จากความพยายามในระดับโลก โดยการนำของสหประชาชาติและเหล่าประเทศสมาชิก ที่ต้องการหาแนวทางลดผลกระทบจากมลพิษพลาสติกในทุกรูปแบบ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2557 นำมาสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล Intergovernmental Negotiating Committee: INC) ในการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติกรวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเลเพื่อเจรจาและหาข้อยุติในการจัดทำร่าง “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” โดยกำหนดกรอบเวลาการประชุมของคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลฯ จำนวน 5 ครั้ง ตั้งเป้าจัดทำมาตรการให้แล้วเสร็จในปี 2567 ซึ่งการประชุมและเจรจาครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย หรือ “INC-5” จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2567 ณ เมืองปูซาน เกาหลีใต้

ทั้งนี้ ข้อบัญญัติของสนธิสัญญาพลาสติกโลก จะนำไปสู่

  1. การกำหนดเป้าหมายการลดการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รวมถึงการลดใช้วัสดุที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในการผลิตพลาสติก
  2. การลดและยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายบางชนิดในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกนานาชนิด
  3. มาตรการด้านความโปร่งใสในการให้ข้อมูลแก่สาธารณะ
  4. การกำหนดเป้าหมายเพื่อลดหรือยกเลิกการผลิตบรรจุภัณฑ์บางประเภทที่หลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
  5. การกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาระบบรองรับการใช้ซ้ำและการเติมเพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

องค์กรภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ได้เห็นความสำคัญของการกำหนดข้อบัญญัติในสนธิสัญญาพลาสติกฉบับนี้ จึงได้ติดตามการจัดทำมาตรการเพื่อให้เกิดข้อบัญญัติเหล่านี้ในสนธิสัญญาฯ และสนับสนุนให้ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน และพระราชบัญญัติจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการปรับกฎหมายการจัดการขยะของประเทศให้ครอบคลุมมากขึ้น

ในโค้งสุดท้ายก่อนการประชุม INC-5 จะมีขึ้น องค์กรภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ได้แก่ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน (SERI) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมกันจัดการสัมมนาวิชาการ “โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก: การผลิตและบริโภคพลาสติกที่ยั่งยืนของไทยควรเป็นอย่างไร?” เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 เพื่อนำเสนอปัญหาและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม จากการผลิตและบริโภคพลาสติกที่ไม่ยั่งยืน และสร้างความตระหนักรู้ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของประชาชนต่อการเจรจาระหว่างรัฐบาล ในการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาติกและสิ่งแวดล้อมทางทะเล

การสัมมานาวิชาการครั้งนี้ นอกจากเผยถึงความสำคัญของการมีสนธิสัญญาพลาสติกโลกต่อสาธารณะ พร้อมนำเสนอผลการศึกษาของศูนย์ปฏิบัติการลอว์เรนซ์เบิร์กลีย์ ถึงผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจากการผลิตพลาสติก ที่การผลิตพลาสติกปฐมภูมิ (ถึงขั้นตอนการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์) ได้ก่อก๊าซเรือนกระจกถึง 2.24GtCO2e ในปี 2562 และคาดการณ์ว่าจะสูงถึง 106–126.6GtCO2e ภายในปี 2593 ตัวเลขนี้ได้สะท้อนถึงฉากทัศน์ที่การผลิตและการบริโภคพลาสติกของประชาชนทั่วโลกที่จะยังคงเพิ่มขึ้นแล้ว ยังได้จัดให้มีเวทีเสวนา “เปิดข้อมูล: เจาะลึกผลกระทบของพลาสติกตลอดวงจรชีวิต”

[ช่วงเช้า] โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก: การผลิตและบริโภคพลาสติกที่ยั่งยืนของไทยควรเป็นอย่างไร?

โดยมี นพ.วิชชาธร ธีรธัญยธรณ์กุล กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลระยอง, พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย, ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงาน มูลนิธิบูรณะนิเวศ, ดร.ศีลาวุธ ดํารงศิริ นักวิจัยชํานาญการ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน (SERI) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, และดร.สุจิตรา วาสนาดํารงดี นักวิจัยเชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืน (SERI) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานกลุ่มของเสีย ชุมชนศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมเป็นวิทยากร 

อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี กับการผลิตพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

