อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงเป็นพื้นที่ดินดี น้ำดี โลหะหนักน้อย เป็นแหล่งผลิตมะเขือเทศสำคัญที่ส่งออกไปยังทั่วประเทศ เป็นปอดผลิตอากาศสะอาดให้เชียงใหม่
อย่างไรก็ตามอำเภออมก๋อยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่จะพลิกอมก๋อยจากแหล่งอากาศบริสุทธิ์ไปเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษถ่านหินแห่งใหม่จากการที่บริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เนื้อที่ประมาณ 284 ไร่ 30 ตารางวา มีปริมาณถ่านหินจากการสำรวจประมาณ 720,000 ตัน ระยะเวลาในการยื่นขอทำสัมปทาน 10 ปี โดยมีชุมชน 2 แห่งที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรห่างจากพื้นที่โครงการเหมืองถ่านหินคือ บ้านกะเบอะดินและบ้านขุน
วันที่ 24 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (CPCR), กรีนพีซ ประเทศไทย, กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์, EarthRights International, สม-ดุล เชียงใหม่, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตัวแทนจากชาวอมก๋อย จัดงาน ‘Omkoi Coal or Home’ นิทรรศการ 4 ปี การต่อสู้และเสียงคนอมก๋อย เนื่องในวันครบรอบ 4 ปีการต่อสู้ของคนอมก๋อย ณ ลานคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การต่อสู้ของพี่น้องชาวอมก๋อยต่อโครงการเหมืองถ่านหินมายังไม่จบ ที่ ‘บ้านอมก๋อย’ แห่งนี้ เจ้าของบ้านไม่มีสิทธิในบ้านของตน การทอล์ค ‘ #ฮักเจียงใหม่บ่เอาถ่านหิน : สิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วมที่หายไป’ คือเหตุผลว่าทำไมชาวอมก๋อยจึงสู้ไม่ถอยเพื่อปกป้อง ‘บ้าน’ ของตนจากถ่านหินมาตลอด 4 ปี
อมก๋อยคือแหล่งอากาศดี ดินดี น้ำดี หากไม่มีเหมืองถ่านหิน
อรพรรณ มุตติภัย ตัวแทนเยาวชนบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย เล่าว่า “พื้นที่อมก๋อยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก ชุมชนของเราใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำจากดอยปุยเราใช้ดื่ม กิน น้ำจากห้วยผาขาวและห้วยมะขามเราใช้ทำเกษตร ปลูกข้าว ปลูกมะเขือเทศ ฟักทอง กะหล่ำปลี และเลี้ยงสัตว์ ป่าเราใช้ทำไร่หมุนเวียน ทำสวน ดินเราใช้ทำเกษตร อากาศเราใช้หายใจ ตอนนี้ชาวบ้านกำลังคัดค้านเหมืองและมีข้อกังวลใจว่าถ้ามีเหมืองจะมีผลกระทบตามมา เช่น กระทบสุขภาพคนกลุ่มเปราะบาง เช่นเด็กแรกเกิด พื้นที่ทำกิน พื้นที่นาขั้นบันไดของชาวบ้าน การขนส่งพืชผัก การเดินทางของนักเรียน และการจราจรไปธุระข้างนอก”
ณัฐทิดา วุฒิศีลวัต ตัวแทนเยาวชนบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย อีกคนกล่าวว่า อมก๋อยมีอากาศบริสุทธิ์ น้ำดี ดินอุดมสมบูรณ์ ชาวอมก๋อยมีวิถีชีวิตเรียบง่าย ชีวิตประจำวันของชาวอมก๋อยตื่นเช้ามาก็ทำกับข้าว แล้วเข้าไร่เข้าสวน มีรายได้หลักมาจากการปลูกมะเขือเทศ ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ชาวอมก๋อยจะปลูกมะเขือเทศในพื้นที่นาหลังจากปลูกข้าว ชาวบ้านจะมีการ ‘เอามื้อ เอาวัน’ (คล้ายการลงแขก) เดือนสิงหาคมจะมีการจัดงานปีใหม่กระเหรี่ยง มีประเพณีการมัดมือ พี่น้องมาร่วมสังสรรค์และเล่นดนตรีพื้นบ้าน ช่วงหน้าหนาวคือเวลาเก็บเกี่ยวข้าว บ้านไหนเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วจะไปช่วยคนอื่นต่อ “อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทที่จะเข้ามาทำเหมืองถ่านหินเห็นถึงความสำคัญของวิถีชีวิตชาวบ้านด้วยว่าเราอยู่มาก่อน เราอยากปกป้องผืนดินนี้ ฮักเจียงใหม่ ฮักอมก๋อย จึงบ่ควรเอาเหมืองถ่านหินค่ะ” ณัฐทิดากล่าว
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่รัฐไม่ได้บอก
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการนำเสนอรายงานวิจัย ‘อมก๋อย แหล่งอากาศดีที่อาจสิ้นสูญ: แผนที่ความเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศกรณีดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย’ ซึ่งจัดทำโดยกรีนพีซ ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่ง พีรณัฐ วัฒนเสน นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม กรีนพีซ ประเทศไทยกล่าวถึงประเด็นสำคัญของรายงานฉบับนี้ว่า
“รายงานเผยให้เห็นว่าหากมีโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยเกิดขึ้น ชุมชนกะเบอะดินและชุมชนโดยรอบที่ดำรงชีวิตด้วยเกษตรกรรมแบบพึ่งพิงธรรมชาติจะเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงด้านมลพิษทางอากาศและน้ำที่อาจเกิดขึ้นต่อพื้นที่ทำเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม
“รายงานประเมินว่าถ้ามีการทำเหมืองถ่านหิน จะมีค่า PM2.5 เกินมาตรฐาน 200 วันต่อปีในพื้นที่บริเวณเหมือง องค์การอนามัยโลกระบุว่าฝุ่น PM.2.5 ไม่ได้กระทบแค่ระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงผิวหนัง ระบบหมุนเวียนโลหิต สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ PM 2.5 มีผลต่อการพัฒนาการตั้งแต่ทารกในครรภ์”
พีรณัฐยังกล่าวว่าในบรรดาเชื้อเพลิง ถ่านหินก่อมลพิษมากที่สุด นอกจากฝุ่น PM2.5 แล้ว เหมืองถ่านหินยังปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซึ่งทำให้คนเป็นโรคหอบหืด หากมีการสร้างเหมืองถ่านหินก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ จะเกินค่ามาตรฐานประมาณ 28 วันต่อปีโดยมีผลต่อดิน มีผลทำให้พืชผลทางเกษตรเกิดโรคได้ง่ายขึ้น
“ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ไม่เพียงทำให้เราป่วย ยังทำให้ต้นไม้ป่วยด้วย ต้นไม้จะให้ผลผลิตทางการเกษตรที่เล็กลง คุณภาพแย่ลง และปริมาณน้อยลง ทำให้ชุมชนสูญเสียรายได้” ไม่เพียงเท่านั้น รายงานยังประเมินว่าอาจมีปรอทรั่วไหลเกินค่ามาตรฐานซึ่งจะส่งผลต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่ชาวบ้านใช้ในการอุปโภปบริโภค หากชาวบ้านจับปลาไปกินจะมีความเสี่ยงเป็นโรคตับและไตอักเสบได้ สารพิษจากเหมืองถ่านหินจะทำให้ดินเป็นกรดมากขึ้น สารหนูในปริมาณที่รั่วไหลออกมา จะทำให้ช่วงภายใน 25 ปี พื้นที่โดยรอบจะไม่สามารถปลูกพืชได้อีกเลย
“นักวิชาการต่างบอกว่าไทยไม่จำเป็นต้องใช้ถ่านหินอีกแล้ว เรามีพลังงานหมุนเวียนมากพอที่ใช้แทนถ่านหินได้” พีรณัฐยืนยัน
จากเหมืองถ่านหินสู่แหล่งผลิตฝุ่น PM2.5 แห่งใหม่
ด้าน ชนกนันท์ นันตะวัน จากกลุ่มสม-ดุลเชียงใหม่ เล่าถึงสถานการณ์ฝุ่นพิษว่าเชียงใหม่ประสบปัญหามลพิษอากาศทุกๆ ฤดูแล้งมาสิบกว่าปี ทั้งที่ภาคใต้และภาคอีสานมีจำนวนประชากรสูบบุหรี่เยอะที่สุดในประเทศ แต่คนที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดคือคนภาคเหนือ สะท้อนว่าเชียงใหม่ขาดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมจากหน่วยงานรัฐ หากโครงการเหมืองถ่านหินเกิดขึ้นจริงจะปล่อยฝุ่น PM2.5 ซ้ำเติมสถานการณ์เชียงใหม่ให้แย่ลงไปอีก
เหมืองถ่านหินเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เมื่อปล่อยออกมาแล้วทำปฏิกิริยาในอากาศจะเกิดเป็น PM 2.5 เราจึงอยากสื่อสารข้อเท็จจริงที่ว่าเชียงใหม่ยังมีปัญหาอยู่
“ช่วงนี้เป็นฤดูท่องเที่ยว มีการโปรโมทว่าเราจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นล้านๆ แต่เรายังมีคนจนเมืองที่ยังประสบปัญหากับที่ดินทำกินและท้องถิ่น ชุมชนถูกริดรอนสิทธิการจัดการสิ่งแวดล้อม เรายังมีวัฒนธรรมเอื้อนายทุน ชาวบ้านทำอะไรก็ผิดกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ควรหยุดได้แล้ว ปัญหาของเชียงใหม่ไม่ใช่อยู่แค่ในอำเภอเมืองเท่านั้น คนอมก๋อยก็ใช้อากาศเดียวกับเรา เราไม่ควรนิ่งดูดายมองดูปัญหาของคนอมก๋อย” ชนกนันท์กล่าว
จากเหมืองสู่ PM2.5
ด้าน ผศ.นัทมน คงเจริญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชวนขบคิดว่าหากมีเหมืองถ่านหินจะทวีความรุนแรงของฝุ่น PM2.5 ขึ้นไปอีก “การทำเหมืองถ่านหินยิ่งตอกย้ำทำร้ายให้เกิดฝุ่นในบ้านเราหนักขึ้น ที่อมก๋อยควรเป็นปอดของคนเชียงใหม่แทนที่จะเป็นการทำร้ายโดยการใช้ฝุ่นของเหมืองเข้ามาตอกย้ำ ปอดของเราต้องได้รับการคุ้มครอง รัฐต้องคุ้มครองเรามากกว่านายทุน”
ในฐานะคนในวงการกฎหมาย เธอยอมรับว่าการทำคดีไม่ใช่เรื่องสนุก การที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาฟ้องว่ารายงาน EIA ไม่เป็นธรรมต้องใช้แรงกายและแรงใจมาก แต่ในการต่อสู้นี้เธอบอกว่าพี่น้องกะเบอะดินไม่ได้โดดเดี่ยว
“คณะนิติศาสตร์อยู่ตรงนี้ เป็นฐานวิชาการให้กับพี่น้องอมก๋อย สิ่งที่น้องๆ เยาวชนอมก๋อยทำ การปกป้องฐานทรัพยากรคือการสร้างความยุติธรรมสำหรับคนรุ่นต่อไป ส่วนความยุติธรรมสำหรับคนรุ่นเดียวกับเรา พี่ๆ ในชุมชนเมืองเชียงใหม่ เราต้องมีปอดที่สามารถสูดหายใจได้ลึกๆ ต้นไม้ในเมือง ต้นไม้ที่อมก๋อยจะต้องมีมากขึ้น
นัทมนตั้งคำถามว่า ถ้ามีเหมืองถ่านหินคนเชียงใหม่จะอยู่กันอย่างไร? จะได้รับโอกาสในการอยู่อย่างปลอดภัยไหม? และเธอยืนยันว่าไม่ว่าจะอยู่ในเมือง หรือรอบนอก ผู้คนควรได้รับการปกป้องสิทธิทางสิ่งแวดล้อมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
“เอาแต๊ๆ เจียงใหม่ก็เป็นเมืองงาม เป็นเมืองที่มีทรัพยากร แล้วลูกหลานเฮาสามารถอยุ่ที่เชียงใหม่ได้ก่อ เฮาจะยะหยัง จะทำอาชีพอิหยัง เฮาจะสามารถร่ำรวยเงินทองได้ก่อ เหมือนคำถามสาธารณะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าคนเชียงใหม่จะสามารถลืมตาอ้าปาก จะสามารถอยู่ที่บ้านเฮา พออยู่พอกิ๋น เงยหน้าอ้าปากได้ก่อ”
“พี่น้องอมก๋อยมีไร่มะเขือเทศเป็นฐานทรัพยากรใช้ยังชีพ ถ้าพี่น้องไม่สามารถอยู่ในชุมชนของเขาได้ก็ต้องย้ายมาอยู่ในเมือง นี่เป็นสิ่งที่อยากพูดกับคนเชียงใหม่ เรื่องโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยไม่ได้ต่างจากเรื่อง PM2.5 ในปอดของพวกเราแต่อย่างใด มันคือเรื่องความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม เราไม่สามารถให้กลุ่มทุนเบียดขับชุมชนย้ายออกไปเป็นลูกจ้างคนในเมือง อย่าปล่อยให้อมก๋อยต้องโดดเดี่ยวเพราะการจัดการทรัพยากรเป็นเรื่องของทุกคน ต่อให้ไม่ใช่พื้นที่ของเรา แต่ในแง่การส่งกำลังใจ การสนับสนุน การยืนเคียงข้างกับพี่น้องอมก๋อยเป็นสิ่งที่ควรทำ”
กฎหมายที่เป็นเพียงพิธีกรรมและการตัดสินอนาคตที่คนเชียงใหม่ไม่ได้เลือก
สิ่งที่เกิดกับอมก๋อยคือปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันในหลายพื้นที่ และมีรากฐานมาจากทั้งกระบวนการทางกฎหมายและการผูกขาดอำนาจการตัดสินใจที่ทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิเลือก วัชราวลี คำบุญเรือง นักกฎหมายอิสระ ผู้ทำคดีอมก๋อยเป็นคดีแรกในฐานะนักกฎหมาย อธิบายถึงสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่กำหนดหลักการเอาไว้แต่ไม่ได้กำหนดรายละเอียดหรือข้อบังคับที่ทำให้กฎหมายนั้นใช้ปกป้องประชาชนได้จริงว่า
“กฎหมายไทยปัจจุบันกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมสิทธิและคุ้มครองวิถีชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์ รวมถึงสิทธิการมีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของทรัพยากร แต่ช่องทางการเข้าถึงสิทธิของผู้คนมีจำกัด และยังไม่มีกฎหมายฉบับไหนรับรองสิทธิที่เขาจะดำรงอยู่ด้วยวิถีชีวิต ด้วยประเพณีของเขาจริงๆ
“ในช่วงทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ชาวบ้านไม่เคยรู้มาก่อนว่าต้องทำประชามติ การทำ EIA โครงการเหมืองถ่านหินฉบับนี้ไม่ได้สร้างความเข้าใจต่อชุมชน และไม่ได้พูดว่าชุมชนจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
“คนอมก๋อยถูกบังคับให้ต้องสู้และตระหนักรู้ด้วยตนเอง ไม่สู้ก็ไม่ได้ ปัญหาใหญ่อยู่ที่รัฐที่ไม่เอื้อให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำ EIA เสียงของชุมชนเบามาก นี่เป็นอีกคดีที่ไล่คนออกจากป่าเหมือน กรณีบางกลอย คลิตี้ เหมืองแร่ฟลูออไรที่แม่ลาน้อย โรงโม่หินที่แม่สะเรียง และโครงการผันน้ำยวมที่จะกระทบทั้งเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก
“เราไม่อยากให้อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่รัฐอีกต่อไป ผู้คนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมจัดการพื้นที่ด้วย” วัชราวลีกล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ผศ.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวจากมุมมองเรื่องการผูกขาดการกระจายอำนาจว่า วิธีคิดที่ให้อำนาจการตัดสินใจรวมศูนย์อยู่ที่รัฐ ไม่ได้อยู่ที่ท้องถิ่นเป็นวิธีคิดที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการเกิดการรวมศูนย์การปกครอง
“การเป็นเจ้าของทรัพยากรในอดีต ยุคนั้นไม่ได้มีระบบกฎหมายที่บอกว่าทรัพยากรธรรมชาติ ป่า อากาศ น้ำเป็นของรัฐเนาะ เฮามีวิธีจัดการของเฮา ขึ้นอยู่กับวิถีจารีตแต่ละแห่ง จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่หลังจากรัฐขัดแย้งกับเจ้าเมืองผู้เป็นเจ้าของสัมปทานป่าไม้ รัฐจึงรวมศูนย์อำนาจในการจัดการทรัพยากรเกิดเป็นกรมป่าไม้และกฎหมายป่าไม้ ผลที่ตามมาคือเกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของคนและป่า กว่าจะมีแนวคิดยอมรับว่าคนอยู่กับป่าได้ก็ร่วมปี 2540 ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติสิทธิชุมชนขึ้นมา
“จนถึงตอนนี้กฎหมายที่ให้ชุมชนมีสิทธิจัดการทรัพยากรมีแค่ฉบับเดียวคือกฎหมายป่าชุมชน ซึ่งการจะจัดการได้ต้องให้รัฐเป็นผู้ประกาศ อำนาจตัดสินใจเรื่องทรัพยากรไม่ได้อยู่ที่ท้องถิ่น ไม่ได้อยู่ที่ผู้ได้รับผลกระทบ มันอยู่ไกลจากตัวเรา ผมคิดว่าอำนาจในการจัดการทรัพยากรควรอยู่ที่ท้องถิ่น อย่างน้อยในเรื่องที่ไม่ใหญ่โตมันควรที่จะให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม ทรัพยากรเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ ที่สะท้อนปัญหาการกระจายอำนาจ” ณัฐกรกล่าว
หมายเหตุ สามารถดาวน์โหลดรายงานวิจัย “อมก๋อย แหล่งอากาศดีที่อาจสิ้นสูญ : แผนที่ความเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศกรณีดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ตำบลกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่” โดยกรีนพีซ ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ที่ https://act.gp/omkoi-report-press
© Visarut Sankham / Greenpeace