“โตขึ้นจะทำอะไรก็ได้ แต่ห้ามทำร้ายโลก”

 

ฟังดูแล้วคงเป็นประโยคง่าย ๆ ที่สามารถพูดขึ้นมาได้ทุกคน โดยไม่ต้องสนใจว่าเราจำเป็นต้องทำได้ หรือใครหลายคนคงคิดว่าเป็นประโยคของคนโลกสวยที่พูดกันขึ้นมาลอย ๆ เพียงเท่านั้น เพราะโลกของเราประกอบไปด้วยป่าไม้ แม่น้ำ สัตว์ มนุษย์และสิ่งอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งดูกว้างเกินกว่าจะช่วยทำให้ทั้งหมดดีขึ้นได้จากจุดเล็ก ๆ  แต่ทอฝน กันทะมูล หรือแตงกวา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พิสูจน์ให้เราเห็นว่าประโยคข้างต้นนั้นไม่ได้เกินจริง

Thorfhan Portrait

ทอฝัน กันทะมูล นักศีกษาชั้นปีที่ 2 คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“โตขึ้นจะทำอะไรก็ได้ แต่ห้ามทำร้ายโลก” เป็นประโยคที่คุณแม่ของแตงกวาสอนเธอมาตั้งแต่จำความได้ แตงกวาเติบโตมาในครอบครัวที่ใส่ใจในเรื่องราวรอบตัวที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหลีกเลี่ยงทานเนื้อสัตว์ การลดขยะ หรือแม้กระทั่งการสังเกตนกที่เปรียบเสมือนเครื่องหมายบอกความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่นั้น ๆ  แตงกวาพยายามทำทุกอย่างโดยเริ่มจากตัวเองทั้งสิ้น

ดูนกกับคุณลุงหมอ จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด

กิจกรรมแรกที่ทำให้แตงกวารู้สึกผูกพันกับธรรมชาติคือ การได้ไปดูนกกับลุงหมอหม่อง (นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์) ลุงหมอมักพูดอยู่เสมอว่าการที่เราหยุดมองนกนั้น เราสามารถใกล้ชิดกับธรรมชาติได้มากขึ้น มันเป็นเรื่องง่าย ที่เราสามารถทำได้ในทุกที่และทุกเวลา เพราะ นกสามารถบอกความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี 

หลังจากนั้นในช่วงม.3 แตงกวามีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการสำรวจนกปิ๊ดจะลิว รอบคูเมืองเชียงใหม่ ฟังชื่อแล้วอาจจะดูไม่คุ้นเคย แต่หากพูดถึงนกกรงหัวจุก หรือนกปรอดหัวโขนแล้วนั้น หลายคนคงรู้จักนกชนิดนี้กันขึ้นมาทันที นกชนิดนี้ลดลงไปมากหากนับตั้งแต่แตงกวาเดินสำรวจในวัยเด็ก แต่การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ในตอนโตนั้นต่างไปจากเดิมมาก ผ่านมา 9 ปี แตงกวาได้เจอกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันมากขึ้น ไม่ได้มีเพียงแต่ผู้ใหญ่วัยทำงาน หรือคนสูงวัยเท่านั้น ยังคงมีเพื่อนจากต่างโรงเรียน หรือ เด็ก ๆ โฮมสคูล มาร่วมกิจกรรมนี้ทำให้แตงกวารับรู้ได้ว่ายังมีเด็กวัยเดียวกันให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับเธอ

ค่ายอนุรักษ์ปางแฟน เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

หลังจากกิจกรรมการสำรวจนกปิ๊ดจะลิวแล้ว อาจารย์จากโรงเรียนยุพราชได้ชวนแตงกวาไปเข้าร่วมกิจกรรมค่ายอนุรักษ์ปางแฟน และหลังจากค่ายนี้ทำให้เธอยิ่งหลงรักธรรมชาติมากขึ้น ได้อยู่ใกล้กับธรรมชาติ ได้รู้จักไลเคน (ทุกวันนี้ยังจำได้อยู่เลย ว่าไลเคนมีกี่ประเภท อะไรบ้าง) มากไปกว่านั้นการไปค่ายนี้ทำให้รู้ว่าในชีวิตประจำวันเราสามารถทำอะไรที่ช่วยโลกได้บ้าง และทำให้แตงกวามั่นใจได้ว่าตัวเองสามารถช่วยโลกเราไว้ได้ แม้จะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ก็ตาม

“ขยะ” ที่จะไม่มีวันเป็นแค่ขยะ

แตงกวาเป็นเด็กมองโลกในแง่ดี ช่างสังเกต ชอบเรียนรู้ ชอบตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองพบเจอไม่เว้นแม้แต่ขยะที่ถูกทิ้งไว้ตามข้างทาง ว่าทำไมขยะที่ควรถูกทิ้งให้เป็นที่ถึงได้มาอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ แตงกวาเล่าว่า ได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรม “Brand Audit เก็บ สังเกต บันทึก รู้จักที่มาของขยะผ่านแบรนด์” เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562  ที่ผ่านมา ตัวกิจกรรมมีการเก็บขยะแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกเริ่มเก็บบริเวณอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย กลุ่มสองเก็บตรงแนวป่า ฝั่งตรงข้ามวัดศรีโสดา และกลุ่มสุดท้าย เริ่มเก็บจากทางเข้าสวนสน เดินเก็บริมไหล่ทางจนถึงพระธาตุดอยสุเทพ การเก็บขยะนี้ทำให้แตงกวารู้ว่ายังมีขยะอีกมากถูกทิ้งอย่างไม่เป็นที่ และมีขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้มากเพียงใด แตงกวาเล่าว่า “ในระยะทางแค่ 10 กิโลเมตร เวลาเราขับรถผ่านแถวอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย เราจะรู้สึกว่ามันสะอาดมาก แต่พอเราลองจอดรถหยุดดู เราจะเห็นว่า ขยะมันถูกทิ้งกองไว้ข้างทางเลยไหล่เขาลงไป เหมือนเป็นการกวาดลงไปให้พ้นทาง คำถามเราคือ แล้วใครกวาด ? ทำไมต้องกวาดลงไป ? นี่คือสิ่งที่เราตั้งคำถามและสงสัยมาโดยตลอด”   

Brand Audit activity in Chiang MaiBrand Audit in Suthep mountain

ในระหว่างเก็บขยะ ไม่ใช่แค่เห็นขยะแล้วเก็บใส่ถุงเท่านั้น แตงกวาชอบพลิกดูฉลากว่า ขยะชิ้นนี้ถูกทิ้งมานานแค่ไหน? จากนั้นจึงตั้งคำถามไปอีกต่าง ๆ นานา ว่าใครเป็นคนทิ้ง ขยะนี้มาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร มาจากไหน ในบางครั้ง แตงกวาก็เจอฉลากที่เป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่น ๆ ทำให้ได้รู้ว่าไม่ได้มีแค่คนไทยเท่านั้นที่ทิ้งขยะ จึงเป็นคำถามในใจต่อมาว่า ขยะเหล่านี้ มันเกิดจากคน หรือเกิดจากสถานที่ สิ่งเหล่านี้ทำให้การเก็บขยะไม่น่าเบื่อ รวมถึงยังทำให้เพื่อน ๆ ที่ไปด้วยกันสนุกกับการดูความเก่าแก่ของขยะที่เราพบด้วย 

Garbage in Suthep mountain

ซองขนมที่ถูกผลิตมานานหลายปีแล้ว

มีเรื่องหนึ่งที่แตงกวาเล่าขึ้นมาว่า ระหว่างที่เพื่อนๆ เก็บขยะอยู่บริเวณใกล้ ๆ กับวัดศรีโสดา ก็มีคุณลุงคนนึงขับรถมาเพื่อทิ้งขยะบริเวณนั้นพอดี เมื่อคุณลุงเห็นคนกำลังเก็บขยะกันอยู่ ก็ได้แต่ชะลอรถ ไม่ได้ทิ้งขยะตรงนั้น แต่ขับเลยไปทิ้งบริเวณอื่นแทน หลายคนอาจคิดว่าก็ไม่เห็นมีอะไรแปลก ในเมื่อมีคนเก็บขยะอยู่ เขาไม่ทิ้งก็ถูกต้องแล้ว แต่แตงกวาตอบเรากลับมาว่า  “หนูดีใจที่เขาเห็นว่าพวกหนูกำลังเก็บขยะกันอยู่ การที่เขาไม่ทิ้งขยะ หนูถือว่าประสบความสำเร็จแล้วสำหรับกิจกรรมครั้งนี้ หนูไม่ได้มาเก็บขยะเพื่อให้คนเห็นแล้วไม่มาทิ้งที่นี่อีก แต่หนูอยากให้เขาเห็นและตั้งคำถามว่า มาทำอะไรกัน มาเก็บขยะหรอ แล้วทำไมฉันถึงเอาขยะมาทิ้งที่นี่ แค่นี้ก็พอแล้วค่ะ”

Garbage in Suthep mountainเมื่อเก็บขยะมาแล้ว เรานำขยะเหล่านั้นมาตรวจสอบหาแบรนด์ โดยจะต้องแยกขยะตามประเภทต่าง ๆ ทั้งหลอด กระป๋อง ขวดพลาสติก ซองขนม และอื่น ๆ อีกมากมาย  ตอนนั้นทำให้เรารู้เลยว่าในระยะทางเพียงเท่านี้ เราเจอขยะจากหลากหลายชนิดและแบรนด์ จนเราเองก็คาดไม่ถึงว่า ขยะที่พวกเราสร้างในชีวิตประจำวันเพียงแค่คนละไม่กี่ชิ้น สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมไว้มากมายแค่ไหน

Plastic waste in Suthep mountain Brand Audit activity in Chiang Mai Straws from brand audit activityBrand Audit Activityนอกจากแตงกวาจะร่วมกิจกรรมมากมายแล้วนั้น เธอยังมีกิจวัตรประจำวันที่อยากทำให้โลกดีขึ้น โดยเริ่มจากตัวเองทั้งพกกระบอกน้ำสำหรับใช้แทนแก้วพลาสติก พกกล่องข้าวเป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารเวลาไปเดินซื้อของกับเพื่อน หรือ การ DIY ปกสมุดกันน้ำจากซองขนม ที่หลายคนมองว่าหมดประโยชน์แล้ว เธอยังสามารถทำให้เกิดประโยชน์ได้  ยังไม่รวมที่เธอทำสถานีแยกขยะภายในห้องพัก ของตัวเอง สิ่งเหล่านี้แตงกวาทำเพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดจากตัวเราเอง ซึ่งอาจไม่ได้มากมายอะไร แต่อย่างน้อย ตัวเราก็รู้สึกว่าเราได้ช่วยแล้ว

 

ภาพโดย : ทอฝัน กันทะมูล

แตงกวาทิ้งท้ายด้วยคำพูดไว้ว่า 

“หนูหวังให้มันเปลี่ยน แต่คงไม่ใช่เร็วๆ นี้  หนูเลยทำในแบบที่หนูพอจะทำได้ … อย่างน้อยก็จะมีหนู และครอบครัวที่กำลังทำเพื่อโลก” – แตงกวา ทอฝัน กันทะมูล

ต้นกล้าเล็ก ๆ ที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ในทุกทางที่จะสามารถทำได้อย่างแตงกวานั้น ควรเป็นเรื่องที่ใครหลายคนเริ่มตระหนัก และเริ่มลงมือทำได้ด้วยตัวเอง