ระบบตรวจสอบย้อนกลับ หรือ traceability คือกลไกที่สำคัญมากสำหรับสิทธิในการรับรู้ข้อมูลของผู้บริโภคและทุกคนที่อาจได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานการผลิตของสินค้า ว่าแต่ละขั้นตอนการผลิตนั้นเกี่ยวโยงกับการก่อมลพิษและการทำลายสิ่งแวดล้อมรูปแบบใดหรือไม่ เช่น การทำลายป่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิเกษตรกร แรงงานทาส หรือสิทธิต่อการมีอากาศที่ดีสำหรับหายใจของประชาชนในพื้นที่ และการเปิดเผยข้อมูลจากการตรวจสอบย้อนกลับอย่างโปร่งใสนี้ คือภาระการพิสูจน์ความจริงที่บริษัทอุตสาหกรรมจะต้องทำ

ระบบตรวจสอบย้อนกลับจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ในการดูแลให้ห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอาหาร เกษตร และเนื้อสัตว์ ที่มีห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อน และอาจมีการผลิตที่ห่างไกลออกไปข้ามพรมแดนประเทศ ซึ่งปัจจุบันนี้วิกฤตฝุ่นพิษข้ามพรมแดนกำลังทำให้เราตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทานบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวข้องกับการก่อฝุ่นพิษข้ามพรมแดนอย่างไรในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนที่ภาคเหนือตอนบนของไทยมีค่ามลพิษทางอากาศติดอันดับหนึ่งของโลกอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการประกาศของภาครัฐที่ยกเว้นภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหลือ 0% ที่ดูยิ่งเอื้อต่อการผลิตและนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 ของ IQAir เผยว่า เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน เป็นช่วงที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด  โดยที่พื้นที่ในจังหวัดของภาคเหนือ คือ เชียงราย และอำเภอปายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับแรกของพื้นที่ที่มีวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 หนักสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าเชียงรายในแต่ละปีรวมถึงปีนี้จะพบจุดความร้อนน้อยที่สุด แต่กลับเป็นจังหวัดที่ตกอยู่ในสถานการณ์ฝุ่นพิษที่เลวร้าย สะท้อนให้เห็นว่าฝุ่นพิษ PM2.5 นั้นไม่สนใจพรมแดน แม้จะริเริ่มประกาศใช้มาตรการการสั่งลดหรือห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่หากกระบวนการพิสูจน์ของภาครัฐและกระทรวงที่เกี่ยวข้องไม่ครบวงจรและขาดการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดจะไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้และแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนข้ามแดนได้จริง โดยที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับฝุ่นพิษข้ามพรมแดนและการทำลายป่าจะยังคงหลุดพ้นจากภาระรับผิดใดๆ ต่อผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

ป้ายโฆษณาเมล็ดข้าวโพดมักจะถูกแขวนไว้บนต้นไม้ ซึ่งเป็นภาพคุ้นตาในอำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ประเทศไทย

ระบบตรวจสอบย้อนกลับที่โปร่งใสและเปิดเผยต่อประชาชน คือโอกาสในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสำหรับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์

การเปิดเผยข้อมูลของห่วงโซ่อุปทานอย่างโปร่งใสและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้นั้นจะเป็นมาตรฐานที่ดีในการแสดงความจริงใจถึงการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อฝุ่นพิษข้ามพรมแดน การทำลายป่า และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ควรจะเป็นความลับทางการค้า แต่จะต้องเป็นข้อมูลที่ผู้บริโภคและคนทั่วไปมีสิทธิที่จะรับรู้เพื่อได้รับข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ หรือปกป้องสิทธิของตนเองและคนในพื้นที่ นอกเหนือจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างการสื่อสารที่ดีของบริษัทผ่านทางผลิตภัณฑ์ รวมถึงแสดงความมั่นใจต่อการมีภาระรับผิดต่อกระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นในผลิตภัณฑ์ของตน ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการก้าวไปสู่รายงานความยั่งยืนที่โปร่งใสและนโยบายต่อกรวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่สร้างบนพื้นฐานความเป็นธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน

เบื้องต้นบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จะต้องสามารถระบุและเปิดเผยแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(corn traceability) และการรับซื้อที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมาใช้สร้างหลักประกันการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปราศจากการบุกรุกป่าและไม่เผาทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม  โดยจะต้องระบุรายละเอียดชัดเจนอย่างโปร่งใสต่อสาธารณะ เช่น 

  • การเปิดเผยข้อมูลในรายละเอียดและรอบด้านทั้งห่วงโซ่อุปทานของระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) ที่ใช้ในการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในกิจการประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา และที่ใช้ในการจัดซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่สาธารณะชนสามารถเข้าถึงได้ 
  • การเปิดเผยข้อมูลในรายละเอียดและรอบด้านทั้งห่วงโซ่อุปทานของระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) ต้องรวมถึง ภาพถ่ายดาวเทียมในการติดตามแปลงเพาะปลูกของทั้งเกษตรกรไทยและประเทศเพื่อนบ้าน  และวิเคราะห์จุดที่ยังพบการเผาหลังเก็บเกี่ยวที่รับรองว่าอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้จัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาจากแหล่งปลูกที่ปราศจากการเผา และรวมถึงข้อมูลที่เชื่อมโยงผลผลิตข้าวโพดตั้งแต่แปลงเพาะปลูกถึงโรงงานอาหารสัตว์ 

โดยที่ข้อมูลดังกล่าวนี้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

  • ปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับอย่างต่อเนื้อเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีกลไกการแจ้งเบาะแส และการตรวจสอบจากภายนอกที่เป็นกลาง พร้อมกับเปิดเผยสรุปผลการตรวจสอบและแนวทางยกระดับต่อสาธารณะ 
งานเสวนา ‘ฝุ่นพิษแม่สาย’ โดยเทศบาลตำบลแม่สาย
ภาครัฐท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ที่สนใจประเด็นฝุ่นพิษภาคเหนือ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ เข้าร่วมงานเสวนา ‘ฝุ่นพิษแม่สาย’ โดยเทศบาลตำบลแม่สาย ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางแก้ไขปัญหา

การวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดของกรีนพีซพบว่าระหว่างเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนพฤษภาคม 2566 พบจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีสัดส่วน 41% ซึ่งมากกว่าสัดส่วนจุดความร้อนในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรอื่นทั้งหมด ดังนั้นการขาดการบังคับใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่การผลิตทุกขั้นตอนและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ คือปัญหาหลักของฝุ่นพิษข้ามแดน และทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ข้ามพรมแดนที่เชื่อมโยงกับการก่อฝุ่นพิษข้ามแดนได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ ฝุ่นพิษข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกำลังทำลายชีวิตของประชาชนไทย และเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาแล้วร่วม 20 ปี และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมประกอบกับนโยบายรัฐที่ผ่านมาต่างสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภูมิภาคนี้เชื่อมโยงกับการก่อฝุ่นพิษข้ามแดนโดยมีต้นทุนทางสุขภาพของประชาชนเป็นสิ่งที่แลกมา 

กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลการกำหนดบังคับใช้นโยบายเพื่อแก้วิกฤตฝุ่นพิษข้ามแดนจากต้นเหตุได้อย่างแท้จริง โดยเริ่มต้นจากการบังคับใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่การผลิตทุกขั้นตอนและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์