หนึ่งในข้อเรียกร้องของกรีนพีซ ประเทศไทย ต่อการแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนคือการที่ภาคอุตสาหกรรมเกษตรและเนื้อสัตว์มีภาระรับผิด (corporate accountability) ที่ครอบคลุมถึงการผลิตภายในและภายนอกประเทศตลอดห่วงโซ่การผลิตผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับ(traceabilityy system) ที่โปร่งใสและรับประกันสิทธิในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลของสาธารณะชน (community right-to-know)

ผลจากการระดมความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ เยาวชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ นักวิชาการ สมาชิกผู้แทนราษฎร และนักกฎหมายเพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษภาคเหนือ PM2.5 อย่างยั่งยืนบนฐานความรู้และการมีส่วนร่วมจากท้องถิ่นที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 กรีนพีซและเครือข่ายภาคประชาสังคมนำมารวบรวมเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายโดยครอบคลุมประเด็นต่างๆ ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง สิทธิมนุษยชน สิทธิที่ดินและวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง อุตสาหกรรมและผลกระทบข้ามพรมแดน รวมถึงมาตรการทางกฎหมายและ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประเด็นระบบตรวจสอบย้อนกลับที่เปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงได้ เพื่อยื่นต่อพรรคการเมืองและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

ในช่วงวันที่ 10-20 มิถุนายน 2568 กรีนพีซและเครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมกันยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวข้างต้นนี้ต่อพรรคประชาชน พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ตลอดจนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ บทความนี้จะสรุปถึงสถานะล่าสุดตามความคืบหน้าที่กระทรวงต่างๆรายงาน และเพราะเหตุใดเราจึงต้องคอยจับตามองว่าระบบตรวจสอบย้อนกลับของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้การออกแบบของกระทรวงต่างๆและพรบ.อากาศสะอาด จะมีรูปแบบอย่างไร

จากการยื่นข้อเสนอและพูดคุยแลกเปลี่ยน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่ากระทรวงฯ เป็นประธานในการผลักดันระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กำหนดมาตรการไม่ซื้อหรือนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (เป็นผลผลิตการเกษตรประเภทแรก) ที่ผ่านกระบวนการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงเกษตรฯยังเสริมว่า ได้ผลักดันให้ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ทำเรื่องเกษตรกรรมไม่เผา และไม่บุกรุกป่า โดยสำหรับในประเทศจะรับซื้อเฉพาะพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ และออกมาตรการไม่เผาเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ดีภายใต้มาตรฐานการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม หรือ Good Agriculture Practices (GAP) เป็นกรอบแนวฏิบัติ นอกจากนี้ถ้าเกษตรกรขึ้นทะเบียนจะมีการกำกับดูแลติดตามเรื่องพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เผาได้

กรอบการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อระบบตรวจสอบย้อนกลับนี้ ได้ถูกยืนยันโดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พร้อมกับอธิบายว่า จะมีการประกาศใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับโดยเป็นมาตรการภายใต้กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชชนิดแรกภายในปี 2569

อย่างไรก็ตาม ทั้งหน่วยงานรัฐและพรรคการเมืองบางพรรคมีข้อสังเกตต่อการนำมาตรการระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ เช่น พรรคเพื่อไทยมองว่าการเปิดเผยข้อมูลในระบบอาจเป็นการเปิดเผยความลับทางการค้าของบริษัทเอกชนซึ่งคู่แข่งสามารถเห็นได้หมดและจะเกิดการแย่งซื้อในห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดการเผา ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งคำถามว่าจะมั่นใจถึงความโปร่งใสของข้อมูลที่อยู่ในระบบได้มากน้อยเพียงใด ในขณะที่กรมการค้าต่างประเทศตั้งประเด็นอุปสรรคการตรวจสอบผ่านแผนที่สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้าน และให้ความเห็นว่าทางแก้คือ การมีฝ่ายที่สาม (Third Party) ที่ดำเนินการด้วยความเป็นกลางในการร่วมตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดยมีผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body: VVB) และการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรประเทศเพื่อนบ้านลงทะเบียนในระบบ (ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ทำเป็นเพียงการ Zoning)

ในการพูดคุยแลกเปลี่ยน พรรคประชาชนระบุว่า ในร่างล่าสุดของพรบ.อากาศสะอาดมีมาตราว่าด้วยมลพิษข้ามแดนโดยระดมความเห็นจากหลายภาคส่วนในภาคประชาสังคมและนักวิชาการกฎหมายและนำหลักการระบบตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจข้ามพรมแดนเข้าไปด้วย คาดกันว่าเมื่อออกมาเป็นกฎหมายที่ผลบังคับใช้ จะเป็นกลไกสำคัญในการกำกับดูแลและควบคุมการเผาและการเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน

จากการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมควบคุมมลพิษระบุว่า จุดอ่อนเดียวของระบบตรวจสอบย้อนกลับภายใต้ (ร่าง) กฎหมายอากาศสะอาดเพื่อกำกับดูแลฝุ่นพิษข้ามพรมแดน คือ ถ้ามีโรงงานหรือการเผาจากภายนอกประเทศ กฎหมายระดับประเทศไม่สามารถเอาผิดได้ และย้ำว่า (ร่าง) กฎหมายอากาศสะอาด จะขับเคลื่อนด้วย action ของหน่วยงานต่างๆ ภายใต้คอนเซปท์ Clean Air ไม่ใช่เพียง air pollution โดยกำหนดภาระรับผิดของอุตสาหกรรมอยู่ภายใต้กฎหมาย แม้จะมีข้อห่วงใยจากผู้ชำนาญการทางกฎหมายของกรมควบคุมมลพิษว่าถึงเวลาปฏิบัติจะสามารถจัดการได้หรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะ“ความผิดทางแพ่งและอาญาต่อผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ และการส่งเสริมสิทธิและการมีส่วนร่วมของคนตัวเล็กๆ”

(ร่าง)กฎหมายอากาศสะอาดกำลังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากนี้ หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง ก็เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาอีกครั้ง คาดว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2569

จากความคืบหน้าในเรื่องระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ข้างต้น เรามาดูกันว่า หน้าตาของระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยรวมนั้นเป็นอย่างไร?

คำจำกัดความพื้นฐานของ “การตรวจสอบย้อนกลับ” คือ ความสามารถในการระบุและติดตามประวัติ การกระจาย การจัดวางตำแหน่ง และการใช้งานของสินค้า ชิ้นส่วน และวัสดุต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในความน่าเชื่อถือของข้อกล่าวอ้างด้านความยั่งยืน ครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชน แรงงาน (รวมถึงสุขภาพและความปลอดภัย) สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต

เพื่อให้สามารถติดตามย้อนกลับผลิตภัณฑ์ได้อย่างครบถ้วนและครอบคลุมจำเป็นต้องสามารถเข้าถึงบันทึกข้อมูลทั้งหมดหรือบางส่วนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ตลอดวงจรชีวิตเพื่อติดตามย้อนกลับไปตามห่วงโซ่อุปทานจนถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และติดตามต่อไปจนถึงจุดที่ผลิตภัณฑ์สิ้นสุดลง โดยปกติแล้วจะมีขั้นตอนในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและระบบการติดตามย้อนกลับ และระบบดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับความโปร่งใสเพื่อสนับสนุนความสมบูรณ์และความน่าเชื่อถือของข้อมูล หรือ full traceability

การทราบเส้นทางของวัตถุดิบถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินการจัดหาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน การติดตามย้อนกลับสามารถทำได้ทั้งในทิศทางไปข้างหน้า (การติดตาม) และทิศทางย้อนกลับ (การสืบย้อน) ข้อมูลหรือเอกสารการติดตามตรวจสอบย้อนกลับประกอบด้วยข้อมูลการผลิตและข้อมูลด้านโลจิสติกส์ เช่น พิกัดภูมิศาสตร์ แปลงที่ดิน ข้อมูลผู้ผลิต ปริมาณสินค้า ประเภทวัสดุ หมายเลขล็อตของสินค้า ข้อมูลคำสั่งซื้อหรือการจัดส่ง นอกจากนี้ยังรวมถึงข้อมูลห่วงโซ่อุปทาน เช่น ชื่อซัพพลายเออร์และผู้ผลิต วันที่ผลิต ผู้ค้าคนกลาง รายละเอียดการขนส่ง ตลอดจนกระบวนการและสถานที่ผลิต การมีข้อมูลแปลงที่ดินช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับกระบวนการติดตามตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างมาก เนื่องจากทำให้ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้ว่าพื้นที่จัดหาสินค้าส่วนใดอยู่ในเขตคุ้มครองตามกฎหมาย ช่วยให้ผู้ดำเนินการสามารถยืนยันได้ว่าไม่มีสัญญาณแจ้งเตือนการตัดไม้ทำลายป่า หรือการเผาจากระบบติดตามตรวจสอบ และช่วยตรวจสอบข้อมูลปริมาณเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการปะปนจากแหล่งอื่น ทั้งหมดจะต้องครอบคลุมถึงข้อมูลที่เชื่อมโยงผลผลิตข้าวโพดตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ กระบวนการปลูก แปลงเพาะปลูก ไปจึนถึงโรงงานอาหารสัตว์ โดยที่ข้อมูลดังกล่าวนี้ประชาชนจะต้องสามารถเข้าถึงได้การติดตามย้อนกลับจำเป็นต้องดำเนินต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน และต้องครอบคลุมทุกองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์

ระบบการติดตามตรวจสอบย้อนกลับที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพยังจำเป็นต้องแยกและเก็บห่วงโซ่อุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้แยกออกจากสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่น่าเชื่อถือทั้งในเรื่องการไม่ทำลายป่าและระบบนิเวศธรรมชาติ รวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน (ภาพประกอบ)  และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การติดตามตรวจสอบย้อนกลับบางส่วนที่ทำได้เพียงแค่ถึงระดับเขตอำนาจศาล หรือเพียงแค่จุดใดจุดหนึ่งในกระบวนการ เช่น โรงสกัดน้ำมันปาล์มในกรณีของผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอ และจะไม่สามารถรับประกันห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดจากการเผาหรือการทำลายป่าได้

สิทธิต่อการมีอากาศที่ดีสำหรับหายใจของประชาชนในพื้นที่จะขึ้นอยู่กับการเปิดเผยข้อมูลจากการตรวจสอบย้อนกลับอย่างโปร่งใสนี้ และนี่คือภาระการพิสูจน์ความจริงที่บริษัทอุตสาหกรรมจะต้องทำ อย่างไรก็ตามการดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดนั้นยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของรูปแบบการทำมาค้าขายของไทยที่มากกว่าการมี “พ่อค้าคนกลาง” ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ภูเขาของภาคเหนือตอนบน ทำให้เกิดคำถามสำคัญอย่างเช่น จะรู้ได้อย่างไรว่าข้าวโพดที่มาส่งที่ล้ง-โรงโม่(จุดที่รับซื้อข้าวโพด) หรือสหกรณ์ คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ได้มาจากการเผาและพื้นที่ป่า และเอกสารยืนยันนั้นเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด ด้วยเหตุนี้ผู้บริโภค สื่อมวลชน และประชาชนต้องตั้งคำถามให้มากถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับ ความโปร่งใส ตราบใดที่ประชาชนยังไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลอย่างสมบูรณ์

การวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดของกรีนพีซพบว่า ในปี 2567 มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงรวมทั้งหมด 15,328,533.50 ไร่ โดยมีพื้นที่เผาไหม้ในไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากถึง 3.7 ล้านไร่ จากความคืบหน้าของมาตรการตรวจสอบย้อนกลับในการพูดคุยกับผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายครั้งนี้่ กรีนพีซมีความหวังต่อความพยายามของทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ ฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ร่วมกันผลักดัน เพื่อไปให้ถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ (full traceability) กรีนพีซเชื่อว่า หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในการกำหนดนโยบายมุ่งมั่นต่อเจตจำนงทางการเมือง (political will) 

มาตรการตรวจสอบย้อนกลับที่มาพร้อมกับการเปิดเผยข้อมูลของห่วงโซ่อุปทานอย่างโปร่งใส และประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้นั้นจะเป็นความหวังในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามแดนจากอุตสาหกรรมเกษตรและเนื้อสัตว์ อีกทั้งยังเป็นมาตรฐานที่ดีของอุตสาหกรรมในการแสดงความจริงใจถึงการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อฝุ่นพิษข้ามพรมแดน การทำลายป่า และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ควรจะเป็นความลับทางการค้า แต่จะต้องเป็นข้อมูลที่ผู้บริโภคและคนทั่วไปมีสิทธิที่จะรับรู้เพื่อได้รับข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ หรือปกป้องสิทธิของตนเองและคนในพื้นที่ นอกเหนือจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างการสื่อสารที่ดีของบริษัทผ่านทางผลิตภัณฑ์ รวมถึงแสดงความมั่นใจต่อการมีภาระรับผิดต่อกระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นในผลิตภัณฑ์ของตน ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการก้าวไปสู่รายงานความยั่งยืนที่โปร่งใสและนโยบายต่อกรวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่สร้างบนพื้นฐานความเป็นธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน

เราต้องจับตามองว่า มาตรการตรวจสอบย้อนกลับนั้น จะต้องสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนใต้ฝุ่นพิษ และไม่สร้างความชอบธรรมให้กับบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรและเนื้อสัตว์