หลังจากที่ได้มีการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 และได้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างประเทศ (Intergovernmental Negotiating Committee – INC) เพื่อร่วมกันจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายว่าด้วยมลพิษพลาสติกรวมถึงสิ่งแวดล้อมในทะเล และได้ตกลงให้มี “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” หรือ “Global Plastic Treaty” ขึ้น โดยกำหนดว่า สนธิสัญญานี้จะต้องครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตพลาสติก และมีเป้าหมายส่งเสริมการผลิตและบริโภคพลาสติกในระดับที่ยั่งยืน จากนั้นได้จัดให้มีการประชุม INC เพื่อร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลก โดยการประชุม INC ครั้งที่ 5 ที่ปูซาน ในวันที่ 25 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2567 จะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายในการร่างสนธิสัญญานี้ ก่อนจัดตั้ง “มาตรการทางกฎหมาย” ขึ้น

[ช่วงบ่าย] โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก: การผลิตและบริโภคพลาสติกที่ยั่งยืนของไทยควรเป็นอย่างไร?

ในเสวนาวิชาการ “โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก: การผลิตและบริโภคพลาสติกที่ยั่งยืนของไทยควรเป็นอย่างไร?” ที่องค์กรภาคประชาสังคมและภาควิชาการร่วมกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ได้มีการนำเสนอ “ฉากทัศน์การลดการผลิตและบริโภคพลาสติกในประเทศไทย” ที่ ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์  นักรณรงค์อาวุโส มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) เสนอต่อตัวแทนรัฐบาลไทย เพื่อสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งสุดท้าย และเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาหารือเรื่องการผลิตพลาสติกที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

ฉากทัศน์ลดการผลิตพลาสติกระดับยั่งยืน และมาตรการที่ควรผลักดันสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก

EJF ได้ทำการศึกษาและประเมินการผลิตพลาสติกของประเทศไทยว่ามีความยั่งยืนหรือไม่ พบว่า ใน 3 เกณฑ์ความยั่งยืนที่ประกอบด้วย

  1. การผลิตพลาสติกที่เลี่ยงวิกฤตหลักสามประการคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษ
  2. การผลิตพลาสติกอยู่ในระดับที่ไม่นำไปสู่การขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงสิทธิในการมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด มีสุขภาวะที่ดี และยั่งยืน
  3. ปราศจากการผลิตโพลิเมอร์และผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย ความยั่งยืน และความจำเป็น มีผลสรุปที่ชัดเจนว่า การผลิตและการบริโภคพลาสติกในประเทศไทยนั้นยัง “ไม่ยั่งยืน”

รายงาน “ลดอย่างไรให้ยั่งยืน ผลกระทบของการผลิต และบริโภคพลาสติกของประเทศไทย และฉากทัศน์ในการแก้ไขปัญหา” ระบุว่า ในหนึ่งปี การผลิตพลาสติกของไทยก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 7.3% ของก๊าซเรือนกระจกที่ก่อกำเนิดโดยไทยทั้งหมด ซึ่งหากประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบการจัดการขยะและทำให้อัตราการรีไซเคิลสูงได้เทียบเท่าสหภาพยุโรป ไทยจะมีขยะพลาสติกราว 1.34 ล้านตันต่อปี มลพิษพลาสติกได้ปนเปื้อนระบบนิเวศ ห่วงโซ่อาหาร และร่างกายมนุษย์ ทั้งยังตรวจพบสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้ มากกว่า 80% ของขยะพลาสติกที่พบในหลุมฝังกลบเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ความจำเป็นในการใช้งาน โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จในการออกกฎหมายยุติการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ความยั่งยืนของรัฐบาลไทยเอง โดยยุติได้เพียง 1 จาก 7 ประเภทพลาสติกที่ตั้งเป้าไว้ คือยุติการใช้ไมโครบีดส์จากพลาสติกเท่านั้น

จากสถานการณ์ดังกล่าว EJF นำเสนอฉากทัศน์ที่จะช่วยให้การผลิตพลาสติกของประเทศไทยขึ้นไปยืนอยู่ในระดับที่ยั่งยืน โดยเป็นการผลิตที่ปราศจากผลิตโพลิเมอร์ ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย ความยั่งยืน และความจำเป็นในการใช้งาน 2 ฉากทัศน์ นั่นคือ

