โลกเข้าสู่ยุคแสงอาทิตย์

ปี 2556 เราได้เห็นราคาของเซลล์แสงอาทิตย์ลดลงอย่างรวดเร็ว ราคาเซลล์แสงอาทิตย์ในสหรัฐอเมริกาลดลงจาก 76.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัตต์ ในปี พ.ศ.2520 มาเป็น 0.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัตต์ในปี พ.ศ.2556 หรือกล่าวง่ายๆ ว่าราคาถูกลงกว่า 100 เท่า ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า the Swanson Effect ดังแสดงในกราฟด้านบน ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์สามารถแข่งขันได้กับแหล่งพลังงานดั้งเดิมเพื่อป้อนไฟฟ้าเข้าสู่สายส่ง  ต้นทุนที่ลดลงของ การผลิตไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์นี้มาจากการสนับสนุนด้านนโยบายของรัฐ ทั้งในรูปของการวิจัยและพัฒนา การรับซื้อไฟฟ้า การออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน และการสนับสนุนด้านเงินทุน

โลกได้รับรู้ถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ลดต่ำลงและการติดตั้งระบบที่ขยายตัว เป็นดอกเห็ดจากอุตสาหกรรมการผลิตแผงเซลล์อันยิ่งใหญ่น่าประทับใจในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมนั้นมาถึงจุดที่มีต้นทุนเท่ากับหรือถูกกว่า ไฟฟ้าในระบบสายส่ง (grid parity) ที่มาจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รายงาน Renewables 2017 Global Status Report (GSR) ระบุว่า การเจรจาซื้อขายไฟฟ้าในเดนมาร์ก อียิปต์ อินเดีย เม็กซิโก เปรู และสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ ค่าไฟฟ้าต่อหน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง)อยู่ที่ 0.05 เหรียญสหรัฐฯ หรือน้อยกว่า ส่วนโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่งในเยอรมนีนั้น ชนะประมูลจากราคาขายส่งโดยไม่ต้องมีการสนับสนุนจากรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าพลังงานหมุนเวียน เป็นทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำสุดได้

ในปี พ.ศ.2559 บริษัทพลังงานของซาอุดิอาระเบีย ACWE ซึ่งมีทรัพย์สินราว 24 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สร้างสถิติโลกโดยได้ราคาเซลล์แสงอาทิตย์ที่ต่ำในการประมูลครั้งใหญ่ที่สุดของโลก นาย Paddy Padmanathan ผู้อำนวยการบริหารของ ACWE บอกว่าราคาของเซลล์แสงอาทิตย์จะลดลงอีก เขาคาดว่ากำลังการผลิตติดตั้งกว่า 140,000 กิกะวัตต์ที่จะเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือและใต้ อย่างน้อยที่สุดจะมีครึ่งหนึ่งเป็นพลังงาน แสงอาทิตย์ในทศวรรษที่จะมาถึง สอดคล้องกับการคาดการณ์โดย Deutsche Bank ที่ระบุว่า ไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์จะมีต้นทุนเท่ากับหรือน้อยกว่าพลังงานแบบดั้งเดิม โดยครองตลาดพลังงานร้อยละ 80 ภายในอีก 2 ข้างหน้า และประมาณว่าต้นทุนจะลดลงร้อยละ 40 ภายในสิ้นปี 2559

สายลมและแสงแดดเอาชนะถ่านหินเร็วกว่าที่คิดไว้

ภายในปี พ.ศ.2564 ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยไฟฟ้าปรับเฉลี่ย (levelized cost of electricity, LCOE) ของไฟฟ้าจากกังหันลมและเซลล์แสงอาทิตย์ในจีนจะถูกกว่าถ่านหิน

ในสหรัฐอเมริกา ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยไฟฟ้าปรับเฉลี่ย (levelized cost of electricity, LCOE) ของไฟฟ้าจากกังหันลมและเซลล์แสงอาทิตย์นั้นถูกกว่าถ่านหินแล้ว

จุดจบของถ่านหิน

การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในสหรัฐอเมริกาจะลดลงอย่างต่อเนื่องต่อไปอีก แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะหาทางกระตุ้น อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลมากเพียงใดก็ตาม Bloomberg New Energy Finance คาดการณ์ว่า กำลังผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ.2583 จะลดลงครึ่งหนึ่งจากที่มีอยู่ในปัจจุบันหลังจาก โรงไฟฟ้าถ่านหินเก่ามีการปลดระวางและแทนด้วยพลังงาน หมุนเวียนหรือก๊าซธรรมชาติ ส่วนในยุโรป กำลังผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจะลดลงถึงร้อยละ 87 จากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ Bloomberg New Energy Finance คาดการณ์ว่าการใช้ถ่านหินของโลกจะลดน้อยถอยลงในราวปี พ.ศ.2569 เมื่อประชาคมโลกร่วมกันทำงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ภายใต้ความตกลงปารีส

 

ในรายงาน BP Statistical Review 2017 ระบุ แม้ว่าพลังงานหมุนเวียนจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในประเทศไทย แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานยังเพิ่มมากขึ้น การวิเคราะห์โดย Bloomberg New Energy Finance ถ้าเป็นไปตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินของประเทศไทยไปจนถึงปี พ.ศ.2583 การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ถ่านหินจะเพิ่มขึ้นจาก 29 ล้านตันในปี 2559 เป็น 46 ล้านตันในปี 2583 หน่วยงานด้านพลังงานของรัฐบาลมักอ้างว่า ภาพรวมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคพลังงานจะลดลงในอนาคต แต่การปล่อยที่ลดลงนั้นมาจากบทบาทที่เพิ่มขึ้นของระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หาใช่เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดที่เป็นเพียงมายาคติ

ประเทศไทยจะมีต้นทุนไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์จะเท่ากับหรือถูกกว่าถ่านหินภายในปี พ.ศ.2567 หรือเร็วกว่านั้น

การคาดการณ์ของ Bloomberg New Energy Finance ในปี พ.ศ.2559 ระบุว่า ในช่วง 25 ปีข้างหน้า ในจำนวนมูลค่าการลงทุนใหม่ในภาคพลังงานของไทยประมาณ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 48 จะเป็นการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์และลม แผนที่ที่ตีพิมพ์ล่าสุดโดย Bloomberg ชี้ให้เห็นว่าต้นทุนของเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยจะลดลงอย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ.2583

Bloomberg วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า ในช่วง 25 ปีข้างหน้า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยไฟฟ้าปรับเฉลี่ย(levelized cost of electricity, LCOE)ของถ่านหินของไทยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 โดยที่โหลดแฟกเตอร์ (Load Factor) หรืออัตราส่วนระหว่างค่าความต้องการกำลังไฟฟ้าเฉลี่ยกับค่าความต้องการกำลังไฟฟ้าสูงสุดในช่วงเวลาหนึ่งๆ จะลดลงเป็นร้อยละ 54 จากร้อยละ 70 ในปัจจุบัน ในขณะที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยไฟฟ้าปรับ เฉลี่ยของกังหันลมบนฝั่งจะลดลงร้อยละ 52 ในขณะที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยไฟฟ้าปรับ เฉลี่ยของโรงไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์จะลดลงร้อยละ 70 อันเป็นผลมาจากต้นทุนที่ลดลงและประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : Bloomberg New Energy Finance

โดยสรุป หากรัฐบาลไทยดำเนินการนโยบายอย่างถูกทิศทางและมีความชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และระบบการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ที่ยั่งยืน ของไทยจะเป็นมีบทบาทหลักในเวที พลังงานของประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำมาซึ่งประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงผลตอบแทนที่วัดได้มาสู่สังคมไทย ทำให้เกิดการดูแลสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริง

ที่มารูปภาพและข้อมูล :

https://www.bloomberg.com/news/articles/2017-06-15/solar-power-will-kill-coal-sooner-than-you-think?cmpId=flipboard
https://cleantechnica.com/2014/09/04/solar-panel-cost-trends-10-charts/
http://www.ren21.net/gsr-2017/