แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่ให้คำมั่นสัญญาด้านการจัดการปัญหาพลาสติกในเชิงนโยบาย เห็นได้ชัดจากการเน้นที่การแก้ปัญหาในกลุ่มผู้บริโภคแทนที่จะเป็นกลุ่มผู้ก่อมลพิษพลาสติก

นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด จึงเป็นการบังคับให้พวกเขาต้องซื้อน้ำบรรจุขวดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งและต่อมาขวดเหล่านี้ก็กลายเป็นปัญหาขยะพลาสติก นำไปสู่ปัญหาอื่นๆอีกมากมาย เช่น ปัญหาขยะที่ล้นเกินเนื่องจากศักยภาพการกำจัดขยะภายในเมืองที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ดังนั้นเพียงแค่การแบนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกบางประเภทโดยไม่ได้มองให้ลึกถึงปัญหาที่แท้จริงอาจทำอะไรไม่ได้ และสิ่งที่เกิดขึ้นยังไม่ได้เป็นเพียงปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่ยังเป็นปัญหาด้านความเป็นธรรมอีกด้วย

รัฐบาลและองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องมีความร่วมมือกัน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งจะต้องสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาด และมีทางเลือกให้ประชาชนสามารถใช้ขวดแบบใช้ซ้ำที่สามารถเติมได้ตามห้างร้านต่างๆ ด้วย 

เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากที่ชุมชนต้องมีน้ำที่สะอาดและสุขภาพที่ดีขึ้น เพื่อให้สังคมโลกน่าอยู่สำหรับเราทุกคน ดังนั้นมาตรการที่ ‘ขอความร่วมมือ’ ด้วยความสมัครใจ โดยปกติแล้วมักไม่ได้ผลหาก “ผู้ที่ให้ความร่วมมือ” ยังเห็นผลประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับเป็นหลัก

2. โคลอมเบีย : สตาร์ทอัพ Mottainai Refill

กลุ่มผู้ประกอบการ Startup ในโคลอมเบีย ขับเคลื่อนแนวคิดร้านขายของที่ให้ลูกค้าสัมผัสการชอปปิงแบบไร้พลาสติก รวมถึงผลักดันโมเดลธุรกิจดังกล่าวในเชิงนโยบาย เพื่อให้ภาครัฐสนับสนุนการลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวมากขึ้น

Mottainai คือบริษัทสตาร์ทอัพในโคลอมเบีย ที่มีเป้าหมายลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยรูปแบบธุรกิจของ Mottainai คือ ลูกค้าสามารถนำภาชนะส่วนตัวมาเติมผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนหรือผลิตภัณฑ์สุขอนามัยแล้วชั่งน้ำหนักและจ่ายเงินตามปริมาณได้ ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคสามารถนำภาชนะพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำได้ยาวนานมากขึ้น

แนวคิดในการมีระบบการใช้ซ้ำและการเติมนั้นเป็นสิ่งสำคัญในโคลอมเบีย เพราะหากมีบ้านเรือนที่เข้าร่วมระบบการใช้ซ้ำและการเติมบ่อยมากขึ้น ก็จะสามารถลดการฝังกลบขยะมูลฝอยได้ ซึ่งส่งผลดีต่อมหาสมุทร และระบบนิเวศบนโลก

ในโคลอมเบีย เครือข่ายปกป้องสิ่งแวดล้อมต่างต้องการกฎหมายสนับสนุนโมเดลการนำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ หากมีกฎหมายมาสนับสนุนก็จะสามารถขยายแนวคิดการใช้ซ้ำแบบนี้ได้มากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้การขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้เข้ามาสนใจประเด็นนี้เท่าที่ควร ทำให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจให้บริการการใช้ซ้ำและการรีฟิลต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่ออยู่รอด พร้อม ๆ กับสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การสร้างความตระหนักรู้ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น นั่นคือการส่งต่อความรู้ แนวคิดการจัดการปัญหาขยะพลาสติกและการปกป้องสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจแนวคิดระบบการใช้ซ้ำและการเติมมากขึ้น อีกทั้งจะยังนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน

เรามีคำกล่าวในภาษาสเปนว่า “การจัดการขยะที่ดีที่สุด คือการไม่ปล่อยให้มีขยะเกิดขึ้น” นี่คือสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นในโคลอมเบีย การขยายระบบการนำกลับมาใช้ซ้ำที่สามารถนำขวดที่มีอยู่แล้วมาเติมผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดครั้งแล้วครั้งเล่าได้

3. มาเลเซีย : Tapauware

แบรนด์ Tapauware เปิดประสบการณ์การสั่งอาหารออนไลน์แบบไร้ขยะ เพียงแค่นำกล่องใส่อาหารของตัวเองมาวางตามจุดที่กำหนดเพื่อให้ร้านนำไปใส่อาหารที่สั่งไว้ และรอรับอาหารแสนอร่อยแบบไร้พลาสติกหน้าบ้านได้เลย

แบรนด์ Tapauware มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้บุกเบิกทางเลือกใหม่อย่างการนำภาชนะพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำในรูปแบบของธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารแบบไร้ขยะ ซึ่งลูกค้าสามารถสั่งอาหารออนไลน์ที่จัดส่งโดยTapauware จุดขายของธุรกิจนี้คือลูกค้าสามารถนำกล่องใส่อาหารของตัวเองมาให้แบรนด์เพื่อใส่อาหารได้ตามจุดที่กำหนด หลังจากนั้นก็รอให้อาหารที่สั่งส่งมาถึงคุณที่หน้าประตูบ้าน

เรียกได้ว่า โมเดลธุรกิจของTapauwareมีความท้าทายมาก เพราะธุรกิจประเภทนี้ต้องพึ่งพาความพยายามที่อยากจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค จากการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง ไปเป็นการใช้ซ้ำและการเติม โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นที่ยังไม่มั่นใจกับระบบนี้เท่าไหร่นัก เนื่องจากไม่มีภาครัฐเข้ามาจัดระบบให้ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นเรื่องยากที่ให้ประชาชนเปลี่ยนวิถีชีวิตจากที่เคยชินกับการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง มาเป็นรูปแบบการใช้ซ้ำและเติม

ในขณะเดียวกัน เพราะขยะพลาสติกที่มีมากเกินกว่าจะกำจัดด้วยวิธีฝังกลบก็ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม กลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันครั้งใหญ่ในมาเลเซีย นอกจากนี้ยังไหลลงสู่ทะเลและกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล ด้วยเหตุนี้ ทางทีมงานของ Tapauware จึงมุ่งมั่นที่จะสำรวจโมเดลทางเลือกที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้งทดแทนพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อให้เป็นมิตรกับผู้คนและสิ่งแวดล้อม

มาเลเซียมีชายฝั่งที่กว้างใหญ่มาก แน่นอนว่าที่นั่นอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ  อย่างไรก็ตาม สถานที่อันล้ำค่านี้กำลังถูกมลพิษพลาสติกคุกคาม ซึ่งเราทราบกันดีว่า การแก้ปัญหามลพิษพลาสติกที่ต้นทางคือทางออกของปัญหา และเพื่อให้ระบบการใช้ซ้ำและเติมประสบความสำเร็จ เราเชื่อว่า ถ้าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจะเป็นแรงผลักดันต่อการสร้างแรงจูงใจต่อทางเลือกในการใช้พลาสติกซ้ำและเติมได้มากขึ้น รวมถึงการออกนโยบายยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

4. เวียดนาม : แบรนด์ Glassia

Glassia ธุรกิจ Startup ที่นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาดำเนินธุรกิจ โดยแบรนด์มีผลิตภัณฑ์น้ำสะอาดที่บรรจุในขวดแก้ว และหมุนเวียนแก้วเหล่านี้ร่วมกับชุมชนเพื่อให้ธุรกิจลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเป็นปัญหาด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและยังเป็นปัญหาเศรษฐกิจในเวียดนาม

แบรนด์ธุรกิจ Glassia เป็นแบรนด์ในประเทศเวียดนามที่มีนวัตกรรมที่มาจากแนวคิดการใช้ซ้ำ โดยปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตของตัวเองให้เกิดการหมุนเวียน รวมถึงยังเป็นระบบที่ปราศจากพลาสติกอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์คือน้ำดื่มคุณภาพดีที่บรรจุในขวดแก้วซึ่งนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งแบรนด์มีการวางระบบการจัดส่งและรวบรวมขวดที่ส่งคืนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อเวียนใช้ซ้ำ ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจแบบนี้ช่วยลดต้นทุนให้กับแบรนด์รวมถึงยังทำให้แบรนด์สามารถทำระบบใช้ซ้ำต่อไปได้เช่น ธุรกิจหมุนเวียนใช้ขวดน้ำในจังหวัดดานังได้ถึง 1 ล้านขวด ยิ่งไปกว่านั้นแบรนด์มีแผนที่จะขยายวิธีทำธุรกิจแบบนี้ไปทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้ (2022) ก็มีแผนที่จะตั้งโรงงานในโฮจิมินห์อีกด้วย

ด้วยรูปแบบการใช้ซ้ำและเติมที่ยังมีอยู่จำกัดในเวียดนาม แบรนด์เองก็มองว่าเป็นโอกาสที่จะบุกเบิกธุรกิจกับแนวคิดการหมุนเวียนขวดเพื่อใช้ซ้ำ อย่างไรก็ตาม Glassia ก็มีความท้าทายเช่น ค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่มีราคาสูงและยังมีองค์กรที่เข้ามาร่วมธุรกิจในวงที่จำกัด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโมเดลธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้อาจเติบโตได้ช้า แต่นักนวัตกรรมยังคงนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการของตัวเองอย่างไม่ลดละ

นอกจากนี้ ภูมิศาสตร์ของเวียดนามยังมีชายฝั่งทะเลที่ยาวกว่า 2,000 ไมล์  ซึ่งทำให้ประเทศต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและการประมงเป็นหลัก แต่ที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหาขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งรวมถึงปัญหาขยะอื่น ๆ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม อย่างปัญหาน้ำเสียเพียงแค่ปัญหาเดียวก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ และทำให้ประเทศสูญเสีย GDP ประมาณ 3.5% ทุก ๆ ปี ดังนั้น การเปลี่ยนไปใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะระบบการใช้ซ้ำหรือการเติมจะต้องได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้นและได้รับการพัฒนาในเวียดนาม

5. แอฟริกาใต้ : แบรนด์ Shop Zero

Shop Zero คือร้านค้าที่นำเสนอประสบการณ์การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และอาหารแห้งแบบไร้ขยะพลาสติก ด้วยแนวคิดที่ว่าพลังของผู้บริโภคจะมีพลังมากพอเพื่อโน้มน้าวแบรนด์ยักษ์ใหญ่ให้เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจมาเป็นแบบการใช้ซ้ำและการเติมมากขึ้น

แม้ว่าหลายคนอาจยังไม่รู้จัก ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ แต่ในเมื่อยังมีผู้คนจำนวนมากที่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ซึ่งแบรนด์ Shop Zero เชื่อว่าคนทั่วไปแบบเราก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้หากเรารวมกันโน้มน้าวให้แบรนด์ธุรกิจยักษ์ใหญ่เปลี่ยนได้ แน่นอนว่ากลุ่มบริษัทเหล่านี้ย่อมมีงบประมาณจำนวนมาก แต่พวกเขาเองก็ต้องเสียงบประมาณไปกับการกำจัดขยะของพวกเขาในปริมาณมหาศาลเช่นกัน ดังนั้น พวกเราจึงคาดหวังว่าธุรกิจยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะใช้งบประมาณที่มีอยู่ไปกับการค้นคว้าวิจัยเพื่อหาหนทางที่ดีกว่าในการเปลี่ยนตัวเองจากโมเดลธุรกิจเดิม

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกได้ และสุดท้ายแล้วมลพิษพลาสติกที่เราพบเจอปัจจุบันมักจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้เปราะบางซึ่งมีอำนาจในการต่อรองน้อยกว่า นั่นทำให้เราไม่สามารถไปคาดหวังให้เพียงแค่ผู้บริโภคแก้ไขปัญหานี้ด้วยการต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ภาครัฐ ผู้ผลิต และแบรนด์ต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนระบบไปจากการใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อให้ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งดียวทิ้ง ไปสู่การใช้ซ้ำและการเติมได้

สินค้าที่ Shop Zero มีจำหน่ายทั้งทางออนไลน์และหน้าร้าน ร้านมีสินค้าที่รับรองว่าลูกค้าต้องสนใจ! เพราะ Shop Zero ใช้พื้นที่ของตัวเองเป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่อยากใช้ชีวิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างเช่น หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าถุงชาก็มีส่วนประกอบของพลาสติกอยู่ ดังนั้นการมาซื้อใบชาด้วยบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำกับ Shop Zero ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงที่ดี

ทั้งนี้ บรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นและพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งที่ผู้บริโภคถูกบังคับให้ใช้ในทุกวันนี้ ทำให้คนตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นน้อยลงไป เพราะการทิ้งสิ่งของและซื้ออันใหม่ง่ายกว่าการคิดหาทางเลือกอื่น ๆ ที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ซึ่งนั่นทำให้สิ่งแวดล้อมของโลกเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ เราต้องไม่ลืมว่า เราไม่มีโลกใบที่สองหากโลกนี้ต้องเจอกับปัญหาสิ่งแวดล้อมนับไม่ถ้วน

ทั้งนี้ บนข้อมูลจากฐานออนไลน์ The Living Landscape of Reusable Solutions database ยังแสดงให้เห็นว่ามีโครงการ ธุรกิจ Startup และสถาบันอีกมากมายที่ขับเคลื่อนการลดใช้พลาสติก นอกเหนือจากที่เราได้นำเสนออีกด้วย ซึ่งเราสามารถติดตามโครงการดี ๆ ด้านการลดใช้พลาสติก การใช้ซ้ำและการเติม ได้ที่เว็บไซต์หรือติดต่อผ่านอีเมล [email protected]


นอกจาก 5 โปรเจคจาก 5 ประเทศข้างต้นแล้ว ในไทยเองก็ยังมีร้านที่ใช้แนวคิดของการใช้ซ้ำและการเติม เพื่อรณรงค์และเปิดประสบการณ์ให้กับลูกค้าในการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างของโมเดลธุรกิจที่ทำได้จริง อย่างเช่นธุรกิจเพื่อสังคม ‘Refill Station ปั๊มน้ำยา’ อีกด้วย

หนึ่งในจุดยอดนิยมของ Better Moon Cafe นั่นคือ ร้าน Refill Station

ที่ผ่านมาทีม Refill Station ทำงานหนักมากกับเป้าหมายการลดพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เช่นการทำงานกับผู้ผลิต ขวดแกลลอนที่เอาไว้เติม ทีมจะส่งคืนให้ผู้ผลิตเพื่อเติมน้ำยาแล้วส่งกลับมาให้ร้าน ทั้งนี้ทีมยังศึกษาเกี่ยวกับ ‘ตู้เติมน้ำยา’ ที่หวังว่าจะกระจายแนวคิดการลดพลาสติกออกไปให้ไกลมากยิ่งขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ Refill Station ยังขยายไปยังคาเฟ่อื่นๆ เช่น คาเฟ่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) เป็นต้น

ทีมผู้ก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม Refill Station ร้านเติมน้ำยาและของสารพัดแบบไม่ง้อพลาสติก

อ่านเรื่องราวของทีม Refill Station และร้านไร้พลาสติกในย่านอ่อนนุชนี้ได้ในบทความ ‘คำเตือน คาเฟ่นี้ห้ามพลาสติกเข้าร้านจ้า Better Moon x Refill Station’


หมายเหตุ ธุรกิจที่อยู่ในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้กับวิกฤตขยะพลาสติกทั่วโลกและการก้าวไปสู่ระบบการใช้ซ้ำและการเติม ซึ่งกรีนพีซไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงิน หรือรับโฆษณาให้กับแบรนด์

แครอไลน์ แว็กเนอร์ ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์ Plastic Free Future กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา

บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ

แปลโดย วุฒิรักษ์ กฤษณมิตร นักศึกษาฝึกงาน