“ภายในปี 2569 ถ้าไม่ถูกกีดกัน กระบี่จะสามารถพึ่งตนเองด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% ตลอด 24 ชม ตลอดทั้งปี และปี 2564 ก็สามารถเริ่มได้แล้ว 100% ในบางชั่วโมง ทุกคนทำได้ และช่วยทำให้เกิดขึ้นจริงได้” คุณศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยพลังงานและอุตสาหกรรม มูลนิธินโยบายและสุขภาวะ หนึ่งในคณะทำงาน Krabi Goes Green
ข้อถกเถียงในประเด็นเรื่องพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของประเทศไทยได้นั้น มีหลายภาคส่วนของภาคประชาสังคมที่พยายามลบล้างมายาคตินี้ และในรายงานล่าสุด “Krabi Goes Green สู่เมืองต้นแบบ พลังงานหมุนเวียนเกินร้อย” และ “การจ้างงานพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย” คือข้อเท็จจริงที่ได้ถูกเก็บรวบรวมโดยการทำงานร่วมกันของหลายเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น เพื่อเป็นปฐมบทปูทางไปสู่ยุคพลังงานหมุนเวียน 100% ของประเทศไทย
รายงานสองฉบับนี้ถูกเผยแพร่ที่ภูเก็ตและกระบี่ระหว่างการมาเยือนของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เรือรณรงค์ของกรีนพีซ ที่ทำงานรณรงค์ภายใต้โครงการ “Rainbow Warrior Ship Tour 2018 พลังงานหมุนเวียนเพื่อทุกคน” โดยชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนนั้นไม่เพียงแต่จะช่วยหลีกเลี่ยงหายนะภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงสร้างความรู้และทักษะให้แก่ชุมชน โดยจากการทำวิจัยได้วิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน 100% จะสร้างงานได้ราว 170,000 ตำแหน่งในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งมีอัตราการจ้างงานต่อการผลิตไฟฟ้าหนึ่งล้านหน่วย สูงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน
การร่วมมือกันหลายเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น (ได้แก่ เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ ศูนย์วิจัยพลังงานยั่งยืนเพื่อท้องถิ่น จังหวัดกาฬสินธุ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดระบัง มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) คือความตั้งใจในการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยที่มีจังหวัดกระบีเป็นโมเดลตัวอย่าง
“เรื่องพลังงาน จำเป็นต้องเป็นฟอสซิลหรือเปล่า ที่กระบี่เราพยายามทำให้พลังงานหมุนเวียนเป็นรูปธรรม และกระบี่จะเป็นจังหวัดที่แปรจากโรงไฟฟ้าถ่านหินสู่พลังงานหมุนเวียน” ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าว
พลังงานหมุนเวียน 100% ที่กระบี่ เป็นจริงได้แค่ไหน
ทีมวิจัยได้ศึกษาจากศักยภาพพลังงานชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ได้แก่ ชีวมวล แก็สชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำขนาดเล็ก เพื่อนำมาประมวลความเป็นไปได้ในการพัฒนาสู่จังหวัดต้นแบบที่พึ่งพาตนเองทางพลังงานด้วยพลังงานสะอาด100% ลักษณะการวิเคราะห์ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ 1. การวิเคราะห์ความต้องการใช้ไฟฟ้ารายชั่วโมงของหนึ่งสัปดาห์ ในทุกเดือน และ 2. การวิเคราะห์ความสามารถในการจ่ายไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในจังหวัดกระบี่เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา
ผลการวิเคราะห์ที่ได้คือ จังหวัดกระบี่มีศักยภาพกำลังผลิตติดตั้งได้สูงสุดรวม 1,676 เมกะวัตต์ และสามารถเป็นจังหวัดต้นแบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างสมบูรณ์ 100% ทุก ๆ ชั่วโมงในปี พ.ศ. 2569 หากสามารถเพิ่มปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพที่เหมาะสมและมีการสนับสนุนในเชิงนโยบายและกฏหมาย โดยพบว่าในปี พ.ศ. 2564 จะเป็นปีแรกที่ในบางช่วงเวลา (อย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อวัน) ที่จังหวัดกระบี่สามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียน 100%
“เมื่อเรามีส่วนร่วมในการจัดการพลังงาน มองเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม วิธีการใช้พลังงานก็จะเปลี่ยนไป คนรอบข้างเราก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย มันไม่ใช่เรื่องไกลตัว โซลาร์เซลล์ที่ใช้อยู่ตอบโจทย์จริง ๆ” คุณขวัญกนก กษิรวัฒน์ หนึ่งในคณะทำงาน กล่าวถึงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ร้านลันตามาร์ท
