การประกาศใบแดงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่าเรือถ่านหินและรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ทั้งสองฉบับของนายกรัฐมนตรี  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในด้านหนึ่งเป็นการถอยทางยุทธศาสตร์จากมติอัปยศของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เป็นการสะท้อนถึงความล้มเหลวของการจัดทำรายงาน EIA และ EHIA ครั้งแรกของประเทศไทยที่รัฐบาลยอมรับท่ามกลางการต่อสู้เพื่อปฎิรูปกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งมีการขับเคลื่อนมายาวนานกว่า5ปี(1) โดยที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐเพิกเฉยต่อข้อเสนอเหล่านั้นมาโดยตลอด

เมื่อพิจารณาเชิงลึกกระบวนการจัดทำรายงานEIA EHIA ของประเทศไทยจึงต้องมีการทบทวนมิใช่เพียงแต่กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างที่รัฐบาลกล่าวอ้างเท่านั้นแต่หมายถึงการยกเครื่องใหม่ของกระบวนการทั้งหมดนี้ต่างหากที่จะทำให้การจัดทำรายงานดังกล่าวอยู่บนข้อมูลที่เป็นจริง มีความเป็นธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้

Set Zero ต้องเริ่มต้นจากแผนพีดีพี

การเริ่มต้นใหม่หมายถึงกระบวนการจัดทำรายงานและผลบังคับใช้รายงานทั้งสองฉบับเป็นโมฆะและ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ต้องถอนรายงานฉบับดังกล่าวออกจากสารบบของสำนักนโยบาย

และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากรัฐบาลและกฟผ. จะจัดทำรายงานทั้งสองฉบับขึ้นมาใหม่นั้นต้องอยู่ภายใต้กรอบที่ต้องยึดบนหลักการปฏิบัติที่ต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนที่เสนอให้มีการปฏิรูประบบEIA EHIA และในที่สุดจะนำมาสู่การเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดของโครงการดังกล่าว

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือถ่านหินกระบี่ต้องเริ่มจากการรื้อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP)ใหม่ทั้งหมด เนื่องจากแผนพีดีพี2015ที่ใช้บังคับในปี2553-2573 ยังมีข้อบกพร่องหลักต่อไปนี้

1. ขาดความชอบธรรมและโปร่งใสในหลายประเด็น การเกิดขึ้นของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่เกิดมาจากแผนพีดีพีจำเป็นที่จะต้องทบทวน ซึ่งกระบวนจัดทำแผนพีดีพีมีการโต้แย้งเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมทุกฉบับที่ออกมาบังคับใช้เป็นแนวปฏิบัติในการจัดหาไฟฟ้าของประเทศ อาทิ การกำหนดสัดส่วนของคณะกรรมการจัดทำแผนพีดีพีที่เน้นหน่วยงานภาครัฐเป็นส่วนใหญ่แทนที่จะให้ หน่วยงานภาครัฐดังกล่าวทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นกลาง
2. การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่เกินจริง
3. การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละจังหวัดซึ่งจำเป็นต้องจัดทำแผนพีดีพีระดับจังหวัดก่อนเข้าสู่การจัดทำแผนพีดีพีระดับประเทศ
4. การผูกขาดอำนาจของกฟผ.ในการเป็นทั้งผู้จัดหาพลังงาน และเป็นผู้จัดทำแผนพีดีพี
5. ผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้กำหนดนโยบายพลังงานดำรงตำแหน่งในกลุ่มบริษัทพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล
สิ่งเหล่านี้เป็นความสำคัญระดับนโยบายประเทศที่รัฐบาลต้องล้มโต๊ะการผูกขาดอำนาจการจัดการพลังงานให้ได้ก่อน

การประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ระดับนโยบายพลังงานของประเทศ (SEA) ทางออกของห่วงโซ่ EIA EHIA

ตั้งแต่ประเทศไทยมีการริเริ่มการจัดทำแผนพีดีพีไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวที่การจัดทำการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ระดับนโยบายพลังงานของประเทศ  (SEA-Strategic Environmental Assessment) จะถูกนำมาใช้

การจัดทำSEA คือการวิเคราะห์การดำเนินการตามแผนพีดีพีดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลดีและผลเสียทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและต้นทุนชีวิตของประชาชนอย่างไร ซึ่งจำเป็นต้องทำข้อมูลให้ครอบคลุมแนวทางการจัดการพลังงานของประเทศระยะยาว20ปี และทางเลือกแผนพลังงานของประเทศสู่การจำลองโมเดลของอนาคตพลังงาน การเปิดเผยแผนการลงทุนระบบโครงข่ายสายส่งทั้งประเทศซึ่งรวมถึงสายส่งพลังงานฟอสซิลและสายส่งพลังงานหมุนเวียนและการลงทุนด้านพลังงานที่เชื่อมโยงกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามข้อตกลงประชาคมโลก การแบกรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ติดอันดับ1ใน10ประเทศของโลก เพื่อการตัดสินใจร่วมกันของผู้กำหนดนโยบายและประชาชนที่จะต้องแบกรับภาระดังกล่าว

การจัดทำแผนพีดีพีควบคู่กับการจัดทำการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้การกำหนดทิศทางด้านนโยบายพลังงานและด้านอื่นของประเทศพัฒนาไปในทางที่ก่อประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติมากที่สุด

พีดีพี 2015และภาระของประชาชนกับไฟฟ้าสำรองล้น

การฟันธงของรัฐบาลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยผิดพลาดและขาดความชอบธรรมมาตั้งแต่การจัดทำแผนพีดีพีของประเทศ งานวิจัยของมูลนิธินโยบายสุขภาวะชี้ชัดว่า ตามแผนพีดีพี2015 ประเทศไทยสามารถยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนที่ลงทุนร่วมกับประเเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งสิ้น13โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองยังคงเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ร้อยละ15 และลดภาระค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายอย่างน้อย450,000ล้านบาท(2)

จวบจนถึงปัจจุบันแผนพีดีพีฉบับดังกล่าวยังคงนำมาเป็นแผนแม่บทในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ทั้งๆที่เป็นต้นตอของการดำเนินโครงการด้านพลังงานของรัฐบาลที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้นขั้ว การต่อสู้EIA EHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือถ่านหินกระบี่สะท้อนถึงห่วงโซ่จากต้นเหตุของการวางแผนพีดีพีที่บิดเบือนของประเทศสู่การเดินหน้าโครงการฯดังกล่าวในพื้นที่ โดยใช้เครื่องมือการจัดทำรายงานทั้งสองฉบับเป็นใบเบิกทางสู่การยัดเยียดโครงการดังกล่าวในพื้นที่ การซ้ำรอยความไม่เป็นธรรมของการจัดทำรายงานฯดังกล่าวอันเป็นตราบาปที่หน่วยงานของรัฐยังคงเพิกเฉย

อำนาจทับซ้อนของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ

ในปี2555 เครือข่ายนักวิชาการและประชาชนได้เสนอให้มีการปฏิรูปการจัดทำรายงานดังกล่าวผ่านการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (3) ซึ่งเน้นความสำคัญด้านความเป็นอิสระของหน่วยงานที่จะเข้ามารับผิดชอบในการดำเนินงานและงบประมาณของกองทุนที่มีการจัดสรรมาจากหลายภาคส่วนที่ไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการฯ อำนาจของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.)(4) มีอำนาจเพียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรายงาน  EIA EHIA แต่ไม่มีอำนาจในการสั่งยุติโครงการซึ่งภาวะสุญญากาศทางอำนาจดังกล่าวผนวกกับรายงานฯไม่มีวันหมดอายุจึงก่อให้เกิดการขาดธรรมาภิบาลและความไม่ชอบธรรมซ้ำรอยอีกครั้ง

ประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.)ที่แต่งตั้งเข้ามานั่งพิจารณาโครงการเหล่านั้นก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน คชก.อาจมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของบริษัทจัดทำรายงานผลกระทบฯของโครงการ และอาจดำรงตำแหน่งคชก.เข้ามานั่งเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบและไม่เห็นชอบต่อโครงการฯดังกล่าว อีกทั้งอาจดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติผู้ซึ่งทำหน้าที่เห็นชอบครั้งสุดท้ายก่อนเดินหน้าโครงการและส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักติดตามประเมินผลของโครงการฯต่อในระยะยาว

ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่จังหวัดกระบี่จึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จุดชนวนความขัดแย้งให้เห็นทะลุต้นทางของปัญหาอย่างแท้จริง การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือถ่านหินกระบี่กว่า4ปีที่ผ่านมา ประชาชนมีส่วนร่วมในระดับการรับแจ้งว่าจะมีโครงการเกิดขึ้น (inform) (5)และการรับฟังความคิดเห็นและนำความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่มาสู่การปฏิบัติ (consulting ) นั้นยังคงขาดประสิทธิภาพอาทิเช่น ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพียงบางพื้นที่และบางกลุ่มที่ได้รับการแจ้งเบื้องต้นต่อการเกิดขึ้นของโครงการ การเพิกเฉยต่อความคิดเห็นของประชาชนที่เสนอให้มีการกำหนดกรอบการศึกษาใหม่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และดำเนินการศึกษาโดยคณะผู้เชี่ยวชาญที่มีความเป็นกลางตามหลักวิชาการและประชาชนยอมรับ และการศึกษาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน เป็นต้น

การเริ่มต้นใหม่รายงานEIA EHIAโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือถ่านหินกระบี่ของรัฐบาลคสช.จึงเป็นความท้าทายที่จะต้องตั้งบรรทัดฐานการบริหารจัดการพลังงานและวางกรอบการจัดทำรายงานผลกระทบดังกล่าวคู่ขนานกัน ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ทางนโยบายสู่ระดับพื้นที่ หากรัฐบาลยังคงขีดกรอบกติกาที่บิดเบี้ยวย่อมทำให้เกิดการ
เหลื่อมของผลประโยชน์และการล้ำสิทธิของประชาชนในการปกป้องทรัพยากร และนำมาซึ่งความขัดแย้งที่เสมือนเป็นการจุดชนวนระเบิดเวลาของรัฐบาลนั่นเอง

(1) www.samatcha.org/node/118 ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  ครั้งที่ 1/2556 วันที่ 25 มกราคม 2556 ที่ประชุมมีมติรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555
(2) เอกสารการนำเสนอ “ประเทศไทยในสัญญาปารีส” ,  21 มกราคม 2560, ศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ http://act.gp/2lg8ZRd
(3) www.thia.in.th/welcome/article_read/366
(4) www.onep.go.th/eia/index.php?option=com_content&view=article&id=30&Itemid=127
(5) lithgow-schmidt.dk/sherry-arnstein/ladder-of-citizen-participation.html

 

จริยา เสนพงศ์ เป็นผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้