ฉากทัศน์ที่ 1 ยกเลิกโพลิเมอร์ที่น่าห่วงกังวลประเภท PVC และ PS โดยมีชนิดอื่นเข้ามาทดแทน พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการใช้ซ้ำและการเติมสำหรับการบริโภคและจำหน่าย เพื่อทดแทนพลาสติกที่ไม่จำเป็น ซึ่งฉากทัศน์นี้จะสามารถลดการผลิตพลาสติกปฐมภูมิได้ถึง 20%

ฉากทัศน์ที่ 2 ยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ซึ่งหากรัฐบาลสามารถยุติการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวได้ทั้งหมด จะลดการผลิตพลาสติกของไทยได้ถึง 36% หรือหากฉากทัศน์นี้เกินความเป็นไปได้ เพียงปรับลดการยกเลิกลงมา 50% ก็จะช่วยลดการผลิตพลาสติกได้ 18% ด้วยกัน

ท้ายที่สุด EJF ได้มีข้อเสนอแนะถึง 4 มาตรการที่จะผลักดันเข้าสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก โดยร่วมเจรจากับคณะผู้แทนจากประเทศอื่นๆ ในการประชุม INC-5 ประกอบด้วย มาตรการลดการผลิตพลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนโดยกำหนดให้เป็นมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย, มาตรการด้านความโปร่งใสและการรายงานและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตพลาสติกและห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี, มาตรการยุติการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย ความยั่งยืน และความจำเป็นในการใช้งาน, และมาตรการด้านการพัฒนาระบบการใช้ซ้ำ การเติม และการซ่อมแซม พร้อมจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

การผลิตและบริโภคพลาสติกที่ยั่งยืนของไทยควรเป็นอย่างไร?

ในการเสวนา “การผลิตและบริโภคพลาสติกที่ยั่งยืนของไทยควรเป็นอย่างไร?” ผานิต รัตสุข ผู้อำนวยการกองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ หนึ่งในตัวแทนเจรจาการประชุม INC-5 จากไทยเผยว่า ปัจจุบันโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกของรัฐบาล อยู่ระหว่างแผนปฏิบัติการพลาสติกระยะที่ 2 ซึ่งปัญหาหนึ่งของการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทย คือยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ และตั้งความหวังถึงสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่จะเกิดขึ้น ว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้การจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทยเห็นผล


          “ในแผนปฏิบัติการฯ เราได้ใช้หลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ และร่างพระราชบัญญัติบรรจุภัณฑ์พลาสติก ต่อคณะรัฐมนตรี และด้วยหลักการ EPR จึงเป็นความจำเป็นที่ภาครัฐต้องคุยกับเอกชนผู้ผลิต เพื่อให้กฎหมายที่ออกมาเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ได้

“ส่วนเรื่องสนธิสัญญาพลาสติกโลก จากการประชุม INC-4 จะมีทั้งหมด 13 บทบัญญัติ บางบทบัญญัติยังมีข้อถกเถียง เช่น สารเคมีและโพลิเมอร์ที่ห่วงกังวล เรื่อง EPR เรื่องการควบคุมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีปัญหา ซึ่งทางภาครัฐได้รับเอาความเห็นจากทุกภาคส่วน มากำหนดเป็นตัวท่าทีในการนำไปประชุมเจรจา ซึ่งหากการประชุมครั้งนี้สามารถเกิดเป็นมาตรการทางกฎหมายได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราต้องกลับมาทบทวนแผนปฏิบัติการพลาสติกระยะที่ 2 หากมีข้อที่ไม่ตอบโจทย์ของสนธิสัญญาฯ ก็ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการขึ้นอีกครั้งหนึ่ง”

ดร.นุจรินทร์ รามัญกุล ผู้เชี่ยวชาญวิจัย กลุ่มวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ได้ให้ความเห็นถึงการผลิตและบริโภคพลาสติกที่ยั่งยืนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เกิดจากการดำเนินพฤติกรรมที่ผิดพลาดมาหลายสิบปีของระบบ ที่ผู้ผลิตพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้งานอย่างสะดวกสบาย ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่วัสดุที่นำมาใช้ แต่อยู่ที่การบริหารจัดการและการใช้งานที่ไม่ถูกต้องเสียมากกว่า

“การจะแก้ปัญหาไม่ใช่การเปลี่ยนวัสดุหรือแบน การตั้งสมมติฐานว่าวัสดุใหม่ๆ อาจจะไม่ก่อผลกระทบ โดยที่เรายังไม่รู้จักวัสดุนั้นเลย อาจจะไม่จริงก็ได้ และจากการศึกษาที่ผ่านมาก็พบว่ายังไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้ หากใช้นโยบายจัดการขยะพลาสติกที่ปลายทาง จะมีค่าใช้จ่ายสูง ได้ผลที่ไม่คุ้มค่ากับต้นทุน และกระทบกับจีดีพี ดังนั้นจึงต้องคิดเชิงระบบให้มากขึ้น ต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ ระบบที่ว่าคือ EPR เพราะการควบคุมตลอดวงจรอายุพลาสติกทุกมาตรการพร้อมกันและบังคับใช้ทั่วโลก จะสามารถลดปัญหาขยะได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ และกระทบจีดีพีไม่มาก”
          จากการประชุมเจรจาของ INC และร่างสนธิสัญญาฯ ที่เกิดขึ้น ดร.นุจรินทร์มองว่าน่าดีใจในระดับหนึ่ง ที่เวทีโลกให้ความสำคัญกับการผลิตที่ต้นน้ำ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงกลไกกำกับในการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ทั้งให้ความเห็นว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์มีความจำเป็นหากต้องการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งการออกแบบนั้นต้องลดการรั่วไหลและลดการปลดปล่อยสารเคมีและไมโครพลาสติก ด้วย 4 มาตรการ คือ “ลด” สิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น ลดการใช้สารเคมี ลดการใช้พลาสติกปฐมภูมิ ลดการใช้งานที่ไม่จำเป็น “ยืด” คือออกแบบเพื่อยืดอายุการใช้งาน ให้มีความคงทน สามารถใช้ซ้ำ “หมุน” คือออกแบบให้สามารถซ่อมแซม ปรับปรุงสภาพให้ใช้ใหม่ได้อยู่เสมอ และ “เวียน” คือออกแบบให้รีไซเคิล ด้วยการคัดเลือกวัสดุ ใช้วัสดุชนิดเดียว เป็นต้น

“เราต้องเข้าสู่ Circular Economy ด้วยการลด ยืด หมุน เวียน ผ่านการออกแบบ คือคิดปลายทางให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาให้ได้ว่า ถ้าหมดอายุแล้ว ผลิตภัณฑ์จะไปยังไงต่อเพื่อให้มีทางได้ไปเกิดใหม่”

ทั้งนี้ การจะใช้มาตรการลด ยืด หมุน เวียน สิ่งที่ยังเป็นปัญหาของไทยก็ยังมีอยู่ อาทิ ยังขาดการสำแดงข้อมูล ซึ่งจำเป็นต้องมีความโปร่งใส การจะใส่อะไรลงไปในผลิตภัณฑ์ต้องมีมาตรฐานการสำแดงข้อมูลสารเคมี ชนิด ที่มาของแหล่งพลาสติก ให้ผู้บริโภคได้รับรู้ โดยการสำแดงข้อมูลนั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ทั้งมาตรฐานวิธีการประเมินการออกแบบผลิตภัณฑ์ การก่อไมโครพลาสติก มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการรีไซเคิลได้อย่างแพร่หลายในทางปฏิบัติในปริมาณมาก

ด้านตัวแทนเอกชนผู้ผลิตพลาสติกอย่าง ฐิติธัม พงศ์พนางาม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย ตอบคำถามถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ของภาคการผลิตว่า “ในภาคอุตสาหกรรม การที่เราจะเลือกวัสดุอะไรก็ตามมาใช้ก็ต้องคำนึงถึงปลายทางสุดท้ายว่าจะมีการจัดการอย่างไร เราเห็นด้วยว่าถ้าเราสามารถใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ เราก็ควรไปทางนั้น แต่นโยบายอะไรก็ตามที่เป็นการเปลี่ยนวัสดุโดยที่ไม่ได้ศึกษาว่าปลายทางจะไปทางไหน วัสดุนั้นสร้างคาร์บอนจะมากกว่าหรือน้อยกว่าพลาสติก สุดท้ายแล้วอาจไม่ได้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

“ในภาคผู้ผลิต เราจึงทำงานร่วมกับทั้งเจ้าของแบรนด์และผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อออกแบบให้ง่ายต่อการรีไซเคิล เป็น Eco Design ที่เริ่มตั้งแต่การดีไซน์ว่าปลายทางของผลิตภัณฑ์จะไปที่ไหน และในส่วนของผู้บริโภคก็ต้องหันมาบริโภคอย่างยั่งยืน บริโภคอย่างคุ้มค่า อะไรที่รีไซเคิลได้ก็หมุนเวียนกลับมาเป็นทรัพยากรให้เราใหม่ อะไรที่จำเป็นต้องใช้ซ้ำก็ต้องใช้ซ้ำ แต่ทุกอย่างจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เพราะเป็นส่วนสำคัญในการเก็บพลาสติกเหล่านั้นมาหมุนเวียนเป็นทรัพยากรใหม่ หรือกำจัดส่วนที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน”

รศ.ดร.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อํานวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมให้ความเห็นถึงมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์พลาสติก ผ่านการศึกษาปัญหาพลาสติกกับพัฒนาการเด็กและครอบครัว ซึ่งพบว่ามีสารเติมแต่งในพลาสติกที่น่ากังวลต่อสุขภาพอย่างโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว และสารเคมีที่รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ ไปจนถึงการสลายตัวของพลาสติกเป็นไมโครพลาสติกและแตกตัวเป็นไมโครและนาโนพลาสติกที่เป็นผงคล้ายฝุ่น ที่แทรกซึมเข้าสู่ระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต

           ไมโครและนาโนพลาสติก จึงแสดงให้เห็นถึงปัญหาการสะสมและการย่อยสลายขยะพลาสติกที่ไม่สมบูรณ์ในธรรมชาติ และสะท้อนถึงการที่โลกยังขาดระบบจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ การเคลื่อนย้ายขยะพลาสติกข้ามประเทศก็เพิ่มความซับซ้อนของปัญหานี้ โดยประเทศที่รับขยะเหล่านี้มักมีโครงสร้างการจัดการขยะที่จำกัด การจัดการขยะที่มีสารพิษ จึงจำเป็นต้องได้รับการควบคุมและจัดการอย่างเข้มงวด “ก่อนการผลิต นักวิชาการต้องมีความรอบคอบ และถ้าผลิตออกมาแล้วพบว่าไม่ได้มาตรฐานก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันเวลา ควบคุมด้วยความจริงใจจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่ทำเพื่อขายได้ แต่ต้องให้คนที่อยู่ในสังคมได้มีความสุขจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นด้วย
          “ในเมื่อเราพูดว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนคือความสุขของคนในอนาคตหรือลูกหลาน ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิต ผู้กระตุ้นการตลาด ผู้ขาย ต้องมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบของผลกระทบทางสุขภาพสิ่งแวดล้อม ตามหลักผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในการป้องกันความเสียหายต่อสุขภาพของมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม ทั้งความรับผิดชอบต่อการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment) การประเมินสุขภาพข้ามรุ่น (Intergenerational Health Impact Assessment) และรับผิดชอบในการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่ตกค้างอยู่ในธรรมชาติ”

ด้าน ดร.พูนศักดิ์ จันทร์จําปี ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงการดำเนินงานในมุมของฝ่ายนิติบัญญัติว่า “ปัญหาการจัดการขยะพลาสติกต้องอาศัยการทำงานร่วมกันไม่ต่ำกว่าหกกระทรวง เพราะโครงสร้างที่ยังไม่พร้อม และเรามีการกระจายอำนาจในการจัดการบริหารหลายกระทรวง ก็ต้องอาศัยกลไกที่มีอยู่ตอนนี้ร่วมมือกันทำไปก่อน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมทำในส่วนลดการใช้สารเคมีอันตรายหรือสารเติมแต่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีส่วนในการบริหารจัดการของเสียร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และมีส่วนร่วมในการควบคุมกำกับหน่วยงานที่จัดการขยะปลายทาง ซึ่งขยะพลาสติกที่ไปจบที่หลุมฝังกลบแบบเทกอง เมื่อฝนตกหรือน้ำท่วมมันจะกระจายสู่สิ่งแวดล้อม

“เรากำลังเร่งรัดให้เกิดกระบวนการจัดการของเสียในภาคผู้ผลิตด้วยการนำหลักการ EPR มาใช้ เพื่อเร่งรัดให้เกิดการบริหารจัดการที่ต้นทาง ผสมกับการจัดการที่ปลายทาง เพื่อไปสู่การจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยที่กรมควบคุมมลพิษทำร่างกฎหมายขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนโดยแยก EPR ตามประเภทผลิตภัณฑ์เพราะหากยิ่งมีกฎหมายหลายฉบับ ก็จะต้องใช้เวลาหลายปียิ่งขึ้นในการออกกฎหมายแต่ละฉบับ หากเป็นไปได้ ควรปรับปรุงข้อกฎหมาย EPR ให้รวมเป็นฉบับเดียว และควรมีมาตรการหรือนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน ไม่ใช่ทำแคมเปญเสร็จแล้วหายไป เพราะการทำแคมเปญไม่มีผลเลยในเชิงปฏิบัติ”

มาตรการทางการเงิน เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าทีมวิจัย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม ประเทศไทย (Fair Finance Thailand) มีความเห็นว่า สิ่งที่สถาบันการเงินต้องการจากภาครัฐ คือมาตรการที่ชัดเจน

“ปัญหาพลาสติกต้องมีการใช้มาตรการเชิงบังคับมากขึ้นด้วยความเร่งด่วนของปัญหา แต่ก็มีคำถามอยู่ว่า รัฐมีแผนปฏิบัติการด้านพลาสติกระยะที่ 2 และมีร่างกฎหมาย EPR อยู่แล้ว ประกอบกับในแผนปฏิบัติการด้านพลาสติกระยะที่ 1 มีการห้ามใช้ไมโครบีดส์พลาสติกแล้ว ทำไมจึงไม่ทำให้แผนห้ามใช้พลาสติกทั้ง 7 ประเภทเกิดประสิทธิผลไปเลย เช่น ออกกฎหมายหรือมาตรการบังคับ เพราะหากมีความชัดเจนในระดับนั้น จะเป็นการส่งสัญญาณให้ภาคการเงิน และเป็นมาตรฐานให้ธนาคารใช้อ้างอิงในการช่วยเหลือลูกค้าปรับเปลี่ยนธุรกิจได้”           ส่วนมุมมองที่มีต่อสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น สฤณีให้ความเห็นว่า จะต้องมีการปักธงเรื่องตัวเลขและกรอบเวลาที่ชัดเจน เพราะหากปราศจากเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว จะไม่สามารถผลักดันการเปลี่ยนผ่านได้เลย ซึ่งเป้าหมายของแต่ละประเทศก็จะมีความแตกต่างกันไปด้วยบริบทที่ต่างกัน

“สำหรับประเทศไทย ส่วนตัวมองว่าควรประกาศมาตรการที่สอดคล้องกับระดับปัญหาที่เราสร้าง ไทยเป็นประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกในทะเลอันดับ 6 ของโลก และรัฐก็ให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกมากเป็นอันดับ 4 ของโลก เมื่อเรามีส่วนเกี่ยวข้องขนาดนี้ ประเทศอื่นย่อมคาดหวังให้เรามีการประกาศแผนหรือเป้าหมายที่สอดคล้องกับระดับปัญหา ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ได้เป็นโจทย์ที่ง่าย เพราะไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้มีทรัพยากรเยอะ การจะทำอะไรก็ตามจึงต้องคำนึงถึงจุดสมดุลระหว่างความจำเป็นที่ต้องพัฒนา และการแสดงความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาร่วมกับโลก “สิ่งที่เราควรคาดหวังคือ มาตรการเชิงบังคับทั้งหลายควรใช้กับผู้ที่ก่อปัญหาที่ใหญ่ที่สุด ตามหลักการ Polluter Pays สำหรับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาหรือผู้เปราะบางที่สุด รวมถึงผู้บริโภค ควรใช้มาตรการเชิงสมัครใจ หรือสร้างแรงจูงใจให้ได้มากที่สุด และหากมีการเก็บค่าปรับหรือภาษีจากผู้ที่ก่อปัญหา ก็ต้องนำเงินนั้นไปช่วยเหลือผู้ที่มีกำลังน้อยที่สุดให้ปรับตัวได้ เช่น เอสเอ็มอี เป็นต้น

“สนธิสัญญาพลาสติกโลกอาจเป็นโอกาสของไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา ในการเรียกร้องประเทศที่มีทรัพยากรมากมาให้ความช่วยเหลือในการสร้างระบบ Life Cycle Assessment ช่วยยกระดับเรื่องข้อมูล Transparency หรือ Traceability ซึ่งเป็นช่องว่างที่เราขาดอยู่”           สนธิสัญญาพลาสติกโลกที่จะเกิดขึ้นภายหลังการประชุมครั้งสุดท้าย จะมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อยุติปัญหามลพิษจากพลาสติกในระดับโลกเช่นไร และมาตรการเหล่านั้นจะนำมาสู่แผนปฏิบัติการพลาสติกของประเทศไทยอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเฝ้าจับตาต่อไป เพื่อให้ปัญหาขยะพลาสติกได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนในทุกมิติหลังจากนี้