
เสียงสะท้อนจากพี่น้องชุมชนเกาะขนุน จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ต้องต่อสู้กับคำว่า “เราต้องทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมทั้งประเทศ” ที่ภาครัฐผลักดันโครงการวางระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูง เพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลของบริษัท บูรพาพาวเวอร์ โดยคนในพื้นที่แทบไม่มีส่วนรับรู้หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ มาก่อน
โครงการนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เข้ามาดำเนินการสำรวจที่ดินเบื้องต้นในพื้นที่ ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยแนวเขตเกี่ยวข้องกับการสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าจำนวนประมาณ 500 กิโลโวลต์ ของโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะกินพื้นที่กว้าง 60 เมตรยาว 14.18 กิโลเมตร พาดผ่านท้องที่จำนวน 4 ตำบล 2 อำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา
“เรากำลังสูญเสียสิ่งที่เราได้ดูแลมาทั้งชีวิตจากแผนการดำเนินงานของรัฐที่หลงลืมเสียงของเรา ระบบโครงข่าย หรือสายส่งไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล ส่งผลกระทบโดยตรงต่อที่ดินทำกินของเรา โดยที่เราไม่มีโอกาศได้แสดงความคิดเห็น หรือปกป้องสิทธิของตัวเอง กฟผ. ยังไม่เคยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่กลับออกประกาศให้เรายอมรับการสูญเสียนี้อย่างไม่มีทางเลือกเรากำลังจะถูกริดรอนสิทธิ์ที่ดินทำกิน มันไม่ยุติธรรมกับเรา”
– สุปราณี ศรีสวัสดิ์ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินประมาณ 6 ไร่
เพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือเพื่อใคร?

จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นหนึ่งในสามจังหวัดทางภาคตะวันออกที่มีชะตากรรมร่วมภายใต้แผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ (Eastern Economic Corridor: EEC) ตั้งแต่ปี 2559 โดยถูกกำหนดให้เป็น “การพัฒนาเมืองที่อยู่อาศัยชั้นดีที่ทันสมัยรองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ และ EEC” ภายใต้ภาพของการพัฒนาที่สวยหรูนี้เอง จึงเป็นหมุดหมายของการเกิดขึ้นโครงการสายส่งโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล กว่า 500 กิโลโวต์ เพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลของบริษัทบูรพาพาวเวอร์
แต่การรองรับความมั่นคงทางพลังงานของรัฐ กลับทำให้ที่ดินทำกินกว่า 531.75 ไร่ของชาวบ้านที่เป็นแหล่งผลิตอาหาร ที่สร้างรายได้และความมั่นคงของชีวิตอาจกำลังได้รับผลกระทบจากการถูกริดรอนสิทธิ์เพื่อรองรับความมั่นคงทางพลังงานที่ประชาชนในพื้นที่ไม่มีโอกาสร่วมตัดสินใจแม้แต่น้อย
“รัฐบาลเขาจะมาสร้างเพื่ออะไรอีก ไหนบอกว่ามีไฟฟ้าล้นกันเยอะแยะจะมาสร้างกันเพื่ออะไรอีก ถ้ามันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะจริง ๆ เราก็พร้อมจะเสียสละได้ แต่นี่มันไม่ใช่ แล้วทำไมต้องมาเบียดเบียนประชาชนด้วย”
-หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินประมาณ 2 ไร่
รัฐพัฒนา ส่วนเรารับภาระ
การเปลี่ยนผังเมืองเพื่อเปิดทางให้อุตสาหกรรมขยายตัว กำลังเป็นภัยคุกคามรายได้ของเกษตรกรอย่างเงียบ ๆ พื้นที่เกษตรกรรมในฉะเชิงเทราซึ่งเคยถูกวางไว้เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม (สีเขียวอ่อน) กลับถูกเปลี่ยนให้รองรับการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า
ข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ปี 2566 ระบุว่า จังหวัดฉะเชิงเทรามีพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมดกว่าร้อยละ 70 ของทั้งจังหวัด และยังเป็นแหล่งผลิตสำคัญของ ข้าวนาปี ข้าวนาปัง มะม่วง มันสัมปะหลัง ยางพารา มะพร้าว และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ แต่กลับถูกปรับผังเมืองให้รองรับโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล ที่พ่วงมาด้วยโครงการสายส่งกินพื้นที่ชุมชนไปกว่า 500 ไร่
ในปี 2564 จังหวัดฉะเชิงเทรามีผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Provincial Product : GPP) อยู่ประมาณ 400,385 ล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 8 ของประเทศ แต่กว่าร้อยละ 70.22 มาจากภาคอุตสาหกรรม ขณะที่เกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชากรในพื้นที่กลับมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.91 ทั้งที่พื้นที่เกษตรกรรมครอบคลุมถึงร้อยละ 70.85 ของพื้นที่ทั้งหมด 5,351 ตารางกิโลเมตรของจังหวัดฉะเชิงเทรา ตัวเลขนี้สะท้อนชัดเจนว่า แผนพัฒนาของรัฐ กำลังลดทอนสิทธิและพื้นที่ของคนทำเกษตร
ผังเมืองใหม่กำลังลบวิถีแบบเก่า
การพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จึงสวนทางกับศักยภาพดั้งเดิมของพื้นที่ และวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่สั่งสมภูมิปัญญาท้องถิ่นอันหลากหลายที่ยึดโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพ ความพิเศษเฉพาะของพื้นที่เกษตรที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ กำลังถูกลดทอนคณค่า และศักยภาพด้านการผลิตอาหารกำลังลดลงอย่างน่าเป็นห่วง
คนในพื้นที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมมายาวนานในการทำเกษตรแบบผสมผสาน หมุนเวียนระหว่างพืชผักสวนครัวกับพืชเศรษฐกิจหลักอย่างยางพารา มันสำปะหลัง ในขณะเดียวกันจะใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้ในการปลูกพืชผักสวนครัวที่สอดคล้องกับธรรมชาติและระบบนิเวศในพื้นที่ ชุมชนมองว่าหากโครงการพัฒนาใด ๆ ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย และการเคารพสิทธิมนุษยชน ความสูญเสียและเสียหายจะไม่หยุดอยู่ที่พื้นที่เกษตรหรือรายได้ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามคือการพัฒนาในแบบวิถีชีวิตคู่ภูมิปัญญาเดิมจะถูกบดบัง เพียงเพราะรัฐมุ่งไปพัฒนาในรูปแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยไม่ฟังเสียงของคนในพื้นที่ที่รู้จักพื้นที่นี้ดีสุด
“เราวาดฝันไว้ว่า เราจะปลูกมันสำปะหลัง ยางพารา และมีแผนจะปลูกพืชผักของกินในแบบเกษตรผสมผสาน ในพื้นที่นี้ เพราะดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำที่สามารถเอามาใช้ในการทำสวนได้ และจะเป็นพื้นที่ทำรายได้ให้ครอบครัว พอเรามารู้ถึงเหตุการณ์นี้ เราเลยต้องชะลอแผนไว้ เพราะกังวลว่าเราจะทำผิดกฎหมายหรือต้องลงทุนไปเสียเงินเปล่า ๆ ทั้ง ๆ ที่ดินเป็นที่ของเรา”
-หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินประมาณ 2 ไร่
เมื่อสิทธิอันชอบธรรม ต้องกลายเป็นข้อจำกัด

ความวิตกกังวลในการใช้ประโยชน์ตามสิทธิอันชอบธรรมบนพื้นที่ทำกินของตัวเองถูกระบุในเอกสารประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่พิจารณาเห็นชอบทิศทางและเเนวเขตในการวางระบบโครงข่ายไฟฟ้าตามแผนของ กฟผ. ในวันที่ 15 ก.พ. 2566 ระบุชัดว่า “กฟผ. มีอำนาจดำเนินการรื้อถอนอาคารหรือทำลายสิ่งอื่นที่สร้าง หรือตัดฟันต้น กิ่ง หรือรากของต้นไม้ของบุคคลอื่น หรือพืชผลในเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า ” โดยอาศัยอำนาจความตามมาตรา 106 มาตรา 107 และมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550
“เราจะไม่สามารถทำการเกษตรบนพื้นที่เราได้ หากพืชที่ปลูกสูงเกิน 3 เมตร ซึ่งปกติเราต้องปลูกมันสำปะหลังและต้นยางพาราล้วนมีความสูงเกินอยู่แล้ว แต่กลับถูกจำกัดโดยข้อกำหนดของโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เท่ากับว่าเราจะเสียพื้นที่ไปและรายได้เราก็จะลดลง และเราไม่สามารถทำอะไรได้ในพื้นที่ใต้สายส่ง จะเป็นอาคาร สิ่งปลูกสร้างที่จะอาศัยอยู่ หรือเป็นอะไรที่สูงเกินข้อกำหนดก็ไม่ได้เลย”
– สุปราณี ศรีสวัสดิ์ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินประมาณ 6 ไร่
แม้ในหมวดที่ 5 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 จะระบุเพิ่มว่า “การประกาศกำหนดเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าไม่มีผลกระทบต่อกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้เป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ยังคงเป็นเจ้าของที่ดินดังเดิมทุกประการ แต่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดห้ามตามประกาศของ กฟผ.” แต่หากประชาชน ซึ่งมีสิทธิโดยชอบธรรมในพื้นที่ของตัวเอง ไม่สามารถกำหนดเจตจำนงว่าจะพัฒนาพื้นที่ใช้สอยไปในรูปแบบใดได้ แต่กลับต้องชั่งใจว่าการลงมือทำแล้วอาจผิดกฎหมาย หรือต้องอาจรื้อถอนในสิ่งที่ลงทุนไป พวกเขาต้องรู้สึกอย่างไรกับข้องจำกัดนี้ แล้วพวกเขายังเหลือ “สิทธิ” อยู่หรือไม่ ?
ทั้งที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ให้การรับรอง ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยอันรวมถึงสิทธิในการพัฒนา ซึ่งถือเป็นสิทธิหนึ่งที่ได้รับการรับรองว่าเป็นสิทธิมนุษยชนสากล แต่ในความเป็นจริง เมื่อการใช้สิทธิเหล่านี้ถูกตีกรอบด้วยกฎเกณฑ์จากภาครัฐ ประชาชนในพื้นที่กลับกลายเป็นคนที่ต้องลังเลแม้แต่กับการใช้ชีวิตบนผืนดินตัวเอง
“เราจะสูญเสียการปลูกพืชที่สร้างรายได้ให้ครอบครัวไปเลย อย่างน้อย ๆ พื้นที่ประมาณ 5-6 ไร่เราสามารถทำเงินเป็นหลักแสนได้ต่อปีในการปลูกมันสัมปะหลังหรือปลูกยางพารา”
– สุปราณี ศรีสวัสดิ์ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินประมาณ 6 ไร่
ที่น่ากังวลคือ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ได้เปิดทางให้รัฐสามารถเวนคืนที่ดิน หรือใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อกิจการอื่น ๆ ได้ แม้ที่ดินเหล่านั้นจะอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งตามหลักควรได้รับการคุ้มครองอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาไว้สำหรับการทำกินของเกษตรกรรายย่อย
ที่สำคัญคือกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สำนักงาน EEC) ในการเข้าใช้ที่ดินในเขต ส.ป.ก. เพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายในเขตพัฒนา โดยไม่จำเป็นต้องเพิกถอนสถานะพื้นที่ปฏิรูปที่ดินก่อน ซึ่งเท่ากับเป็นการลดทอนกลไกการคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรลงอย่างมีนัยสำคัญ
แม้สำนักงาน EEC ไม่มีอำนาจ “เพิกถอน” ที่ดินโฉนดโดยตรง แต่หากโครงการใดที่รัฐเห็นว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ ก็สามารถดำเนินการ เวนคืน ผ่านกระบวนการตาม พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ได้ โดยต้องเสนอเรื่องผ่านคณะรัฐมนตรี ออกพระราชกฤษฎีกา และมีการชดเชยให้แก่เจ้าของที่ดิน
ความสว่างของนายทุนแต่คือความมืดมิดของประชาชน

เมื่อเรามองย้อนกลับไปในอดีตยุคที่เริ่มมีไฟฟ้าใช้ การเห็นเสาไฟฟ้าหรือสายไฟตามพื้นที่ต่างจังหวัด คือหนึ่งในสัญลักษณ์ของความเจริญชุมชนนั้น ๆ แต่เมื่อเราฟังเสียงของคนในชุมชนเกาะขนุน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “มันเป็นความมืดมิดของเรามากกว่า”
ปัจจุบันจังหวัดฉะเชิงเทรามีโรงไฟฟ้าที่ยังคงเดินเครื่องอยู่อย่างน้อย 5 แห่ง แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล 3 โรง ดำเนินงานโดยบริษัทบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) กำลังผลิตรวม ๆ ประมาณ 57.95 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดเกาะขนุน (ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซฟอสซิล) 1 โรง กำลังผลิต 114.35 เมกะวัตต์ ดำเนินงานโดยบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติบางประกง 1 โรงดำเนินงานโดย กฟผ. กำลังการผลิตประมาณ 3,248 เมกะวัตต์ หากนำมารวมกันทั้งหมดศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าที่จังหวัดฉะเชิงเทราโดยเอกชนและรัฐวิสาหกิจมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 3,420.3 เมกะวัตต์ และมีแผนในการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล กำลังการผลิตกว่า 600 เมกะวัตต์โดยบริษัท บูรพาพาวเวอร์เพิ่มอีก 1 แห่ง
“พื้นที่ที่เราจะเเบ่งให้ลูกหลานได้กลับมาทำมาหากินในช่วงบั่นปลายชีวิตเขา จะได้มีที่อยู่อาศัย ทำมาหากิน หากมีสายส่งไฟฟ้าแรงสูงมันเป็นไฟฟ้าที่อันตรายต่อชีวิตเราจะไปอยู่ใกล้ก็ไม่ได้แล้วเราต้องไปอยู่ตรงไหนทั้ง ๆ ที่ตรงนั้นเป็นที่ของเรา เขาบอกกับเราว่าไม่อันตรายแต่เรามองว่าอันตราย เขาไม่ได้อยู่ก็พูดได้ ลองให้เขามาอยู่ในพื้นที่จริงสิ”
– สุปราณี ศรีสวัสดิ์ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินประมาณ 6 ไร่
ในปี 2566 การไฟฟ้านครหลวง ออกมาเตือนเพื่อความห่วงใยต่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน โดยระบุถึงอันตรายจากการทำงานใกล้แนวสายไฟฟ้าแรงสูงว่า โดยเฉพาะในขณะที่ฝนตกหรือสภาพเปียกชื้น ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าช็อตได้ ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานข่าวหลายกรณีทีเกี่ยวกับไฟฟ้าแรงสูงซึ่งพรากชีวิตผู้คนไป
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญของบริษัท ทีต้า อินเตอร์เทรด จำกัด ซึ่งมีประสพการณ์ด้านอุปกรณ์ไฟฟ้ามากกว่า 10 ปี ได้ให้ข้อมูลความรู้ว่าเสาไฟฟ้าแรงสูงที่มีแรงดันไฟฟ้าอย่างน้อย 12,000 โวลต์นั้นส่งแรงดันไฟฟ้ากระโดดข้ามอากาศได้หากร่างกายมนุษย์สัมผัสโดยตรง อาจเกิดภาวะไฟช็อตได้ทันที แม้ว่ายังไม่มีผลวิจัยชี้ชัดในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวจากการอาศัยอยู่ใกล้เสาไฟฟ้าแรงสูง แต่ก็แนะนำให้ตั้งเสาเหล่านี้ให้ห่างไกลจากชุมชน และอยู่ใพื้นที่โล่งกว้าง เพื่อลดความเสี่ยงต่อผู้คนโดยรอบ
ดังนั้นความมืดมิดที่พี่น้องในชุมชนเกาะขนุนพูดถึง จึงไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องการสูญเสียที่ดินทำกิน แต่หมายรวมถึงความมืดมิดในการใช้ชีวิตท่ามกลางความอันตรายของอนาคตที่อาจคาดไม่ถึง
“ไฟฟ้าที่เขาอ้างว่าคือความสว่างที่จะนำพาให้บ้านเราเจริญ มันกำลังเข้ามาทำลายทุกอย่างที่เรามีตอนนี้เราเชื่อเลยว่ามันไม่ได้มาแค่เสาไฟหรือสายส่งของโรงไฟฟ้าก๊าซฯ แต่มันจะมาพร้อมกับต้นทุนชีวิตของผู้คนที่ต้องจ่ายในอนาคต อีกหน่อยมันจะมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ต่อสุขภาพของคนในชุมชนที่ต้องสูดดม PM2.5 และความปลอดภัยที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับสายส่งที่ไม่รู้เลยว่ามันจะช็อตเราวันไหน”
– สุปราณี ศรีสวัสดิ์ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินประมาณ 6 ไร่
บ้านเราให้เรามีส่วนร่วม การพัฒนาที่รัฐควรเห็นเราเป็นส่วนหนึ่ง

“พัฒนาโดยรัฐคือภาระเราทั้งนั้น” คำตอบของคุณป้าสุปราณี ศรีสวัสดิ์ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินประมาณ 6 ไร่ เมื่อถูกถามว่านิยามของคำว่า “การพัฒนาของรัฐและของชุมชนเป็นอย่างไร?”
ความเชื่อใจของประชาชนต่อรัฐกำลังลดลงเรื่อย ๆ เมื่อประชาชนรับรู้ว่ารูปแบบการพัฒนาของภาครัฐไม่ได้ยึดหลักการที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของสิทธิแห่งการพัฒนาที่รัฐต้องทำให้หลักการสำคัญ เช่น การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนไม่ถูกทำให้หล่นหายไป
“การให้ข้อมูลข่าวสารที่เขามาพูดมีแต่ข้อดีทั้งนั้น ไม่ได้ให้ข้อมูลในเรื่องผลกระทบกับเราเลย เรามองแวบเดียวก็รู้แล้วว่าเราได้รับผลกระทบมีข้อเสียมากมาย แต่เขาไม่มีการอธิบาย มามัดมือชก ใช้คำพูดโน้มน้าวให้เราเซ็นต์ชื่อยินยอมในลักษณะที่ว่า ถ้าคุณไม่ยอมให้มันผ่านตรงนี้ มันก็จะไปผ่านที่ของเพื่อนอยู่ดี ไม่ได้โดนที่ตัวเองแต่ไปโดนที่เพื่อน ก็ขัดเเย้งกันอีกเพราะเราไม่เซ็นต์เขาเลยต้องเดือดร้อนแทน”
-หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินประมาณ 2 ไร่
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในหมวดที่ 3 ที่ให้การรับรอง ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยในบทบัญญัติที่บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิในการรับทราบข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และในมาตรา 58 ที่กำหนดให้รัฐหรือหน่วยงานที่รัฐจะอนุญาตให้ดำเนินการถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรืออาจมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐหรือผู้ดำเนินโครงการต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนในชุมชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อีกทั้งยังระบุชัดว่า การดำเนินงานใดก็ตามรัฐต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพให้น้อยที่สุด
“เรานัดเจอเขา ในพื้นที่เพื่ออยากจะพูดคุยจึงเสนอไปว่าให้มาเจอที่ อบต. ไหมเป็นพื้นที่ราชการเราจะได้คุยพร้อมกัน แต่เขาบอกว่าเขาไม่พร้อม ไม่พร้อมเจอเราในพื้นที่ราชการ แต่จะมาเจอและคุยแบบส่วนตัวแทน ถ้าเป็นแบบนี้ ชาวบ้านที่เขาไม่รู้ข้อมูลก็อาจจะถูกโน้มน้าวให้เซ็นต์ ๆ ยอมรับไปโดยที่ไม่รู้ข้อมูลข่าวสารเลยว่าผลกระทบจะมาในอีกไม่ช้า“
– สุปราณี ศรีสวัสดิ์ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินประมาณ 6 ไร่
สำหรับชุมชน พวกเขาไม่ได้ปฎิเสธการพัฒนา แต่การพัฒนาต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความหลากหลายทางชีวภาพ และสิทธิมนุษยชน คือการพัฒนาที่เอาความรู้คู่ภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านเกษรตกรรมของชุมชนมาส่งเสริมให้เกิดความเจริญและเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ ส่วนในด้านพลังงานรัฐควรมองหาการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่สะอาดและเป็นธรรมต่อประชาชนผ่านการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและมีความเป็นธรรมจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยการสนับสนุนเรื่องการติดตั้งโซลาร์บนหลังคา ทุกวันนี้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งชาวบ้านที่มีกำลังมากพอได้หันมาพึ่งพาการใช้พลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์โดยการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อใช้ไฟ โดยที่ยังคงรออย่างมีความหวังว่านโยบายของภาครัฐจะสร้างความเป็นธรรมทางพลังงานให้เกิดขึ้นกับทุกครัวเรือนอย่างเท่าเทียมและไม่ผูกขาดทางพลังงานอีกต่อไป

“ในเมื่อแสงอาทิตย์ตอนนี้มันเอามาใช้ประโยชน์ได้ ทำไมเราไม่ส่งเสริมให้ประชาชนใช้กันมากขึ้นเราไปพึ่งโรงไฟฟ้าที่มันส่งผลกระทบมากมายทำไม หากเราใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เราจะได้ไม่ต้องไปนั่งเสียค่า FT ที่แพงเพราะเหตุผลจากการต้องเพิ่มสายส่ง เรามองว่าการมีสายส่งและสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ไม่ใช่ทางออก โซลาร์บนหลังคาต่างหากที่มันคือทางออก และสะดวกสบายไม่เป็นภาระ เราติดแล้วเห็นทันทีเลยว่าค่าไฟลดลงมากเลยจากพันกว่า ๆ ลดไปเหลือแค่สี่ร้อยกว่าบาท”
-สุปราณี ศรีสวัสดิ์ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินประมาณ 6 ไร่
หากภาครัฐให้ความจริงจังกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน การสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรม เช่น การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของตัวเองอย่างเป็นธรรม แทนการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลและสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่อาจสร้างผลกระทบซ้ำซ้อนให้กับชุมชน เกษตร และสิ่งแวดล้อม รัฐบาลควรยึดมั่นว่า “การพัฒนาไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ ได้มีสิทธิ์ในการตัดสินใจและกำหนดอนาคตในการพัฒนาพื้นที่ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของตัวเอง