คงมีน้อยคนนักที่จะรู้สึกแปลกใจกับชื่อหัวข้อ “ความล้มเหลวของการบริหารจัดการขยะในกรุงเทพฯ” เพราะปัญหา “ขยะ” กับกรุงเทพมหานครอยู่คู่กันมานับตั้งแต่อดีต และยังเป็นเรื่องท้าทายและส่งเสียงเรียกร้องจากประชาชนตลอดทุกยุคทุกสมัยที่จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าฯ

บ่อขยะผิดกฎหมายในกรุงเทพฯ

ย้อนอดีตตั้งแต่สำนักงานกรุงเทพมหานครเริ่มใช้แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2520-2524) จนถึงฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2556 แทบจะไม่มียุทธศาสตร์ใดในแผนด้านการจัดการขยะมูลฝอยที่ประสบความสำเร็จจริง ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การประเมินผลงานของผู้ว่าฯกทม.” ซึ่งเป็นผู้นำในทิศทางบริหารงานของกรุงเทพฯ จัดทำโดย ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระหว่างวันที่ 9-24 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ระบุว่า ผลงานของผู้ว่าฯกทม.ที่ไม่ประสบผลสำเร็จมากกว่าประสบผลสำเร็จในด้านการจัดการขยะและความไม่สะอาดมีถึงร้อยละ 21.50 ในขณะที่ประชาชนที่คิดว่าสำเร็จมีเพียงร้อยละ 15.60

กิจกรรมทางเศรษฐกิจและชุมชนเมืองที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกรุงเทพมหานครโดยขาดการปฏิบัตินโยบายบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองที่มีประสิทธิภาพเพียงพอและเท่าทันการขยายตัวของเมืองทำให้กรุงเทพมหานครต้องเผิชญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ยังคงท้าทายผู้บริหารจัดการเมืองมาตลอดหลายสิบปีคือ “ปัญหาขยะล้นเมือง” ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอย่างน่าตกใจ

จาก “ขยะ” ที่เป็นปัญหาใหญ่ กรุงเทพมหานครจึงได้ตั้งเป้าหมายการจัดการขยะในแนวทางใหม่คือ การลดปริมาณขยะมูลฝอยและนำของเสียกลับไปใช้ประโยชน์โดยมุ่งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอยและผลักดันให้มีการนำหลักการ 3R ไปสู่การปฏิบัติ ตั้งแต่แผนพัฒนากรุงเทพมหานครฉบับที่ 4 (พ.ศ.2535-2539) เป็นต้นมา โดยในแผนนั้นกำหนดกลยุทธ์หลักออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) ควบคุมปริมาณมูลฝอยไม่ให้เพิ่มขึ้น โดยพยายามปลูกฝังจิตสำนึกประชาชน 2) เพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกมูลฝอย ของเสียอันตรายและกากไขมันที่แหล่งกำเนิด โดยเพิ่มความสามารถรองรับขยะมูลฝอย ของเสียอันตราย กากไขมัน ขยะเศษอาหาร และส่งเสริมการคัดแยกประเภท ขยะมูลฝอยในครัวเรือนและสถานประกอบการ  และ 3) สนับสนุนการนำเทคโนโลยีแปรรูปผลผลิต โดยการขอรับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและความชำนาญการทางธุรกิจจากภาคเอกชน ผ่านกิจกรรม/โครงการ CSR ต่างๆ  ซึ่งหากวิเคราะห์ดูแผนยุทธศาลตร์ดังกล่าวนี้ ก็ถือว่าเป็นแผนที่ดีพอสมควร แต่การปฏิบัติและจริงจังกับการแก้ปัญหานั้น…คำตอบอยู่ที่ผลงาน

ตาราง 1: ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2554

พื้นที่

ปริมาณขยะมูลฝอยที่เก็บ (ตันต่อวัน)

2548

2549

2550

2551

2552

2553

2554

กรุงเทพมหานคร

8,291

8,403

8,532

8,780

8,834

8,766

9,126

ที่มา: ข้อมูลการเก็บขนขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร รวบรวมจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, 2555

หากพิจารณาสถิติปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละปีแล้ว ขยะในกรุงเทพฯยังคงเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 ต่อปี และอาจสรุปได้ว่าการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แม้ว่าสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานครจะได้ดำเนินโครงการมากมายตามกลยุทธ์หลักที่ 1   เพื่อสร้างแนวคิดการจัดการขยะในชุมชน ตัวอย่างเช่น โครงการส่งเสริมการคัดแยกขยะในกลุ่มเป้าหมาย เช่น โรงเรียน โครงการส่งเสริมการแปรรูปขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ชุมชนนำร่องคัดแยกมูลฝอยรีไซเคิล สถานีรับมูลฝอยรีไซเคิลรายย่อยของสำนักงานเขต  ตั้งถังรับซื้อวัสดุรีไซเคิลจากข้าราชการ โครงการส่งเสริมการใช้ถังหมักก๊าชชีวภาพ โครงการลดและคัดแยกมูลฝอยโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน 12 ชุมชน และอื่นๆ ซึ่งประมาณว่าสามารถลดปริมาณมูลฝอยได้ประมาณร้อยละ 10 ต่อปีในพื้นที่โครงการ แต่วิธีการประเมินผลที่สำนักสิ่งแวดล้อมใช้โดยเทียบกับปริมาณมูลฝอยคาดการณ์ของ JBIC ในปีพ.ศ.2544 นั้น ไม่สามารถใช้เป็นตัววัดความสำเร็จของโครงการได้ เนื่องจากอัตราการเกิดมูลฝอยอนาคตที่คำนวนจากการคาดคะเนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในอนาตค อาจมีความแปรผันสูงมากจนไม่ตรงกับความป็นจริง

ตาราง 2: สรุปผลการลดปริมาณมูลฝอยของกรุงเทพมหานครระหว่างปี พ.ศ.2548-2552

ปี

ปริมาณขยะคาดการณ์(ตัน/วัน)

ปริมาณขยะที่จัดเก็บ(ตัน/วัน)

ผลการลดปริมาณขยะ

เทียบกับคาดการณ์ (ร้อยละ)

ตัน/วัน

ร้อยละ

พ.ศ.2548

9,388

8,496

892

10

พ.ศ.2549

9,546

8,377

1,169

12

พ.ศ.2550

9,706

8,718

988

10

พ.ศ.2551

9,847

8,780

1,067

11

พ.ศ.2552

10,000

8,787

1,213

12

ที่มา: กองนโยบายและแผนงาน สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร,2553

ความล้มเหลวของการบริหารจัดการขยะในกรุงเทพมหานครมาอย่างต่อเนื่องที่เห็นชัดเจนที่สุดในสังคมขณะนี้ คงไม่พ้นเรื่องการนำพากรุงเทพฯ ไปสู่สังคมแห่งการลดและคัดแยกขยะก่อนทิ้ง หรือแม้แต่เรื่อง “ทิ้งให้ถูกที่” ก็ยังเป็นปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้ โครงการที่จดจำและประสบความสำเร็จมากในอดีตเช่น “โครงการตาวิเศษ” ที่สามารถทำให้คนเริ่มตระหนักรับผิดชอบไม่ทิ้งขยะลงพื้นและแม่น้ำลำคลองกลับไม่ใช่โครงการรณรงค์โดยตรงของภาครัฐหรือกรุงเทพมหานครแต่เป็นของภาคเอกชน ซึ่งกรุงเทพมหานครน่าจะหยิบยกมาเป็นตัวอย่างของโครงการรณรงค์และต่อยอดนำมาใช้รณรงค์แก้ปัญหาในปัจจุบันที่คล้ายกันด้วยสรรพกำลังและงบประมาณภาษีที่มีมากกว่าหลายเท่าตัว

ประเภทขยะสำคัญอีกชนิดคือ “ขยะอันตราย” ที่กรุงเทพมหานครยังคงไม่สามารถแก้ไขตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับที่5 (พ.ศ.2540-2545) ซึ่งเป็นแผนพัฒนาที่ดีแต่การปฏิบัติตามแผนยังคงเป็นแบบทำให้ผ่านๆ ไป ไม่จริงจัง ไม่ประเมิน ไม่ติดตาม ไม่ปรับปรุง เช่น การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนแยกขยะอันตรายจากบ้านเรือนทั่วทั้ง 50 เขต โดยประชาชนจะต้องแยกทิ้งขยะอันตรายลงไปในถังสีเทา ฝาแดง โดยให้ทิ้งทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือน ยิ่งไปกว่านั้น กรุงเทพมหานครได้จัดทำโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการมูลฝอยอันตรายจากชุมชน โดยตั้งถังสำหรับขยะอันตราย 2 ถัง แยกเป็นถังใส่หลอดฟลูออ-เรสเซนท์และหลอดไฟต่างๆส่วนอีกถังใส่สเปรย์ ยาฆ่าแมลง โดยตั้งเป้าหมายที่จะสามารถเก็บขยะอันตรายเหล่านี้ได้วันละ 24-30 ตันต่อวันแต่ปรากฎว่ากรุงเทพมหานครสามารถเก็บขยะอันตรายเฉลี่ยได้เพียง 600 กิโลกรัมต่อวันเท่านั้น และปัจจุบันผ่านมา 10 ปีเราแทบจะไม่ได้เห็นการปฏิบัติดังกล่าวอีกต่อไป หรือแม้แต่มาตรการใหม่ๆ ที่ควรจะต้องนำมาใช้รับมือกับขยะอันตรายที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานครได้สูญเสียงบประมาณไปมากมายกับการส่งเจ้าหน้าที่ไปดูงานที่ต่างประเทศ การรณรงค์ให้ความรู้แก่บุคลากรและชุมชน  แต่ปัญหาการคัดแยกก่อนทิ้งและทิ้งให้ถูกที่ในกรุงเทพมหานครก็ยังไม่ได้รับการจัดการอย่างครบวงจรและยั่งยืน สาเหตุของความล้มเหลวนี้อาจเกิดจากหลากหลายปัจจัย แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวได้ว่าปัญหาดังกล่าวย่อมมีสาเหตุมาจากการบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพของกรุงเทพมหานคร ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครยังไม่มีสถานที่และวิธีการที่ถูกต้องในการกำจัดขยะโดยการคัดแยก จึงทำให้โครงการรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อประชาชนคัดแยกขยะแล้ว กลับไม่มีการเก็บขยะแบบแยกเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่าแยกขยะไปก็เท่านั้นเพราะในที่สุดรถเก็บขยะของสำนักงานเขตก็เทกองรวมกันอยู่ดี หรือกลายเป็นหน้าที่ของซาเล้งที่จะเป็นผู้คัดแยก

คำถามสำคัญที่อยากให้ทุกคนช่วยกันถามผู้บริหารกรุงเทพมหานครคือ ทำไมการจัดการบริหารขยะ เช่นคัดแยกก่อนทิ้งและทิ้งให้ถูกที่ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนถึงยังไม่สามารถเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่กรุงเทพมหานครเองได้มีโครงการมากมายที่ส่งเสริมการลดและแยกมูลฝอย อีกทั้งการรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนทำการแยกขยะมูลฝอยนั้น เป็นงานหลักในแผนพัฒนากรุงเทพมหานครมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปีที่ผ่านมา

ตาราง 3:  งบประมาณรายจ่ายประจำปีกรุงเทพมหานคร

ปีงบประมาณ แผนงานบริหารทั่วไป(บาท) ร้อยละ แผนงานพัฒนาและส่งเสริม (บาท) ร้อยละ แผนงานรักษาความสะอาด (บาท) ร้อยละ รวมทั้งหมด
พ.ศ. 2556 88,151,500 1.696 140,806,400 2.710 4,967,665,400 95.594 5,196,623,300
พ.ศ. 2555 99,808,900 2.916 82,524,300 2.411 3,240,806,400 94.674 3,423,139,600
พ.ศ. 2554 122,595,300 5.431 34,973,800 1.549 2,099,550,400 93.019 2,257,119,500
พ.ศ. 2553 119,673,400 5.108 15,247,500 0.651 2,207,874,600 94.241 2,342,795,500
พ.ศ. 2552 55,800,900 2.097 24,604,200 0.925 2,580,384,300 96.978 2,660,789,400
พ.ศ. 2551 49,421,900 2.099 61,303,300 2.604 2,243,429,600 95.297 2,354,154,800

ที่มา: สำนักงบประมาณ กรุงเทพมหานคร,2556

ในแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานครนั้น ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การลดปริมาณมูลฝอยและการนำกลับไปใช้ประโยชน์เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่านั้น สามารถแก้ปัญหาการบริหารจัดการขยะในกรุงเทพฯได้อย่างยั่งยืนและลดความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม แต่ในทางปฎิบัติแล้วสำนักสิ่งแวดล้อม ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดการบริหารขยะกลับนำงบประมาณเกือบทั้งหมดในส่วนด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยซึ่งได้รับการจัดสรรในสัดส่วนมากที่สุดในกรุงเทพฯไปใช้ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างเหมาเอกชนตลอดระยะเวลา10 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท อาทิ สัญญาว่าจ้างเก็บขยะ โดยค่าธรรมเนียมเก็บขนขยะที่กรุงเทพมหานครสามารถจัดเก็บจากประชาชนมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายจริงที่จ่ายไปกับการเก็บขนขยะ  สาเหตุหนึ่งเนื่องจากกรุงเทพมหานครยังคงใช้อัตราค่าธรรมเนียมอัตราเดิมตั้งแต่ปีพ.ศ. 2521 และยังไม่มีการปรับใช้อัตราใหม่เพราะร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอย ตามกฎหมายการสาธารณสุขฉบับใหม่ยังไม่ผ่านการพิจารณา  อีกทั้งฐานข้อมูลในการจัดเก็บยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สำคัญทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้เต็มที่

ตาราง 4:  ข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอย

ลำดับ

รายการ

อัตราค่าธรรมเนียมรายเดือน (บาท)

1

วันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร

20

2

วันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร แต่ไม่เกิน 500ลิตร ค่าเก็บและขนทุกๆ 20ลิตร หรือเศษของแต่ละ 20 ลิตร

40

3

วันหนึ่งเกิน 500 ลิตร แต่ไม่เกิน1 ลบ.ม.

2,000

4

วันหนึ่งเกิน 1 ลบ.ม. ค่าเก็บและขนทุกๆ ลบ.ม. หรือเศษของแต่ละ ลบ.ม.

2,000

ที่มา: กองนโยบายและแผนงาน สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร,2553

ส่วนสำคัญที่ทำให้งบประมาณส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครอยู่ที่การว่าจ้างรถเก็บขยะจากเอกชนนั้นอาจเกี่ยวเนื่องกับความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพมหานคร ข้อมูลจากสำนักข่าวอิสรา ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2554 สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้ทำสัญญาว่าจ้างรถเก็บขยะจากเอกชน 2 รายเป็นเวลานานถึง 13 ปี โดยการทำสัญญาเช่าครั้งใหญ่เกิดขึ้นในวันเดียวแต่แยกเป็น 4 ครั้งรวมวงเงิน 3,033 ล้านบาท กรุงเทพมหานครได้เคยว่าจ้างเอกชน 2 รายนี้มาแล้วอย่างน้อย 18 ครั้ง รวมเป็นเงินเกือบ 9  พันล้านบาท อีกโครงการที่อาจมีความไม่โปร่งใสเช่นกัน คือ โครงการซื้อถังรองรับมูลฝอยวงเงิน 248,739,000 บาทเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554 โดยที่บริษัท คอมมิตี้ จำกัด ชนะประมูลถังรองรับมูลฝอยทั่วไปแบบใสขนาดความจุไม่น้อยกว่า 100 ลิตร จำนวน 125,000 ใบ (ราคาหน่วยละ 1,194 บาท) กับถังรองรับมูลฝอยทั่วไป ถังรองรับมูลฝอยอันตราย และถังรองรับมูลฝอยรีไซเคิลแบบใส ขนาดความจุไม่น้อยกว่า 240 ลิตร จำนวน 10,204 ชุด (ราคาหน่วยละ 9,750 บาท)  ทั้งที่ในความเป็นจริง ถังขยะแบบใสขนาดความจุ 100 ลิตร ราคาในท้องตลาดจะตกไม่ถึงพันบาท และถังขยะขนาดความจุไม่น้อยกว่า 240 ลิตร ราคาในท้องตลาดจะตกไม่ถึงสองพันกว่าบาท บริษัท คอมมิตี้ จำกัดนี้เคยชนะประมูลถังขยะกรุงเทพมหานคร มาแล้ว 9 ครั้งยิ่งไปกว่านั้นสถานที่ตั้งสำนักงานบริษัทคอมมิตี้จำกัด เป็นเพียงแค่บ้านพักธรรมดา เรื่องอื้อฉาวดังกล่าวหายเงียบไปจากการตรวจและยังไม่ได้รับคำอธิบายที่ชัดเจน

ขณะที่งบประมาณของแผนงานพัฒนาส่วนใหญ่เป็นโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดและคัดแยกมูลฝอยโดยนำมูลฝอยกลับไปใช้ประโยชน์ที่แหล่งกำเนิดตามหลักการ 3Rs กลับมีสัดส่วนน้อยมากและไม่คงที่ โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 0.6-2.7 ของงบประมาณด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ดังนั้นสัดส่วนของงบประมาณที่น้อยมากนี้จึงอาจมีผลทำให้โครงการต่างๆ ในการส่งเสริมการคัดแยกขยะไม่สามารถเข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯได้ ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องประโยชน์ของการคัดแยกขยะ  เนื่องจากทุกเทคโนโลยีที่ใช้ในการกำจัดขยะจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อขยะที่จะกำจัดได้ถูกคัดแยกประเภทให้เหมาะสมกับเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น การทำปุ๋ยหมักและการทำก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหาร การรีไซเคลกระดาษใช้แล้ว เป็นต้น ดังนั้นถึงแม้ว่ากรุงเทพมหานครจะมีโครงการมากมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการลดและแยกมูลฝอยแต่ด้วยงบประมาณน้อยนิด ก็ยากที่จะทำให้โครงการเหล่านี้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นนัยสำคัญโดยรวม

แม้เป็นที่ประจักษ์และยอมรับกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกว่าการลดและคัดแยกมูลฝอยคือทางออกที่ยั่งยืนที่สุดสำหรับการจัดการขยะ แต่ในแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานครประจำปีล่าสุดพ.ศ.2556 กรุงเทพมหานครได้กลับนำเทคโนโลยีเตาเผาขยะมูลฝอยมาใช้ในการการจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลแม้ว่าจะมีเสียงต่อต้านการใช้เตาเผาขยะมากมายในสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศเนื่องจากก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งไดออกซินที่มีอันตรายต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง อีกทั้งการกำจัดสารพิษเช่น ไดออกซิน นั้นต้องใช้กระบวนการซับซ้อนและการลงทุนสูง ดังนั้นจึงเป็นการเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะใช้เทคโนโลยีเตาเผาขยะในประเทศที่กฎหมายไม่เข็มงวดและไม่คลอบคลุม และไม่มีมาตรการตรวจสอบผลกระทบเช่นประเทศไทย อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครยังคงไม่ฟังเสียของประชาชนและได้ลงนามสัญญาโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอยขนาด 300 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม ปีพ.ศ. 2555-2578 (24 ปี) และโครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยระบบเตาเผาขนาดไม่น้อยกว่า  2,000 ตัน/วัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ปีพ.ศ. 2555-2557 (3 ปี)

ความไม่โปร่งใสของกรุงเทพมหานครดังที่ได้กล่าวมาเป็นตัวอย่างนี้อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของความล้มเหลวในการบริการจัดการขยะอย่างยั่งยืนในกรุงเทพฯ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะนำพากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองสวรรค์จริงดังฝันคงขึ้นอยู่กับความมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบของทุกๆ คนที่จะเป็นผู้กำหนด

ที่มาของข้อมูล

  • แผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานครประจำปี พ.ศ.2556 สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล  กรุงเทพมหานคร
  • รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร 2549-2550สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
  • ขยะ…ปัญหาโลกแตกของประเทศไทย หน้า 4-6

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย

ศสอ. จดหมายข่าวประจำเดือนกันยายน-ตุลาคม 2555 ปีที่ 4 ฉบับที่ 3

  • สภาพปัญหาการจัดการมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร

โดยนายวิชา วงษ์ประดิษฐ์ผู้อำานวยการกองโรงงานกำาจัดมูลฝอย สำานักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม