ปัจจุบันการจะเข้าถึงอากาศสะอาดต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อหน้ากากและเครื่องฟอกอากาศ แต่คนหาเช้ากินค่ำไม่มีทางเลือกต้องออกไปเผชิญสภาพแวดล้อมของฝุ่นพิษ
ช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นพฤษภาคม ปี 2566 ที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤตฝุ่นพิษข้ามพรมแดนบริเวณภาคเหนือตอนบนที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 20 ปี แม้ขณะนี้อากาศภาคเหนือจะกลับมาฟ้าใสอีกครั้งแต่ฝุ่นพิษข้ามพรมแดนนี้เป็นปัญหาที่คุกคามสุขภาพของประชาชนที่ถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลมายาวนานร่วมสองทศวรรษ
เมื่อฤดูฝุ่นควันมาถึง สิ่งที่มักตามมาด้วยคือวาทกรรมเกษตรกรคือคนผิด ทั้งที่เป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างนโยบายที่รัฐผลักดันให้เอื้อกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเกษตรผูกขาดของกลุ่มทุนในประเทศ ว่าแต่กลุ่มทุนผูกขาดยักษ์ใหญ่เกี่ยวอะไรด้วย สรุปแล้วใครต้องรับผิดชอบต่อฝุ่นพิษที่เกิดขึ้น เกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา หน่วยงานภาครัฐหรือภาคธุรกิจที่ส่งเสริมให้เกิดการเกษตรแบบนี้ แล้วเราจะมาร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ด้วยกันอย่างไร?
อากาศคืออาหารที่สำคัญที่สุดของชีวิต
“อากาศคืออาหารที่สำคัญที่สุดของชีวิต คนตายเพราะฝุ่นมากกว่าอุบัติเหตุตามท้องถนนถึง 4 เท่า รัฐไม่ได้ใส่ใจเพราะมันนับศพยาก มันต้องผ่านการวิเคราะห์วิจัย” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวจากการลงมือทำงานวิจัยเรื่องการเผาและผลกระทบต่อสุขภาพ ทำความจริงให้ปรากฎ เนื่องจากข้อมูลจากหน่วยงานรัฐไม่ได้ผ่านการวิจัยน่าเชื่อถือในวงการแพทย์เท่าที่ควร
การกล่าวว่าปอดอักเสบคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 ของคนไทย ฝุ่น PM2.5 ทำให้เซลล์เสื่อม ภูมิเสื่อม อักเสบเสียบพลัน ทำให้เกิดโรคสามกลุ่มใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ภูมิแพ้ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคติดเชื้อ ผลกระทบขั้นรุนแรงคือเสียชีวิตและทุพพลภาพก่อนวัยอันควร โรคเหล่านี้อาจทำให้ผู้อ่านอกสั่นขวัญแขวนอยู่บ้าง แต่ความจริงก็เป็นความจริง และอาจถึงเวลาแล้วที่เราจะฉายไฟไปที่ความจริงชุดนี้อย่างจริงจังสักที
“ถ้าเราไม่มีอาการในวันนี้อย่าชะล้าใจ เพราะในอนาคตอาจมีผลกระทบขั้นปานกลางหรือรุนแรงได้ เมื่อฤดูฝุ่นพิษมาถึง เซลล์ถุงลมพองถูกทำลายมากกว่า 300 เท่า” คุณหมอกล่าว
ยังไม่จบเพียงเท่านี้ มีข้อมูลว่าประชาชนเชียงใหม่มีอัตราเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.6 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในอำเภอเชียงดาวเพิ่มขึ้น 3.5 เปอร์ เซ็นต์ มีผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 15เปอร์เซ็นต์ และหากสูดฝุ่น PM2.5 ต่อเนื่องเกินระยะเวลา 3 ปีจะสามารถสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดแม้ในคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่
คุณหมอเล่าประสบการณ์จากการทำงานมาเกือบ 40 ปีพบว่าในภาคเหนือตอนบนมีผู้ป่วยมะเร็งปอดเป็น 2 เท่าของภาคอื่นของประเทศ และตามข้อมูลระบุว่าสูบบุหรี่น้อยกว่าคนภาคอื่น
“10 ปีแรกที่ผมทำงาน ใครเป็นมะเร็งปอด สูบบุหรี่ทั้งนั้น
20 ปีหลัง 4 ใน 10 คนเป็นมะเร็งปอดโดยไม่ได้สูบบุหรี่
“เราจะรักษาแต่มนุษย์ไม่ได้ เราต้องรักษาระบบนิเวศของดาวเคราะห์ด้วย” คุณหมอกล่าวทิ้งท้ายในฐานะแพทย์คนหนึ่งที่ไม่อยากรักษาเฉพาะผู้คน แต่อยากเห็นระบบนิเวศที่ดี เพื่อที่จะไม่ต้องกล่าวถึงข้อมูลผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ยืดยาวดังข้างต้น
ฝุ่นพิษละเมิดสิทธิตามฤดูกาล เกษตรกรคือแพะรับบาป?
“ฝุ่นมาจากไหน”
“มาจากคนเผาไง”
หากบทสนทนาจบเพียงเท่านี้ เราคงไม่เห็นว่าเบื้องหลังปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนคืออะไร และทำไมคนไทยถูกละเมิดสิทธิพื้นฐานต่อการเข้าถึงอากาศสะอาดตามฤดูกาลฝุ่นพิษทุกปีมาเนิ่นนาน แต่รัฐบาลก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ หรือจริงๆมันมีอะไรมากกว่านั้น?
รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทยกล่าวถึงการที่ไทยมีปัญหาฝุ่นพิษภาคเหนือมาประมาณ 15 ปีว่า ฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับกับบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ในไทยที่ไปลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้าน
ประเทศไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากการนำเข้าไฟฟ้า(1) การเผาไม่ใช่ความผิดของเกษตรกรและชนพื้นเมือง แต่มีความไม่เป็นธรรมที่อยู่ในโครงสร้าง
“เราทำงานทุกที่รวมถึงจุดไข่แดงเช่นอำเภอแม่แจ่ม เชียงดาวมีจุดความร้อน (Hotspot) แปรผันตรงกับปริมาณฝุ่นพิษที่เพิ่มขึ้น เมื่อก่อนเราก็ยังเข้าใจว่าคนผิดคือเกษตรกร แต่พอศึกษาลงลึกไป ปัญหาฝุ่นพิษมาจากการขยายตัวของการเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ⅓ ของจุดความร้อน มาจากการเผาไหม้ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ชนกนันทน์ นันตะวัน ตัวแทนคนรุ่นใหม่และผู้ฟ้องคดีฝุ่นภาคเหนือกล่าว
เมื่อชนกนันทน์ลงพื้นที่ไปเรื่อยๆ กลับพบว่าเกษตรกรถูกจูงใจโดยทั้งจากภาครัฐและเอกชนให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านการสนับสนุนต่างๆไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อ อุปกรณ์ เมล็ดพันธุ์ ยา ปุ๋ย
“เกษตรกรไม่มีทุนแต่ถ้าบอกว่าจะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เขากู้ผ่านแน่นอน ปลูกก่อน ใช้หนี้ทีหลังได้ ปัญหาซับซ้อนมาก เกษตรกรกลายเป็นแพะรับบาปในสมการนี้
“เกษตรกรเลิกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ได้ ถ้าไม่ปลูกข้าวโพดจะปลูกอะไร รัฐไม่ได้สนับสนุนการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น รัฐและเอกชนไม่ได้เข้าไปสนับสนุนภาระหลังการเก็บเกี่ยว เกษตรต้องรับผิดชอบต้นทุนเอง พื้นที่ดอย ไถไม่ได้ ถึงไถได้ ก็มีค่าน้ำมัน ค่ารถไถซึ่งเป็นราคาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาก” ชนกนันทน์กล่าวทิ้งท้ายต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น
เมื่อถามภราดล พรอำนวย นักดนตรีและผู้ประกอบการร้าน North Gate Jazz เชียงใหม่ถึงสถานการณ์ฝุ่นพิษภาคเหนือในปีนี้ เขากล่าวเหมือนใครหลายๆคนว่า
“แค่พูดถึงเรื่องฝุ่นก็เซ็งขึ้นมาแล้วครับ”
เชียงใหม่ยุคหลังโควิดต้องพึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยว ปัญหาฝุ่นพิษส่งผลกระทบในวงกว้าง ผู้ประกอบการบางรายรายได้หายไปกว่า 80%
“ผมเป็นนักดนตรียังไม่อยากไปเล่นดนตรีเลย ไอเป็นเลือดคือเรื่องจริง แล้วฝุ่นรุนแรงมากขึ้นทุกปี ไม่มีท่าทีจะลดลง ฝุ่นสูงปุ๊ป กิจกรรมทุกอย่างต้องหยุด เพราะทุกคนรู้ว่าจะไม่มีคนมาดู” ภราดลกล่าว
ไม่ใช่แค่คนเชียงใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นพิษ แม่สายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ค่าฝุ่นสูงถึงขั้นวิกฤตเป็นเวลาร่วมเดือน
ชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สายกล่าวว่าถึงสถานการณ์ที่ตนและลูกบ้านต้องเผชิญว่า แม้แม่สายไม่มีจุดความร้อนเลย แต่กลับมีฝุ่นพิษข้ามพรมแดน เมื่อรัฐประกาศให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาษี 0% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงไหลเข้าประเทศไทยมาเรื่อยๆ
“แล้วทำไมคนแม่สายต้องมารับสภาพนี้ การทำงบประมาณต้องทำล่วงหน้า 1 ปี ปี 2565 ฝนมา ก็ไม่มีไร ปี 2566 ฝุ่นมา ผมซื้อได้แค่หน้ากากราคา 2.5 บาทแจกประชาชน แม้ตื่นมาทุกเช้าค่าฝุ่นที่แม่สายจะสูงถึง 700 ไมโครกรัม/ลูกบาก์เมตรตลอดก็ตาม
“สำนักข่าวในประเทศจะพยายามรายงานเรื่องไฟป่าในประเทศเป็นหลัก ไม่มีใครพูดถึงฝุ่นพิษข้ามพรมแดนเลย” นายกเทศมนตรีตำบลแม่สายกล่าว
บริษัทอุตสากรรมเนื้อสัตว์ ทุนผูกขาดยักษ์ใหญ่ต้องรับผิดชอบ
“ปัญหาฝุ่นพิษเกิดขึ้นมาเมื่อ 10 ปีมานี้เอง การเก็บเห็ดถอบไม่เคยทำให้เกิดปัญหาฝุ่นพิษเลย ในรัฐบาลคสช. มีนโยบายยุทธศาสตร์พืชเศรษฐกิจ 4 ชนิดโดยมีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นหนึ่งในนั้น เกษตรกรที่เปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบเดิมมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แปลงใหญ่จะได้เงินกินเปล่า 2,000 บาทพร้อมปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมปัญหาฝุ่นพิษจากการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่” วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิ BIOTHAI กล่าว
เมื่อความต้องการข้าวโพดเพิ่มขึ้น บริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ทุนผูกขาดยักษ์ใหญ่จึงขยายการเพาะปลูกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย 3.5 ล้านไร่ แต่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะจัดการปัญหาฝุ่นพิษที่เกิดขึ้น ต้องจัดการกับการเผาทั้งในและต่างประเทศ
“บริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ต้องรับผิดชอบ รัฐต้องนำเงินที่สนับสนุนบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มาช่วยเกษตรกรปรับเปลี่ยน ยกเลิกการนำเข้าข้าวโพดจากพื้นที่การเผาจึงจะแก้ปัญหานี้ได้” วิฑูรย์กล่าว
#ประชาชนจะไม่ทนฝุ่นทุนผูกขาด เมื่อการละเลยของรัฐคือราคาที่ประชาชนต้องจ่าย
จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่สร้างผลกระทบให้กับประชาชนในภาคเหนือมานานร่วม 10 ปี และดูจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของฝุ่นพิษข้ามพรมแดน จากอุตสาหกรรมการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้าน และประชาชนชาวเชียงใหม่ได้รวมตัวกันยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี,คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา
จะเห็นได้ว่านอกจากจะฟ้องนายกรัฐมนตรี,คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แล้ว เหล่านักกฎหมายยังได้ฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนด้วย เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานมีหน้าที่ควบคุมดูแลบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
“คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีหน้าที่ กำกับบริษัทที่จดทะเบียน สามารถออกหลักเกณฑ์อะไรก็ตามเพื่อการลงทุนที่ดี คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประกาศในหน้าเว็บของตัวเองว่าเน้น ‘Sustainable Supply chain’ แต่ทำจริงไหม หรือแค่แขวนอยู่ในเว็บไซต์และกระดาษ
“ทำยังไงให้ภาคธุรกิจที่มีส่วนก่อมลพิษมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำไมผู้ได้รับผลกระทบถึงเป็นผู้จ่ายค่าเครื่องฟอกอากาศ มาสก์เอง เราอยากเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เลยเลือกจะฟ้องสองหน่วยงานนี้” กรกนก วัฒนภูมิ นักกฎหมายคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือกล่าวถึงที่มาของการฟ้อง
อย่างไรก็ตาม ศาลกลับไม่รับฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน โดยให้เหตุผลว่า “เหตุดังกล่าวกระทบต่อประชาชนส่วนหนึ่งและยังใช้ชีวิตต่อไปได้”
อย่างไรก็ตาม กรกนก วัฒนภูมิและวัชลาวลี คำบุญเรืองสองนักกฎหมายก็ยังคงมีความหวังว่าจะเห็นกระบวนการยุติธรรมที่เห็นคนเท่ากัน คุ้มครองประชาชน
ให้กระบวนการยุติธรรมเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง
“ประเทศไทยเป็นประเทศว่าด้วยแผนค่ะ แต่ใช้ไม่ได้ เรามีแผนฝุ่นทั้งหมดแล้วแต่รัฐกลับให้มาสก์ 1 ชิ้น และพ่นน้ำ ทำมาตลอด ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อไป
“เราหวังพึ่งศาลปกครองเป็นอย่างยิ่งว่าศาลจะใช้หลักการพิจารณาคดีอย่างเปิดกว้าง และใช้หลักระวังไว้ก่อน ฝุ่นลดลงเพราะฝนตก ไม่ใช่เพราะมาตรการของรัฐ” วัชลาวลีกล่าวทิ้งท้าย
เมื่อพูดถึงการจัดการฝุ่น PM2.5 จากฝ่ายการเมือง วิฑูรย์กว่าวว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาวกับประชาชน จนเมื่อการเลือกตั้งจะมาถึง นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงต่อสายตรงไปที่ประเทศเพื่อนบ้าน
“อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เรามีพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายการจัดการฝุ่นพิษแล้ว คือพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย
เราจะต้องติดตามดูว่าทั้งสองพรรคจะทำตามที่หาเสียงไว้ได้ไหม” วิฑูรย์กล่าวทิ้งท้าย
เมื่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงในประเด็นฝุ่นพิษภาคเหนือไม่ได้เกิดขึ้นจากภาคการเมืองอย่างเดียว แต่จะเกิดจากการกำหนดมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนตรวจสอบด้วย พลังของประชาชนจึงสำคัญมากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
โครงสร้างที่ให้ทำให้กลุ่มทุนผูกขาดเข้าไปรวบในนโยบายก็ไม่ควรมีอยู่อีกต่อไป
แต่ถึงเวลาแล้วที่รัฐธรรมนูญต้องบัญญัติถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
พรรคการเมืองต้องทำตามนโยบายที่ตนหาเสียงไว้ แก้ปัญหาฝุ่นพิษที่ต้นเหตุ กล้าชนกับกลุ่มทุนผูกขาดให้มีภาระรับผิดต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยไม่ละเลยเสียงจากภาคประชาชน
(1) ที่มา : สำนักศุลกากรภาคที่ 3 ปีงบประภาค 2565