เป็นเวลามากกว่า 100 ปีแล้วนับตั้งแต่วันที่พลาสติกเข้ามาเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของผู้คน หากแต่ในอดีตนั้น พลาสติกเกิดขึ้นจากการแปรรูปด้วยวัสดุธรรมชาติจำพวกยางไม้ การบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกจึงไม่สร้างผลกระทบกับโลกเช่นปัจจุบัน ที่การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกมีต้นทางจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มากไปกว่านั้น ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีกำลังการผลิตสูงเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสูงเป็นอันดับ 16 ของโลก ซึ่งกระบวนการผลิตนั้นได้ปล่อยสิ่งคุกคามสู่สิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตโดยรอบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ด้วยบทบาทการเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลระยอง จังหวัดที่เป็นเขตอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้นายแพทย์วิชชาธร ธีรธัญยธรณ์กุล ได้รับรู้ปัญหาผลกระทบและข้อร้องเรียน รวมถึงความต้องการของชุมชนมาเป็นเวลานาน และได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเคมีให้มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติงานและผู้ปฏิบัติงานให้น้อยที่สุด และเพื่อให้ประชาชนในอนาคตสามารถใช้ชีวิตในถิ่นฐานเดิมได้อย่างเป็นสุข และนั่นเป็นที่มาของ “โครงการการศึกษามลพิษอากาศ ผลกระทบและการเฝ้าระวังความเสี่ยง จากกลุ่มอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จังหวัดระยอง

จากรายงานการเฝ้าระวังทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของการศึกษาชิ้นนี้ พบว่า สารเคมีที่มีการเก็บมากที่สุด 20 รายการ ส่วนใหญ่เป็นสารไวไฟ ระเหยง่าย สามารถส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบโลหิตและไต เป็นสารก่อมะเร็ง 3 รายการ มียาต้านพิษเฉพาะอีทีลีน ไกลคอล

มีสารเคมีที่เป็นระดับความเสี่ยงต่อสุขภาพระดับ 1, 2 (นิยามตามการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย) มี 15 รายการ มีสารก่อมะเร็ง 8 รายการ ยับยั้งการหายใจระดับเซลล์ 2 รายการ ส่วนสารอื่นออกฤทธิ์กัดกร่อน เป็นพิษต่อระบบประสาท และมียาต้านพิษ 4 รายการ

ส่วนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาเรื่องกลิ่น เสียง และฝุ่นละอองหรือเขม่าควัน โดยจากรายงานผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อม ตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยจำนวน 9 ชนิด โดยผลการตรวจวัดตั้งแต่ปี 2561-2565 พบสารเบนซีน และสาร 1,2 บิวทาไดอีน สูงกว่าค่าเฉลี่ยรายปีอย่างต่อเนื่อง ส่วนอีก 7 ชนิดอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยรายปี ทั้งนี้ตัวชี้วัดคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ปกติ

           ในรายงานการเฝ้าระวังโรครายสัปดาห์ สถิติการป่วยด้วยโรคอาจเกิดจากมลพิษทางอากาศแบบเฉียบพลันในปี 2562-2565 ได้แก่โรคภูมิแพ้ โรคผิวหนัง และโรคระบบทางเดินหายใจ และในบางสัปดาห์มีสถิติผู้รับบริการสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง แต่ไม่สัมพันธ์กับค่าตรวจวัดสารเคมีในบรรยากาศ

           มีการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในจังหวัดระยองทุกแห่ง และส่งข้อมูลให้กับสถาบันมะเร็งแห่งชาติเพื่อรวบรวมเป็นสถิติมะเร็งระดับประชากร และในส่วนของโรงพยาบาลระยองมีการจัดทำทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาลเพื่อพัฒนาระบบบริการให้สอดคล้องกับการเกิดโรงมะเร็งในพื้นที่ จากการศึกษาข้อมูลทะเบียนมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2541-2561 พบว่า ทั้งมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ในชายและหญิงมีแนวโน้มสูงขึ้นที่สุดในปี 2554 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศและจังหวัดที่อยู่ชายทะเลได้แก่ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา และค่อยๆ ลดลงในปี 2561 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผู้ทำการศึกษาระบุว่า การศึกษาชิ้นนี้ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลเรื่องผลการตรวจวัดสารเคมีในบรรยากาศ ณ จุดต่างๆ และข้อจำกัดในการเฝ้าระวังต่อเนื่องด้วยขาดงบประมาณตรวจสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง จึงยังเป็นโจทย์สำคัญต่อการคำนวณถึงมิติด้านสุขภาพให้สมบูรณ์

พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ยังไม่ใช่ทางออกและอาจก่อวิกฤตใหม่

ในขณะที่การผลิตพลาสติกจากปิโตรเคมีนั้นมีต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงในหลายมิติ การผลิตและบริโภคพลาสติกจากวัสดุที่ระบุตัวเองว่าสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ อย่าง “Biodegradable Plastics” หรือ “Compostable Plastics” จะเป็นทางออกสำหรับอนาคตได้จริงหรือ พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย ก็มีคำถามนี้อยู่ในใจเช่นกัน และนั่นเป็นที่มาของงานวิจัยเพื่อหาคำตอบว่า “พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเป็นทางออกสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนหรือไม่?”

เพื่อค้นคำตอบที่ประจักษ์ชัดด้วยข้อมูลจริง กรีนพีซ ประเทศไทยจึงทำการทดลองเพื่อดูอัตราการย่อยสลายของบรรจุภัณฑ์ และความเป็นไปได้ในการแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก โดยใช้ระยะเวลาในการทดลอง 6 เดือน ผ่านการนำบรรจุภัณฑ์ไปแช่ในทะเล แช่ในตู้ปลาที่ใส่น้ำทะเลจำลองสภาพเหมือนจริงทั้งความเค็มของน้ำและอุณหภูมิ และฝังดิน ซึ่งนำมาสู่ 3 ข้อค้นพบของการทดลอง

ข้อค้นพบที่ 1 พลาสติกทางเลือกที่ถูกนำมาใช้เป็นตัวอย่างในการทดลองประกอบด้วย แก้วกาแฟ PBS ถุงน้ำตาลพลาสติกชีวภาพชนิดพิเศษที่ผลิตจากพืช และหลอด BIO PBS + PLA ซึ่งผลการทดลองดังกล่าวพบว่า บรรจุภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิดมีการแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกจากการย่อยสลาย

ข้อค้นพบที่ 2  ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ที่นำมาทดลองประกอบด้วย แก้วกาแฟ PLA ถุงหูหิ้วที่ระบุว่าเป็น Biodegradable และกล่องอาหารที่ระบุว่าผลิตภัณฑ์มีวัตถุดิบผสมผสานกับเยื่อธรรมชาติ สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำและย่อยสลายได้ ผลที่ได้จากการทดลองพบว่า ทั้งสามบรรจุภัณฑ์ไม่ย่อยสลาย และพบไมโครพลาสติกที่หลุดจากผิวและสีที่ใช้พิมพ์ลงบนแก้วกาแฟและถุงหูหิ้ว

ข้อค้นพบที่ 3 ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ที่นำมาทดลองคือ ถุงหูหิ้ว BIOMAT และกล่องอาหารที่ระบุว่าย่อยสลายได้ทาง ชีวภาพ เมื่อนำมาทดลองพบว่า ทั้งสองบรรจุภัณฑ์ไม่พบไมโครพลาสติก แต่ไม่ย่อยสลายในเวลาที่ทำการทดลอง ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าอาจย่อยในสภาพแวดล้อมและเวลาที่เป็นจริง

จากข้อค้นพบทั้ง 3 ที่พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพไม่ใช่ทางออก ไม่ได้เป็นทางรอดของวิกฤต และอาจก่อวิกฤตอื่นตามมาในอนาคต กรีนพีซจึงมีข้อเสนอแนะถึงการสร้างระบบ “การใช้ซ้ำ” (Reuse System) เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนตลอดวงจรชีวิตของทรัพยากรจนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน เพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า หยุดวัฒนธรรมการใช้แล้วทิ้ง ที่จะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

ขณะเดียวกัน ในแง่ของการใช้ฉลากหรือคำศัพท์ที่หลากหลายแต่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของบรรจุภัณฑ์ กรีนพีซได้ฝากความหวังไปยังภาครัฐ ในการควบคุม (Regulate) การใช้งานบรรจุภัณฑ์ ให้มีหลักเกณฑ์ในการใช้คำศัพท์ที่เป็นจริงต่อบรรจุภัณฑ์ และฝากไปยังผู้บริโภคให้ตระหนัก (Realize) ถึงสิทธิในการส่งเสียงว่าอยากเห็นสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนที่แท้จริง และทุกคนมีส่วนในการลดมลพิษจากพลาสติกได้ ด้วยการเลือกผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์จากแบรนด์ที่มีความยั่งยืน ด้วยผู้บริโภคคือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน และหากทุกภาคส่วนเปลี่ยน ระดับนโยบายเปลี่ยน จะช่วยให้เอกชนเปลี่ยนผ่าน และเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงได้ด้วย

รีไซเคิลมีข้อดี แต่ก็มีข้อต้องคำนึงถึงสารมลพิษในพลาสติก

การรีไซเคิลพลาสติก เป็นกระบวนการแปรรูปขยะพลาสติกให้สามารถนำไปใช้ต่อได้ และเป็นหนึ่งในวิธีการหมุนเวียนทรัพยากรเพื่อการใช้ประโยชน์ให้ได้สูงที่สุด แต่ข้อน่ากังวลที่ตามมา คือเม็ดพลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิลมาแล้วนั้น ปลอดภัยแค่ไหน ด้วยนวัตกรรมต่างๆ ของการผลิตพลาสติกที่ใช้สารเติมแต่งในกระบวนการผลิตพลาสติกปฐมภูมิ เพื่อให้มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ อาทิ สารเติมแต่งสี สารเติมแต่งคุณภาพ สารหน่วงการติดไฟ สารเคลือบผิว Non-Stick ซึ่งการศึกษาหลายชิ้นในปัจจุบัน ระบุว่า สารเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตอย่างรุนแรง และก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาวอีกหลายสิบปีต่อร่างกายมนุษย์และเด็กแรกเกิด

ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงาน มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้เผยถึง 3 ผลการศึกษาผลการศึกษาสารมลพิษในพลาสติกและพลาสติกรีไซเคิล ที่มูลนิธิบูรณะนิเวศทำงานร่วมกับเครือข่าย IPEN และ ARNIKA ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านสารมลพิษต่างๆ  โดยเฉพาะสารแต่งเติมพลาสติก ร่วมทำการศึกษา

ข้อมูลการศึกษาชิ้นแรก เป็นการศึกษาสารมลพิษกลุ่มอินทรีย์และสารอื่นๆ ในเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด Polyethylene พวกเขาได้นำตัวอย่างเม็ดพลาสติก 28 ตัวอย่างจากประเทศในทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา ยุโรป และเอเชียซึ่งมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น จากการวิเคราะห์ผ่านห้องปฏิบัติการ พบว่าเม็ดพลาสติกที่รีไซเคิลมาจากพลาสติกยุคเก่าที่มีอายุ 20-50 ปี หมดอายุปฐมภูมิแล้ว หรือเม็ดพลาสติกรีไซเคิลอื่นๆ จากขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ มีการปนเปื้อนของสารมลพิษอยู่หลายชนิด โดยเฉพาะกลุ่มสารฆ่าแมลงและจุลชีพ กลุ่มสารที่ใช้ในเภสัชกรรม และสารอันตรายที่อันตรายอย่างกลุ่มสารเคมีอุตสาหกรรมจำนวนหลายตัวอย่าง

การศึกษาชิ้นที่ 2 เป็นการศึกษาการปนเปื้อนสารเคมีของตัวอย่างเม็ดพลาสติกจาก 24 ประเทศทั่วโลก นอกเหนือจาก 28 ตัวอย่างที่ปรากฏในการศึกษาชิ้นแรก และมีประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งในการส่งตัวอย่างเม็ดพลาสติกไปศึกษา พบว่า ในตัวอย่างเม็ดพลาสติกจากประเทศไทย มีการปนเปื้อนของสารหน่วงการติดไฟ (BFR) สารเพิ่มเสถียรภาพทางแสงยูวี (UV Stabilizers) และสาร BPA รวม 11 ตัวอย่าง และเม็ดพลาสติกจากไทยยังพบกลุ่มสารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (Endocrine Disrupting Compounds: EDCs) มากกว่า 8 ชนิด ซึ่งข้อกังวลจากการพบสารเหล่านี้ คือความเป็นไปได้ว่าจะนำไปสู่การปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล เช่น ภาชนะพลาสติกสีเข้ม ขันน้ำบางชนิด หรือพลาสติกที่เคยแต่งเติมสารหน่วงการติดไฟในการผลิตปฐมภูมิ อาจเป็นสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนสู่มนุษย์ได้จากร่างกายสัมผัส

ส่วนการศึกษาชิ้นที่ 3 เป็นการศึกษาสารมลพิษตกค้างยาวนาน (POPs) บริเวณพื้นที่ประกอบกิจการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มีชิ้นส่วนพลาสติกเป็นส่วนประกอบ เช่น พัดลม เคสคอมพิวเตอร์ เมนบอร์ด ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะเติมสารหน่วงการติดไฟ (PBDE) เพื่อให้ทนต่ออุณหภูมิที่สูงขณะใช้งาน หรือสารเติมแต่งอื่นเพื่อให้คุณสมบัติตามที่ผู้ผลิตต้องการ

ในการเก็บตัวอย่างทั้ง 61 ตัวอย่าง ประกอบด้วยตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน ฝุ่น ตัวอย่างผลผลิตการเกษตร เช่น ข้าวเปลือก ไข่ไก่ หอย ปลา และตัวอย่างเซรั่มเลือดจากผู้ปฏิบัติงานสัมผัสใกล้ชิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบว่ามีการปนเปื้อนของสาร PBDE ตกค้างสะสมอยู่ในเลือดของผู้ปฏิบัติงานสูงถึง 19.9 ng/n ไขมัน ซึ่งสูงกว่ากลุ่มตัวอย่างอ้างอิงถึง 3 เท่า (กลุ่มอ้างอิงคือ กลุ่มคนที่ไม่ได้มีการสัมผัสและใช้ชีวิตอยู่ในกลุ่มเกษตรอินทรีย์ มีค่าสาร PBDE 4.5 ng/n ไขมัน) และยังพบการปนเปื้อนในตัวอย่างสิ่งแวดล้อมอื่นอยู่สูง

และยังพบอีกว่า นอกจากสาร PBDE ยังมีสารกลุ่ม DP หรือ  Dechlorane Plus ซึ่งถูกแบนภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์ม ว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน และกำลังเข้าสู่กระบวนการห้ามใช้เพราะอันตรายและมีผลกระทบระยะยาวต่อมนุษย์ โดยพบสาร DP สะสมในตัวอย่างเลือดของผู้ปฏิบัติงานถึง 7.27 ng/g ไขมัน ซึ่งสูงกว่าตัวอย่างอ้างอิงกว่า 20 เท่า (กลุ่มอ้างอิง <0.3 ng/g ไขมัน) และยังพบการปนเปื้อนในตัวอย่างสิ่งแวดล้อมอื่นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ทางเครือข่ายยังได้เคยศึกษาปริมาณสาร PBDE ในประเทศไทยและพื้นที่อื่นทั่วโลก ซึ่งสารไดออกซินบางชนิดเป็นกลุ่มของสารแต่งเติมพลาสติก และพบการปนเปื้อนของสารกลุ่มไดออกซินในประเทศไทยติดอยู่ในอันดับต้นๆ

เมื่อนำผลการศึกษาปริมาณสารไดออกซินและฟิวแรน (PBDE/Fs) ที่ตรวจพบในตัวอย่างสิ่งแวดล้อมและตัวอย่างไข่ไก่ ยังพบการปนเปื้อนที่สูงเมื่อเทียบกับพื้นที่อ้างอิง และสูงกว่าการศึกษาที่เคยผ่านมาในประเทศไทย ซึ่งนอกจากกาฬสินธุ์แล้วยังพบสารเหล่านี้ปนเปื้อนสูงมากโดยเฉพาะในกลุ่มพื้นที่ที่มีการจัดการขยะรีไซเคิล หรือโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งหากไม่มีการจัดการที่ดี สารเหล่านี้จะเล็ดลอดสู่สิ่งแวดล้อมได้ 
   
        และจากการศึกษาทั้ง 3 โครงการนี้ พบว่าสารที่ตรวจพบหลายชนิดเป็นสารกลุ่มที่รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ และเป็นที่น่ากังวลว่าผลกระทบจากสารเคมีในพลาสติกอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดและหญิงมีครรภ์

ไมโครพลาสติก ภัยเงียบในห่วงโซ่อาหาร

ดร.ศีลาวุธ ดํารงศิริ นักวิจัยชํานาญการ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน (SERI) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงภัยของไมโครพลาสติก ที่ซ่อนตัวอยู่ในห่วงโซ่อาหาร และมีผลร้ายต่อร่างกายมนุษย์ในระยะยาว ซึ่งที่มาของไมโครพลาสติกชิ้นเล็กจิ๋วนี้ เป็นผลจากการแตกตัวของพลาสติกที่ถูกทำลายให้สลายจากแสงแดด แรงกระทำทางกล และทางชีวภาพ และไมโครพลาสติกจะอยู่ได้อีกนับร้อยปี หลังการสลายไปของพลาสติกที่ต้องใช้เวลาสลายตามธรรมชาติตั้งแต่ 10-600 ปี ตามประเภทของพลาสติก

ไมโครพลาสติกถูกกล่าวถึงในรายงานตั้งแต่ช่วงปี 2515 แต่เริ่มได้รับความสนใจในงานเชิงวิจัยทางทะเลเมื่อปี 2555 จากการพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในทะเล เมื่อย้อนกลับไปดูต้นทาง พบว่าแหล่งกำเนิดของไมโครพลาสติกมาจากการซักผ้า การสลายตัวที่กองขยะ ขยะในแม่น้ำลำคลอง ขยะในทะเล ขยะบนชายหาด ซากแหอวน และกระจายตัวสู่สิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะลำน้ำ ทะเลสาบ ยอดเขาสูง พื้นดิน พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เมือง และพบกระทั่งบริเวณขั้วโลก อากาศ และเมฆฝน เรียกได้ว่าไม่มีตารางนิ้วไหนบนโลกใบนี้ที่รอดพ้นจากการฟุ้งกระจายของไมโครพลาสติก ซึ่งไมโครพลาสติกเหล่านี้ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยการกินอาหาร ดื่มน้ำ และการหายใจ

เมื่อมีการเก็บตัวอย่างอาหาร ทั้งเกลือสมุทร สัตว์ทะเล พืชผัก ก็พบไมโครพลาสติกที่ไม่ได้เกาะตัวเฉพาะบนพื้นผิว หากแต่ปนเปื้อนอยู่ในเนื้อผักโดยดูดซึมผ่านทางรากและลำต้น ส่งไปถึงใบและผล และยังพบไมโครพลาสติกในอาหารประเภทโปรตีน อาหารแปรรูป ไปจนถึงขวดน้ำดื่ม หน้ากากอนามัย กระทั่งการใช้เขียงพลาสติก ไมโครเวฟ ก็ยังสามารถทำให้เกิดไมโครพลาสติกได้ นั่นเท่ากับว่า เราไม่อาจหลีกหนีการเผชิญหน้ากับไมโครพลาสติกได้พ้นเลยในแต่ละวัน

จากการศึกษาไมโครพลาสติกในน้ำดื่มบรรจุขวดที่ผลิตในประเทศไทย ทั้งแบรนด์ใหญ่และแบรนด์รอง ด้วยขนาดและภาชนะที่ต่างกัน โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) พบว่า มีไมโครพลาสติกขนาดเล็กมาก ปนเปื้อนในน้ำดื่มบรรจุขวด ทั้งขวดพลาสติกประเภทขวด PET ที่ฝาขวดเป็นพลาสติกประเภท PE, ขวดแก้ว ที่ใต้ฝาขวดทำจาก PE, ถ้วยน้ำดื่มชนิดฝาเจาะ ที่ตัวถ้วยทำจาก PP และฝาทำจาก PET โดยขวดใหญ่จะพบความเข้มข้นที่น้อยกว่าขวดเล็ก ซึ่งคาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับสัดส่วนปริมาณน้ำต่อพื้นที่ผิว และหากนำขวดน้ำดื่มเก่ามาใช้ซ้ำ จะพบไมโครพลาสติกมากกว่าขวดใหม่ โดยที่ไมโครพลาสติกที่พบในน้ำดื่มบรรจุขวดมีขนาดเล็กมากจนไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า และยิ่งนำขวดเก่ามาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกก็จะยิ่งพบมากขึ้นอีก

แม้จะยังไม่อาจระบุได้ชัดถึงขนาด ชนิด ปริมาณของไมโครพลาสติก ที่จะส่งผลอันตรายเมื่อถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ชัดเจน ซึ่งทำให้ยากต่อการออกกฎหมายควบคุม แต่ก็ได้มีการศึกษาว่า พบไมโครพลาสติกในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ อาทิ สมอง หัวใจ ปอด ตับ เลือดและผนังหลอดเลือด องคชาติ อัณฑะ อสุจิ รกเด็ก โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าพบไมโครพลาสติกในเส้นเลือดฝอยเป็นจำนวนมาก ซึ่งไมโครพลาสติกจะเข้าไปรบกวนฮอร์โมนในร่างกาย และพัฒนาการต่างๆ มีพิษกับเซลล์ ขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด พบความเกี่ยวข้องในโรคระบบทางเดินหายใจ มะเร็งปอด หอบหืด ปอดอักเสบ โรคลำไส้อักเสบและความผิดปกติของจุลินทรีย์ในลำไส้ อาการทางระบบประสาท ความเหนื่อยล้า เวียนศีรษะ

ไม่มองพลาสติกเป็นตัวร้าย แต่ต้องมีทางออกในการลดใช้และจัดการขยะพลาสติก

แม้ผลกระทบของพลาสติกจะมีรอบด้านทั้งแง่มุมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ดร.สุจิตรา วาสนาดํารงดี นักวิจัยเชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืน (SERI) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานกลุ่มของเสีย ชุมชนศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็ชวนให้ฉุกคิดว่า ในทางกลับกัน พลาสติกก็เข้ามาอำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างมาก ด้วยคุณสมบัติซึ่งเป็นข้อดีที่หลากหลาย สิ่งสำคัญจึงเป็นการใช้พลาสติกอย่างรับผิดชอบและใช้อย่างคุ้มค่ามากกว่า และปัญหาของการใช้พลาสติกที่ส่งผลกระทบตามมา ก็เกิดจากความไม่รู้ หรือความไม่ตระหนักของมนุษย์

“หนึ่งคือคนไม่รู้ว่าพลาสติกทำมาจากน้ำมัน ใช้แล้วหมดไป ถ้าใช้อย่างฟุ่มเฟือยจะไม่เหลือน้ำมันให้ใช้ต่อในอนาคต สองคือ เราใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งอย่างฟุ่มเฟือยมหาศาล ขณะที่พลาสติกย่อยสลายได้ยาก และสามคือ คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าพลาสติกตกค้างกลายเป็นไมโครพลาสติก เมื่อใช้อย่างไม่รู้และฟุ่มเฟือย ทำให้เกิดเป็นผลกระทบทางลบของมลพิษพลาสติก ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เราเรียกว่าผลกระทบภายนอก (Externality) ที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคไม่ได้ร่วมรับผิดชอบผ่านกลไกราคา”

ดร.วาสนา ระบุว่า มลพิษพลาสติกมาจากความล้มเหลวของตลาด (Market Failure) ที่ราคาพลาสติกไม่ได้คิดรวมต้นทุนสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตและผู้บริโภคจ่ายค่าสินค้าพลาสติกถูกเกินไป ทำให้มีการใช้สินค้าพลาสติกอย่างฟุ่มเฟือย รัฐจึงควรต้องเข้ามาแทรกแซง เพื่อให้ราคาพลาสติกสูงขึ้น ลดอุปสงค์และอุปทานลงจนถึงจุดที่สมดุล ด้วยมาตรการที่มีอยู่หลากหลาย อาทิ มาตรการภาษีหรือค่าธรรมเนียมพลาสติก แบนพลาสติกที่เป็นอันตราย ใช้หลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) ขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิต กำหนดสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลภาคบังคับ ฯลฯ

ในต่างประเทศ มีการแก้ปัญหาพลาสติกโดยเริ่มต้นจากภาคสมัครใจสู่ภาคบังคับระดับโลก โดยองค์กรระหว่างประเทศอย่าง EMF (Ellen MacArthur Foundation) และ UNEP (United Nations Environment Programme) ได้ชักชวนภาคเอกชนและรัฐมากกว่า 1,000 องค์กร ลดการใช้พลาสติกภาคสมัครใจ แต่ผลลัพธ์ยังไม่เป็นไปตามเป้า เพราะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้าของผู้ประกอบการเอกชน ภาคธุรกิจจึงหันมาผลักดันให้เกิดอนุสัญญามลพิษพลาสติกขึ้นเสียเอง
          มาตรการทางกฎหมายที่นำมาใช้ในการควบคุมการผลิตและใช้พลาสติก เริ่มจากการแบนหรืองดแจกถุงพลาสติกฟรี เป็นมาตรการพื้นฐานที่กว่า 150 ประเทศออกกฎหมายเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ก่อนขยับไปควบคุมพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมทั้งไมโครบีดส์ที่ผสมในเครื่องสำอาง และพลาสติกออกโซ่ที่ไม่ย่อยสลายจากการใช้สารเติมแต่งและเป็นตัวเร่งให้เกิดไมโครพลาสติก
          และ UNEP ยังได้เสนอทางออกในการแก้ปัญหามลพิษพลาสติกในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตพลาสติก ซึ่งทางออกส่วนใหญ่ต้องอาศัยบทบาทของรัฐในการออกกฎหมายเพื่อให้เกิดการดำเนินการ ตั้งแต่การควบคุมการผลิต ควบคุมการบริโภค อาทิ ออกและบังคับใช้นโยบายใหม่เพื่อลดความเสี่ยงของการสูญเสียไมโครพลาสติกระหว่างการผลิตและขนส่ง ปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อเพิ่มทางเลือกในการจัดการเมื่อหมดอายุการใช้งาน จัดหาและปรับปรุงการบริการและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเก็บรวบรวมขยะ พัฒนาระบบ EPR ส่งเสริมการแยกขยะและดำเนินมาตรการรีไซเคิล รวมถึงส่งเสริมและลงทุนในธุรกิจรีไซเคิล เพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการจัดการโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติกให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

สหภาพยุโรป (EU) นับเป็นผู้นำในการควบคุมการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยแบนและจำกัดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวประมาณ 10 ชนิด เช่น กล่องบรรจุอาหาร แก้ว หลอด ช้อนส้อม ก้านคัตตอนบัดส์ ซึ่งมาจากการวิเคราะห์ว่าพลาสติกประเภทนี้ตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก และให้ใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงปรับการออกแบบเพื่อให้ง่ายต่อการคัดแยกและรีไซเคิล ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ยังแบนไม่ได้ ก็ติดฉลากให้ข้อมูลเพื่อการจัดการที่ถูกต้อง และปัจจุบัน EU ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับกฎหมาย Ecodesign สำหรับผลิตภัณฑ์ยั่งยืน ซึ่งจากเดิมมีไว้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์เกือบทั้งหมดในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ บรรจุภัณฑ์พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ เครื่องนุ่งห่ม วัสดุก่อสร้าง ขณะเดียวกัน หลายประเทศในยุโรปอย่างโปรตุเกส สเปน อิตาลี เยอรมนี สหราชอาณาจักร ก็ได้ดำเนินการเก็บภาษีพลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ ภายใต้แผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียนของสหภาพยุโรป

ในประเทศฝรั่งเศส ได้มีการออกกฎหมาย Anti-Waste Law for a Circular Economy ส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ และลดการใช้พลาสติกและบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว และมาตรการทางกฎหมายก็ทำให้เราได้เห็นการใช้ภาชนะที่ล้างแล้วใช้ซ้ำได้ในร้านแมคโดนัลส์ ซึ่งเป็นจากการบังคับใช้ ทำให้ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในร้านที่มีสาขาจำนวนมากได้อย่างมหาศาล

ส่วนในญี่ปุ่น ประเทศที่ได้รับการยอมรับในการคัดแยกขยะ แต่กลับมีการใช้บรรจุภัณฑ์อย่างฟุ่มเฟือย เพราะสามารถคัดแยกขยะมูลค่าต่ำส่งไปยังประเทศจีนได้ แต่เมื่อจีนปิดประเทศ เลิกนำเข้าขยะและเศษวัสดุจากต่างประเทศในปี 2561 ญี่ปุ่นก็ได้ออกกฎหมายควบคุมการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวให้เข้มข้นขึ้น โดยแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ให้ร้านสะดวกซื้อและร้านค้าปลีกทั่วประเทศต้องงดแจกถุงพลาสติกฟรีให้ลูกค้า และทางร้านค้าจะจำหน่ายถุงพลาสติกในราคาใบละ 3-10 เยน สำหรับลูกค้าที่ต้องการถุงพลาสติก และประกาศใช้กฎหมาย Plastic Resource Recycling Promotion Laws 2021 ให้ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ร้านซักรีด โรงแรม ที่ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 12 ชนิดมากกว่า 5 ตันต่อปี ต้องลดปริมาณการใช้ลง โดยเปลี่ยนไปใช้วัสดุทางเลือกที่ย่อยสลายได้ หรือหากยังต้องการใช้พลาสติกก็ห้ามแจกฟรีให้ลูกค้า หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุดถึง 5 แสนเยน

ในขณะที่ไต้หวัน ประกาศโรดแมปว่าภายในปี 2573 จะไม่มีการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในประเทศเลย โดยระหว่างนั้นก็ได้มีแผนการลดละเลิกใช้ที่ค่อยๆ ประกาศออกมา โดยห้ามไม่ให้ร้านอาหารในเครือให้บริการหลอดพลาสติกแก่ลูกค้าในปี 2562 ห้ามใช้หลอดพลาสติกในร้านอาหารทุกแห่งในปี 2563 เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการให้ถุงพลาสติก ภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียว และช้อนส้อม ในปี 2563 เก็บค่าธรรมเนียมการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเพิ่มเติมในปี 2568  และห้ามใช้ถุงพลาสติก อุปกรณ์รับประทานอาหารแบบใช้ครั้งเดียวในปี 2573

หันกลับมามองที่ประเทศไทย สิ่งที่เกิดขึ้นมีเพียงการวางโรดแมปและแผนปฏิบัติการ ซึ่งไม่ใช่กฎหมายที่บังคับใช้ แต่มีลักษณะ “ขอความร่วมมือ” ในภาคสมัครใจ เช่น มาตรการงดแจกถุงพลาสติกที่เคยถูกนำมาใช้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และกลับมาแจกฟรีตามเงื่อนไขในปัจจุบัน  แม้ปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน เน้นหลักการ EPR เป็นสำคัญ แต่มาตรการควบคุมพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งยังไม่มีความชัดเจน เมื่อเทียบกับมาตรการที่ต่างประเทศบังคับใช้

ทั้งนี้ ดร.วาสนาได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐ โดยในระยะสั้นให้ควบคุมฝั่งผู้ให้ ด้วยการเสนอให้ฟื้นมติ ครม. ลดละเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในหน่วยงานของรัฐ โดยหน่วยงานราชการและสถานศึกษาทุกระดับออกกฎระเบียบเพิ่มเติมให้ร้านค้า ร้านอาหารที่เช่าพื้นที่ ต้องงดใช้กล่องโฟมและงดแจกถุงพลาสติก ออกมาตรการเข้มข้นกับห้างร้านและร้านอาหารแบบเครือข่ายงดแจกหลอดพลาสติก และเปลี่ยนภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวให้เป็นแบบใช้ซ้ำได้สำหรับการรับประทานในร้าน พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับสื่อและโรงเรียนในการสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของมลพิษพลาสติกและมาตรการลดละเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ควบคู่ไปกับการแยกขยะ

ส่วนในระยะกลางและระยะยาว ควรเร่งผลักดันพระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน พ.ศ…. ที่รวมถึงมาตรการควบคุมพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (มิใช่แค่จ่ายค่าธรรมเนียมเข้ากองทุน) โดยศึกษาเครื่องมือเชิงนโยบายของต่างประเทศ และกำหนดแผนในการปรับตัวของผู้ประกอบการและผู้บริโภค

ในสัมมนาวิชาการ “โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก: การผลิตและบริโภคพลาสติกที่ยั่งยืนของไทยควรเป็นอย่างไร?” ยังมีข้อมูลที่น่าติดตามเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิตและบริโภคพลาสติกในประเทศไทย และมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อ “การผลิตและบริโภคพลาสติกที่ยั่งยืนของไทยควรเป็นอย่างไร?” ซึ่งกรีนพีซ ประเทศไทย จะทำการสรุปประเด็นสำคัญจากการเสวนามานำเสนอต่อไป