“ข้อสรุปหลักที่ได้จากการทำวิจัยในรายงานเล่มนี้ คือ เราใช้พลังงานถ่านหินเป็นหลัก พลังงานหมุนเวียนจึงเป็นส่วนเกิน แต่ถ้าเราให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก จะเป็นการส่งเสริมให้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น ด้วยศักยภาพที่ระบุไว้ในรายงานเล่มนี้เป็นการยืนยันว่าเพียงพอ” คุณอกณิฐ กวางแก้ว คณะทำงานรายงาน Krabi Goes Green สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร กล่าว
ศักยภาพของกระบี่มีพร้อม ขาดแต่เพียงนโยบายเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสม ได้แก่ รับซื้อพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบก่อนพลังงานฟอสซิลการมีกลไกการผลิตและราคาพลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน
170,000 ตำแหน่งงานคุณภาพ จะเพิ่มขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ภายในปี 2593
ทิศทางการพัฒนาของกระบี่ เกิดขึ้นจากผู้ประกอบการท่องเที่ยว การเกษตร ชาวประมง ร่วมกันกำหนดทิศทาง แต่สิ่งที่จะหายไปในภาคใต้หากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น คือ งานที่มีคุณค่า (Decent work) สำหรับทุกคน มิใช่การเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในพื้นที่เป็นเพียงแค่แรงงาน และลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม
“พลังงานหมุนเวียนมาจากท้องถิ่น มาจากเราทุกคน พลังงานหมุนเวียนช่วยให้เรายืนบนเท้าของตัวเอง ไม่ตกเป็นทาสใครที่สร้างพลังงานให้เรา เป็นการกระจายอำนาจ กระจายโอกาส มีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน จบในเรื่องปัญหาและความขัดแย้ง สร้างความสุขได้จากวัตถุดิบที่เรามี นี่คือความสุขที่เกิดขึ้นจากพลังงานหมุนเวียน” ผศ.ดร.อุษา อ้นทอง หน่วยสาธิตและวิจัยก๊าซชีวภาพ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าว
รายงานการจ้างงานพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย คือ รายงานฉบับแรกที่คาดการณ์ถึงปริมาณการจ้างงานในประเทศไทยและประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง และแสดงให้เห็นว่าหากภาคพลังงานหมุนเวียนได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมแล้วจะเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการขยายตัวของการสร้างงานและช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ
โดยวิเคราะห์พบว่า การจ้างงานโดยตรงในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของไทยในปีพ.ศ. 2559 มีประมาณ 17,758 ตำแหน่งงาน โดยร้อยละ 80 ของตำแหน่งงานทั้งหมด จะอยู่ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล (14,323 ตำแหน่งงาน) ตามมาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 2,588 ตำแหน่งงาน ก๊าซชีวภาพ 757 ตำแหน่งงาน และพลังงานลม 90 ตำแหน่งงาน ทั้งนี้ ในการผลิตไฟฟ้าจำนวนเท่ากัน ประมาณการณ์การจ้างงานโดยตรงในการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน เท่ากับ 1,950 ตำแหน่งงาน/ปี เท่านั้น รายงานฉบับนี้ยังได้คาดการณ์ว่าหากมีการดำเนินการตามสัญญาที่ผูกพันไว้จนครบถ้วน การจ้างงานโดยตรงของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 27,000 ตำแหน่งงานภายในปี พ.ศ. 2562 ตัวเลขนี้คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 6 เท่า เป็น 172,164 ตำแหน่งงานในปี พ.ศ. 2593 หากมีระบบพลังงานหมุนเวียน 100% นี่คือผลพวงอันมหาศาลจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน 100%
“พลังงานหมุนเวียนในชุมชนทำให้ชุมชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง สามารถแปรรูปกากที่เหลือจากผลผลิตทางเกษตรกรรม มีความสุขกับครอบครัว เลขการจ้างงานนี้เป็นตัวเลขของความสุขชุมชนที่พึ่งพาตนเอง ถ้าเราพึ่งพาตนเองได้ 100% นั่นแหละคือความสุข นั่นแหละคือความยั่งยืน” ผศ.ลือพงษ์ ลือนาม คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าว
อ่านรายงาน: “Krabi Goes Green สู่เมืองต้นแบบ พลังงานหมุนเวียนเกินร้อย” และ “การจ้างงานพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย”