ฝุ่นข้ามพรมแดน
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ มลพิษข้ามพรมแดน และการสูญเสียป่าไม้เพื่อเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เติบโตจากความต้องการบริโภคเนื้อที่มากขึ้น ทำให้ต้องอาศัยการปลูกข้าวโพดเพื่อเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เบื้องหลังฝุ่นพิษในภาคเหนือ เกษตรกรมักต้องเป็นจำเลยของสังคม แต่แท้จริงแล้วยังมี ‘ระบบ’ ที่ผลักให้เกษตรกรต้องตกอยู่ในวังวนเกษตรพันธสัญญา
ภัยฝุ่นพิษคุกคามประชาชนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือ
รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 ของ IQAir เผยว่า เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน เป็นช่วงที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด โดยที่พื้นที่ในจังหวัดของภาคเหนือ คือ เชียงราย และอำเภอปายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับแรกของพื้นที่ที่มีวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 หนักสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หากภาครัฐขาดการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดจะไม่มีทางแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนข้ามแดนได้เลย กลุ่มอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับฝุ่นพิษข้ามพรมแดนและการทำลายป่าจะยังคงหลุดพ้นจากภาระรับผิดต่อผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
กรีนพีซ ประเทศไทย มีข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีดังต่อไปนี้
1. กำกับดูแลระบบตรวจสอบย้อนกลับในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เกษตร และอาหาร เพื่อระบุถึงต้นทางวัตถุดิบทางเกษตรว่าเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า การเผาเศษวัสดุการเกษตร และการก่อมลพิษข้ามพรมแดนหรือไม่ เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงการก่อฝุ่นพิษตั้งแต่ต้นทาง โดยสามารถกำหนดกรอบกฎหมายในพ.ร.บ.อากาศสะอาดและกำหนดเป็นมาตรการเอาผิดอุตสาหกรรมต่อการทำธุรกิจข้ามแดนที่เชื่อมโยงกับฝุ่นพิษข้ามแดน
2.บังคับให้บริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เกษตรและอาหารทั้งหมด ทั้งในไทย และบริษัทไทยที่ลงทุนข้ามแดนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จุดความร้อนทับซ้อนกับแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เปิดเผยและตีพิมพ์แผนที่ที่ระบุพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อของบริษัทตน เพื่อยกระดับความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน
3. กำหนดให้ข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทานและแผนที่การลงทุนและสัมปทานของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เกษตร และอาหาร เป็นข้อมูลที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและสามารถร่วมตรวจสอบได้อย่างโปร่งใสตลอดทุกขั้นตอน